ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



พระสูตรบทแรกที่ควรทำความเข้าใจ

พระสูตรบทแรกที่ควรทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง หากญาติโยมท่านใดสนใจใฝ่เรียนรู้ อาตมาจะชวนให้มาสวดมนต์บทธัมมจักรกัปปวัตนสูตรกัน ซึ่งเป็นบทสวดที่นิยมกันมาก ธัมมจักกัปปวัตนสูตร หมายถึงพระสูตรที่หมุนวงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนไป เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงแก่ปัจจวคีย์ทั้ง 5 พร้อมทั้งเทวดาและพรหมที่ตามไปฟังธรรมด้วยเป็นอันมาก ณ ป่ามฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีนั้น

ด้วยพระสูตรนี้ เป็นพระสูตรบทแรกจึงมีอานิสงค์ในการสวดมาก ดังนั้นทุกวันอาทิตย์ตลอดในฤดูกาลเข้าพรรษาปีนี้ ศรัทธาชาววัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะนำเอาพระสูตรบทนี้ขึ้นมาใช้สวดตลอดพรรษา จึงขอเชิญที่ผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปมีส่วนร่วมบุญ "3 เดือนแห่งการสร้างความดีงาม 1 ไตรมาสแห่การสร้างบารมี" ตามคัมภีร์กล่าวไว้ดังนี้ ท่านใดได้สวดสาธยายด้วยตนเองนั้น จะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นกิจการงานแขนงใดๆ ที่ทำอยู่นั้น ก็จะได้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งๆ ขึ้น และยังเป็นบทสวดที่ปลดเปลื้องทุกข์ภัยต่างๆ นานาได้อีกด้วย สิ่งเลวร้ายจะกลายมาเป็นดี ดีวันดีคืน บรรพชนท่านกล่าวไว้ "เก้าดีสิบดีถึงแสนดี" เหตที่ท่านกล่าวอย่างนั้นคงเพราะว่าพระสูตรนี้นับเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นยิ่งกว่าแก้วสารพัดนึก และยังจะทำให้ผู้นั้นมีอายุยืน มีความ สุขกาย สุขใจ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย เมื่อได้สวดประจำทุกค่ำคืน ทั้งตื่นและหลับจะกลับกลายเป็นมิ่งมงคลแก่ตัวเอง เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ได้มีความเจริญก้าวหน้า ชีวิตพัฒนาสถาพร มั่งคั่งด้วยอริยทรัพย์สมบัติและข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคบริสุทธิ์บริบูรณ์ อีกประการหนึ่งเมื่อลาละไปจากโลก ก็จะได้ไปอยู่เป็นสุขในสรวงสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง จวบจนจิตของผู้นั้นจะยกระดับของจิตเข้าสู่พระนิพพาน สมดังที่จิตใจของเราได้ตั้งความปารถนาไว้ ก่อนการสวดสาธยายในแต่ละครั้ง

จากประสบการณ์ที่ได้สวดสาธยายมานั้นเห็นว่า อานิสงค์อื่นใดก็ไม่เท่าความซาบซึ้งใจในเนื้อหาของบทสวดเพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสนั้น (เนื้อหาในบทสวด) เป็นความจริงแท้ๆ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งได้นำพาให้ใฝ่ใจในการศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น มิใช่เป็นเพียงแต่การที่สวดขอพรวอนไหว้ ขออานิสงส์ให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตามแต่ที่จิตจะนึกอยากขอ ผู้ที่มีบุญได้สวดและศึกษาพระสูตรบทนี้ จะมีแรงบันดาลใจให้ยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง

ความเป็นมาของธัมมจักกัปปวัตนสูตรตามประวัติศาสตร์โดยย่ออย่างที่สุดว่า เกิดขึ้นเมื่อ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เพ็ญอาสาฬหปุณณมี) ก่อนพุทธศักราช 45 ปี กล่าวคือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะแล้ว ได้ทรงเสวยวิมุติสุขบริเวรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นเป็นอิริยาบถต่างๆ 7 อิริยาบถ อริยาบทละ 7 วัน ระหว่างนี้ได้มีพ่อค้าวานิช 2 คน เดินทางผ่านมา เพียงเห็นพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใส จึงถวายอุทิศตนแด่พระพุทธเจ้า แล้วประกาศตัวเป็นอุบาสกคู่แรกในพุทธศาสนา

ระหว่างการเดินทางไปสู่เมืองพาราณสี พระพุทธเจ้ารู้ได้ด้วยญาณว่า โยคีอุปกาชีวกจะเดินทางผ่านมาทางนี้ และก็อัศจรรย์ด้วยเป็นจริงอย่างนั้น พราหมณ์ผู้นั้นถามว่า ท่านเป็นศิษย์ใครทำไมผิวพรรณจึงผ่องใสนัก พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า "เรามิได้เป็นศิษย์ใครเราเป็นสัมมาสัมพุทธะ" เพียงแต่เท่านั้น (บางตำราบอกว่าโยคีส่ายหน้าไม่เชื่อแต่บางตำรากลับว่า โยคีนั้นส่ายหน้าแบบอินเดียรับทราบว่าทรง เป็นสัมมาสัมพุทธะ) ภายหลังจากนั้นราว 40 ปี โยคีท่านนี้ก็บวชในพุทธศาสนา ได้สำเร็จขั้นอนาคามี แล้วถึงขั้นอรหันต์ในชั้นพรหมโลก ซึ่งรายละเอียดอันสนุกสนานนั้น จะได้กล่าวถึงในคราวต่อไป

ดังนั้น พระสูตรบทนี้ จึงถือว่า เป็นปฐมเทศนาอย่างแท้จริง ผู้ใดได้สวดเป็นประจำ แม้ดวงตายังไม่เห็นธรรมก็นับว่าเป็นผู้ที่เคยได้ทำบุญมาในพุทธศาสนา ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ท่าน ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้น อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ในสัปดาห์ที่ 5 ทรงพิจารณาถึงพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสิ่งลึกซึ้ง ยากที่มนุษย์โดยทั่วไปจะเข้าใจได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระปัญญาคุณของพระองค์ ทรงเห็นว่าบุคคลที่มีกิเลสเบาบาง มีความเห็นแก่ตัว น้อยแสวงหาสัจธรรมเพื่อการหลุดพ้น เหมือนดังดอกบัวที่โผล่ พ้นน้ำรับแสงอาทิตย์ก็มีอยู่ พระองค์ไม่ควรที่จะเก็บความรู้อันประเสริฐไว้แต่เพียงลำพัง ควรจะเผยแผ่ให้รู้กันทั่วๆ ไป เพื่อคนเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์จากความรู้อันประเสริฐนี้ด้วย เมื่อทรงตกลงพระทัยที่จะประกาศคำสอนให้แพร่หลายไป จึงทรงระลึกถึงบุคคลที่จะรับฟังคำสอน อันดับแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบสอดีตอาจารย์ของพระองค์ แต่ได้ทราบว่าท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

ในที่สุด ก็ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ที่ได้เคยอยู่ปรนนิบัติพระองค์เมื่อตอนบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งตอนนี้ได้ไปอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี จึงทรงเสด็จจากอุรุเวลาตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จไป ใกล้จะถึงที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระองค์เสด็จมาได้ตกลงกันว่าจะไม่ต้อนรับพระองค์ แต่เมื่อทรงอยู่ต่อหน้า ปัญจวัคคีย์ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ปรากฏอยู่ที่พระองค์ๆ มีความสง่างาม มีแววแห่งความประเสริฐซึ่งแตกต่าง จากอดีต ลืมข้อตกลงเดิมได้เข้าไปต้อนรับอย่างดีเมื่อพระพุทธองค์ประทับบนอาสนะแล้วก็ได้ทรงกล่าวกับปัญจวัคคีย์ว่า จะทรงแสดงธรรมให้ฟัง เหล่าปัญจวัคคีย์มีความสงสัยเกิดขึ้น ไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ได้กล่าวโต้ตอบพระองค์มากมายจนที่สุด พระองค์กล่าวตอบว่า "ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันครั้งก่อน พระองค์เคยกล่าวว่าได้บรรลุธรรมสูงสุดที่ทำให้อยู่เหนือความเกิด และความตายหรือไม่?" ปัญจวัคคีย์ยอมรับว่าพระองค์ไม่เคยกล่าวเช่นนี้มาก่อน จึงยอมรับที่จะฟังธรรมจากพระพุทธองค์คืนนั้น พระพุทธองค์ทรงพักค้างคืนกับปัญจวัคคีย์ รุ่งขึ้นเป็นวันเพ็ญ อาสาฬหะพระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนากัณฑ์แรกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อพระพุทธองค์ตรัสธัมมจักกัปปวัตนสูตร นี้จบลงพราหมณ์โกณฑัญญะได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน พระพุทธองค์ถึงกับทรงเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วตโภ โกณ ฑัญโญๆ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ"

จากนั้นท่านจึงมีชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะพร้อมทั้งทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทรงเปล่งพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรา กล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบเถิด" พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา วันนั้นตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบบริบูรณ์

ในยามวิกฤตศรัทธาพระพุทธศาสนากำลังมีภัยคุกคาม อาตมาขอเจริญพรท่านผู้มีศรัทธา จงช่วยกันจรรโลงธรรม ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาของเราให้มั่นคงดำรงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ตลอดกาลนิรันดร์ อันว่าสัตบุรุษ หมายถึงคนที่มีคุณธรรม คนที่เป็นสัมมาทิฐิ คนที่ประพฤติธรรมเป็นปกติ สัตบุรุษ ในทางปฏิบัติคือคนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม 7 ประการ คือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา การเคารพพระศาสนาที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ตัวการปฏิบัติของเรา เราจะปฏิบัติศีลธรรม ให้งามสง่าอยู่ใจจิตใจเราเป็นนิจ การสร้างคุณงามความดีเป็นหน้าที่ของสัตบุรษ (ผู้รู้ นักปราชญ์) โดยแท้ ขอจำเริญพร