ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



พูดถึงเรื่องญาติโยมเราได้ไหม ?

ท่านอุบาสก - อุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้ขอพูดถึงญาติโยม ตามโครงสร้างสังคมชาวพุทธเรานะ ส่วนวันหน้าจะพูดถึงเรื่องของพระเจ้าพระสงฆ์บ้าง ขอทำความเข้าใจกับกับคำว่า อุบาสก - อุบาสิกา

อุบาสก นั้นแปลว่า "ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย" หมายถึง ผู้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ผู้นับถือศาสนาอย่างมั่นคง อุบาสกคำนี้ใช้สำหรับผู้ชายถ้าเป็นหญิง ใช้คำว่า อุบาสิกา และนิยมเรียก ชาย - หญิง ที่รักษาอุโบสถศีลโดยค้างคืนที่วัดในวันธัมมัสสวนะ (วันพระ) ว่า อุบาสก - อุบาสิกา

อุบาสก เรียกกร่อนไปว่า ประสก คำว่า อุบาสิกา เรียกกร่อนไปว่า สีกา ก็มี บางท่านก็แสดง ได้อรรถาธิบายโวหารไปถึงคำว่า สีกา คือ สีดำ อธิบายไปถึงสีดำเป็นสีแสดงลักษณะของสตรีที่เป็นอุปสรรคต่อพรหมจรรย์ของพระภิกษุในสิกขาบทข้อว่าด้วย "อนิยต"

เพราะหากประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินเข้าแล้ว "จำต้องปรับอาบัติแก่พระภิกษุรูปนั้น" คือถ้าหากมีบุคคลที่ควรเชื่อได้มาปรับมาร้องทุกข์กล่าวโทษ พระภิกษุรูปนั้นรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น


อุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ

ปกตินั้นหมายถึงชาวบ้านทั่วไปที่นับถือพระพุทธศาสนา บำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา ไปวัดทำบุญให้ทาน รักษาศีล อุปถัมภ์บำรุงวัด ช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นประจำ เรียกว่าเป็นหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกา

ผู้ตั้งใจอุปถัมภ์อุปฐาก ต้องให้รู้จักความหมายคำว่า ผู้เกื้อกูลต่อพระสงฆ์ ปฏิบัติต่อพระสงฆ์ เสมือนทิศเบื้องบน เช่น จะทำสิ่งใด จะพูดสิ่งใด จะคิดสิ่งใด ก็ทำ ก็พูด ก็คิด ด้วยจิตที่มีเมตตา มีการลุกรับด้วยความเต็มใจ และให้ความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4 (อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม)


ยอดธรรม 5 ประการ

อุบาสกธรรม 5 ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย เข้าวัดฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำเสมอ คือความหมายของคำ "ผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย" ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ คือ


1. สมบูรณ์ด้วยศรัทธา

- เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นจริง เรียกว่า "ตถาคตโพธิสทฺธา"

- เชื่อการทำกรรมดีมีผลดีมีคุณจริง การทำชั่วมีผลร้ายมีทุกข์มีโทษจริง เรียกว่า "กมฺมสทฺธา"

- เชื่อในผลของกรรม ไม่ว่าดีหรือไม่ดีล้วนเกิดจากกรรมที่เคยกระทำไว้ เรียกว่า "วิปากสทฺธา"

- เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน ไม่ว่าจะทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เรียกว่า "กมฺมสฺสกตาสทฺธา"


2. สมบูรณ์ด้วยศีล

พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงรักษาเบญจศีล (ศีล 5) อยู่เป็นนิตย์ ศีลเป็นเครื่องรักษากาย - วาจา ให้ปกติเรียบร้อย ความสงบสุขก็เกิดขึ้นในสังคม องค์รวมที่ทำให้ศีลสมบูรณ์คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องใสขาวรอบ


3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว

ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ ควรมุ่งหวังจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ การไม่แสวงหาลาภผลใด ๆ จากการบนบานศาลกล่าว จากการขูดต้นไม้ การไหว้ต้นกล้วย การหวังซื้อหวยรวยทางลัด เป็นต้น


4. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้

ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา เนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ คือการฝึกใจให้ไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เชื่อมั่นว่าหลักคำสอนในศาสนาที่นับอยู่นี้ เป็นแนวทางก้าวไปสู่ความสำเร็จที่สุดสามารถหลุดพ้นได้ เชื่อมั่นว่าบุญญเขตอื่นใดไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว


5. บำเพ็ญบุญเฉพาะในพระพุทธศานา

กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธ ศาสนา การบำเพ็ญบุญตามคำสอนของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ

1. ทานมัย ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน

2. สีลมัย ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

3. ภาวนามัย ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการภาวนา

ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ อุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)


เติมเต็มและตัดทอน

พูดถึงเรื่องญาติโยมของเรา ในความหมายให้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย กับความหมายของการ กระทำหน้าที่อันเลิศของความเป็นอุบาสกแก้ว - อุบาสิกาแก้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่พึ่งใส่ใจคือ การเฝ้าคอยเป็นกัลยาณมิตรในกันและกัน เช่น พระสงฆ์ก็สามารชี้นำ พร่ำสอนอบรม ศีลธรรมอันงามของอุบาสกอุบาสิกาได้ ในขณะเดียวกันญาติโยมก็ถวายคำแนะนำพระเจ้าพระสงฆ์ได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่ลักษณะเป็นการจ้วงจาบ กล่าวตู่ เพ่งโทษ แต่กล่าวด้วยจิตใจที่มีเมตตา มีการลุกรับด้วยความเต็มใจ และให้ความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4 ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นนั้น

ดังนั้นอะไรที่ขาดไป ให้รีบหามาเติมไว้ให้เต็ม อะไรที่เกินไป ไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่จำเป็น ไม่ให้คุณนั้น ก็ให้รีบตัดทอนออกไป อะไรที่เต็มแล้ว งามแล้ว บริบูรณ์แล้ว ให้พากันรักษาเอาไว้ การกระทำหน้าที่ของความเป็นอุบาสกแก้ว - อุบาสิกาแก้ว จักเป็นความรุ่งเรือง และมั่นคง แห่งพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลทุกสมัย รูปขอจำเริญพร


มาถึงวัด เห็นดิน และต้นไม้
ยังมิใช่ เห็นวัด ดังที่หมาย
รู้จักวัด ต้องฝึกหัด ทั้งใจกาย
จึงจะหมาย ได้บ่งชัด เห็นวัดจริง ฯ

มาถึงวัด เห็นดิน และต้นไม้
ยังมิใช่ เห็นวัด ดังคำขาน
คนเห็นวัด ต้องเห็นธรรม สัมมาญาณ
เพ่งสังขาร รู้ชัด เห็นวัดจริง ฯ


(....พุทธทาส ภิกษุ....)