ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



เปิดใจรับบุญ เพิ่มพูนบารมี

เจริญพรญาติโยมทุกคนทุกท่าน อาตมาแอบได้ยินหลายๆ ท่านที่ไปวัดได้พยายามพูดถึงเรื่อง กำหนดการบุญทอดกฐินของทางวัดต่างๆ แล้วได้ช่วยกันบอกต่อกันไป และชักชวนกันไปงานบุญ อาตมาก็แอบชื่นใจอยู่อีกนั่นแหละว่า น้ำจิตน้ำใจของญาติโยมพี่น้องชาวพุทธนี้ประเสริฐแท้ ใฝ่บุญทานการกุศล อย่างนี้พระพุทธศาสนามั่นคง สามารถต้านบางกระแสทางสังคมได้แน่แท้ และได้ถามถึงกำหนดการของทางวัดทุ่งเศรษฐี เช่นกัน ทั้งนี้ก็ทราบเจตนาท่านเหล่านั้นว่า จำเป็นต้องทราบล่วงหน้าเพื่อจัดตารางเวลา (Schedule) กับนัดสำคัญที่จะต้องบอก กับเพื่อนสนิทว่าจะให้โอกาสกับตนเองเดินทางไปกับเพื่อนๆ คณะไหนดี วันนี้มีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างแล้วนะ

เรื่องเขตเวลาบุญทอดกฐินตามที่มีพระบรมพุทธานุญาต เริ่ม ณ วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนสิบเอ็ด ถึงกลางเดือนสิบสอง เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม กำหนดก่อนก็ไม่ได้ และขยายเวลาเพิ่มออกไปก็ไม่ได้ ซึ่งวันออกพรรษา พ.ศ.2559 ปีนี้ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2559 / วันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีวอก และโดยอาริยะประเพณีวันออกพรรษานั้นถือเป็นวัน "มหาปวารณา" ของพระสงฆ์ที่ต้องประชุมกันตามพระบรมพุทธานุญาต

ปีนี้เทศกาลบุญทอดกฐินมีกำหนดเริ่มนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน แต่ด้วยเหตุความไม่สะดวกจัดกิจกรรมบุญพิธี ต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนชาวพุทธในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีค่านิยมความพร้อมเพรียงจัดงานกันให้ตรงกับวันอาทิตย์ และ ณ โอกาสนี้จึงขอแจ้งถึงกำหนดการบุญทอดกฐินของทางวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ให้ศาสนิกชนญาติโยมทุกคนทุกท่านทราบว่า หลังวันออกพรรษาอาทิตย์แรก ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2559 เป็นวันกำหนดการ จัดงานบุญพิธีทอดกฐินสามัคคี โดยเริ่มเวลา 09.30 น. เป็นต้นไป พระสงฆ์สวดทุติยกรรมวาจา และอนุโมทนา พร้อมกับบอกเขตอานิสงส์ (กฐินัตถารกิจ) จนกว่าแล้วเสร็จ

ญาติโยมท่านทั้งหลาย อย่างไรคือการเปิดใจรับบุญ อย่างไรคือการเพิ่มพูนบารมี หลักการแนวทาง แห่งการเกิดบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เพราะในขณะที่เปิดใจรับบุญนั้น เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด ขณะที่เป็นบุญ ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ "บุญ" หมายถึง วิธีการในการทำคุณงามความดี ทุกรูปแบบ "บุญ" หมายถึง ความบริสุทธิ์ผ่องใส หรือ ความสุขแช่มชื่นเบิกบานแจ่มใสของจิตใจผู้ทำบุญ


ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางแห่งการทำความดี ได้แก่

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ หรือบุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 หรือศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล 10 ของสามเณร หรือ 227 ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด อย่างในหมวดศีล 5 เราแยกเป็นหมวดหมู่ได้เป็นลักษณะ 3 คือ กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 รวมเรียกว่ากุศลกรรมบท 10 ดังนี้

กายกรรมสุจริต 3 ประการ คือ

- ละเว้นจากการฆ่าสัตว์

- ละเว้นจากการลักทรัพย์

- ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

วจีสุจริต 4 ประการ คือ

- ไม่พูดโกหก

- ไม่พูดส่อเสียด

- ไม่พูดคำหยาบ

- ไม่พูดเพ้อเจ้อ

มโนสุจริต 3 ประการ คือ

- ไม่หลงเชื่อสิ่งงมงาย

- ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวร

- ไม่หลงผิดจากครรลองคลองธรรม

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ 3 ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระราชามหากษัตริย์ เป็นต้น

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ หรือบุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไปให้เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญนั้นๆ

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า "สาธุ" เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้แล้วก็ พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นๆนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ


ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย 6 และ 7 ในทานมัย 8 และ 9 ในภาวนามัย ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำครบ 10 ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังนั้นท่านทั้งหลาย การสร้างบารมีเพิ่มพูนให้เกิดในตน คือการทำหน้าที่ทุกๆ ด้านของตน ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และอย่าท้อแท้ย่อหย่อนต่อความตั้งใจ ที่จะกระทำความดีทั้งปวง แม้เราจะทราบว่าในโลกธาตุนี้ไม่มีสิ่งสมบูรณ์ (Nobody's perfect) แต่ก็อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนๆ ให้เป็นไปโดยชอบประกอบธรรม ยึดหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 ประพฤติในกุศลกรรมบท 10 สร้างบารมีให้สูงสง่าในหมู่อารยชน การประพฤติธรรมนั้น แท้จริงมิใช่เพื่อรับใบประกาศ หรือรับวุฒิบัตร แต่ต้องให้เป็นไปเพื่อลดละอวิชชา คือ โลภะ (โลภ) โทสะ (โกรธ) โมหะ (หลง) ประกอบยกระดับจิตให้เจริญในกุศลกรรมบท คือ อโลภะ (ไม่โลภ) อโทสะ (ไม่โกรธ) อโมหะ (ไม่หลง) อย่าประมาทในชีวิตและวัยอยู่เลย วุฒิบัตรใบประกาศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหมดทั้งมวล เก็บไว้เป็นเกียรติยศเป็นครื่องประดับความดี อย่าให้สิ่งเหล่านี้มาปิดตาบังใจ คือความมุ่งหมายของคำว่า "เปิดใจรับบุญ เพิ่มพูนบารมี" ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย ความหมายซ่อนไว้ให้ประพฤติธรรม ด้วยความเมตตาและความปรารถนาดี ขอจำเริญพร