ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง !

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ฤดูกาลนี้เป็นช่วงระหว่างการเข้าพรรษาไตรมาสแรกของพระภิกษุสงฆ์ คอลัมน์ธรรมะสมสมัยวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องราวสำคัญ สารัตถะบางส่วนของเนื้อหาในธัมมจักกัปปวัตนสูตร เทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ก็ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ ท่านนับเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา วันนั้นเป็นวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะหรือเดือน 8 เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบบริบูรณ์นั้นเหตุผลใดบ้าง

เป็นโอกาสดีอย่างหนึ่งของผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ได้ใช้เวลากับการสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร ด้วยภาษาบาลี ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโทนาอย่างยิ่งกับคณะผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญาติโยมที่รวมตัวพร้อมใจกันไปสมาทานอุโบสถศีลที่วัด อย่างน้อยธรรมะสมสมัยยังเดินทางไปกับหนังสือพิมพ์ไทยแอล.เอ. ให้เข้าถึงผู้ปฏิบัติธรรมหยิบจับขึ้นมาอ่านในเวลาว่างภารกิจ คือการเข้าวัดก็เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่นำพาผองเพื่อนให้ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้สนทนากันเรื่องหลักคำสอนที่สำคัญๆ อย่างธัมมจักกัปปวัตนที่กล่าวมา มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่าง และเสนอแนวทางดำเนินชีวิตโดยสายกลางอันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์ มีเนื้อหาแสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงอริยสัจทั้ง 4 คืออริยมรรคมีองค์ 8 โดยเริ่มจากทำความเห็นให้ถูกทางสายกลางก่อน เพื่อดำเนินตามขั้นตอนการปฏิบัติรู้เพื่อละทุกข์ทั้งปวง เพื่อความดับทุกข์ อันได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

เนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักในพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตรโดยสรุปมีดังนี้

.....ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่ เป็นทุกข์ แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ การยึดมั่นแบบฝังใจ ว่า เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง

ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุทัย) มีอย่างนี้ คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ ได้แก่ "ตัณหา ความอยากมี" "ภวตัณหา ความอยากเป็น" "วิภวตัณหา ความอยากไป" ภิกษุทั้งหลาย นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลืออยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหาข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา อาตมาว่าบทสวดมนต์ทำวัตรเช้านั้นมีครบเรื่องปลีกย่อยของคำอธิบายเรื่องทุกข์ การก้าวข้ามทุกข์ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา

ภิกษุทั้งหลาย ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ (1) ปัญญาเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) (2) ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) (3) เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) (4) การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) (5) เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) (6) พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) (7) ระลึกชอบ (สัมมาสติ) (8) ตั้งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ)

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร กล่าวโดยสรุป แสดงถึง ส่วนที่สุดสองอย่าง ที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ อันได้แก่ "กามสุขัลลิกานุโยค" คือการหมกมุ่นอยู่ในกามสุข และ "อัตตกิลมถานุโยค" คือการทรมานตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ

ส่วนที่สุดสองอย่าง ส่วนที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน (เช่น บำเพ็ญทุกรกิริยา) เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

อริยสัจสี่ ธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการคือ

ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพันทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด

ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ / ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละเสีย / ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง / ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ควรเจริญ

ก่อนแต่จะจบขอปิดท้ายคอลัมน์ด้วยคำอนุโทนาแด่.....คณะอุบาสิกาผู้ปวารนาสมาทานถืออุโบสถศีล ตลอดพรรษา ได้แก่ คุณกิรณา บัวฮุมบุรา, คุณพะเยาว์ ชอบชม, คุณศศิญา เชียงกราว, คุณศิราณี แก้วโภคา, คุณมาลี ยามาศ คุณณัฐพิศุทธิ์ เผือกสะอาด การถืออุโบสถศีลเป็นเป็นแบบอย่างอารยชนชาวพุทธที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบกุศลอย่างชาญฉลาด ได้ชักนำให้คณะบุคคลร่วมกิจกรรมเป็นศาสนกุศล เป็นการได้ลงในรายละเอียดอย่างครบกศลวิธี คือ ได้ศึกษาด้านปริยัติ ด้านปฏิบัติ และรู้แจ้งลงลึกถึงผลของการศึกษาและปฏิบัตินั้นๆ นี้เรียกได้ว่าเป็นการเจริญสิกขา 3 คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา อย่างน่าชื่นชม และทราบมาว่าในสัปดาห์หน้าจะมีผู้เข้าร่วมอุดมธรรมอีกหลายท่าน อาทิ คุณชวนขวัญ เชื้อภักดี, คุณหมู จินตนา, คุณพิสิฐ วรรณประเสริฐ จึงเจริญพรอนุโมทนาในความประสงค์ตั้งใจของทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

อีกประการหนึ่ง ขออนุโมทนากับคุณป้าพะเยาว์ ชอบชม และคณะศรัทธารับเป็นเจ้าภาพต้นกัณฑ์เทศน์มหาชาติ ทศพรกัณฑ์แรก โดยหลวงพ่อไสว ชมไกร เจ้าอาวาสเป็นองค์แสดงธรรม ตอนท้าย ของการนำต้นกัณฑ์เทศน์ถวายญาติโยมก็สนุกสนานด้วยความมีมีตรีจิต พากันต่อยอดติดต้นกัณฑ์เทศน์ จนที่สุดได้รับปัจจัยถวายวัดทุ่งเศรษฐี จำนวน $3,999.00 นี่แหละท่านทั้งหลาย บุญเป็นที่มาของความสำเร็จ เป็นที่มาของการสร้างบารมี ฯลฯ ดังนั้นจึงขอเชิญท่านผู้มีใจบุญใจกุศลทั้งหลาย พร้อมใจกันเป็นเจ้าภาพต้นกัณฑ์เทศน์ หิมพานต์ กัณฑ์ที่ 2 ตามกำลังศรัทธา "3 เดือนแห่งการสร้างความดีงาม 1 ไตรมาสแห่งการสร้างบารมี" พร้อมกันนี้ทุกคนได้ลงความเห็นให้คุณพิสิฐ วรรณประเสริฐ เป็นหัวหน้าต้นเสียงนำกล่าวคำอาราธนาศีล อาราธนาธรรม เป็นทำนองสรภัญญะ อย่างไพเราะเสนาะสำเนียง อย่าลืมนะจ๊ะ วันอาทิตย์แวะไปรับประทานอาหาร (ฟรี) ฝีมือคุณป้าพะเยาว์ และแวะไปฟังเทศน์ฟังธรรมได้กับพระสงฆ์ทุกรูป ขอตั้งความปรารถนาให้ทุกคนทุกท่าน ปลอดภัย ปราศจากทุกข์ โศกโรคภัย ให้เจริญรุ่งเรืองมั่นคง ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง โดยทั่วกันทุกท่านเทอญ ขอจำเริญพร