ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร
เกี่ยวกับพระ "อาบัติ" หรือ อาปัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี

อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติเหล่านี้ มี 6 อย่าง คือ

1. ต้องด้วยไม่ละอาย (ภิกษุผู้ไม่มี หิริ โอตตัปปะ คือไม่เกรงกลัวและไม่ละอายต่อบาป) ภิกษุผู้กระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพต่อสิกขาวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เป็นคนลวงโลก ประเภทนี้อันตรายที่สุด เป็นภัยพระศาสนาอย่างแรง

2. ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ (ภิกษุบวชใหม่มิทันศึกษาข้อวินัย อาจเป็นครุกาบัติหรือลหุกาบัติ) ครุกาบัติ อาบัติหนัก ได้แก่ อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องแล้วจำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส อยู่กรรมจึงจะพ้นได้

ส่วนลหุกาบัติ ลหุกาบัติ อาบัติเบา คือ อาบัติที่มีโทษเล็กน้อย ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต ปลงอาบัติ แสดงอาบัติเพื่อให้พ้นจากอาบัติ, ทำตนให้พ้นจากอาบัติด้วยการเปิดเผยอาบัติของตนแก่สงฆ์หรือแก่ภิกษุอื่น, แสดงความผิดของตนเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย, ใช้สำหรับอาบัติที่แสดงแล้วพ้นได้ คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต (กรณีตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้มีพระภิกษุกราบเท้าแม่ "ถามว่าผิดวินัยหรือถูกต้อง ตอบว่าผิดวินัยร้อยเปอร์เซ็น แต่เป็นอาบัติเล็กน้อยที่ปลงอาบัติได้ ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระ)

3. ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง (ภิกษุสงสัยอยู่ว่า ทำอย่างนั้นๆ ผิดพระบัญญัติหรือไม่ โดยไม่ศึกษาในข้อสงสัยของตนนั้นให้รอบครอบว่าพระพุทธองค์ทรงมีเจตนาอย่างไร แต่ขืนทำ ด้วยความสะเพร่าเช่นนี้ ถ้าการที่ทำนั้นผิดพระบัญญัติก็ต้องอาบัติตามวัตถุ ถ้าไม่ผิด ก็ต้องอาบัติทุกกฏเพราะสงสัยแล้วขืนทำ)

4. ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร

5. ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร

ข้อ 4 ข้อ 5 นี่ก็เป็นปัญหาบ้านแตก ผู้รู้นักปราชญ์ทุกคนทุกท่านต่างทราบดี หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ทัน 100 ปีเลยเกิดแบ่งแยกแตกนิกาย แบ่งเป็นพวกใครพวกมัน แต่ยังดีที่ยังความเป็นพุทธชนอยู่ อดีตยัง วุ่นวนยุ่งใจคัมภีร์แต่ละนิกายในของแต่ละประเทศต่างกันยังพอรับได้ในความเป็นชาวพุทธที่ต่างภาวะ ปัจจุบันนี้ประเทศเดียวกัน นิกายเดียวกันแท้ๆ ก็หาได้มีแนวปฏิบัติที่เอกภาพไม่ เอาสั้นๆ ระหว่างเกิดพระพุทธศาสนาในประเทศไทย 7-8 ปี ที่ประวัติศาสตร์พอจะบันทึกได้ ศีลของพระวินัยของสงฆ์ นับกันมา 227 ข้อ ปัจจุบันบางสำนักใช้เวลาศึกษาชั่วข้ามปี สรุปว่าไม่จำเป็นต้องถือให้รำคาญใจถึง 227 ข้อ สวดได้กำหนดนับไว้เพียง 150 ข้อ ก็พอ ปรากฏการณ์อันนี้ทำการเขย่าวงการคณะสงฆ์ให้สะเทือนเลื่อนลั่นทั้งแผ่นดิน แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี มั่นจะตั้งมั่นอยู่อย่างไร กรณีนี้เอาจริงแก้ไม่ยากเพียงแค่ปรับสามัญสำนึกให้ตรงกัน

ความสามัคคี ก็คือความพร้อมเพรียงพร้อมใจกัน กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน รู้จักตกลงกันด้วยไมตรีจิต ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักธรรมอันจะเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมเอาไว้ (สารณียธรรม 6) ดังนี้

1. เมตตามโนกรรม มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน รักและเมตตาต่อกัน ไม่คิดอคติแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ

2. เมตตาวจีกรรม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน รู้จักการพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์

3. เมตตากายกรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกัน ไม่ทำร้ายกันให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่เสมอ

4. สาธารณโภคี การช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

5. สีลสามัญญตา การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆ อย่างเดียวกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล

6. ทิฏฐิสามัญญตา มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

นี้เป็นหลักธรรมสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้น ในสังคม อันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า ดั่งพุทธภาษิตที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความสามัคคีของหมู่คณะเป็นเหตุนำความสุขมาให้"

เพราะ ฉะนั้นบุคคลผู้อยู่ร่วมกันเป็นส่วนรวม เช่น เป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นสังคม เป็นประเทศชาติ หากขาดความปรองดองพร้อมเพรียงกันแล้ว การทำกิจการงานเพื่อส่วนรวมก็สำเร็จลงได้น้อย หรืออาจไม่สำเร็จเลยก็เป็นได้ ชนใด หมู่ใด คณะใด มีความพร้อมเพรียงกันทั้งทางกายทางใจ ชนนั้น หมู่นั้น คณะนั้น ครอบครัวนั้น ประเทศนั้นก็เจริญงอกงาม

6. ต้องด้วยลืมสติ สติ แปลว่า ความระลึกได้ (ถ้าระลึกไม่ได้ สติก็เผลอก็ขาด อันตรายย่อมเกิดแก่ผู้มีสติไม่สมบูรณ์ อาจเป็นการกระทำผิดโดยขาดสติขาดเจตนาได้ แต่ก็ต้องผิดเพราะได้ล่วงการกระทำนั้นๆ เสียแล้ว) สติ มีใช้ในอีกหลายความหมาย เช่น กำหนดรู้ ตระหนักรู้ ระลึกรู้ สัมผัสรู้ รู้สึกตัว และอื่นๆ

สติใช้เพื่อที่จะรู้เท่าทันในสังขาร 3

1) รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว(กายสังขาร) ในอันที่จะการสร้างกรรมใดๆ นั่นคือศีล

2) รู้เท่าทันในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต(จิตสังขาร) จนจิตเป็นอิสระจากอารมณ์ นี่คือสมาธิ

3) รู้เท่าทันความคิดทั้งหลาย(วจีสังขาร) ว่าความคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่(โยนิโสมนสิการ) นี้คือปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี

ศีล ความสำรวมระวังกาย วาจา ให้เรียบร้อย เป็นความงามของพระภิกษุ แม้ไม่มีใครชมความปกติแห่งผู้มีศีลก็ต้องเป็นอย่างนี้ ความดีไม่มีวางขายใครอยากได้ต้องทำเอง การพูดแต่สิ่งที่เป็นมงคลแก่ปากย่อมเป็นที่รักของหมู่มนุษย์ เทวดา หรือแม้แต่เดียรฉานก็ปานนั้น คนผู้มีศีลก็รู้สึกปลอดภัยในสิ่งที่พูดที่กล่าวชี้แจงแสดงออกมา จึงเป็นเรื่องปกติของผู้มีศีล และสิ่งเหล่านี้คือ ความงามของพระภิกษุผู้เป็นที่รักนับถือ เป็นที่เลื่อมใส เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ เช่น การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตให้ขาวรอบ

การไม่กล่าวร้าย (รักษากาย)

การไม่ทำร้าย (รักษาวาจา)

ความสำรวมในปาติโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)

ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)

ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)

ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอน แต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)

ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี เป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า ผู้เจริญแล้วย่อมตั้งอยู่ด้วยองค์คุณ 8 ประการ ดังนี้

1 ตั้งมั่น 2 บริสุทธิ์ 3 ผ่องใส 4 โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา 5 ปราศจากสิ่งมัวหมอง 6 นุ่มนวล 7 ควรแก่งาน 8 อยู่ตัวไม่วอกแวกหวั่นไหว

และปัญหาข้อขัดแย้งทางความเห็นที่ควรเปิดเผยด้านที่ไม่ควรก็จะไม่เกิดขึ้นจาก เสียงวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ หรือ อาปัติ" ว่ากันว่ามีพระวินัยข้อหนึ่งแสดงไว้ มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอบอกอาบัติ ชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน จริงหรือ?

พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบันเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

อนึ่ง ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ แก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ, เป็นอาบัติปาจิตตีย์.

มุมมองแบบพระคุ้มครองพระ คุ้มครองพระศาสนา รักษาไว้ซึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี พระสงฆ์ที่ดีมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ตักเตือนแก้ไข รักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า

แต่ในมุมมองของทีมงานสร้างภาพยนตร์ เขาไม่ได้มองเจตนาของพระพุทธเจ้า เขามองมุมที่ควรนำเสนอให้เป็นเสรี ในสังคมมีทั้งคนดีคนไม่ดี หากพระพุทธศาสนาและบุคลากรที่กอปรด้วย บริษัท 4 มีคุณภาพ ก็จะรักษาพระพุทธศาสนา ไว้ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สามัคคี จะเจริญรุ่งเรื่องไม่มีวันเสื่อมคลายหายไปจากโลกแน่นอน


ขอจำเริญพร
หลวงพ่อเจ้าอาวาส วัดทุ่งเศรษฐี
ธรรมะสมสมัย 23 ตุลาคม 2558