ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร
มหัศจรรย์ พระพุทธรูปพูดได้

พระพุทธรูป หรือพระพุทธปฏิมากร เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ชาวพุทธให้ความเคารพศรัทธามาก บางแห่งก็มีความขลังและความศักดิ์สิทธิ์อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ธรรมะกฤษฎาภินิหาร (บุญอันยิ่งเหตุปัจจัยแห่งธรรมนั้นๆ) ของพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นมีตำนานเล่า ขานกันมามากน้อยต่างกัน สุดแท้แต่ความรักความศรัทธาอันลึกซึ้งของชาวบ้าน แต่จุดที่ควรสนใจในสิ่งที่เหมือนกันของรูปเปรียบ หรือสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้านี้ ควรมองให้เห็นธรรมะที่ซ่อนแฝงอยู่ด้วย กัน 3 ประการ คือ


1. พระเศียรที่แหลมพลิ้วเปลวเพลิง

ทำไมพระพุทธรูปจึงมีพระเศียรแหลมในเมื่อพระพุทธเจ้าของเราก็เป็นมนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้คิดเป็นปริศนาธรรมพระเศียรที่แหลมนั้นหมายถึง สติปัญญาที่เฉียบแหลมในการดำเนินชีวิต การสื่อถึงพระปัญญาอันยิ่งยวดของพระองค์ที่เกิดฉัพพัณณรังสี ตรัสรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมบริสุทธิ์สะอาดด้วยพระเมตตาอันยิ่ง สอนให้ชาวพุทธแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญา และเหตุผล ไม่ใช่ใช้อารมณ์ หากใช้ปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงทำ ดังนั้นการมีสติก็เปรียบได้ว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจระลึกอยู่ในสิ่งที่กำลังกระทำ เรียกว่า มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเสมอ ดังความจริงที่จะเห็นได้ในนิยามเหล่านี้

สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา
สติมาปัญหาหาย สติตายโชคร้ายแน่นอน
สติมาหมาไม่กัด สติถูกตัดจะกัดกับหมา
สติดีจะมีรอยยิ้ม สติถูกทิ่มรอยยิ้มไม่มี
สติดีจะมีสตางค์ สติห่างสตางค์ไม่มี

2. พระกรรณยาน หรือหู

หูยาน เป็นปริศนาธรรมให้ชาวพุทธเป็นคนหูหนัก มิใช่หูหนวกไม่ได้ยินอะไรนะ แต่ให้มีวิจารณญาณในการตัดสินใจกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นความจริงควรเชื่อได้ คือมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงนั่นเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่คิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอันแยบคาย ด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วจึงเชื่อในฐานที่เป็น ชาวพุทธก็ต้องเชื่อในกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น เชื่อว่าไม่มีอะไรทำให้ใครเป็นอะไรๆทั้งนั้นแต่ตัวเราเองนั่นแหละทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ คนเราจะดีจะชั่วจะเสื่อมจะเจริญไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ขึ้นอยู่กับการทำ การพูด การคิด ของตนเอง นี้เป็นการเชื่อตามหลักของพระพุทธศาสนา

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ ที่อาศัยอยู่ ในเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้อวดอ้างตนในคุณวิเศษกันมาก เชิดชูแต่ลัทธิของตัว พูดจากระทบกระเทียบดูหมิ่นลัทธิอื่น พร้อมทั้งชักจูงมิให้เชื่อลัทธิอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเกสปุตตนิคมดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้อวดอ้าง ชาวกาลามะได้ทูลถามด้วยความสงสัยว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงกาลามสูตร ว่าด้วย วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ เป็นหลักตัดสิน คือ

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ

ดังนั้น พระสูตรนี้ท่านมิได้ห้ามมิให้เชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยมีปัญญาประกอบด้วย มิฉะนั้นความเชื่อต่างๆ จะไม่พ้น “ความงมงาย” และไม่พึงแปลความเลยเถิดไป ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่า เป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้ดีก่อน

3. พระเนตรมองต่ำ

พระพุทธรูปที่สร้างโดยทั่วไปจะมีพระเนตรมองลงที่พระวรกายของพระองค์ อย่างในพระอุโบสถของวัดทั่วไป จะนั่งมองดูพระวรกาย ไม่ได้มองดูหน้าต่างหรือมองดูประตูพระอุโบสถว่าจะมีใครเข้ามาไหว้บ้าง นี้เป็นปริศนาธรรม สอนให้มองตนเองพิจารณาตนเอง ตักเตือนแก้ไขตนเองไม่ใช่คอยจับผิดผู้อื่น ซึ่งตามปกติของคนแล้วมักจะมองเห็นความผิดพลาดของบุคคลอื่น แต่ลืมมองของตนเองทำให้สูญเสียเวลาและโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง ใครเล่าจะตักเตือนตัวเราได้ดีกว่าตัวเราเองจึงมีพุทธพจน์ตรัสให้เตือนตนเองว่า

“อตฺตนา โจทยตฺตาน” จงเตือนตนด้วยตนเอง
จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนเตือนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนรีบเตือนตนให้พ้นภัย

ทั้ง 3 ประการนั้นเป็นการสอนโดยใช้ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูปเป็นสื่อการสอนใจตนเอง ดังนั้น ชาวพุทธเมื่อมีปัญหาอะไร คิดไม่ตก แก้ไขไม่ได้ ก็เข้าวัดเสียบ้าง นั่งประนมมือตรงหน้าพระพุทธรูป หรือถ้าที่บ้านมีพระพุทธรูป ก็นั่งประนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป ที่บ้านนั่นแหละค่อยๆ เพ่งพินิจที่พระพักตร์ของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะกราบลง ให้มองที่องค์พระก่อน พระพุทธรูปทุกวัดทุกองค์ท่านจะพูดกับเราทุกคน สุภาษิตที่ว่า “สามคนยลตามช่อง สองหนึ่งจ้องเห็นโคลนตม หนึ่งคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย”

เห็นพระเศียรแหลม สอนใจตนว่าอย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์นะ ใจเย็นๆ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไม่มีอะไรแก้ไขไม่ได้ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลม เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา ที่พระองค์ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา

เห็นพระกรรณยาน ก็บอกตนเองว่า สุขุมเยือกเย็นมีเหตุผลเข้าไว้ อย่าปล่อยใจตามอารมณ์หรือหุนหันพลันแล่น เดี๋ยวจะผิดพลาดได้ ต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล

เห็นสายพระเนตรที่มองต่ำ ก็บอกตนเองว่า มองตนเองบ้างนะ อย่าไปมองคนอื่นมากนักเลย เดี๋ยวจะไม่สบายใจ และอาจมีปัญหาได้ การมองตนเองบ่อยๆ จะได้พิจารณาตนเอง ปรับปรุงตนเองและแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น จากนั้นก็ค่อยกราบ พระพุทธรูปด้วยสติปัญญาและจิตใจที่ชื่นบาน นี้เรียกว่ายิ่งกราบยิ่งฉลาด สมกับเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบานที่แท้จริง