ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ชีวิตวิมุติหลุดพ้นได้จริงด้วยสมาธิ

เจริญธรรม เจริญสุข ท่านผู้ศึกษาธรรม ธรรมะสมสมัยหายไปจากเพจ ผู้ติดตามอ่านถามว่าหลวงพ่อไม่ได้เขียนแล้วเหรอ "ตอบว่าไปเมืองไทย ไปไหนต่อไหนหลายแห่ง" วันนี้มาแล้ว เป็นการเริ่มต้นแบบง่วง ๆ อยู่นิดหน่อย แต่ว่ามีสมาธิพอเป็นฐานงาน ว่าแล้วก็หาว 1 ครั้ง

ตอนนี้นั่งสมาธิคล้ายๆ กับว่าไม่ค่อยสงบ กำลังเพ่งกองจดหมายจ่ายบิล กองเท่าภูเขาเลย ใจจึงมีความปรุงแต่ง มีความคิด และมีปัญญาชักเรื่องนั้นมาพิจารณา ชักเรื่องนี้มาพิจารณาลงสู่ความสงบ ก็เห็นทุกอย่างตาสมเป็นจริง เห็นความถูกต้อง อันนี้ของจริงเลย สมาธิเป็นเรื่องของการสั่งสมอบรมจิต ถ้าเป็นอย่างของบางคนอาจเป็นกังวลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่

การทำสมาธิแม้จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ตาม ความรู้ธรรมะนั้นไม่แน่นอน จะเป็นอิริยาบถใดก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้แหละ ผู้มีปัญญาสามารถที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาธิมากก็ว่าได้ เช่น การปลดปลง - ปล่อยวาง การทำหน้าที่เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนด้วยปัญญาสมาธิ


สมาธิไม่เข้าใจบริบทก็ยากจริง

พูดกันง่าย ๆ ปัญญาจะเห็นอะไร ๆ นั้น ต้องมีสมาธิเป็นฐานอำนาจให้เกิดการเป็นกองกำลังสนับสนุนปัญญา ความเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้ สมาธิจึงถือเป็นธาตุหนักก็ว่าได้ คือมันคล้าย ๆ อย่างนั้น จิตสงบลงไปดิ่งลงไปเลยก็ว่าได้ ได้ความสบาย เพราะอันนั้นมันเห็นชัด มันเห็นจริงเชื่อมั่น ยืนยันเป็นพยานตนเองได้ ในจริตของบางคนเป็นไปอย่างนี้ จริตแต่ละท่านจะอย่างไรก็ช่างมัน ก็ต้องทำลายความเห็นผิดออก เหลือแต่ความสงบถูกต้อง เมื่อเราเข้าใจบริบทมันก็ง่าย เพราะมันก็จะลงไปสู่จุดอันเดียวกันนั่นเอง

พูดกันเล่น ๆ ว่า บางท่านความรู้มาก มีปัญญามาก เวลานั่งสมาธิจิตเข้าสู่ความสงบได้ช้า เช่น พระสารีบุตรเป็นต้นฯ

บางคนมีปัญญาน้อย กลับนั่งสมาธิได้ง่าย เข้าถึงธรรมได้ไว จิตสงบเร็วที่สุด แต่มีเชาว์ปฏิภาณน้อย ชอบเรื่องฤทธิ์ แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ ชอบใช้กำลังฤทธิ์ เช่น พระโมคคัลลานะเป็นต้นฯ

พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้หน้าที่สองอย่างนี้ เป็นของคู่กัน จะเป็นปัญญา หรือเป็นสมาธิ ก็ต้องคู่กันไป เหมือนวิปัสสนากับสมถะ มันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น


ปัญญาสมาธิสารพัดไม่มีความสงสัย

ความเข้าใจในสิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ มีหน้าที่อย่างนี้ ๆ เป็นธรรมดา ๆ ชีวิตมีร่างกายและจิตใจ ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ทั้งหลายเหล่านี้ มันก็ไม่มีอะไร เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็น ทุกอย่างสารพัดไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า "สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้" อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อย ๆ ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบ เป็นเช่นนั้น

ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้น มันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วย วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไป วิตกวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน? ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามา คือมันสงบ เรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ก็เรียกว่า ทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้น วิจารณ์ ความพิจารณาไม่มี มีแต่ความอิ่ม มีความสุข และมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น


สติ : สิ่งที่ช่วยรักษาสมาธิ

สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้ คือสติ สตินี้เป็นธรรม เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้ก็คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท ในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด

ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไม่ใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอ มีความรู้อยู่เสมอเป็นของที่มีอยู่เสมอ ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมา การพูด การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี


ชีวิตวิมุติหลุดพ้นได้จริงด้วยสมาธิ

สมาธิ กับ ปัญญา สรุปตรงนี้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน เหมือนสมถะ กับ วิปัสสนา นั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน ร่างกายกับจิตใจ ก็ต้องสำคัญพอ ๆ กัน มีกายก็ไม่มีใจ มีกายไม่มีใจมันก็ไม่ได้ มีใจไม่มีกายก็ไม่ได้เช่นกัน ชีวิตวิมุติก็อยู่ในกายกับใจ จิตหลุดพ้นก็บนพื้นฐานกายยาววาหนาศอกนี่เอง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนั้น เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี้ท่านว่าเจริญสติ ทำให้มาก เจริญให้มาก อันนี้เป็นธรรมะคุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่ หรือทำมาแล้ว หรือกำลังจะกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ความเห็นผิดชอบมันก็มีอยู่ทุกเมื่อ เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่ เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ ความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือการสังวรสำรวม ที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้น ก็เรียกว่าศีล ศีลสังวร ความตั้งใจมั่นอยู่ในความสังวร สำรวมในข้อวัตรของเรานั้น ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้น ก็เรียกว่าปัญญา พูดง่าย ๆ ก็คือ จะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมามันก็คือมรรค นี่แหละหนทาง ทางอื่นไม่มี ดังนั้นจึงฝากท่านทั้งหลายว่าทางไปสู่มรรคผลได้ก็เริ่มต้นที่ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของตน ๆ ไปสู่ความเป็นวิมุติหลุดพ้น โดยธรรม ขออนุโมทนา

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลับไปเมื่องไทยปฏิบัติศาสนกิจ 3 สัปดาห์ ไปฉลองศรัทธาศิษยานุศิษย์หลายแห่งหลายจังหวัด ตอนนี้กลับมาแล้วไว้ให้หายเมื่อยหายเพลียแล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง รูปขอจำเริญพร