ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



วิธีการยกจิตให้อยู่เหนือบาป

ท่านทั้งหลาย ธรรมชาติฤดูฝน ฝนก็ตกเป็นเรื่องของฝน เราต้องเข้าใจธรรมชาติไปตามเรื่องของฤดู กาล เพราะธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้น ก็หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปตามเรื่อง ชีวิตของเราก็ต้องหมุน ไปตามกฎธรรมชาติ จากทารกน้อยเป็นเด็กน้อย เติบโตขึ้นเป็นไปตามลำดับ ทำหน้าที่กันไปให้สมวัย ตามบทบาทของชีวิต วันเสาร์ที่ผ่านมามีญาติธรรมมารายงานตัวว่า ตอนนี้โยมอายุ 70 ปี แล้วท่าน อาตมาก็ระลึกในใจอยู่ว่า ทำไมทำอย่างไรคุณโยมท่านนี้ช่างโชคดีดีจริง ๆ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ เพราะคนเรากว่าจะผ่านผลงานนี้มาได้ ต้องเจอกับอุปสรรคขวากหนามมามากมาย อุปสรรคชีวิต และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเช่นกัน โยมมาทำบุญที่วัดทุ่งเศรษฐี ก็ได้มาสนทนาเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ ที่มารุมรอบรบเร้า เวลาสวดมนต์ เวลาทำสมาธิ ตลอดทั้งเวลานอน จะหลับก็ไม่หลับสนิท กังวลใจห่วงนั่นโน้นนี่ มีวิธีแก้อย่างไร?


อุปสรรคกั้นจิตไม่ให้บรรลุธรรมชั้นสูงเราเรียกว่า "นิวรณ์"

นิวรณะธรรม "ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี สิ่งที่ขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในทางคุณธรรม" ที่ประกอบด้วยองค์ธรรมทั้ง 5 คือ

1) กามฉันทะ พอใจในกามคุณ ความยินดีพอใจในกามคุณ ยินดีในโลกียรส ความรักใคร่ ห่วงใย เกิดตัณหาความทะยานอยาก อาวรณ์ในบุคคลที่ตนรักตนหลง ความพอใจเหล่านั้น ก็คือกามฉันทะ อันเป็นความพอใจที่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง จึงทำให้เมื่อตา หู เป็นต้นได้รับรู้เรื่องราวที่น่าพอใจทีไร ใจย่อมไม่สงบร่ำไป เพราะจิตนั้นผูกพันยึดมั่นในกามฉันทะ

2) พยาบาท ความคิดร้าย ความผูกใจเจ็บแค้น อาฆาตรพยาบาทจองเวร ปองร้าย ทำร้าย เกิดบันดาลโทษะ เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด หุนหันพลันเล่น โกรธง่ายหายช้า จิตใจคับแคบ ความคิดวกวน สมาธิสั้น ก่อเกิดศัตรูใจความคิดไม่ว่างเว้นในแต่ละขณะ ความขึ้งเคียดกระวนกระวายใจ เสียใจ อึดอัด ขัดข้อง เกิดความกระทบกระทั่งในใจ ไม่เป็นสมาธิ นั่นจิตถูกครอบงำด้วยพยาบาทแล้ว

3) ถีนมิทธะ ความหดหู่เคลิบเคลิ้ม ความง่วงเหวาหาวนอนเข้าครอบงำ ความเกียจคร้านในหน้าที่ จิตขาดกำลังขับเคลื่อนให้ปรารถนาความเจริญเรียกว่าความหดหู่ ความเพลียใจ ไม่ต้องการที่จะทำหน้าที่ของตนๆ ให้ก้าวหน้า ไม่สนใจใยดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความสิ้นหวัง ความซึมเซา ไม่เกิดแรงบันดาลใจใด ๆ ที่จะทำให้ชีวิตเกิดการต่อสู้ หากธรรมข้อนี้เข้าครอบงำจิต นับว่าเป็นอันตราย เป็นอุปสรรคไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เพราะไม่มีกระจิตกระใจกับการดำเนินชีวิต

4) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะจิตดิ้นรนกวัดแกว่งเพื่อการได้เสพในสิ่งที่จิตยินดีพอใจ เมื่อเสพในความเป็นจริงไม่ได้ ก็เสพในความคิด เสพในความเพ้อฝัน จึงทำให้ใจคิดไปเอง สร้างมโนภาพไปเอง อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญ กุกกุจจะ ยังหมายถึง คะนอง ความคะนองคือ เห็นในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร เห็นในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร เห็นในสิ่งที่เป็นโทษว่าไม่เป็นโทษ และ เห็นในสิ่งที่ไม่เป็นโทษว่าเป็นโทษ อุทธัจจกุกกุจจะ จึงหมายความว่าคิดฟุ้งไปด้วยความเห็นผิดเหล่านี้ ความคิดฟุ้งแม้จะมีความสุขในขณะคิด และไม่ว่าจะคิดฟุ้งด้วยอะไร ในขณะนั้นจิตก็หวั่นไหว ไม่เป็นสมาธิ

5) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความเคลือบแคลง ความไม่แน่ใจ ไม่ว่าเรากำลังค้นหาอะไรด้วยความไม่แน่ใจ ก็จัดเข้าใจวิจิกิจฉาได้ทั้งนั้น เมื่อลังเลสงสัย แม้เพียงเสี้ยวนาทีจิตใจก็ไม่สงบลงได้


ยกตัวอย่าง :

ภรรยาท่านหนึ่ง แม้จะทราบว่าสามีนั้นรักและซื่อสัตย์ต่อเธอ รับผิดชอบต่อครอบครัว แต่อุปนิสัยสามีมักนั้นเป็นคนเก็บความรู้สึก จึงไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักที่มีต่อเธอ แต่เพราะเธอเห็นสามีภรรยาคู่อื่นเดินจูงมือกันไป พูดคุยกันด้วยความรักใคร่ และพอใจการแสดงออกซึ่งความรักอย่างนั้น จึงอยากให้สามีแสดงออกอย่างนั้นบ้าง ครั้นสามีไม่ทำอย่างนั้น เวลาเห็นที่สามีภรรยาคู่อื่นเดินจูงมือกันไปก็ยิ่งหดหู่ไปใหญ่ ว่าตนไม่เคยได้รับความรู้สึกอย่างนั้นเลย จึงพลอยทำให้คิดฟุ้งซ่านไปว่า สามีจะรักเธอจริงหรือเปล่า ถ้ารักจริง ทั้ง ๆ ที่เห็นว่าคู่สามีภรรยาอื่น ๆ ปฏิบัติต่อกันอย่างไร ทำไมจึงไม่ปฏิบัติต่อเธออย่างนั้นบ้าง สามีมีใครแอบซ่อนในใจหรือเปล่า เมื่อรักษาความสงสัยนั้นไว้นาน ๆ เข้า ก็เกิดเป็นความระแวง เคลือบแคลงสงสัย ก็คอยแต่สังเกตสามีว่าจะมีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ กลับบ้านช้าไปหรือไม่ เวลาที่เขาคุยโทรศัพท์ เขาคุยกับใคร จนเกิดเป็นปัญหาครอบครัวขึ้นจนได้

องค์ธรรมกลุ่มนี้เป็นธรรมที่ปิดกั้นจิต ทำให้จิตไม่ประกอบความเพียร ทำให้จิตหย่อนสามารถการเข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา ในขณะใดขณะหนึ่ง เช่น ในขณะเดินจงกรม ในขณะนั่งฝึกสมาธิ และถ้าครอบคลุมทุกขณะของชีวิตแล้ว นิวรณ์ คือสิ่งที่ปิดกั้นเราจากความสงบ ไม่สามารถรักษาความสงบ ของจิตเอาไว้ได้ นิวรณ์ จึงเกิดขึ้นได้ในทุกขณะจิตที่อ่อนแอ ไม่ใช่ในขณะที่เราฝึกสมาธิเท่านั้น


วิธีการยกจิตให้อยู่เหนือบาป

แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มี 6 ประการ คือ

1. อนูปวาโท "ไม่ไปกล่าวหาว่าร้ายใคร" ยิ่งผู้เผยแผ่คำสอนนั้นยิ่งต้องไม่เป็นไปเพื่อโจมตีใครเขา ไม่นินทาใครให้เสื่อมเสีย ในทางตรงข้ามสิ่งที่ควรกล่าวนั้นต้องเป็นคำสัตย์คำจริง คำชื่นชมให้เกิดความชื่นใจ กล่าวคำสุภาษิตด้วยวาจาอันไพเราะเสนาะหู โบราณภาษิต ว่า

ยอครูยอต่อหน้า (ครูเป็นผู้รู้ เมื่อเราชื่นชมต่อหน้าท่านนั้นย่อมไม่เหลิงไม่หลง)

ยอข้าเมื่อแล้วกิจ (การชื่นชมข้าทาสหญิง-ชาย เมื่อแล้วเสร็จกิจ จะได้ชื่นใจหายเหนื่อย)

ยอมิตรเมื่อลับหลัง (การชื่นชมเพื่อนสนิทที่คบหา ในเวลาลับหลังแสดงถึงความจริงใจ)

ภริยายังอย่าชื่นชมหญิงอื่น (ต้องให้เกียรติว่า นี้เป็นภริยาของตน ยกความเป็นใหญ่ในบ้านให้อย่าชมสตรีอื่นต่อหน้าลูกเมียของตน เพราะอาจทำให้น้อยเนื้อต่ำใจได้)

2. อนูปฆาโต "ไม่ไปเบียดเบียนทำลายล้างผลาญใคร" ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่าหรือทำให้พลัดพลากชีวิตผู้อื่น และต้องไม่ทำให้ผู้อื่นนั้นเดือดร้อนเพราะการประทุษร้าย คิดรักผู้อื่นให้เหมือนท่านเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง และญาติ ๆ ของเรา ท่านมีบุญคุณต่อเรา เรามีบุญคุณต่อท่าน ปัญหาการทำร้ายทำลายล้างกันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ไม่มี โลกก็จะมีแต่สันติภาพทั่วทุกสังคม

3. ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร "สำรวมในพระปาฏิโมกข์" เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต เป็นการให้ความเคารพสิทธิ์เสรีภาพ ภราดรภาพกันและกัน มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศีลธรรม หรือกฎหมายบ้านเมือง ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน ในสิ่งสูงสุดภาวะทางจิต วิญญาณนั้นหากมีอุดมการณ์เดียวกันได้ยิ่งดี จะไม่เป็นไปเพื่อความขัดแย้ง

4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ "ต้องรู้จักประมาณในการกิน" การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่างก็เช่นกัน มีหลักอยู่ว่า

:

ประหยัด (รู้จักกินรู้จักใช้ ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุยสุร่าย)

ประโยชน์ (รู้จักเก็บเกี่ยวหาประโยชน์ จากสิ่งต่าง ๆ ให้คุ้มค่า ไม่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้นฯ)

ทนทาน" (รู้จักทนุถนอมซ่อมบำรุง รู้จักการดูแลรักษาไม่ว่าด้านกายภาพ - ชีวภาพ ชีวีตก็ดี สิ่งของก็ดี คิดง่าย ๆ เช่นการถนอมผักกาดไว้รับประทานสัก ครึ่งปี เราก็นำมาทำผักกาดดอง หรือที่เขาเรียกว่าการถนอมอาหารนั้นแหละ ชีวิตและทรัพย์สินก็ตามหากเราดูแลดีก็ใช้ได้ทน มีอายุยืนยาวนาน เป็นต้นฯ)

5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ "เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ" เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่ ในที่นี้ความรวมไปถึงความสงบระงับทางอารมณ์มิให้เกิดความยินดีทางเพศทางกาม ความยึดมั่นถือมั่นเป็นโซ่ตรวนเหนี่ยวรั้งให้จิตมันดิ้นรน ทะยานไปสู่ตัณหาพยาบาท ดังนั้นการบำเพ็ญเพียร เพื่อความสงบระงับจึงเป็นการตัดปัญหาต้นทาง ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เป็นต้นฯ

6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค "ประกอบความเพียรเพื่อประหารกิเลส" การทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส ท่านผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อต้นทาง ถูกตัดน้ำตัดไฟ อาตมาว่าจิตของเราย่อมเข้มแข็งต่อมารที่จะก้าวล่วงเข้ามาทำลายขันติธรรม ทำลายความวิริยะอุตสาหะ แล้วการยกฐานทางจิตนั้นจะไม่เสื่อมถอยด้อยลง พ่อแม่พี่น้องชาวพุทธของเราก็จะพัฒนานำพาตนของตน ก้าวสู่อุดมการณ์อันสูงส่ง และจะประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้แน่นอน ดังนั้นความเป็นอริยะชน อริยะสงฆ์ก็อยู่ในวิธีการทั้งหลายที่นำมาเสนอวันนี้นี่เอง

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับท่านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณ Thailand Plaza Hollywood Blvd. City of Los Angeles ทุกวันเสาร์เอาใจใส่กิจกรรมการทำบุญใส่บาตร สืบสานมรดกธรรมของชาวพุทธไทย ใหญ่ยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยศรัทธาที่เรามีต่อพระพุทธศาสนา พัฒนาความมั่นคงทางด้านศาสนธรรมและประเพณี รับผิดชอบด้วยตัวของเรา โดยช่วยกันสอดส่องดูแล ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางด้านสถานที่ ระเบียบพระสงฆ์ระเบียบบุคคล ความเสียสละแรงกายแรงใจ กำลังทรัพย์กำลังสติปัญญา ให้เกิดความรักสมัครสมานสามมัคคี ดำเนินไปให้เกิดความเจริญอย่างอารยชน โดยมิหวังผลสิ่งตอบแทน แต่กลับจะได้ประโยชน์มหาศาลอุทิศให้พระพุทธศาสนา


อนุโมทนากับบุญทานของทุกคนทุกท่านนะ

ทานเราได้ให้บริจาคแบ่งปัน

ศีลเรานั้นได้สมาทานรักษา

ภาวนาเราได้เจริญทุกเมื่อด้วยปัญญา

ไม่ต้องไปสงสัยว่าต้องเป็นหน้าที่ของใคร ศาสนามั่นคงด้วยหน้าที่ของเราทุกคน เมื่อเราทุกคนทุกท่านเข้มข้นด้วยความรับผิดชอบโดยเรา เพื่อเรา เพื่อพระพุทธศาสนาของเรา นั่นหมายถึงรากฐานอันมั่นคง ด้วยหัวใจของเราทุกคน เจริญพร