ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อะไรคือ สันติภาพของโลกอย่างแท้จริง

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง มีความปรารถนาสิ่งใด, ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

มาพิจารณาคำสวดมนต์ทำวัตรเช้ากันสักตัวอย่างไหม? เวลาที่อาตมาสวดมนต์ทำวัตร ตอนเช้านั้น พอมาถึงคาถาที่ว่าที่ยกขึ้นไว้นี้ ก็คืออยากถามญาติโยมอยู่เหมือนกันว่า อันที่จริงชีวิต เราๆ ท่านๆ กำลังปรารถนาอะไร อะไรคือที่พึ่งที่แท้จริงของเรา ความปรารถนาที่แท้จริง เมื่อไม่สมหวังอะไรเกิดขึ้น ความทุกข์

ยกตัวอย่างเรื่อง "ความหึงหวง" เขาว่ากันว่าความหึงหวงไม่ได้เกิดจากความรัก แต่เกิดจากอารมณ์ผสมผสานระหว่างเจ็บปวดเสียใจ โกรธ กลัว เป็นการรับรู้ว่ากำลังจะสูญเสียคนรัก ความหึงหวงมี 2 แบบ คือ

1) รู้ว่ามีบุคคลที่สามแทรกในความสัมพันธ์

2) หวาดระแวงไปเอง ทั้งที่คู่ของคุณไม่ได้มีพฤติกรรมนอกใจใดๆ


ความหึงหวงของชายและหญิงต่างกันไปคนละแบบ :

ช. = จะเป็นทุกข์ร้อนหากรับรู้ว่าหญิงไปนอกกายกับชายอื่น เช่น ส่งสายตาหวานซึ้ง ควงแขน ไปจนถึงการมีอะไร ฯลฯ

ญ. = จะเดือดเนื้อร้อนใจเมื่อรู้ว่าชายปันใจให้หญิงอื่น เช่น คุยเล่นหัวเราะคิกคักกัน ใส่ใจสาวอื่นจนออกนอกหน้า ฯลฯ


การแสดงออกว่าหึงหวง :

- ผู้ที่มองตัวเองในทางบวก (คนมองโลกแง่ดี) จะใช้คำพูดไม่สุภาพกับคู่รัก ปิดประตูกระแทก ไประบายลงกับสิ่งของ

- ผู้ที่มองตัวเองในด้านลบ (คนมองโลกแง่ร้าย) จะตบตี ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายคู่รัก ไปถึงฆ่า อย่างที่พบในข่าวบ่อยๆ


ทำไมบางคนมีนิสัยขี้หึงรุนแรง?

- เกิดจากความสัมพันธ์แบบพึ่งพาโดยคนคนเดียว

- คนที่ไม่มีตัวเลือกอื่นใด ขณะพวกไม่หึงคิดว่าหากขาดเขา เรายังมีคนอื่นมาแทนได้


จุดแตกหักของความหึงหวง :

ญ. = จะทำท่าทีละเลย เพิกเฉย เย็นชาต่อคู่รักของตน และพยายามพัฒนาตัวเอง ให้ดีขึ้น ด้วยหวังว่าคนรักกลับมามองตน

ช. = มักหันไปจีบหญิงอื่นแทน เพื่อแก้แค้น


ภูมิคุ้มกันอาการหึงหวง

1) สร้างรูปแบบความผูกพันให้มั่นคง ชัดเจนในความสัมพันธ์

2) ไม่เป็นคนหมกมุ่น หรือมองตัวเองทางลบ อย่าพยายามคิดไปเอง

3) ไม่หวาดหวั่นต่อคำพูดต่างๆ จากคนนอก หากวิตกให้ถามเจ้าตัวทันที

4) หัดพึ่งตนเอง เข้าใจตนเอง ชนะใจและชนะความต้องการของตนเอง


มีงานวิจัยของนักจิตวิทยาสังคม พบว่า คู่รักกว่า 2 ใน 3 ระบุ เคย"ตั้งใจ" ที่จะกระทำให้คู่รักหึงหวงตน ถ้าเขาหึงคุณ แม้จะมากไป แสดงว่าเขายังให้ความสำคัญกับคุณอยู่ หากไม่ชอบ หรือรำคาญ ก็ควรพูดบอกกันตรงๆ แต่ไม่หยาบไม่แรง ว่าไม่ชอบนะ อย่าทำแบบนี้อีก หันหน้ามาพูดจาคุยกัน จะได้เคลียร์กันไป สุดท้ายแล้วการที่คนรักของคุณนั้นจะแสดงอาการขี้หึงอีกหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติตนของตัวคุณเองด้วยแล้วหล่ะ ความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ในเมื่อมีแล้ว ก็ควรดูแลรักษามันไว้ให้ดีดีเนาะ เห็นไหมว่า ที่พึ่งที่แท้จริงของเรา คือความปรารถนาที่แท้จริงของเรา เราต้องการสิ่งใดๆ ก็ย่อมปรารถนาสิ่งนั้น ความปรารถนาให้ที่เจือมากับความทุกข์นั้นให้เราพยายามถอนตัวให้ไกลจากสิ่งนั้นๆ จะดีที่สุด


ดังนั้นจึงตัองกลับมาทำความเข้าใจเรื่องกำลังอินทรีย์ 5 ของเรา ซึ่งจริงๆ ก็เคยกล่าวไปแล้วในคอลัมน์ ทุกคนจึงจำต้องทำความเข้าใจเรื่องกำลังอินทรีย์ให้มั่นคงเข้มแข็งเข้าไว้ให้มากๆ เราท่านทั้งหลายผู้คุ้นชินใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาคงเคยได้ยินคำที่ว่า "ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าเต็มที่แล้ว เมื่อฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าไม่นานก็ได้บรรลุธรรม" บุคคลที่มีอินทรีย์แก่กล้าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าต้องพิจารณาดูทุกๆ เช้าก่อนที่จะเสด็จไปโปรดเพื่อให้ได้บรรลุธรรม และที่พระอานนท์เคยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "ผู้หญิงไม่มีโอกาสบรรลุธรรมบ้างหรือ พระองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช

" ด้วยคำถามนี้จึงเป็นเหตุให้ทรงอนุญาตในเวลาต่อมา นั่นก็แสดงว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายต่างก็มีศักยภาพ มีความสามารถ มีคุณสมบัติพิเศษอยู่ภายในตัวทุกคน เพียงแต่รอเวลา รอการอบรม ฝึกฝน พัฒนาที่เหมาะสมก็จะมีโอกาสได้บรรลุธรรม เปรียบเหมือนเมล็ดมะม่วงหนึ่งเมล็ด มันมีคุณภาพอยู่ภายในแล้วคือ มีลำต้น มีกิ่งก้าน มีผลที่มีรสเปรี้ยว รสหวาน สีเขียว สีเหลืองอยู่ข้างในเมล็ดนั้น เมื่อคนนำไปปลูกลงดินในสภาพที่เหมาะสม ถึงเวลาเมล็ดนั้นก็แทงหน่อ เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นล าต้น มีกิ่ง ก้านสาขา มีดอก ผลที่เป็นมะม่วงที่มีรสเปรี้ยว รสหวานไป ตามสายพันธ์ที่ปลูกฉันใดมนุษย์ก็เช่นเดียวกันใครที่สร้างสมบุญบารมีมานานเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็สมควร ได้บรรลุธรรม ตามวาสนา บารมี อินทรีย์ของตน คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ คือเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ เช่น ตามีหน้าที่ในการดู หูมีหน้าที่ ในการฟัง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น อย่างนี้เป็นต้น


อินทรีย์ 5 คือ ความสามารถหลักทางจิต ห้า ประการ ได้แก่

สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยธรรม

วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปธาน

สตินทรีย์ คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน

สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในญาณ

ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยสัจ


อินทรีย์ 5 เป็นหลักธรรมที่คู่กับ พละ 5

สัทธินทรีย์ เปรียบเสมือน การหาภาชนะดีๆ มาใส่น้ำ

วิริยินทรีย์ เปรียบเสมือน การเติมน้ำสะอาดแทนน้ำสกปรกเสมอ

สตินทรีย์ เปรียบเสมือน การระวังไม่ให้สิ่งใดหล่นใส่ในน้ำ

สมาธินทรีย์ เปรียบเสมือน การถือภาชนะใส่น้ำไว้นิ่งๆ และไม่ให้สิ่งใดมากระทบกระเทือนให้หวั่นไหว

ปัญญินทรีย์ เปรียบเสมือน การเห็นนำสิ่งสกปรกออกจากน้ำแห่งทุกข์ทั้งมวล


เอาหละวันนี้ก็คิดว่าให้ธรรมะมาพอเป็นแนวทางส่งเสริมให้เกิดข้อคิดความเห็นในทางธรรมกันบ้าง เราต้องช่วยกันเป็นกำลังให้พระศาสนา เป็นหลักชัยให้งามทางด้านศีลธรรมให้ได้ เพราะสังคมทุกวันนี้เราจะหาความไว้วางใจได้จากใครกัน ครูอาจารย์มีเพศสัมพันธุ์แลกเกรด สมณเพศมีเรื่องอื้อฉาวกับสีกา มารดาบิดามีความปรารถนาตัณหาความใคร่ในบุตรตน แล้วทุกคนในสังคมนี้จะไว้ใจใครได้ หากว่าเราไม่เป็นผู้มั่นคงทางศีลธรรม ริเริ่มสร้างสรรค์ให้ก่อเกิดสิ่งที่ดีๆ แล้วผลที่ดีๆ จะคืนสนองให้กับสังคม ศีลธรรมทางสังคม คือสันติภาพของโลกอย่างแท้จริง รูปขอจำเริญพร