ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อย่าเฮ็ดเด้อ มันสิบาป

ท่านพุทธบริษัท สาธุชนท่านผู้สนใจศึกษาธรรมทั้งหลาย ยุคหนึ่งวัยหนึ่งสมัยที่ยังหนุ่มยังน้อย ที่เคยธุดงค์ไปในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่ทุ่งแสลงหลวงเมืองพิษณุโลก หรือเขตป่าอุทยานน้ำหนาวเพชรบูรณ์ก็ดี หรือที่เราเล่าเรียนเขียนอ่านก็ดี จำได้ว่าหนังสือตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา "มีวิชาภูมิศาสตร์" คุณครูสอนให้ทราบว่า ประเทศไทยเรามีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ และมีผืนป่าทั้งหมดประมาณ 40 - 60 % ปัจจุบันประเทศของเรานั้นเหลือป่าอยู่ไม่ถึง 30 % ของผืนป่าทั้งหมดแล้ว การศึกษาปลูกฝังให้เรารู้ประโยชน์ของป่า สอนให้เรารักป่า ให้เราช่วยกันดูแลป่า ดูแลธรรมชาติ ดูแลระบบนิเวศ จริง ๆ แล้วเพื่อมวลมนุษยชาติเลยที่เดียว


สุภาษิตใดที่ให้เรารักป่า

สุภาษิตเอาไว้ไม่อยู่ แล้วจะสอนกันอย่างไรให้ลูกหลานเรารักป่า ซึ่งเรื่องนี้ ทางการก็ได้รณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์พืชพันธุ์สัตว์ป่า บอกถึงว่าประเภทใดเป็นป่าอนุรักษ์หรือเป็นสัตว์อนุรักษ์ และประเภทใดเป็นป่าสงวนหรือเป็นสัตว์สงวน ปัจจุบันป่าและสัตว์มีอยู่จำนวนน้อยแล้ว พระก็เทศน์ก็สอนเรื่องประโยชน์ของป่า ห้ามตัดไม้ทำลายป่า การปลูกจิตให้รักป่ารักสัตว์ไม่ใช่เฉพาะยุคสมัยของเรานี้นะ

ยุคก่อน ๆ ก็บอกสอนปลูกฝังกันมาอย่างต่อเนื่อง ลองกลับไปค้นหาคำสุภาษิตเกี่ยวกับป่าไม้ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่สั่งสอนกันมา เช่น ความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 พระองค์เขียนคำขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันรักษาป่า ความตอนหนึ่งว่า :-

"เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง

ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี"

พระองค์ท่านได้มอบผลงานชิ้นสำคัญไว้ได้เราศึกษา หากแต่ เรามองข้ามพระอัจฉริยภาพอันลุ่มลึกนี้กันไปหมด เพียงความประโยคเดียวนี้ สามารถทำให้เรามองเห็นถึงห่วงโซ่ของชีวิตและธรรมชาติ ทุกสิ่งสัมพันธ์ประดุจเป็นสิ่งเดียวกัน

คำสุภาษิต อย่างคำเหล่านี้ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า, ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย" ในทำนองกลับกัน "นายก็พึ่งบ่าว, เจ้าก็พึ่งข้า ป่าก็พึ่งเสือ, เรือก็พึ่งน้ำ" เสือพึ่งป่า ป่าพึ่งเสือ นั้นเป็นธรรมชาติสัมพันธ์

ปัจจุบันป่าไม้ได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ฝนที่เคยตกต้องตามฤดูกาลนั้น ก็ไม่ตกต้องตาม ฤดูกาล ป่าไม้ถูกทำลาย แม่น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแวดล้อมอันเป็นพิษต่อมนุษย์ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ป่าไม้เหลือน้อย สัตว์ป่าเหลือน้อย ความบริสุทธิ์จากผู้คน จากธรรมชาติ จากสิ่งแวดล้อม มันจางหาย ไกลไปจากวิถีชีวิตและสังคมเราไปหมดแล้ว


ลูกเสือจะอยู่อย่างไร ?

พ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย สอนเสมอว่าก่อนจะทำอะไร ๆ อย่าเฮ็ดเด้อ มันสิบาป ให้นึกถึงหัวอกเขา หัวอกเรา ให้ตั้งอยู่ในความเมตตาไม่เบียดเบียนใครเขา เพราะเท่ากับเมตตาในใจเราให้เกิดความร่มเย็น ถ้ามีสติ มีคุณธรรม สติจะเตือนตนเองว่าเราฆ่าเสือ (ดำ) ทำไม เราจะเมตตาต่อเสือ (ดำ) เมตตาต่อสัตว์อื่น ๆ เราจะไม่ทำร้ายและไม่ทำลายชีวิตเขาให้บาดเจ็บล้มตาย "อย่าเฮ็ดเด้อ มันสิบาป" ปรัชญาทางศีลธรรมเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิตให้เกิดความผาสุกปราศจากการเบียดเบียนทุกสมัย

เขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าใหญ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ ความที่เป็นป่าสมบูรณ์ย่อมทำให้เป็นที่อาศัยปลอดภัยของสัตว์ป่า เสือเขาก็จะอยู่สุขสบายในป่า เสือ (ดำ) เขาช่วยเรารักษาป่า โดยธรรมชาติเลยนะ เสือ (ดำ) เขาเป็นผู้พิทักษ์ป่ายิ่งกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองป่าเลยละ (เข้าใจไหม) เสมือนหนึ่งในจิตใจของเราที่มีปัญญาธรรมสมบูรณ์ ปัญญาย่อมคุ้มครองเราให้ปลอดภัย ไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง

คำถามว่า :- ยุงร้ายกว่าเสือ (ดำ) ฆ่าเสือ (ดำ) ทำไม ทำไมเราไม่ฆ่ากิเลสออกไปจากจิตใจให้เกลี้ยงเกลา สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะจริงเท็จนั้น ก็ต้องพิสูจน์ความจริงกันต่อไป อย่างไรก็ตามคุณธรรมรักษาจิตให้ไกลจากกิเลส หลักกรรมจะเป็นเครื่องยืนยันว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้แตกต่างกัน "กมฺมุนา วตฺตตี โลโก" สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


ประโยชน์ของการมีป่า

ป่าไม้สร้างความชุ่มชื้น ทำให้ฝนตก และเมื่อฝนตกป่าไม้ก็อุ้มน้ำไว้ไม่ให้น้ำท่วมฉับพลัน เป็นกลไกลทางธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์กัน ถ้าขาดป่าไม้ฝนก็จะแล้ง ถ้าฝนตกลงมาน้ำก็จะท่วม ถ้าไม่มีป่าสัตว์ป่าก็อยู่ไม่ได้ เรียกว่ามีความสัมพันธ์กันตลอด ภาษาพระท่านเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" คือ ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้น "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนั้นก็ดับ" นี้คือคำสอนเรื่องความสัมพันธ์กันของสิ่งทั้งหลาย

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า การปลูกป่าและการรักษาต้นน้ำลำธาร เป็นบุญกุศล พระองค์ตรัสไว้ใน วนโรปสูตรว่า "ชนเหล่าใด ปลูกป่า ปลูกสวน สร้างสะพาน สร้างโรงน้ำ ขุดบ่อน้ำ บริจาคอาคารที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นได้บุญตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน" ทั้งนี้เพราะการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ขุดบ่อน้ำปลูกต้นไม้ เหล่านี้เป็นประโยชน์ไพศาลต่อประชาชนในสังคมทั้งหมด ใครมาใช้ประโยชน์เมื่อไร คนที่ปลูกที่สร้างก็ได้บุญเมื่อนั้น

ศาสนาช่วยปกป้องคุ้มครอง พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้กตัญญูคือรู้คุณค่าของธรรมชาติ และมีกตเวทีคือตอบแทนคุณของธรรมชาติ หลักศีลธรรมนำมาสู่ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่มีทุน ไม่มีอำนาจ แต่ต้องการรักษาป่า ห้ามมิให้ลูกหลานไปตัดไม้ในป่า ท่านก็นำผ้าจีวรเก่าบ้าง ผ้าหลากสีบ้าง นำเครื่องเซ่นสรวงไปบูชา ทำพิธีบวชต้นไม้ และสอนลูกสอนหลานว่า "อย่าเฮ็ดเด้อ มันสิบาป" นับเป็นปรัชญาทางศีลธรรม เพื่อกุศโลบายรักษาป่า รักษาพันธุ์สัตว์ป่า รักษาแหล่งน้ำลำห้วย ผู้ใดได้ประโยชน์จากธรรมชาติแล้วยังคิดทำลายธรรมชาติ ผู้นั้นเป็นคนทรยศต่อมิตร ดังมีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน เตมียชาดกว่า : -

ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย นิสีเทยฺย สเยยฺย วา

น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก

"บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม"

ท้ายสุดแห่งสัปดาห์นี้ ฝากข้อคิดย้ำคำให้รักผู้อื่น รักสัตว์อื่น เสมือนเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว แล้วเราจะไม่คิดทำร้ายกัน ถึงแม้จะมีบ้างก็จะน้อยลง และถ้าคิดจะฆ่าใครสักชีวิต ให้หวนนึกคิดถึงบทความนี้ ด้วยความเมตตาจึงชี้แนะว่า "มาร่วมด้วยช่วยกันปฏิบัติขัดเกลา (ฆ่า) กิเลส" เจริญไตรสิกขา พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา อย่าให้การศึกษาปริญญาตรี - โท - เอก มันก้าวข้ามศีลธรรม เพราะความเป็นบัณฑิตย์ในทางธรรม คือ ผู้ประกอบด้วยสุจริต 3 คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จิตพ้นไกลจากโมหะอวิชชา นี่ก็ว่าคุณธรรมความเป็นบัณฑิตย์ "ศีลธรรมไม่กลับมา ผืนป่าไม่ปลอดภัย" รูปขอจำเริญพร