ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



บุญผ้าเหลือง ปิดกั้นประตูนรกได้ (จริงหรือ)

ท่านทั้งหลาย "บุญผ้าเหลือง" เป็นที่เข้าใจกันเรื่องของบุญบวชพระภิกษุ - สามเณร ในพุทธศาสนา ดังนั้นบุญผ้าเหลืองเป็นคำนิยมเรียกหมู่นักบวช หมายถึงพระสงฆ์ผู้ทรงพรตทรงศีล ผู้มีศรัทธาปฏิบัติในธรรมวินัยของพระอริยะสัมมาสัมพุทธเจ้า และคงต้องมีดีอะไรสักอย่าง ที่เป็นเหตุผลให้คุณค่าของคำนี้เป็นสื่อแห่งความสุข สู่เส้นทางเสวยสวรรค์ ที่สำคัญ บุญผ้าเหลือง ปิดกั้นประตูนรกได้ จริงหรือ เราลองไปค้นหาความจริงกันไหม?

บุญ เป็นชื่อของความสุข ความยินดี ปีติ ผ่องใส ในใจก็เอิบอิ่ม โปร่ง โล่ง สบาย คลายจากความเร่าร้อน บุญ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำความดี เป็นที่รักของมนุษย์ และสัตว์ เทวดาและพรหมก็สรรเสริญ โคลงโบราณบทหนึ่งกล่าวไว้น่าฟัง :

....บุญเดิมเสิมส่งให้ ได้ดี.... บุญยิ่งทำยิ่งทวี เพริดพริ้ง.... บุญยิ่งมากยิ่งมี ความสุข.... บุญติดตามไม่ทิ้ง เช่นเค้าเงาตนฯ"....

"ผ้าเหลือง" เป็นสีของความสุข ความเบิกบานแจ่มใส ความมีชีวิตชีวา เกี่ยวข้องกับเชาว์สติปัญญาข้างใน และพลังของความคิด เป็นอารมณ์ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดการมองโลกในแง่ดี เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุดิน หมายถึง ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงเจริญรุ่งเรือง บุญผ้าเหลือง หมายถึงผู้มีสัณฐานสันทัด (ผู้มีลักษณะดี) ตรงตามคุณสมบัติของผู้บวชในธรรมวินัย สามารถครองผ้ากาสาวพัสตร์ (อ่านว่า กาสาวะพัด) แปลว่า ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด คำว่า กาสาวพัสตร์ ในความหมายรวม ๆ ก็คือผ้าเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นภิกษุสามเณร ในพระพุทธศาสนา เช่น แม่พูดกับลูกว่า "ลูกเอ๋ย บวชให้แม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองสักพรรษานะลูก" คำว่า ผ้าเหลือง ในที่นี้ก็คือผ้ากาสาวพัสตร์ นั่นเอง เอาให้สมสมัยก็เรียก "ผ้าไตรจีวร" นั่นแหละ

บุญเกาะชายผ้าเหลืองสามเณรลูกชาย

ตัวอย่างในพระสูตร เรื่องของสามเณรสุบิน ท่านกล่าวว่า สามเณรสุบินคนนี้ปรากฎว่าบิดามารดาเป็นพราน แต่ว่าลูกชายมีจิตใจเลื่อมใสในศาสนาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยมีคติไม่ตรงกัน พ่อชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม่ก็มีอารมณ์จิตเหมือนกับพ่อ แต่ว่าสำหรับลูกชายกลับเป็นคนที่มีจิตน้อมไปในกุศลในพระพุทธศาสนา หนีพ่อแม่ไปบรรพชา โดยไม่มีโอกาสจะพบกับพ่อแม่เลยตั้งแต่ออกบวช

เมื่อกาลเวลาล่วงไปพอสมควร พ่อและแม่ของสามเณรก็ตายจากไป ด้วยอำนาจกรรมที่เป็นบาป พระยายมก็สั่งคนมาเชิญไปสู่ขุมนรก ในสำนักพระยายม ก็สอบสวนตามความเป็นจริงว่า ทำกรรมที่เป็นบาปอะไรบ้าง แกก็รับทุกอย่างว่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตั้งแต่สัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่ อาศัยกฎของกรรมอันนี้ ก็ปรากฎว่าท่านทั้งสองจะต้องลงนรก เขาจึงนำไป เมื่อนำไปแล้ว ตามธรรมดาสัตว์นรกที่มีกรรมที่เป็นบาปทั้งหมด เมื่อเข้าเขตของนรกแล้ว ก็ต้องลงขุมได้ทันที

แต่ว่าบิดามารดาของสามเณรนี้ลงไม่ได้ นายนิรยบาลจึงจับโยนลงไปเข้าขุมนรก ก็ปรากฎว่ามีหวายใหญ่มารองรับ เป็นหวายตาข่ายรองรับไว้ไม่ให้ตกลงไปในนรก ทำอย่างนี้ถึง 3 วาระ คนทั้งสองลงนรกไม่ได้ "เพราะอะไร เพราะว่า พ่อและแม่ได้เห็นแสงไฟ ก็คิดขึ้นมาในใจว่า แสงไฟนี้คล้ายจีวรของพ่อสามเณรน้อยลูกชายที่หนีไปบวช" ตอนนั้นแม้ทราบว่าลูกบวช ก็ยังไปทวงให้สึก แต่สามเณรก็ไม่สึก ภาพสามเณรลูกชายที่นุ่งห่มผ้าเหลืองที่พ่อกับแม่เห็นเพียงนิดเดียวเท่านั้น จิตใจนึกขึ้นมาได้ว่า สีจีวรคล้ายเณรลูกชายของเราดุจดั่งสีของเปลวไฟ เพราะไฟบางตอนมันมีสีเหลือง จิตคิดเป็นอย่างนี้ จิตเป็นอนุสสติชั่วขณะหนึ่ง เกาะอยู่กับสีผ้าจีวรของสามเณรลูกชาย เลยทำให้ประตูนรกนั้นไม่อาจทำอันตรายได้ ด้วยเพราะอานิสงส์ผลบุญที่สามเณรลูกชายแผ่ให้ เป็นอันว่าบิดามารดาทั้งสองไม่ตกลงไปในขุมนรกอเวจีนั้น

นายนิรยบาลก็นำกลับมาสำนักพระยายมราช พระยายมก็สอบถามว่า กรรมใดที่เป็นกุศลนั้น ท่านไม่เคยทำบ้างเลยหรือ...... สำหรับบิดามารดาของสามเณรก็กล่าวว่า กรรมใด ๆ ที่เป็นกุศล ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายไม่เคยทำ มีอย่างเดียวคือมีลูกชายอยู่คนหนึ่งชื่อสุบิน เธอไม่พอใจในการทำบาป สอนให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เธอก็ไม่ทำ ในที่สุดเธอก็หนีไปบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา.....

เป็นอันว่า พระยายมราชก็ทราบว่านี่บุญลูกชายได้บวชเป็นสามเณร ท่านจึงกล่าวว่า ในเมื่อลูกชายบวชเณร ตอนเราสอบสวนในตอนก่อนทำไมเจ้าจึงไม่บอก....

บิดามารดาของสามเณรบอกว่า กำลังโกลาหนเลยนึกไม่ออก อีกอย่างก็ไม่คิดว่าจะเป็นบุญของตน เพราะกรรมที่เป็นอกุศลบัง มันกดปากเข้าไว้ บังใจไม่ให้นึกถึง.....

เป็นอันว่าในเมื่อพระยายมราชทราบอย่างนั้น จึงได้กล่าวว่า เพราะอำนาจกุศลที่ลูกชายของท่านบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา บุญจึงเป็นเหตุบันดาลให้พ้นจากขุมนรก ฉะนั้น ท่านจงได้รับผลของกรรมดีที่สามเณรลูกชายแผ่ให้นั้นเถิด หมายความว่าพระยายมราชท่านได้ส่งไปเกิดบนสวรรค์

นี่แหละท่านทั้งหลาย สำหรับพระสูตรนี้มีความยาวมากกว่านี้ เวลามันมีจำกัด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงให้เห็นว่า ท่านทั้งหลายที่มีบุตรชายบวชเป็นสามเณรก็ดี บวชเป็นพระก็ดี ในพระพุทธศาสนา แม้ว่าท่านจะไม่ยินดีหรือไม่ทราบ ท่านก็มีอานิสงส์มาก ฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสรุปไว้ว่า สุตตนิบาต มหาวรรค ปัพพชาสูตร การบรรพชา-อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เว้นจากบาปอกุศลทางกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นปัจจัยเข้าถึงพระนิพพาน

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ย่อมเป็นที่ทราบดีว่าการบรรพชา-อุปสมบทนี้มีอานิสงส์มาก แล้วพระผู้มีพระภาค จึงกล่าวว่าเป็นสามัญผล คือเป็นผลที่เสมอกัน คนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ ย่อมมีสิทธิเสมอกันในการทรงสิกขาบท และสามารถที่จะกำหนดจิตปฏิบัติ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานได้เสมอกัน

ฉะนั้น บุญผ้าเหลือง ปิดกั้นประตูนรกได้นั้นต้องเป็นเรื่องของการเว้นจากการกระทำบาป ทางกาย วาจา และทางใจ คำว่า "บวช" นี้ เราเอามาใช้ในภาษาไทย มาจากคำว่า "ปะวะชะ" ในภาษาบาลี แปลว่า งดเว้น ผู้ที่เป็นนักบวชก็คือ ผู้งดเว้น งดเว้นเรื่องอะไร ? งดเว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบของจิตใจ ผู้ที่เป็นนักบวชนี้เขาเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ อันหมายถึง ความบริสุทธิ์ของจิตใจการได้บวชเป็นสามเณรก็ดีว่ามีอานิสงส์มาก ยิ่งการได้บวชเป็นพระภิกษุนั้น ย่อมเป็นประโยชน์อานิสงส์มากมายคณานับ ยังความร่มเย็น สุข สงบ เป็นบุญใหญ่ของผู้ได้บวชเอง และผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ผู้อื่นได้บวช ได้อุ้มผ้าไตร ได้ถวายทานด้วยเคารพ ได้ส่งเสริมพระสัทธรรมให้มั่นคง ได้ช่วยจรรโลงพระศาสนา แม้กระทั้งโยมผู้หญิงที่ได้บวชเนกขัมมจารินี ถือสิกขาบท 8 ประการ นั้น ชีวิตย่อมไม่ตกไปสู่อบายภูมิ ทั้ง 4 คือ ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก เป็นต้นฯ บุญผ้าเหลือง ปิดกั้นประตูนรกได้ เพราะการบวชนั้นต้องรักษาไว้ซึ่งศีลและพรหมจรรย์ โดยอุดมคติว่าเป็นอุดมเพศ เป็นผูครองศีลถือธรรม สีเลนะ สุคะติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคะทรัพย์ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ตัสมา สีลัง วิโสทะเย = เพราะเหตุนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด ดังนี้

ในที่สุดนี้ อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน ฝากโครงการบวชปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ถวายเป็นราชภักดิ์แด่พระองค์ท่าน "กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม" เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวามหาราช ระหว่าง วันที่ 1-30 ธันวาคม ศกนี้ ผู้มีจิตศรัทธาท่านใดสนใจร่วมโครงการนี้ จะได้เสนอเรื่องลางาน Interval vacation ล่วงหน้าไว้เลยเพื่อมาปฏิบัติธรรม โครงการนี้จัดตามเหตุปัจจัย ท่านสามารถบวชเนกขัมมจารินีร่วมโครงการ 3 วันก็ได้ 5 วันก็ได้ 7 วัน 9 วัน 15 วัน เดือนหรือเดือนครึ่งก็ได้ "แต่มีเงื่อนไขเดียวคือ ต้องบวชเพื่อประพฤติธรรม" ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หลวงพ่อไสว ชมไกร เจ้าอาวาสวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด โทรศัพท์ 562-382-3767 ขอคุณพระศรีรัตนตรัย ขอจงประสาทพรให้ทุกคนทุกท่าน จงมีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล และจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง 4 ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ธนสาร ธรรมสารสมบัติ หากทุกท่านปรารถนาสิ่งใด ก็ขอให้ได้สิ่งนั้นจงสมความปรารถนาทุกประการ เทอญ.