ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ปีใหม่แล้ว เอาอย่างไรดีกับชีวิต
แม้ต่างคน ต่างชาติ ต่างศาสนา
จะแตกต่าง ความเมตตา ก็หาไม่
แม้ต่างคน ต่างคิด ต่างจิตใจ
เมตตาธรรม ค้ำจุนได้ ไม่ต่างกันฯ

โลกและในสังคมมีที่ให้เราอยู่อาศัย ยังมีความรักความอบอุ่น มีความเมตตาเอื้ออาทร ยังเปิดโอกาสให้เราทำหน้าที่ทั้งปวงอย่างกว้างขวาง ขอเพียงเราก้าวเดินเข้าไปหาโอกาสนั้น ๆ อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ โอกาสดี ๆ จะไม่ทอดทิ้งเราไปไหน หลักยึดอย่างหนึ่ง เราควรให้ความเคารพต่อคุณธรรมที่จะปฏิบัติต่อกันและกัน เพราะการอยู่ร่วมกันหลากหลายนั้น ศีลธรรมเป็นเครื่องหล่อหลอมที่ดีที่สุด นอกจากศีลธรรมแล้วนั้น เราไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องผูกพันทางกฎหมายได้เลย เพื่อความสุขสงบของประชาชนทุกหมู่เหล่า ให้เรารักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง คิดกับทุกคนเหมือนว่าทุก คนเป็นประดุจญาติผู้เป็นที่รัก เราให้เกียรติกัน เคารพกัน ศีลธรรมก็ไม่หาย กฎหมายก็ไม่ก้าวล่วง ที่ว่ากันว่ากฎหมายเกิดจากความเสื่อมทางศีลธรรมก็ว่ากันไป ถ้าเราไม่ทำให้มันเสื่อมมันก็ไม่เสื่อม ฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ก็ต้องมีความอ่อนโยนรับฟังความคิดของคนอื่น แต่มิได้หมายถึงว่าต้องอ่อนแอ เราต้องเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็ง แต่มิใช่ว่าจะให้แข็งกระด้างนะ


ปีใหม่ ตั้งหลักตั้งใจใหม่

ลองใช้สติพินิจพิจารณาตรองตรึกนึกถึง เรื่องพระธรรมคำสอน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันดูไหมว่า มีธรรมข้อใดหมวดใดที่จะเป็นมงคลแก่เราได้มากที่สุด และอาจจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น ๆ ด้วย ธรรมมีอุปการะมากต่อเรา และต่อทุกคนด้วย นั้นมี 2 ประการ ดังนี้

สติ และ สัมปชัญญะ ทั้งสองนี้ ชื่อว่า มีอุปการะมาก เพราะ เป็นอุปการธรรมอุดหนุนให้สำเร็จกิจในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ แต่ในที่นี้หมายเอาเฉพาะที่เป็นประโยชน์ในทางดี

1. สติ ความระลึกได้ สติ ความนึกได้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด นึกได้ก่อนแล้วจึงทำ จึงพูด จึงคิด อันนี้เป็นลักษณะของสติ สติเป็นเครื่องกำจัดธรรม คือ ความประมาท ความเลินเล่อ เป็นนิจ บุคคลที่ทำผิด พูดพลาด คิดพลั้งเผลอ อันนี้เป็นโทษของการขาดสติ

สติ มี 2 ขั้น คือ

1. ขั้นต่ำเป็นไปในกิริยาที่พูด ที่คิด เป็นต้น (เรียกว่าสามัญสติ)

2. สติชั้นสูงเป็นไปในสติปัฏฐาน 4 คือ ความระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เป็นต้น

2. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว สัมปชัญญะ เป็นไปในกิจอันเดียวกันกับสติ แต่โดยอาการต่างกัน ความรู้ตัวในเวลากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด นี้เป็นลักษณะของสัมปชัญญะ กำจัดธรรมเป็นข้าศึกคือ อญานะ ความเขลา ในเวลาทำกิจการทุกชนิดเป็นนิจ บุคคลที่เดินไปสะดุดก้อนหิน ท่อนไม้โดนโน่นโดนนี่ ยืนไม่ตรง พูดอะไร คิดอะไร ยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ มักผิดพลาดพลั้งเผลอ เป็นเพราะขาดสัมปชัญญะ

สติสัมปชัญญะ นี้ เป็นประโยชน์แก่ชนโดยทั่วไปทุกจำพวก ทั้งทางคดีโลก ทั้งทางคดีธรรม เพราะเหตุนี้ พระสารีบุตรเถรเจ้า จึงกล่าวถึงสติสัมปชัญญะว่าเป็น พหุปการธรรม คือ ธรรมมีอุปการะมาก ถ้าขาดธรรมทั้งสองนี้ ธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงเรียกว่าธรรมมีอุปการะมาก

ในหมู่ชนทั้งหลาย ผู้มีสตินับว่าเป็นปราชญ์ทุกขณะคิด พูด ทำ ชื่อว่าเป็นผู้นำทางอย่างสง่างาม มีสติคนเดียวสามารถ สร้างสรรค์ประโยชน์สร้างคุณความดีได้มากมายมหาศาล

ในหมู่ชนทั้งหลายเหล่านั้น มีผู้ขาดสติเพียงคนเดียว สามารถมีกำลังทำลายล้างได้มากมายมหาศาลเช่นกัน แนะตะกี้บอกว่าจะกล่าวแต่ในทางที่ดี ๆ

ปีใหม่แล้ว ตั้งหลักตั้งใจดูแลตนเองและครอบครัว นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคลที่ดีที่สุด เพราะการสร้างสุข สร้างความหวัง สร้างกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว เป็นคุณธรรมอันควรค่า ความรับผิดชอบในหน้าที่ของแต่ละบุคคลนั้น จะเป็นความสำเร็จด้วยกัน การเจริญสติเป็นคุณธรรมที่จะทำให้เจริญรุ่งเรืองในทุกหน้าที่ "สติมโต สทา ภัททัง" คนผู้มีสติ มีความเจริญทุกเมื่อ บุคคลผู้มีสติ จะตื่นตัวอยู่เสมอ ประกอบกิจอะไรไม่ว่าทางโลก มีธุระหน้าที่การงานเป็นต้น และทางธรรม มีการประพฤติให้สุจริตทั้งกาย วาจา และทางใจ ต่างก็ต้องอาศัยสติเป็นตัวประกอบที่สำคัญทั้งนั้น เมื่อบุคคลมีสติแล้ว ทำอะไรก็จะไม่เกิดความผิดพลาด ทำกิจอะไรก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ดีงาม ถูกธรรม และเรียบร้อย จนเป็นเหตุนำความสุขความเจริญมาให้แก่ตน แก่คนรอบข้าง ใครมาบอกบุญแก่เราก็อย่าไปขัด รับไว้ด้วยไมตรี และกล่าวอนุโมทนากับท่านผู้บอกกล่าวเล่าบุญนั้นไป ส่วนจะช่วยได้มากน้อยก็ขอให้ได้ใช้สติรำลึกอนุโมทนาเสียก่อน อย่างนี้บุญก็รักษา เทวดาก็คุ้มครอง บริวารก็ปกป้อง แสร้ซ้องสรรเสริญ

มีสติ มีธรรม มีมนุษยธรรม

มนุษยธรรมกับข้อผูกพันทางกฎหมาย หลาย ๆ ประเด็นการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน ที่ต้องผจญเผชิญกับข้อกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น บางครั้งความขาดสติ ทำให้บางท่านบางคนถึงกับต้องล้มละลายหมดเนื้อหมดตัวเพราะขาดสติ ยกตัวอย่างเรื่องขับรถ ขับรถนั้นขาดการเจริญสติเมื่อใด วินาศภัยมายิ้มเย้ยหยันแน่นอน มีอีกหลาย ๆ ตัวอย่าง เช่น เรื่องการติดพนัน คนติดการพนันไอ้ที่รวยนั้นมีน้อยนัก ส่วนที่ล้มเหลวนั้นมีมาก ล้มทั้งกระดานล้มทั้งชีวิต

คำโบราณว่า "โจรขึ้นบ้านร้อยครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว โจรลักเล็กขโมยน้อยก็แค่พลอยรำคาญ บ้านและทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังคงอยู่ แต่ไฟไหม้บ้านนี่สิ ทรัพย์สินและบ้านหมดทั้งหลัง แหม ๆ...! แต่ว่าที่ดินยังเหลืออยู่นะ ทว่า การติดการพนันนั้นที่ดินที่ปลูกบ้านก็ไม่เหลือ บางคนถึงกับเอาเนื้อตัวเข้าแลก ขายทั้งตัวขายทั้งหัวใจเลยก็มีให้เห็น"

ธรรมะสมสมัย วันนี้จึงได้นำเอาหัวข้อ ธรรมมีอุปการะมาก มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้พินิจพิจารณา เสียอะไรก็เสียได้ ขออย่าให้เสียสติ เพราะคนที่เสียสตินั้น ต้องเสียหน้าที่ของตนเองไปทุกด้านตลอดชีวิต จากชีวิตที่เคยเรียบง่ายหรือเลิศหรูนั้น บางคนที่จวบเหมาะเคราะห์ร้ายยังต้องมาประจัญกับข้อกฎหมายแบบประเดประดัง เหตุเพราะบางคนมีความรู้ และใช้ความรู้นั้นมากจนเกินพอดี จนขาดความรอบคอบ ที่โบราณเรารียกกันว่าฉลาด แต่ขาดเฉลียว หรือเพราะความประมาทขาดสตินั่นเอง

ขอเล่าเรื่องประสบการณ์วันก่อนให้ฟังนะ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่ แสนลำบาก แสนยาก แสนเข็ญ แสนทุลักทุเล (เอา 4 แสนก็พอนะ) กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนมาเองแล้วนี่แหละ คงไม่ต้องกล่าวถึงว่า เพราะเหตุผลใดถึงจำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะเหตุผลบางอย่างนั้นมันก็อธิบายยากเหมือนกัน

ยกตัวอย่างตอนมาอเมริกาใหม่ ๆ ปีแรกและปีที่สอง การจะใช้รถยนต์โดยสารกับวิถีชีวิตส่วนตัว จากวัดไปที่บิณฑบาต (ที่ไทยแลนด์พลาซ่าบ้าง ที่กริ๊ฟฟิซพาร์คบ้าง และที่อื่น ๆ) บนความจำเป็นพื้นฐานสำคัญคือ ความไม่รู้เรื่องว่าต้องขึ้นรถตรงไหน ขึ้นรถอย่างไร จ่ายค่าโดยสารแบบไหน ไม่รู้สักอย่างเลย ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้เรื่องภาษาต่างประเทศ ไม่มีความรู้เรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้องในอเมริกา เกิบ 20 ปีผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังนั่งรถโดยสารไม่เป็น พูดเรื่องแบบนี้ให้ใครต่อใครฟังนั้นไม่มีใครเชื่อเลย แต่ขอขอบคุณพี่น้องชุมชนคนรักธรรม คราวนั้นได้รวบรวบเงินค่าโดยสารรถไฟให้ และเป็นครั้งแรกที่นั่งรถไฟไฟที่ San Diego แต่ก็ไม่ได้เดินทางไปโดยลำพัง มีหลวงพ่ออมโรท่านพานั่ง

แหล่งเกิดความรู้

แรก ๆ ความรู้เหล่านี้ได้จากญาติโยมกลุ่มพลังชุมชนคนรักธรรม ได้ถวายให้คำแนะนำ ญาติโยมบางท่านถึงกับสอนภาษาอังกฤษ ถวายความรู้พระเจ้าพระสงฆ์ที่มาประกาศเผยแผ่ธรรม พร้อมให้ความอุปถัมภ์ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการงานคณะสงฆ์อย่างอุทิศตนเลยก็มี แหล่งเกิดความรู้ก็เริ่มสะสมขึ้นเลื่อยมา เรื่องนี้ไม่บอกไม่รู้เช่นกันนะ เรื่องผู้ริเริ่มก่อตั้งและให้ชื่อว่า "ชุมชนคนรักธรรม" หัวข้อบทความเรื่องนี้กล่าวถึง ธรรมะมีอุปการะมาก (ไม่ลืม ๆ )

ถ้าเรื่องการประกาศธรรม ต้องกล่าวถึงผู้ประกอบประโยชน์ หรือผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนา ต้องกล่าวถึงท่านผู้นี้เลย ท่านพระอาจารย์ ดร. พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า อาตมาได้รับความรู้หลาย ๆ ด้านจากท่านมากมาย และยังมีหนังสือ Yellow Pages ที่คนไทยในอเมริกาช่วยเปิดช่องทางให้ความรู้กันเอง ดังนั้น Yellow Pages สมุดหน้าเหลือง มาอเมริกาใหม่ ๆ มีประโยชน์มากเลยนะ เพราะช่วยเราได้ ก่อนที่สีหน้าของเราไม่เหลือสีเหลือง (ซีด) ที่เขียนไปทิศทางนี้ก็เพราะระลึกถึงกุศลน้ำใจ ที่ครั้งนั้นชุมชนคนรักธรรมได้รวบรวมระดมทุนซื้อประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุให้อาตมาติดต่อกันมาหลายปี ซึ่งก่อนหน้านั้น อาตมาเคยใช้รถไม่มีประกันมาแล้วมากกว่า 3 ปี (โชคดีนะ คาถาดี เลยไม่โดนอะไร 555) ถึงวันนี้ ต้องบอกทุกคนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ที่ต้องดิ้นรนขนขวายต่อสู้ชีวิต เพื่อความตั้งมั่นของตนและครอบครัว ต้องเรียนรู้ให้ถ้วนทั่วก่อนที่จะลงมือทำการใด ๆ อย่าได้พลีพลาม

เจริญสติ กำหนดลม ให้ผ่อนเบา
น้อมจิตเฝ้า องค์พุทธะ ละสับสน
เจริญจิต ภาวนา อย่ากังวน
ยกจิตพ้น บ่วงแห่งมาร เบิกบานเอยฯ


พบกันใหม่ฉบับหน้านะ เจริญพร