ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



"สตรี" กับคุณาประการที่มีต่อพระพุทธศาสนา

จำเดิมนับแต่ตอนเป็นเด็กๆ ชีวิตผูกพันอยู่กับวัดจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน อาตมาจำความได้ คุณย่าก็พาไปวัด คุณแม่ก็พาไปวัด สิ่งที่เห็นมากมายทุกครั้งที่ไป คือโยมผู้หญิงเป็นส่วนมากที่เข้าวัดไปทำบุญ ท่านเหล่านั้นได้แบ่งขนมให้ และพระท่านให้บ้าง อาตมาก็ขยันไปวัดเป็นประจำ และทุกครั้งที่ไปก็ไปถูศาลาทำความสะอาดจัดกระโถนกาน้ำกวาดลานวัด ซึ่งปัจจุบันไม่มีแบบนี้แล้ว ตักน้ำใส่กระถางล้างเท้า หิ้วใส่ตุ่มในห้องส้วม หากไม่มีอะไรก็วิ่งเล่น บางทีดื้อก็มีทั้งเสียงด่าและคำชม ใน ประสบการณ์เหล่านั้น ทำให้อาตมารักงานพระพุทธศาสนาตลอดมา

จึงกล้าที่จะบอกกับทุกท่านทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ว่า เกียรติและโอกาสใดๆ ที่สามารถให้กับสตรีได้ ก็จะกระทำตอบแทนต่อสตรีอย่างอ่อนน้อมด้วยน้ำใจเสมอ "เพราะรำลึกเสมอว่า สตรี กับ คุณาประการที่เธอได้มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีความสำคัญยิ่งใหญ่อย่างประทับใจ" การที่มีผู้ศรัทธาเข้าไปถือศีลเนกขัมมะจารินี ณ วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด แคลิฟอร์เนีย ที่ปัจจุบันอาตมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ส่วนมากเป็นการบวชแบบไม่โกนผม และถ้าใครคิดจะโกนผมอาตมาก็ห้ามเสียก่อนที่จะตัดสินใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สติให้มีเวลาคิด จนกระทั้งเธอเหล่านั้นมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ แท้จริงนั่นคือบุญของเธอที่กล้าในการที่จะตัดสินใจ ปล่อยวางได้อย่างเด็ดขาด เพราะธรรมชาติของสตรีย่อมเป็นผู้รักสวยรักงาม ซึ่งน้อยคนที่จะปลดปลงปล่อยวางได้ "ปล่อยวาง รู้ว่าวาง ถ้ารู้วาง ก็รู้เบา ไม่รู้วาง ไม่รูเบา" มีสตรีตัดสินใจโกนผมถือบวชมาแล้ว 3 ท่าน และท่านที่ 4 กำลังคอยกำหนดการอันเป็นมหามงคลจะมาถึงเร็วๆ นี้ การบวชเป็นแม่ชี บวชธรรมจารินี หรือเนกขัมมจารี การถือครองเพศพรหมจรรย์ ของ "อุบาสิกา" ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาพุทธบริษัททั้ง 4 จำแนกออกได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

1. หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วไป ถือ ศีล 5

2. แม่ชี เป็นหญิงที่ออกบวชโดยโกนผม โกนคิ้ว นุ่งขาวห่มขาว และถือศีล 8

3. ธรรมจาริณี คือ หญิงที่ปฏิบัติธรรมในโอกาสต่าง ๆ ในระยะสั้น ๆ เพียงแต่นุ่งขาวห่มขาว(ไม่ต้องโกนผม) ถือศีล 5 หรือศีล 8 โดยมุ่งเน้นการฝึกหัดปฏิบัติธรรม และเจริญสมาธิภาวนา

4. เนกขัมมจารี เหมือนกับธรรมจาริณี แต่จะต้องถือศีล 8 มีข้อปฏิบัติธรรมเคร่งครัด และมีช่วงเวลาในการปฏิบัติยาวนานกว่า ตามที่จะสมาทานกำหนด

ความตั้งใจคือเจตนาอันบริสุทธิ์ของผู้มาถือบวช ต่างยอมรับกันใจหมู่คณะว่าการบวชเนกขัมมะจารินี "เหมือนการได้เกิดใหม่ ได้ชีวิตมงคล เกิดลาภผลเป็นความสุขความสำเร็จ มีอริยะ มหาโภคทรัพย์ บังเกิดขึ้นในการประพฤติธรรมสัมมาปฏิบัติ"

ขอเชิญทุกท่านร่วมอนุโมทนา บุญบวชคุณต่าย ครั้งหนึ่ง....ในชีวิตลูกผู้หญิง......บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ถวายพานแพสักการะ กตัญญูกตเวที ต้นแบบสตรีส่งเสริมให้เกิดสัมมาปฏิบัติ .......บวชเพื่อขจัดปัดเป่าอุปัทวะภยันตราย ปิดกั้นประตูอบาย ระงับความวุ่นวายคลายเร่าร้อนถอนอวิชชา......บวชเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนพระพุทธองค์ ปฏิบัติบรรจง ประสงค์ก้าวไปในมัคคาแห่งผู้ตื่นรู้ในโพธิธรรมนำถวิล......บวชเพื่อรักษาศีล เจริญจิตภาวนา ด้วยศรัทธา สร้างบารมีให้กับตนเองอย่างตั้งจิต...... บวชด้วยความตั้งจิตอุทิศบุญเกื้อกูลสัพพสัตว์ทั่วสากลฯ


กำหนดการ วันอาทิตย์ ที่ 3 เมษายน 2559

เวลา 10:30 am. ฟังธรรมบรรยาย เรื่อง "สตรี" กับคุณาประการที่มีต่อพระพุทธศาสนา

เวลา 11:00 am. ถวายภัตตาหารเพล

เวลา 12:00 noon. ทุกท่านรับประทานอาหารกลางวัน

เวลา 1:00 pm. ทำพิธีปลงผมอุบาสิกา

เวลา 2:00 pm. รบศีลสมาทานถือบวช

เวลา 6:00 pm. สวดมนต์ทำวัตรปฏิบัติสมาธิภาวนา

ณ วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา 11911 207Th Street Lakewood, CA 90715 Phone (562) 865 - 1716

หลักปฏิบัติในการบวชนั้น ต้องอาศัยหลักธรรมะที่เป็นเนื้อแท้ ของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่สำหรับยึดเป็นหลักปฏิบัติ หมวดธรรมที่มีชื่อว่า อินทรีย์ทั้ง 5

อินทรีย์ 5 ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ละอย่างเรียกว่า อินทรีย์ คำว่า อินทรีย์ แปลว่า สำคัญ ตัวการสำคัญ หลักการสำคัญ ธรรมะทั้ง 5 ข้อนี้ จะมีอยู่ในการปฏิบัติทั่วไป จะทำสมาธิหรือเจริญภาวนาอย่างไร ก็ต้องทำให้มีอินทรีย์ครบทั้ง 5

1. มีสัทธา - เชื่อในธรรม เป็นเครื่องดับทุกข์ การบวชถือศีล 8 อยู่ที่วัดหรือที่บ้านหรือที่ไหนๆ ก็ต้องมีความเชื่อในธรรมะนั้นๆ ถึงที่สุด ศีล สมาธิ ปัญญา เราได้ศึกษาแล้ว มีความเชื่อว่าธรรมเหล่านี้ดับทุกข์ได้จริง เป็นที่พึ่งได้จริง

ความเชื่ออีกข้อหนึ่ง คือ เชื่อตัวเอง เชื่อในสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติว่าดับทุกข์ได้ แล้วก็เชื่อว่า ตัวเองมีคุณธรรมที่จะดับทุกข์เหล่านั้นได้ รักษาศีลได้ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้อย่างยิ่ง มีความ เคร่งครัดในการปฏิบัตินั้นๆ

2. มีวิริยะ - ความเพียรและกล้าหาญ ยิ่งเมื่อมีศรัทธาในธรรมะก็ยิ่งจะมีความกล้าในตัวเอง วิริยะก็จะเข้มแข็งกล้าที่จะทำหน้าที่ของตนให้ดี ถึงที่สุดบวชอยู่ที่ไหนๆ ก็ให้มีวิริยะ ในการที่จะทำตนให้เจริญรุ่งเรือง ยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เรียกว่า มีวิริยะความเพียรและกล้าหาญ

3. มีสติ - ต้องใช้ในทุกกรณี สติ เป็นธรรมะพิเศษ จำเป็นสำคัญที่จะต้องใช้ในทุกกรณี ช่วยจำข้อความนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าธรรมะที่จะต้องใช้ทุกกรณี ไม่ว่าที่ไหน อย่างไร ได้แก่ สติ ทุกเรื่องมันต้องทำไปในความควบคุมของสติ การใช้รถใช้ถนนก็ต้องทำไปด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า สติ ดังนั้นจึงมีหลักในชั้นสูงว่า มีสติในทุกผัสสะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 อย่างที่จะกระทบกันเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ถ้าจะศึกษาธรรมะให้เป็นธรรมะกันจริงๆ ให้พิจารณาดูกันถึงข้อนี้

4. มีสมาธิ - ต้องมุ่งนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิคืออะไร? ท่านบัญญัติความหมายไว้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดว่า สมาธิ คือ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ใจความของมันก็อยู่ที่ความมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ของจิตที่ตั้งไว้ เป็นอารมณ์เดียว

5. มีปัญญา - รู้ความจริงที่ควรรู้ ความจริงที่ดับทุกข์ได้นั้น เป็นความจริงที่ควรรู้ ขอให้รู้ความจริงนั้นอยู่ตลอดเวลาด้วยสติ นี้แหละเรียกว่า ทำงานอยู่ด้วยปัญญาอย่างยิ่ง ไม่เกิดความผิดพลาด ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย พิจารณาปล่อยรู้ความจริงเห็นพระนิพพานเอย

การบวช โดยสมาทานอุโบสถศีลสิกขาบท (ศีล 8) บวชในทศสิกขาบท (ศีล 10) หรือบวชใน

มหาสิกขาบท (ศีล 227) ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรม 5 ประการนี้ แทรกอยู่ในการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ถ้าปฏิบัติกรรมฐานอยู่อย่างเคร่งครัดในป่า ในวัดในดงหรือที่ไหนๆ ก็ตาม ให้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในการปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างเต็มที่ แล้วผลก็เกิดแน่นอน สำเร็จตามความปรารถนา โดยหลักการแล้ว พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการบวช ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายต่อการให้บรรลุธรรม อีกทั้งได้ฝึกหัดกำจัดกิเลส พระพุทธศาสนาส่งเสริมให้ผู้บวชได้รับโอกาสได้ศึกษาพระธรรมอย่างประณีต ทั้งผู้ชาย - ผู้หญิง เพราะบวชแล้ว ได้บุญ (บุญเป็นสิ่งที่เหนือเหตุผลอื่นใด) ถ้ามีผู้ต้องการถือบวช ถือเป็นเรื่องดีที่ควรได้รับการชื่นชม และส่งเสริมให้เป็นแบบอย่าง จะบวชได้เท่าใดก็ขอให้ตั้งใจให้มั่น ให้สำเร็จสมมโนปณิธานการตั้งความปรารถนานั้น เทอญ