ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



เครื่องยึดเหนี่ยวใจที่แท้จริง

ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน อาตมาว่าเครื่องยึดเหนี่ยวใจที่แท้จริงกับโลกปัจจุบัน Social Media ได้มีอิทธิพลเอามาก ๆ หลายคนหลายท่านปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบริโภคข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รอบโลก นั่นก็ให้เหตุผลกันไปนานาทัศนะ คนที่ปฏิเสธก็ถูกต้องกับเหตุผลหนึ่ง ส่วนคนที่ยอมรับก็ถูกต้องอีกเหตุผลหนึ่ง สรุปก็ถูกต้องทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้ในด้านใด กาละ เทศะ เหตุและผลจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเจตนารมณ์ที่นำไปใช้ บ้างก็ว่าไม่ควรต่อสมณะสารูป บ้างก็ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วจะอยู่ทำไมให้ดักดาน อย่าได้ใส่ไคร้กันให้วุ่นยิ่งขึ้นไปมากกว่านี้อีกเลย การกล่าวหาว่าร้ายต่อกัน หาความใส่ร้ายกัน ตามหลักและวิธีการที่กล่าวไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้นก็ว่าเป็นเหตุแห่งบาป หากปล่อยไปโมหะอวิชชาจะเข้าครอบงำได้ง่าย และอาจนำไปสู่ความเสื่อมด้อยถอยหลัง

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นย่อมเป็นอุทาหรณ์ : รัฐประกาศใช้ ม.44 บอกว่าชอบธรรม ตามขั้นตอนทางกฎหมายทุกประการ ประสงค์กระทำการนำเอาผู้กระทำความผิดเพื่อมาดำเนินคดีเพียงคนเดียว หรือสองสามคน (ผิดถูกอย่างไรนั้นก็ว่ากันไป) แต่มีผู้เดือดร้อนหลายหมื่นคน ผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมาแล้ว ความลำบากใจก็ตกมาอยู่กับฝ่ายปฏิบัติการอย่างยากที่จะปฏิเสธ ทุกคนทุกท่านต่างก็กระทำหน้าที่โดยชอบธรรมทั้งสิ้นนั่นแหละ (ไม่ได้ว่าอะไร)

ฝ่ายผู้ถูกกระทำพูดว่า ม.44 นั้นไม่ชอบธรรม ไม่เหมาะสมไม่มีความจำเป็นที่ต้องประกาศใช้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาปฏิบัติธรรม ในภาวะบ้านเมืองที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเรียบร้อยร่มเย็นเช่นนี้ ควรหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกัน เพราะความเสียหายบานปลายแล้วนั้น ที่สุดภาระย่อมตกอยู่กับประชาชน อำนาจรัฐย่อมต้องทรงสภาพเข้มแข็งและศักดิ์สิทธิ์ และที่ถูกต้องนั้นคือประชาชนย่อมต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ อันที่จริงประชาชนเสียเปรียบทุกอย่างนั้นแหละ แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งนั้นทุกคนในประเทศ ย่อมต้องรับผลของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นตราบาปร่วมกันอย่างแน่นอน

ท่านทั้งหลาย การดู T.V Online หรือดูจาก Facebook หรือ Youtube ก็ดีผู้จัดมักจะบอกให้ผู้ชมติดตามชมรายการครั้งต่อไปโดยให้กด Subscribe ที่นี้แหละเรื่องข่าวสารบ้านเมือง เรื่องบรรเทิง เรื่องดราม่า เรื่องใส่ไคล้ ไม่รู้เรื่องอะไร ๆ ที่กดติดตามจะมารบกวนท่านทางโทรศัพท์เสียงดังตุ้งติ้ง ๆ ทุก ๆ ต้น ชั่วโมง เลยเป็นเหตุให้ทราบความเคลื่อนไหวจนรู้สึกอ่อนไหวไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงต้องฝากมาเพื่อให้สติกับการบริโภคข่าวต่าง ๆ เรา....ต้องดำรงและดำเนิดชีพด้วยสติ ส่วนที่กล่าวมาเป็นเรื่องความบริสุทธิ์ใจมิได้คิดประทุษร้ายฝ่ายใด เพราะคิดกับผู้อื่นเสมอว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน ทุกคนคือญาติพี่น้องของเรา เอาเป็นว่ารู้หลายอย่าง คิดหลายอย่าง แต่ไม่พูดทุกอย่าง

ชีวิตใสๆ ในทุ่งธรรม บนพื้นฐานแห่งศรัทธาที่ชาวพุทธมีต่อศาสนาและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ได้แสดงถึงการบูชาต่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงอภิญญา และเหล่าพระอริยเจ้า ทุกพระองค์ล้วนกระทำเพียรเพื่อให้ล่วงพ้นจากทุกข์ทั้งมวล เป็นแบบอย่างและแนวทางแห่งการปฏิบัติ ก้าวไปสู่ความหลุดพ้น พระสัทธรรมในศาสนานี้ยังความอิ่มเอมเต็มพร้อม ให้กับผู้ปรารถนานำไปขัดเกลาเผากิเลสให้สิ้นได้ทุกเมื่อ

การสร้างที่พึ่งเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ จึงเป็นสัญญลักษณ์ของการสร้างชุมชนแนวพุทธ การนำเอาหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคแสดงไว้มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต เป็นอุดมการณ์มอบคุณค่าแท้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน วัดเป็นแหล่งรวมใจ เป็นศูนย์รวมการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม พระสงฆ์เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณต่อสังคม เป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่แผ่ไปยังชุมชนไทยและสังคมชาวพุทธเสมอมา การศึกษาศาสนาให้เข้าถึงตัวเนื้อหาจึงต้องตั้งหลักให้ถูกต้องตรงเจตนารมณ์ จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ

หลายคนมีคำถามว่า "การทำสมาธิตามแนวพุทธมีวิธีปฏิบัติอย่างไร" ก็ดีนะกิจวัตรใส ๆ ในทุ่งธรรมวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ยังผู้คนให้สนใจเข้าไปร่วมศึกษาเป็นระยะ ๆ ร่วมปฏิบัติบรรเทาขัดเกลากิเลส พระสงฆ์ยินดีให้วัดเป็นอุทยานการสร้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ตามแนววิถีพุทธ วิธีทำสมาธิง่าย ๆ ตามแนวสมถะก็ใช้ได้ผลจริง ณ ขณะปัจจุบันที่ต้องการให้จิตบรรเทาฟุ้งเฟ้อฟุ้งซ่าน การหายใจเข้า - ออกลึกๆ สองหนสามหน หรือร้อยหนพันหน มีสติกำหนดนับ หนึ่ง สอง สาม หรือนับไปจนกว่าอารมณ์ที่ไม่ปรารถนานั้นสงบรำงับลงก็นับเป็นวิธีที่ดี และง่ายต่อการปฏิบัติ

โดยพื้นฐานของอารมณ์หลัก ๆ นั้น เป็นอยู่อย่างนี้ คือ:- อิฏฐารมณ์ ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์ และเชื่อว่าทุกท่านมีสมาธิอยู่แล้วในตัวตนโดยธรรมชาติ

อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา คือสิ่งที่ใจยินดีพอใจในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดี ชวนให้ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โดยธรรมชาติของมนุษย์ต่างพากันแสวงหา

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา สิ่งที่ไม่ยินดีไม่พอใจ กับสิ่งที่สนองตอบทางสัมผัสต่าง ๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ความโศกาอาดูร รวมไปถึงอุปสรรคปัญหา ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความหมางใจ ความหว้าวุ่นฉุนเฉียว ฯลฯ

ดังนั้นการมีสติกำหนดใจจิตให้มีสมาธิ จึงเป็นพื้นฐานในการควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และจิตใจ ของตนเอง เป็นการสร้างสุขให้กับตนเองอย่างมีประสิทธิ์ผล การทำสมาธิตามแนวพุทธให้ได้ผลจริงมีหลายวิธี จะพยายามนำมาเล่าให้ท่านได้ศึกษาร่วมกันต่อไป


ชีวิตใส ๆ ในทุ่งธรรม

สมาธิ คือ ขุมทรัพย์อันอุดม เป็นแหล่งรวมพลังอำนาจทางจิต บุรุษสตรีใดผู้กำหนดกระทำไว้ในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่ นับเป็นผู้เจริญคุณธรรมอันสู่งส่ง จักก้าวสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ สมาธิ คือคุณค่าแท้ที่มีอยู่จริง และมีอยู่ในทุก ๆ คน ขอให้ทุกคนศรัทธาเชื่อมั่นให้ถึงพร้อมในการเจริญสมาธิภาวนา แล้วธรรมจะจัดสรรให้ทุกคนก้าวไปสู่ความสำเร็จ ด้วยกำลังจิตที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นใหม่ในตัวเราทุกคน "เริ่มต้นเราตั้งไข่ แต่ต่อไปเราเข้มแข็ง" สมาธิเป็นพื้นฐานแห่งพลังงานทางจิต สิ่งนี้ได้ทำให้มหาบุรุษพุทธเจ้า ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ค้นพบอมฤตธรรมเป็นจอมใจของนักปรัชญาไปทั่วโลก

สมาธิจิต เป็นพลังอำนาจได้ทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ดังนั้น การรวมพลังอำนาจทางจิต ย่อมสามารถก้าวสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ การฝึกสมาธิมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น เพื่อการแสดงฤทธิ์ทางใจในรูปของการปลุกเสกเข้มขลัง ร่ายคาถา อาคม เป็นต้น ฯ หรือการฝึกสมาธิบางประเภทก็มุ่งเพื่อการเจริญสติ ก่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่ความหลุดพ้นจากพันธนาการของห้วงแห่งความทุกข์

การทำสมาธิตามแนวพุทธ จึงต้องตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นถูกต้องตามครรลองครองธรรม เป็นสัมมาสมาธิ (Right concentration) ความตั้งใจมั่นชอบ ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่วแห่งจิต ความมั่นลงไปแห่งจิต ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย ความสงบ (สมถะ) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรคอันใด นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ จึงจะนำไปสู่การพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ศึกษาให้เข้าใจเอาง่ายไปหายาก และคงไม่ยากเกินสติกำลังในสิ่งที่เราจะเรียนรู้ หลักธรรมที่เป็นองค์ประกอบให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ อิทธิบาท ธรรม 4 ประการ คือ

ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม 4 ประการนี้ เนื่องกัน ในแต่ละอย่าง มีหน้าที่เฉพาะของตน หลักธรรมนี้ รวมความหมาย ของแหล่งก่อให้เกิดสติปัญญาไว้อย่างลึกซึ้ง ขอให้ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฏฐิ - สัมมาสมาธิ แล้วสิ่งดีๆ จะนำทุกคนไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

มาถึงตรงนี้เราจะต้องรู้ให้ได้ว่า (?) คือเครื่องยึดเหนี่ยวใจที่แท้จริง กลับมาทบทวนลมหายใจของตนเอง ระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ :-

1) พระธรรม คือ หลักการ ได้แก่ตัวธรรมะ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม ธรรมะนี้มีอยู่แล้วมีอยู่จริง

2) พระพุทธ คือ วิธีการ ได่แก่ตัวรู้ หรือความรู้ ตื่น เบิกบาน พระพทุธเจ้าเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกชีวิตสามารถตรัสรู้ธรรมได้ หากขจัดกิเลสในใจให้หมดสิ้น และ

3) พระสงฆ์ คือ ปฏิบัติการ ได้แก่ตัวผลที่ได้จากการลงมือทำ ฉะนั้น ญาติโยมผู้ประพฤติธรรม ก็อยู่ในความหมายของคำว่าสงฆ์ได้ (โดยปรมัตถ์นะ) เฉกเช่น การปลูกต้นไม้ แล้วหมั่นดูแลเอาใจใส่ พรวนดิน รดน้ำ สักวันใดก็วันหนึ่งคงต้องออกผลให้เห็น พระสงฆ์ อีกความหมายหนึ่งคือผู้กระทำสามีจิกรรม คือประพฤติดีปฏิบัติชอบ

พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของเราทุกคน อย่าศีลธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นเพียงอุดมคติ ของชาวพุทธ ที่พร่ำพูดให้โก้หรู แต่ชาวพุทธมิได้เข้าถึงตัวศาสนาที่แท้จริง "เมื่อโลกขาดศีลธรรม สันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างไร ? รูปขอเจริญพร