ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สมาธิขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ

แด่ท่านสาธุชนผู้สนใจใฝ่ศึกษา และที่กำลังฝึกปฏิบัติสัมมาสมาธิกันอยู่ ในเวลานี้มีคนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ตอนนี้เกิดมีปรากฏการณ์อย่างมาก ได้ยินมาว่าหลายท่านกำลังแสวงหาพระสงฆ์เก่ง พระดี เพื่อให้มาสอนวิชาสมาธิ ธรรมะสมสมัยวันนี้หลวงพ่อเลยอยากพูดถึงสมาธิตามประสาพระบ้านนอก ไม่รู้จะได้ผลแก่ผู้ใฝ่เรียนสักกี่มากน้อย แต่ก็อยากแนะนำ ทั้งที่ตนก็ยังรู้สึกว่าเป็นเด็กที่พึ่งกำลังหัดเดิน ส่วนความเข้าใจว่าสมาธิจะให้ผลอะไร ? แก่ใคร ! ให้ถือว่าเป็นกำลังบุญบารมีของแต่ละท่านก็แล้วกัน

การปฏิบัติสมาธิ ตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็เป็นห่วงอยู่ว่า เรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นมาขัดขวาง การปฏิบัติสมาธิภาวนา ของท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายท่านกำลังลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่กับคำ ๆ นั้น "คำว่าสมาธิ" แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าหลักและอารมณ์ของสมาธิ ควรจะเป็นของมันอย่างไร คือเมื่อครูบาอาจารย์ว่ามาอย่างไรก็ปฏิบัติกันไป และบอกกันต่อ ๆ ไปอย่างนั้น โดยที่ไม่ดับปัญหา ไม่แตกปัญญา เพราะมัวติดอยู่แต่กับสมาธิ ติดอยู่กับความมุ่งไปเพื่อสอนผู้อื่น อย่างนั้นพอนานเข้าจริง ๆ มันเข้าไปยึดมั่น การศึกษาทุกอย่างต้องเริ่มที่ตนเอง สอนตนเอง บางท่านถึงกับว่าสิ่งที่ตนเองเข้าใจแล้ว ปฏิบัติแล้ว ถูกต้องไปทั้งหมดก็มีไม่น้อย


เส้นทางสู่สมาธิ

เริ่มต้นที่ "กรรมฐาน" หมายถึงที่ตั้งแห่งการงาน หรือ ฐานแห่งการกระทำหน้าที่ของจิต สำคัญก็ที่การตั้งจิต ฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล สำหรับความหมาย ที่มีมาในพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัย "กรรมฐาน" ไว้ว่า กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน แปลว่าการงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษชื่อว่า "กรรมฐาน" โดยหลักทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ มี 2 ลักษณะ คือ

1) สมถกัมมัฏฐาน คือ อุบายให้สงบใจ หรือทำให้จิตเป็นสมาธิ

2) วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ อุบายให้เรืองปัญญา

อุบายหลัก 2 อย่างนี้ น่าจะเป็นธรรมหรือที่เรียกว่าเหตุปัจจัยที่สอดคล้องกัน เหมือนสติกับสัมปชัญญะ เหมือนจิตกับเจตสิก เหมือนตัวกับเงา เหมือผีเน่ากับโลงผุ ที่กล่าวอย่างนี้เพื่อไม่ให้สุดโต่งไปในด้านหนึ่งด้านใด ไม่ว่าจะเป็นด้านสมาธิ หรือด้านวิปัสสนา เอาง่าย ๆ สั้น ๆ ให้เข้าใจหลักและอารมณ์ดังที่กล่าวไว้ คือ

1) หลักของสมาธิ คือ การรักษาใจมั่น อดทน อดกลั้น เด็ดเดี่ยว แกล้วกล้า มั่นคง มุ่งมั่น และหนักแน่น ฯ เอาจริง ๆ สมาธิก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าวิปัสสนาหรอก ถ้าพิจารณากันให้ดี ๆ สมาธินั้นเป็นฐานเป็นกำลังให้วิปัสสนาสมบูรณ์เลยทีเดียว ให้ตรองดูว่าถ้าไม่เป็นเด็กมาก่อน จะมาเป็นผู้ใหญ่เลยทันที มันคงจะเป็นเรื่องแปลก

2) อารมณ์ของสมาธิ คือ การยกวัตถุต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นเครื่องกำหนด ดังนั้นการเรียนสมถกัมมัฏฐาน ต้องเข้าใจอารมณ์ ส่วนจะเลือกหมวดใดอารมณ์ใดมาเป็นเครื่องกำหนดก็เลือกเอา มีทั้งหมด 40 กอง แบ่งเป็น 7 หมวด คือ

1. กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง

2. อสุภกรรมฐาน 10 อย่าง

3. อนุสสติกรรมฐาน 10 อย่าง

4. พรหมวิหารกรรมฐาน 4 อย่าง

5. อรูปกรรมฐาน 4 อย่าง

6. อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อย่าง

7. จตุธาตุววัฏฐาน 1 อย่าง

รวมทั้ง 7 หมวดเป็น 40 อย่างพอดี นี้ว่ากันสั้น ๆ ไม่ลงรายละเอียด เพราะวิธีปฏิบัติจริง ได้จริง ถึงจริง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่ว่าเจริญสมถะภาวนาแล้วจะไปไม่ถึงนิพพาน ถ้าเราลองพิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด 7 หมวด 40 กอง ก็จะมีนิพพานอยู่ทุกหมวดนั้นแหละ มันอยู่ที่การตั้งจิต ยกจิต วางจิต ทำจิตอย่างไรให้แจ้ง

ส่วนที่ยังไปไหนไม่ได้นั้น เป็นเพราะสอนไปสงสัยไป เวลามีคนมาขัด มีคนมาบอกมาเตือน มาแนะนำ ก็เป็นสมาธิเจ้าอารมณ์เสียแล้ว ถ้ามันถอนจิตไม่ขึ้นอย่างนี้ ถึงแม้จะเห็นพระนิพพานในหมวดนี้มันก็ไปพระนิพพานไม่ได้


เส้นทางสู่วิปัสสนา

ดูเฉพาะหัวข้อเรื่อง เส้นทางสู่วิปัสสนา ก็เขียนรายละเอียดได้ทั้งเล่มแล้ว แต่วันนี้จะพูดให้กระชับ ตรงและง่ายต่อความเข้าใจ ความหมายของวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และเป็นศาสตร์เดียวที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องหลุดพ้น จากอาสวะกิเลสที่ครอบงำ ตั้งแต่อย่างเบาจนกระทั่งหมดจด ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง


วิปัสสนา คืออะไร ?

1) หลักวิปัสสนา เป็นองค์คุณทางปัญญา ที่เห็นนามรูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ศัพท์ วิปัสสนา มาจากคำว่า "วิ + ปัสสนา" วิ แปลว่า แจ้ง, จริง, วิเศษ ส่วนศัพท์ ปัสสนา แปลว่า เห็น (ปัญญาญาณ)

2) อารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่อะไร ? ก็ได้แก่ นามรูปนั่นเอง การเจริญวิปัสสนา จะต้องกำหนดนามรูปที่เป็นปัจจุบัน จึงเห็นนามรูปที่เป็นไตรลักษณ์ได้

ความมุ่งหมายเอาอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งได้แก่การพิจารณา ขันธ์ 5, อายตนะ 12, ธาตุ 18, อินทรีย์ 22, ปฏิจจสมุปบาท 12, และอริยสัจ 4 เพื่อเป็นฐานหรือที่ตั้งในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือ กายานุปัสสนา, เวทนานุปัสสนา, จิตตานุปัสสนา, ธรรมานุปัสสนา


สมาธิขี้โกรธ

ทุกวันนี้เห็นความพากเพียรที่เรียนสมาธิกันอยู่ สู้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาเพื่อนำมาเป็นหลักสอนตน และคนอื่น เอาจริง ๆ ยังไม่เข้าหลักรู้ปริยัติเลย แล้วหลักปฏิบัติจะรู้ วิเศษ แจ้ง ต่าง อย่างไร ?

ปริยัติเป็นฐานของปฏิบัติ สมาธิเป็นฐานของวิปัสสนา ปริยัติสู่ปฏิบัติ สมาธิสู่วิปัสสนา การเกิด ขึ้นสู่การดับลง จริงสมมุติสู่จริงปรมัตถ์ โลกียะสู่โลกุตตระ สิ่งที่มีอยู่สู่สิ่งที่ว่างเปล่า สิ่งที่ยังไม่มีสู่สิ่งที่ปัจจัยให้มีขึ้น ความเป็นสมมุติสงฆ์สู่ความเป็นอริยะสงฆ์

สิ่งเหล่านี้ต้องเห็นด้วยปัญญาธรรมว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" การปฏิบัติธรรม การเจริญสมาธิภาวนา จวบมาถึงปัจฉิมวัย (วัยกล้วยไม้) ดวงตายังไม่เห็นธรรมหรืออย่างไร หรือบอดตาใสกัน โมโหกันทำไม ? ริษยากันทำไม ? กล่าวหาว่าร้ายกันทำไม ? ทำร้ายฆ่าฟันกันทำไม ? โกรธกันทำไม ? งอนกันทำไม ? (ลองอธิบายคำว่า "งอน" ซิว่ามันมีตัวตนอย่างไร)


สันโดษขี้ขอ

หลายประการที่กล่าวมาเช่นความโกรธความเกลียดทั้งหลายนั้น หลวงพ่อ (ขอ) บิณฑบาตได้ไหม ? มันไม่เป็นประโยชน์ความสงบสุขสู่สังคมเลย ยิ่งไปกว่านั้นอยาก (ขอ) บิณฑบาตให้มาร่วมด้วย ช่วยวัดจัดงานสงกรานต์กันหน่อย หลวงพ่อรอคอยทุกคนมาช่วยกางเต้น ขนโต๊ะ แบกเก้าอี้ ให้ดี (ขอ) ให้มีใครมาช่วยจัดดอกไม้ และอัญเชิญย้ายหลวงพ่อเพชรมีชัย นิมนต์ลงสรงน้ำวันสงกรานต์

หลวงพ่อ (ขอ) บิณฑบาตข้าวสุกข้าวสารอาหารแห้งไปแต่งต้นผ้าป่า (ขอ) บิณฑบาตกับข้าวทั้งคาวหวาน ผลไม้ และน้ำเปล่า อีกจตุปัจจัยเงินใส่ซองขาวถวายบำรุงวัดและพุทธศาสนสถาน บุญสงกรานต์วัดทุ่งเศรษฐี จัดที่ 11911 207Th Street Lakewood CA 90715 โทรศัพท์ 562 382 3767 วันอาทิตย์ที่ 8 เมษยน ศกนี้ (ขอ) บิณฑบาตพี่น้องไทยในทุกสถานที่ จงพร้อมใจสามัคคีเป็นปึกแผ่น สามัคคีคือพลัง สร้างชาติ สร้างศาสนาวัดวาอาราม สร้างทาน ศีล ภาวนา สร้างสังคม สร้างวัฒนธรรม เอาเท่านี้หละสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ รูปขอจำเริญพร