ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สนุกปากมากด้วยปัญหา

เจริญสุขเจริญธรรมท่านสาธุชนทั้งหลาย พบกันสัปดาห์นี้ก็มีธรรมะมาฝากท่านผู้อ่านดังเคย เพราะหน้าที่ของพระคือผู้สอน ซึ่งต่อให้สังคมโลกเจริญไปมากเท่าใด การศอนศีลธรรมก็ยิ่งจำเป็นมากเท่านั้น สื่ออื่นยิ่งมากเท่าใด สื่อศีลธรรมจำปรารถนาให้มากและเข้าถึงให้กว้างขวางเป็นที่ยอมรับต่อสังคมให้ได้ เพราะมิฉะนั้นพระสงฆ์ต้องลำบากที่จะเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุด หรือตลอดถึงเป็นปัญญาของสังคม ยุคนี้การสอนศีลธรรมของพระนั้น หรือการสอนนั้นยังคงเป็นงานที่ถ้าทาย เพราะการพูดให้คนยอมรับนับถือนั้นไม่ง่ายเลยจริงๆ แต่ก็ใช่ว่ายากจนเกินที่จะสามารถของผู้ปรารถนาทำงานพระศาสนา

การประกาศธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เอกนิบาต ชาดกว่า

"ปรสฺส วา อตฺตโน วาปิ เหต ภาสติ อลิกํ ภูริปญฺโญ

โส ปูชิโต โหติ สภาย มชฺเฌ ปจฺฉาปิ โส สุคฺคติคามิ โหติ

ผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ย่อมไม่พูดเหลวไหล เพราะเหตุแห่งคนอื่นหรือแม้แห่งตนเอง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้อันมหาชนบูชาแล้วในท่ามกลางชุมชน แม้ภายหลังเขาย่อมไปสู่สุคติ"

คำพูดที่เป็นอมตะตลอดกาล นั่นคือวาจาสุภาษิต คือคำพูดที่เรากลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใสแล้วค่อยพูดออกมา ประกอบด้วย

1. พูดคำจริง (สจฺจา ภาสิตา)

2. พูดสุภาพ (สณฺหา ภาสิตา)

3. พูดมีประโยชน์ (อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา)

4. พูดด้วยเมตตา (เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา)

5.พูดถูกกาละ (กาเลน ภาสิตา)

- การกล่าวคำสัตย์คำจริง เป็นเรื่องอมตะตลอดกาล

- การกล่าวคำสุภาพอ่อนโยน ไม่หยาบคาย ไม่เสียดสี ตลอดถึงไม่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของใคร ย่อมเป็นที่รักของมหาชนตลอดกาล

- การกล่าวเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ต่อทั้งคนพูดและคนฟังด้วย ล้วนเป็นสาระที่ฟังทุกครั้ง หรือฟังสักกี่ครั้งก็ให้รู้สึกอิ่มเอมตลอดกาล

- การกล่าวทุกๆ วลีที่ประกอบด้วยจิตเมตตา ปรารถนาดีกับคนฟังจริงๆ โดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ย่อมเป็นสุขทั้งผู้พูดและผู้ฟังตลอดกาล

- และสุดท้ายข้อนั้สำคัญมากเลย คือต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ คือ ดูเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม ว่าเวลาไหนควรพูด และเวลาไหนไม่ควรพูด


นอกจากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้หลักการพูดเอาไว้อีก 6 ประการ คือ

1. คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก = เราจะไม่พูด

2. คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเป็นที่รัก = เราจะไม่พูด

3. ถึงจะเป็นคำจริง แต่ไม่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่เป็นที่รัก = เราจะไม่พูด

4. เป็นคำจริง ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นที่รัก = เราจะไม่พูด

5. เป็นคำจริง มีประโยชน์ แต่ว่าไม่เป็นที่รัก = อันนี้ต้องรอจังหวะให้ดีค่อยพูด

6. เป็นคำจริง มีประโยชน์ แล้วก็เป็นที่รักของคนฟัง = เราจึงจะพูด

ถ้าทุกคนยึดหลักวาจาสุภาษิต คิดให้รอบคอบก่อนพูด โลกนี้จะน่าอยู่ขนาดไหน ดังนั้นก่อนจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไร เราควรคิดให้ดีก่อนว่าสิ่งที่เราพูดมีผลดีผลเสียกับใครหรือไม่

วันนี้ : เหตุที่ต้องยกเรื่องการกล่าวว่าจาสุภาษิตก็เพื่อระงับปัญหาอันเป็นการดับไฟเสียแต่ต้นลม ดังจะหยิบยกนิทานมาสาธก เรื่องมีอยู่ว่า สตรีผู้กล่าววาจาสัตย์ มีสตรีนางหนึ่ง ไม่เคยทำบุญอย่างอื่นเลย ทานก็ไม่เคยทำ เข้าวัดฟังธรรมก็ไม่เคย เธอเพียงแค่รักษาคำสัตย์อย่างเดียว คือ ไม่ยอมพูดเท็จเป็นอันขาดตลอดชีวิต

เมื่อสิ้นชีวิต นางได้ไปเกิดในเทวโลก (โลกของเทวดา หรือโลกสวรรค์) พระมหาโมคคัลนานะอัครสาวกจาริกไปยังเทวโลก เห็นเทพธิดาอยู่ในวิมานสวยงามนางหนึ่ง จึงถามว่า นางได้ทำบุญบุญกุศลอะไรเมื่ออยู่ในโลกมนุษย์ จึงมาอยู่ในวิมานสวยงามอย่างนี้

นางเทพธิดาละอายใจที่ตนเองทำบุญมาน้อย อิดออดจะไม่ยอมบอก เมื่อพระเถระเจ้าถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงกราบเรียนว่า "ดิฉันรักษาเพียงคำสัตย์อย่างเดียว เจ้าค่ะ"

พระมหาโมคคัลลานะกลับมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามว่า "บุคคลอาจได้ทิพยสมบัติเพียงเพราะพูดคำสัตย์อย่างเดียวหรือพระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "โมคคัลลานะ นางเทพธิดาได้บอกเธอแล้วมิใช่หรือ" แล้วตรัสต่อว่า "เพียงกล่าวคำสัตย์ มนุษย์ทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกได้"

นิทานเรื่องนี้สั้น แต่ได้ความชัด คือ การรักษาวาจาสัตย์ การพูดคำสัตย์ ไม่ยอมผิดศีลข้อที 4 นั้นทำยาก คนที่รักษาศีลข้อนี้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ก็ย่อมไปเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าได้ เพราะคนพูดคำสัตย์คำจริงอย่างเดียว คุณธรรมอื่น ๆ ย่อมงอกงามตามมาด้วย ศีลข้อ 4 มีอยู่ว่า มุสาวาทา เวรมณี ฯ เว้นจากพูดเท็จ คือพูดแต่คำสัตย์คำจริง สมดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า

ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณณวนฺตํ สคนฺธกํ

เอวํ สุภาษิต วาจา สผลา โหติ สุกุพฺพโต

วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ปฏิบัติ

เหมือนดังดอกไม้งาม ที่มีทั้งสีสวย และกลิ่นอันหอม

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย บารมีหลวงพ่อเพชรมีชัย พระประธานวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี ประทานธรรมให้ท่านปลอดภัยโชคดี ลาภผลพูนทวี ชีวิตดี การงานมั่นคง สำเร็จทุกสิ่งสมประสงค์ สมเจตน์จำนง แห่งผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ เทอญ ฯ รูปขอจำเริญพร