ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



"มโหสถบัณฑิต" ปัญญาเด็ก 7 ขวบ

ณ โอกาสบัดนี้ ขอเชิญญาติโยมทุกคนทุกท่าน นอบน้อมต่อธรรมแห่งพระสัมมา เพื่อศึกษาชาดก เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฏก เกี่ยวกับชาติกำเนิดพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ สัปดาห์นี้ ธรรมะสมสมัยขอนำเรื่อง "มโหสถบัณฑิต พระโพธิสัตว์ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี" เป็นชาติที่ 5 ในทศชาติ โดยจะนำมากล่าวเป็นตอน ๆ เพื่อร่วมกันศึกษาการบำเพ็ญปัญญาบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ตามลำดับ ดังนี้


อดีตนิทานเรื่องมโหสถบัณฑิต

มีพระราชาพระนามว่า วิเทหะ เสวยราชสมบัติใน กรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีบัณฑิต 4 คน ชื่อเสนกะ - ปุกกุสะ - กามินทะ และเทวินทะ เป็นผู้ถวายอนุศาสนอรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราชนั้น พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินในปัจจุสมัย วันที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้ง 4 มุม มีกองเพลิง 4 กองประมาณเท่ากำแพงใหญ่ลุกโพลง ท่ามกลางกองเพลิงทั้ง 4 มีเพลิงกอง 1 เท่าหิงห้อยได้ลุกโชติกว่ากองเพลิงทั้ง 4 ประมาณถึงอกนิฏฐพรหม สว่างทั่วจักรวาล

เทวดา มาร พรหม มาบูชากองไฟนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้ มหาชนเที่ยวอยู่ระหว่างเปลวเพลิงก็มิได้ร้อนผิวเนื้อ ทรงเห็นพระสุบินนี้แล้ว ทรงหวาดสะดุ้งเสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ทรงจินตนาการอยู่จนอรุณขึ้นว่า เหตุการณ์อะไรหนอจะพึงมีแก่เรา ๆ

4 บัณฑิต มาเฝ้าแต่เช้าทูลถามถึงสุขไสยาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือ พระองค์ตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ ความสุขจะมีแก่เราแต่ไหน เราได้ฝันเห็นอย่างนี้ บัณฑิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตกพระหฤทัย พระสุบินนั้นเป็นมงคล ความเจริญจักมีแด่พระองค์


เหตุอัจรรย์พระโพธิสัตว์ประสูติ

4 บัณฑิต ข้าแต่มหาราช บัณฑิตที่ 5 จักเกิดขึ้น ครอบงำพวกข้าพระองค์ ซึ่งทำให้บัณฑิตทั้ง 4 หมดรัศมี พวกข้าพระองค์ทั้ง 4 คน เหมือนกองเพลิง 4 กอง บัณฑิตที่ 5 จักเกิดขึ้นเหมือนกองเพลิง ที่ เกิดขึ้นในท่ามกลาง จะหาผู้เสมอบัณฑิตนั้นย่อมไม่มีในโลกทั้งเทวโลก

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามว่า ก็บัดนี้บัณฑิตนั้นอยู่ที่ไหน เสนกบัณฑิตทูลพยากรณ์ราวกะเห็นด้วยทิพยจักษุ เพราะกำลังแห่งการศึกษาของตนว่า วันนี้ บัณฑิตนั้นจักปฏิสนธิ หรือจักคลอดจากครรภ์มารดา พระราชาทรงระลึกถึงคำแห่งเสนกบัณฑิตนั้น จำเดิมแต่นั้นมา

มิถิลานคร มีเศรษฐีชื่อ สิริวัฒกะ ณ หมู่บ้าน "ปาจีนยวมัชฌคาม" ภรรยาชื่อ สุมนาเทวี วันนั้น พระมหาสัตว์จุติจากดาวดึงส์ ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนาเทวี ในเวลาที่พระราชาทรงพระสุบิน เทพบุตรอีกพันหนึ่งจุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในตระกูลแห่งเศรษฐีใหญ่น้อยในบ้านนั้นนั่นเอง ฝ่ายนางสุมนาเทวีคลอดบุตรมีพรรณดุจทองคำ โดยถ้วนทศมาส (10 เดือน)


เหตุใดโอสถถึงได้ติดตัวมาแต่กำเนิด

ท้าวสักกเทวราช ทอดพระเนตรดูมนุษยโลก ทรงทราบว่า พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา ทรงคิดว่า ควรเราจะทำพระพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในโลกทั้งเทวโลก จึงเสด็จมาด้วยอทิสมานกาย ไม่มีใครเห็นพระองค์ ในเวลาที่พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา ได้วางแท่งโอสถแท่งหนึ่งที่หัตถ์แห่งพระมหาสัตว์นั้น แล้วเสด็จกลับไปยังทิพยพิมานแห่งตน พระมหาสัตว์รับแท่งโอสถนั้นกำไว้ในมือ

พระมหาสัตว์ คลอดจากครรภ์นั้น ความทุกข์มิได้มีแก่มารดาแม้สักน้อย คลอดง่ายคล้ายน้ำออกจากธมกรกฉะนั้น นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตรจึงถามว่า "พ่อได้อะไรมา" บุตรนั้นตอบมารดาว่า "โอสถจ๊ะแม่" แล้ววางทิพยโอสถในมือมารดา กล่าวว่า "ข้าแต่แม่ แม่จงให้โอสถนี้แก่เหล่าคนเจ็บป่วย ด้วยความเจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งจักหาย"


อานุภาพแห่งทิพยโอสถ

นางสุมนาเทวี จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้สามี ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปี มีความยินดีคิดว่า กุมารนี้เมื่อเกิดแต่ครรภ์มารดาก็ถือโอสถมา ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะที่เกิดนั้น โอสถที่ผู้มีบุญเห็นปานนี้ให้ จักมีอานุภาพมาก คิดฉะนี้แล้ว จึงถือโอสถนั้นฝนที่หินบด แล้วเอาโอสถทาที่หน้าผากโรคปวดศีรษะเป็นมา 7 ปีก็หายไป ดุจน้ำหายไปจากใบบัว ฉะนั้น

เรื่องพระมหาสัตว์ถือโอสถมา ปรากฏไปในที่ทั้งปวง ผู้เจ็บไข้พากันมาบ้านท่านเศรษฐี ท่านถือ เอาโอสถฝนที่หินบดละลายน้ำ เพียงเอาทิพยโอสถทาสรีระเท่านั้น ความเจ็บป่วยทั้งปวงก็สงบ มนุษย์ทั้งหลายได้ความสุข แล้วก็สรรเสริญว่า โอสถในเรือนท่านเศรษฐีมีอานุภาพมาก แล้วหลีกไป


มโหสถ นามที่ประชาชนชื่นชม

สิริวัฒกะ ดำริว่า บุตรเราจักชื่อโอสถ "มโหสถกุมาร" อาศัยการเกิดขึ้นว่า โอสถนี้มีคุณมาก ๆ ฉะนี้ ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดว่า บุตรของเรามีบุญมาก จักไม่เกิดคนเดียว ทารกทั้งหลายที่เกิดพร้อมบุตรของเรานี้จะพึงมี ตรวจแล้วพบว่า ทารกเกิดวันเดียวกันมีถึง 1 พันคน จึงให้เครื่องประดับ แก่กุมารทั้งหมด ให้นางนม 1 พันคน ตลอดให้ทำมงคลแก่ทารกเหล่านั้นพร้อมกับบุตรแห่งตน ด้วยคิดว่า ทารกเหล่านี้จักเป็นผู้ปฏิบัติบำรุงบุตรของเรา นางนมทั้งหลายตกแต่งทารก แล้วนำมาสวามิภักดิ์ต่อพระมหาสัตว์ ให้เล่นอยู่ด้วยทารกเหล่านั้น ตราบเจริญวัย


ความฉลาดฉายแววภาวะผู้นำ

มโหสถ อายุได้ 7 ขวบ รูปงามเปรียบด้วยทองคำ เล่นอยู่กับเพื่อน ๆ ณ ลานกลางบ้าน วันหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่ พระมหาสัตว์ผู้มีกำลังดุจช้างสาร เห็นมหาเมฆตั้งขึ้นก็วิ่งเข้าสู่ศาลาเล็ก เพื่อน ๆ นอกนั้นวิ่งตามไปทีหลัง บ้างพลาดล้มถึงเข่าแตก ท่านจึงคิดว่า ควรทำศาลาใหญ่เป็นที่เล่นในสถานที่นี้ เราจักไม่ลำบาก จึงแจ้งแก่ทารกเหล่านั้นว่า พวกเราจักลำบากด้วยลม ฝน และแดด พวกเราจักสร้างศาลาหลังหนึ่งที่นี่ ให้พอเป็นที่ยืน นั่ง และนอนได้ ท่านทั้งหลายจงนำเงินมาคนละกหาปณะ เพื่อน ๆ ได้กระทำตามนั้น


ศาลาของยอดนักคิด อายุ 7 ขวบ

มโหสถ มีกองทุนจากเพื่อน ๆ ได้มา 1 พัน เรียกนายช่างใหญ่มาสร้างศาลา แล้วให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ นายช่าง ๆ รับงานรับกหาปณะแล้ว ปรับพื้นที่ให้เสมอ ขุดหลักตอออก ขึงเชือกวางแผนผัง

มโหสถ เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง กล่าวว่า ท่านจงขึงให้ดี นายช่างกล่าวว่า ข้าพเจ้าขึงตามที่เหมาะสมแล้ว มโหสถเห็นดังนั้นจึงนำเชือกมาขึงให้ เชือกที่พระมหาสัตว์ขึงเป็นประหนึ่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรบันดาล

มโหสถ กล่าวกะนายช่างว่า ถ้าเช่นนั้น ให้ท่านทำตามความเห็นของเราได้ไหม ได้จ๊ะนายท่าน พระมหาสัตว์จัดปันที่ศาลาให้เป็นส่วน ๆ คือ ห้องสำหรับหญิงอนาถาคลอดบุตร สำหรับสมณพราหมณ์ สำหรับคฤหัสถ์ สำหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า ให้ทำสนามสำหรับเล่น ทำที่วินิจฉัยแม้โรงธรรม เมื่อศาลาแล้วสำเร็จลง ได้ให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมให้น่ารื่นรมย์เปรียบด้วย "เทวสภาชื่อ สุธรรมา"

มโหสถ ดำริว่า ควรสร้างสระโบกขรณีด้วย สร้างให้มีคดลดเลี้ยวเป็นศิลปะ ดาดาษด้วยปทุม ชาติ 5 ชนิด ราวกับนันทนโบกขรณี ให้สร้างสวนปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผลริมฝั่งสระ ดุจอุทยานนันทนวัน ได้ใช้ศาลานั้นตั้งทานวัตร เพื่อสมณพราหมณ์ และผู้เดินทางที่จรมา เป็นต้น

มโหสถ ปรากฏผลงานไปในที่ทั้งปวง มนุษย์ได้มาอาศัย พระมหาสัตว์นั่งในศาลานั้น กล่าวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกและผิดแก่ผู้ที่มาสโมสร ตั้งการวินิจฉัยเสมือนดั่ง "พุทธุปบาทกาล" (ช่วงเวลาที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก)


ปัญญาเด็ก 7 ขวบ

ท่านทั้งหลายปัญญาเด็ก 7 ขวบ ยังประโยชน์เกิดขึ้นเป็นอันมาก คติได้จากเหตุการณ์นี้คือความ ไม่โลเล ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ความพร้อมกายพร้อมใจ มีจิตสาธารณะพร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ความคิดอันล้ำลึกแหลมคมนี้ เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่ซับซ้อน ส่วนความคิดของสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร ?

บางคนคิดมากไป คิดเป็นปัญหาไปเสียหมด (ขจัดนิวรณธรรม 5 ออกจึงจะเบาความคิด)

บางคนพูดมากไป พูดกระทั่งกลับมาทำลายตนเอง (พิจารณากถาวัตถุธรรม 10 แล้วจะปล่อยวางได้มากขึ้น ปล่อยวางรู้ว่าวาง ถ้ารู้วางก็รู้เบา) บางคนทำมากไป ขยันมากไป (ขยันแบบโง่ ๆ ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง) ทำงานเก็บเงินไห้ได้มาก ๆ ไม่ยอมจ่าย ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เสียสละ และโกรธที่มีคนมาขอความช่วยเหลือแบ่งปัน ตระหนี่ถี่เหนียวบาทเดียวก็ไม่ยอมจ่าย สุดท้าย เท่าไหร่ ๆ ก็ยอม ยอมจ่ายเป็นค่าแพทย์ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายาสมุนไพร ค่าเดินทางไกล ไปทุกที่ที่มีหมอดี มียาดี แม้กระทั่งมีฤษีดี มีพระดี ก็ยอมจ่าย เพื่อแลกกับการเยียวยารักษาตัวเองให้หายจาก (โลก) โรค

"ขอให้ทุกท่านจงทำความดี และมีความสุขทุกวัน" เพราะเมื่อวานนั้นผ่านไปแล้ว และพรุ่งนี้ก็ยังมาไม่ถึง จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด" รูปขอจำเริญพร