ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การแสวงหาความสงบ

ขอความเจริญในธรรม ที่มีในท่านทั้งหลายจงเบ่งบานแจ่มใส สบายกาย สบายใจตลอดปี และตลอดไป วันนี้หลวงพ่อจะพูดเรื่องการแสวงหาความสงบ เพราะหลายท่านยังหาไม่เจอ หรือไม่มีหลักยึดก็ไม่ทราบ ปีใหม่แล้ว ต้องค้นหาตัวเอง เข้าใจตัวเอง ให้ความสุขความร่มเย็นมีในตนเองเสียก่อน การแสวงหาความสุขสงบนั้น สำคัญที่สุดคือใจ เช่น ความสงบจิตสงบใจ การสงบสติอารมณ์ การสงบศึก ความหยุดนิ่ง เช่น คลื่นลมสงบ พายุสงบ กลับเป็นปรกติ เช่น เหตุการณ์สงบแล้ว ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น จิตใจสงบ ไม่กำเริบ เช่น อาการไข้สงบลง ภูเขาไฟสงบ ไม่วุ่นวาย เช่น บ้านเมืองสงบปราศจากโจรผู้ร้าย


สมาธิเป็นเรื่องของใจ

สมาธิ คือมีจิตที่มั่นคงหนักแน่น เป็นฐานแห่งความสำเร็จทุกสิ่งก็ว่าได้ แน่นอนที่สุดคือเป็นแนวทางแห่งการศึกษาธรรมชาติ ที่นำพาตนพาใจไปสู่ความสงบสุขนิรันดร์ สมาธิทำใจจิตใจสงบสุข ไม่วุ่นวาย คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรก คือ :-

(1) มีวิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา

(2) มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา

(3) มีปีติ คือความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้นก็จะเกิดปีติ คือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมัน

(4) มีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตก สุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นแหละ แต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ วิจารณ์ ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ 4 อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียว

(5) คือ เอกัคคตา ห้าอย่าง แต่เป็นอันเดียวกัน คือทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ แต่มีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปีติก็มี สุขก็มี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน

นี้คือวิธีการศึกษาองค์คุณความรู้ การแสวงหาความสงบ และเมื่อใจสงบเห็นไหมว่า สุขมันมาพร้อม เพราะประหนึ่งว่าเป็นอารมณ์เดียวกัน คำที่ว่าอารมณ์เดียวกันนั้น ทำไมจึงมีหลายอย่าง หมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมัน เพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้น จะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกัน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน 5 คน แต่ลักษณะของคนทั้ง 5 คนนั้น มีอาการอันเดียวกัน คือจะมีอารมณ์ทั้ง 5 อารมณ์ เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะนี้

ท่านเรียกว่า "องค์" องค์ของความสงบท่านไม่ได้เรียกว่า อารมณ์ ท่านเรียกว่า (1) วิตก (2) วิจารณ์ (3) ปีติ (4) สุข (5) เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดา ท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบ มีอาการอยู่ 5 อย่าง คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีความรำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง 5 นี้ จับรวมกันอยู่ เรื่องจิตสงบขั้นแรกจึงเป็นอย่างนั้น


สมาธิเจ้าปัญหา

ปัญหามีอยู่ว่า พอกำลังจะทำสมาธิ อาวาสปลิโพธมันเกิดขึ้น ความกังวลใจกับที่อาศัย สถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน โน่น นี่ นั่น เต็มไปหมด ทีนี้การเข้าถึงบางอย่างอาจถอยออกมา ถ้ากำลังใจไม่กล้า สติหย่อนไปแล้ว มันจะมีอารมณ์มาแทรกเข้าไปเป็นบางครั้งคล้าย ๆ กับว่าเคลิ้มไป จึงเกิดอารมณ์เข้าแทรก อันนี้เป็นอาการของจิต ที่ว่าสมาธิเจ้าปัญหานั้นคือไม่รู้เป็นอะไรเวลาทำสมาธิทีไร เป็นต้องมีเรื่องกังวลใจทุกทที ยกตัวอย่างความกังวล ดังนี้ :-

ปลิโพธ เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวนห่วงกังวล เหตุกังวล ข้อติดข้อง ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่ง พร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี 10 อย่าง คือ

1) อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่

2) กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก

3) ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ

4) คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ

5) กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง

6) อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ

7) ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติ หรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วง ซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้นฯ

8) อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง

9) คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน

10) อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม

(ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)


ทำสมาธิ (ยาก) เพราะอะไร

เพราะนิสัยของแต่ละคนมีความต่าง - ความคล้ายกัน ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ปีใหม่แล้ว ต้องค้นหาตัวเอง เข้าใจตัวเอง ฯ การแสวงหาความสุขสงบนั้น สำคัญที่สุดคือใจ นิสัยหรือคำในหัวข้อธรรมว่า จริต ต้องหันไปดูตัวเองว่าชอบอะไร แบบไหน? นั้นคือสิ่งควรทำ เช่น

(1) รู้จักตนเอง คนเราเมื่อเข้าใจอุปนิสัยและระบบความคิดของตนเองก่อน จึงจะสามารถเข้าใจลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของผู้อื่นได้

(2) รู้จักปรับปรุงตนเอง ภูเขาสามารถทลายมาเป็นถนน แม่น้ำสามารถเปลี่ยนทางเดินได้ แต่นิสัยคนยากที่จะเปลี่ยน แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยได้ไปในทางที่ชอบ ไปในทางที่สร้างสรรค์ และไปในทางที่เป็นมงคลแก่ชีวิต ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

(3) รู้จักฟังและเข้าใจผู้อื่น ผู้ใดที่เข้าในเรื่องจริต 6 อย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ จะเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของผู้คนโดยถ้วนหน้า จะรู้วิธีการพูด และวิธีการแสดงออกต่อคนทุกประเภท ทั้งในระดับสูงกว่า เท่ากัน และต่ำกว่า ผลคือท่านกำลังบ่มเพาะนิสัยความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในจิตของท่าน โชค ลาภ วาสนา และบารมี ย่อมบังเกิดแก่ท่านอย่างแน่นอน เพราะไม่มีปัญหาการสื่อความ เพราะคนที่เราเสวนาด้วยรู้สึกว่า เราเข้าใจเขา เท่านั้นก็เพียงพอต่อความเป็นรากฐานที่มั่นคงและแข็งแรงของการมี "ความสุข" และ "ความสำเร็จ" ในความเป็นอยู่ในสังคมนี้อย่างร่มเย็น


การแสวงหาความสงบ คือต้องแสวงหาจากตนออกไป จนกว่าจะพบความจริง เพราะความสงบสุขเกิดที่ใจที่ไม่ยึดมั่นถือครอง ปล่อยวางบ้างนะ ปลงลงบ้างนะ แล้วใจจะสบาย "ปล่อยวางรู้ว่าวาง ถ้ารู้วางก็รู้เบา ผู้โง่เขลาไม่เขาใจ พบกันใหม่นะ รูปขอจำเริญพร