ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สหัสวรรษที่ 3 เล่าขานตำนานยักษ์

ขอจำเริญพร สาธุชนพุทธบริษัทท่านผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วเรื่องการศึกษาสืบสานตำนานยักษ์ในสหัสวรรษที่ 3 (วันนี้เสนอเป็นตอนที่ 3 แล้ว)

“ยักษ์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดำอำมหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้, บางทีใช้ปะปนกับคำว่า อสูร รากษส และมาร อาศัยอยู่ตามถ้ำ ตามภูเขา ในน้ำ ในดิน ในอากาศ และมีวิมานอยู่ที่เขาสิเนรุในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์ทั้งหมดจะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรมหาราช ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ

ยักษ์เพศชาย เรียกว่า ยักษะ เพศหญิง เรียกว่า ยักษี หรือ ยักษิณี บางทีใช้ปะปนกับคําว่า อสูร กุมภัณฑ์ คุหยัก แทตย์ หรือทานพ รากษส และมาร จัดเป็นอมนุษย์กึ่งเทพพวกหนึ่ง มีการกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาพุทธ และพราหมณ์ มีฐานะเป็นเทพบริวาร และเทพผู้พิทักษ์รักษาศาสนาและศาสนสถาน

การบังเกิดขึ้นของยักษ์ เกิดได้ 3 แบบ คือแบบโอปปาติกะ คือเกิดปุ๊บก็มีรูปร่างใหญ่โตเลย เกิดแบบชลาพุชะ คือเกิดในครรภ์มารดาเหมือนมนุษย์ มีพ่อแม่ เมื่อยักษา ยักษีเกิดความพอใจ แต่งงานกัน จากนั้นก็อยู่ร่วมกันเหมือนมนุษย์ แล้วก็ตั้งครรภ์ให้กำเนิดลูกเหมือนมนุษย์ทุกอย่าง และแบบที่สาม คือ เกิดแบบสังเสทชะคือ ยักษ์จะเอามือถูเหงื่อไคล พอถูกส่วน ปฏิสนธิวิญญาณที่มีวิบากกรรมร่วมกันมา ก็จะมาอุบัติเกิดเป็นยักษ์ทันที

ยักษ์ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ คืออมนุษย์ผู้น่ากลัว สามารถทำอันตรายแก่มนุษย์ได้ มนุษย์ต้องทำการบูชาเซ่นสรวงต่อยักษ์เพื่อแสดงความเคารพ และขอให้ยักษ์ช่วยปกป้องสมบัติล้ำค่า ของมีค่าโบราณ และอีกนัยหนึ่งก็แฝงไปด้วยหน้าที่เป็นเทพผู้ที่ทำหน้าที่คอยพิทักษ์ รักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อไปตราบนานเท่านาน ยักษ์ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ยักษ์เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สามารถเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้ ถ้าทำความดีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า บทบาทของยักษ์ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปรากฎในพระไตรปิฎกและอรรถกถา คือ ช่วยเหลือพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และช่วยให้กิจกรมทางพระพุทธศาสนาลุล่วงไปด้วยดี อีกทั้งสนับสนุนอุบาสกและอุบาสิกาให้บรรลุธรรมและเป็นทูตของพระยมที่มาลงโทษคนทำชั่ว เป็นผู้ที่มนุษย์ควรบูชาเซ่นสรวงในฐานะเทพผู้ปกครองเมือง เขต แขวง ทะเลสาบ หรือบ่อน้ำ เป็นเทพผู้พิทักษ์โลก เป็นผู้อารักขาทรัพย์ (แร่ธาตุและอัญมณี) ที่ซ่อนอยู่ในดิน

2. ยักษ์ที่ไม่เป็นพุทธศาสนิกชนมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ คือ เป็นพวกดุร้าย มีจิตริษยา อาฆาต เบียดเบียนมนุษย์ เป็นภูติ ผี ปีศาจ วิญญาณร้ายที่หลอกหลอน เป็นผู้มารบกวน ทำอันตรายมนุษย์โดยวิธีต่าง ๆ ดังนั้นในพระพุทธศาสนาจึงมีความเชื่อว่า การสวดพระปริตต์จะป้องกันมิให้ยักษ์มาทำอันตรายได้

พุทธศาสนาแบ่งประเภทยักษ์ เป็นหลายระดับ ตั้งแต่ยักษ์ชั้นสูง ยักษ์ชั้นกลาง และยักษ์ชั้นล่าง มีความละเอียดปราณีตแตกต่างกันตามกำลังบุญของยักษ์แต่ละตน ยักษ์แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

1.ยักษ์ชั้นสูง อากาสัฏฐเทวดา เป็นยักขเทวดาที่อาศัยอยู่ในอากาศ มีวิมานทองลอยอยู่ในอากาศ ยินดีในการรักษาศีล จะแต่งชุดขาว ผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีรัศมีกายที่สว่างไสว หน้าตาก็ไม่น่ากลัว เป็นยักษ์ใจดี มีรูปร่างสวยงาม มีเครื่องประดับ มีรัศมี บ้างก็มีผิวดำ ดำอมเขียว ดำอมเหลือง ดำแดง หรือดำเนียน มีอาหารทิพย์ มีบริวารคอยรับใช้ ปกติจะไม่ปรากฏเขี้ยวให้เห็น เว้นแต่เวลาโกรธ

2.ยักษ์ชั้นกลาง ปัพพตัฏฐเทวดา เป็นเทวดาอยู่ตามป่าเขา ยักษ์พวกนี้มีรูปร่างกำยำ มือถือกระบองใหญ่ ทำหน้าที่รักษาทรัพย์ในดิน รักษาป่าและภูเขา

3.ยักษ์ชั้นล่าง อาศัยอยู่ตามแม่น้ำ สระน้ำ เรียกว่า รากษส มีรูปร่างน่าเกลียด ตัวโต ผมหยิก ตัวดำ หน้าแดง ตาโปน ท้องเขียว มือเท้าแดง เขี้ยวใหญ่ เท้าคด ผิวหยาบเหมือนกระดาษทราย เป็นพวกที่ดุร้าย ชอบกินเนื้อสัตว์ ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุจำนวนมากเมื่อต้องปฏิบัติกรรมฐาน มักจะหลีกจากหมู่คณะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของยักษ์ชั้นต่ำ หรือ รากษส ยักษ์พวกนี้ดุร้าย ชอบทำปาณาติบาต ยักษ์บางพวกมีอาณาเขตเป็นของตน มนุษย์หรือสัตว์ถ้าหลงเข้าไปในอาณาเขตยักษ์ก็จะถูกจับกินเป็นอาหาร (แหล่งข้อมูล https://culturio.sac.or.th/content/1292)


โปรดติดตามตอนต่อไป.......

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ วัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี 6763 E Avenue H Lancaster CA 93535 โทร. (818) 392 - 0880 (562) 249 - 3789 Line ID: bmsn2008 ขอเชิญร่วมสั่งสมคุณความดี สร้างบารมีรักษาศาสนธรรมโดยพร้อมเพรียงกัน อีกประการหนึ่ง ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างรั้วรอบบริเวณลานพื้นที่องค์ท้าวเวสสุวรรณ ฉบับหน้าจะนำรายละเอียดออกมาให้ทราบ ขอความเจริญงอกงามไพบูลย์จงปรากฏแก่ศรัทธาทุกท่าน รูปขอจำเริญพร