ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



มองเห็น มองเป็น มองรอบ

เจริญพร อาทิตย์นี้อยากบอกขอบคุณธรรมะ ที่มีอยู่ในหน้าที่ของผู้มา บวชเนกขัมมจารินี สมาทานถือศีลสิกขาบท 8 ประการ อาทิตย์นี้นัดกันมามากมายเป็นที่อบอุ่นใจ วัดทุ่งเศรษฐี กับบรรยากาศบ้านหลังน้อย ๆ ได้รับเป็นธุระนำพาจิตของผู้มีบุญ สวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติธรรมปิดวาจา กำหนด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด สู่ความสุขสงบอย่างเต็มอิ่มจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนว่าจงเข้าถึงสุขอันเกษม แม้จะดูว่าบางเรื่องเป็นลำบาก แต่ให้นึกถึงคำสอนของพระองค์ในถ้อยกถาที่ว่า.......

"นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง" สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี.

หมายความว่า ความสุขอื่นที่มีเป็นความยินดีในโลกียวิสัย เช่น ความสุขในการดูละคร ในการมีคู่รักคู่ครอง หรือในการหลงยิ่งใหญ่อยู่กับลาภสักการะ ยินดีกับความสุข สรรเสริญ ความสุขในการต้องปั้นหน้าเข้าหาสังคม และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ก็สุขจริงอยู่ แต่ว่าสุขเหล่านี้กลับแฝงด้วยความทุกข์ซ่อนไว้ ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจาก ความสงบ เป็นความสุขที่ฉ่ำเย็น ไม่ซ่อนแฝงเจือปนด้วยความทุกข์ เป็นความสุขที่ทำได้ง่าย ๆ เกิดกับกายใจของเรานี่เอง อยู่ในที่เงียบ ๆ ปลีกวิเวกจากเรือน คนเดียวก็ทำได้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้ ถ้าเรารู้จักแยกใจหาสันติ กายนี้ก็เพียงสักว่าธาตุ แม้กายจะวุ่น แต่จิตก็ว่างจางคลายจากเครื่องเศร้าหมอง

สามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนฝึกให้ชำนาญ

1. สอนให้ "มองเห็น" คุณค่าความอดทน ควบคุบกาย วาจา ด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ระวังกาย วาจา เว้นจากกายทุจริต 3 เว้นจากวจีทุจริต 4 เป็นเหตุให้เกิดสันติสุข "ศีลสิกขา">

2. สอนให้ "มองเป็น" คือปักธงตั้งเป้าหมายไว้ในใจ เกิดสันติสุขทางใจด้วยสมาธิ ความตั้งใจมั่น เว้นจากมโนทุจริต 3 พยายามถอนจิตจากความโกรธ ความโลภ ความหลง ความกลัว ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความลังเลใจ ทำให้ใจไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาดเมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ เป็นเหตุให้ใจสงบ "สมาธิสิกขา"

3. สอนให้ "มองรอบ" ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ (ความเห็น) ด้วยปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอน เป็น "อนิจจัง" เป็น "ทุกข์" ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอนขอร้อง หรือเร่งรัดให้เป็นไปตามความประสงค์ ท่านเรียกว่า "อนัตตา" เป็นความรอบรู้ในกองสังขาร เมื่อเรารู้เห็นตามเป็นจริงเช่นนี้ จะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งมั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ทั้งหลาย เพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญา "ปัญญาสิกขา"

การอยู่ประพฤติธรรมร่วมกันมากผู้หลายคน อันดับแรกก็ต้องเข้าใจและยอมรับความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ร่วมวัตรร่วมธรรมกันเนื่องจากว่า วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด บ้านหลังน้อยที่เป็นศูนย์รวมใจของเราทั้งหลายว่า มีห้องปฏิบัติจำกัดเฉพาะ เป็นทั้งห้องสวดมนต์ ห้องสนทนาธรรม ห้องเดินจรงกรม ห้องนั่งสมาธิ ห้องรับสังฆทาน ฯลฯ "ห้องเดียวกันจ๊ะโยม"

ตอนนี้ก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะขยายห้องสวดมนต์ โดยกำลังเสนอขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มเติม โดยใช้ชื่อว่า Extension room "สร้างศาลาปฏิบัติธรรม" ผู้มีจิตศรัทธาท่านใดจะเป็นเจ้าภาพร่วมสร้าง จะบรรเทาปัญหาลงได้มาก ตอนนี้กำลังให้ช่างเขียนแบบเสนอซิตี้ โดยช่างออกแบบก่อสร้างได้คำนวน ค่าใช้จ่ายออกมาแล้วประมาณ 1 แสนกว่าเหรียญ แต่งยังไม่ทราบว่าจะอนุมัติตอนไหน

ขณะนี้มีหลาย ๆ คน เข้ามารวมกันทำศาสนกิจของตน ๆ นั้นต้องใช้ห้องน้ำรวมกัน ห้องอาบน้ำรวมกัน ห้องครัวปรุงอาหารรวมกัน นอกจากนี้ทุกคนที่มาถือบวชยังช่วยกันทำความสะอาดห้องครัว เก็บล้างชัดถ้วยจานชามจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ และต้องช่วยกันล้างขัดห้องน้ำ ห้องส้วม ดูดฝุ่น เป็นต้นฯ

เรื่องนี้ต้องกล่าวชื่นชมมาก ๆ อีกอย่างช่วงนี้อากาศกลับมาร้อนอบเอ้ามาก ๆ นอกบ้านเป็น 100F องศาเลย ยิ่งร้อนไปใหญ่ที่กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ต้องมานั่งทานข้าวภายใต้ร่มเงาของเต็นท์ แต่กลับเห็นความสุขและความมุ่งมั่นของทุกคน น่าอนุโมทนาแท้ อาตมาก็ได้เฝ้าแต่ภาวนาว่าตลอดเจ็ดวันที่โยมมาถือบวชอยู่นี้ ขอให้เทวดามาเป็นเมฆบดบังให้อากาศเย็นลงบ้าง บรรยากาศของการปฏิบัติธรรมก็จะสัปปายะขึ้น ธัมมะ จารี สุขัง เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข สาธุ

ดังนั้นเป็นธรรมดา เวลาที่เคยลุกเคยตื่น เวลาที่เคยสวดมนต์ ก็อาจย้ายเลื่อนเคลื่อนที่ไปตามเหตุปัจจัย ตารางปฏิบัติธรรมประจำวัน เวลา ๐๕.๐๐ – ๐๖.๓๐ น.ตื่นนอน/ทำกิจส่วนตัว/ล้างหน้า/ ชำระฟัน/เข้าห้องสวดมนต์/ทำวัตรเช้า/เจริญจิตภาวนา เวลา ๐๖.๓๐ – ๐๗.๓๐ น. ฉันภัตตาหารเช้า/ทานอาหารเช้า เป็นต้นนั้นต้องผ่อนผันไปตามเหตุอันควรด้วยห้องอาบน้ำมีจำเพาะ อุปมาเป็นธรรมะ เช่น ผู้นำสวดมนต์ ถ้าผู้ร่วมสวดยังมาไม่พร้อมกัน ยังเข้าห้องน้ำทำกิจส่วนตัวไม่เรียบร้อย ผู้นำสวดมนต์จะนำใคร เรือไม่มีน้ำโอบอุ้มหนุนเนื่องเรือจะลอยไปได้อย่างไร หรือไม่ก็เรือใบถ้าลมไม่ส่งจะเล่นไปได้อย่างไร กระสวยอวกาศ (Space shuttle) สร้างเพื่อนำผู้โดยสารไปเที่ยวนอกโลก หากไม่มีใครใช้บริการ จะมีประโยชน์อันใด เฉกเช่นเดียวกับศาสนาหรือคำสั่งสอนนั้นๆ หากไม่มีผู้ใคร่ศึกษาจะเกิดองค์ความรู้ได้อย่างใด แต่ทุกคนที่มากลับมีความประทับใจในความ ลำบากนั้นๆ ว่าเป็นการฝึกตน สาธุๆ


ปัญญาวุฒิคุณธรรมของความเป็นผู้นำ

ปัญญาวุฒิธรรมะที่ไม่เคยล้าสมัยเลย เข้ากันอย่างเหมาะสมกับ ความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ความเป็นครู เป็นพระ วุฒิ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ ธรรมเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ มี 4 อย่าง คือ

1. สัปปุริสสังเสวะ - คบหาสมาคมกับคนดี ด้วยการร่วมหลักคิด หลักธรรม ร่วมกิจกรรม ร่วมผลประโยชน์กับท่าน เป็นต้น

2. สัทธัมมัสสวนะ - ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ หมายรวมถึง การเกี่ยวข้องกับท่านด้วยการพบปะสนทนา การเข้าร่วมกิจกรรม ได้รับการแนะนำ สั่งสอนจากท่าน ให้ทำด้วยความเคารพ พยายาม หาประโยชน์จากกุศลเจตนาของท่าน

3. โยนิโสมนสิการ - พยายามทำใจโดยอุบายวิธีที่แยบคาย คิดได้ คิดดี คิดเป็น คิดชอบ ประกอบด้วยเหตุผลในการ คิดหาประโยชน์จากทุกอย่างที่ตนสัมผัส

4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ - ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม มองเห็นผลประโยชน์ต่อเนื่องกันชัดเจน ตัวอย่างพระพุทธดำรัสที่ตรัสส่งพระอรหันตสาวกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในคราวแรก มีวัตถุประสงค์คือ การทำงานเพื่อคนเป็นอันมาก น้ำใจต่อคนทำต้องมุ่งอนุเคราะห์ต่อเขา กระบวนการในการแสดงธรรมคือ แสดงอะไร แสดงแก่ใคร แสดงที่ไหน แสดงอย่างไร มีอะไรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่สอดรับกับคนฟังกลุ่มนั้น คนนั้นแสดงอะไรจบแล้วเขาควรจะได้รับประโยชน์อะไร เป็นต้น และนั่นคือการทำความดีถูกที่ การทำความดีถูกคน การทำความดีถูกดี การทำความดีพอดี การทำความดีถึงดี ช่วยให้เขาทำดีแล้วจึงได้ดี


อีกประการหนึ่ง วุฒิ คือ ความเป็นผู้ใหญ่ 3 อย่างที่นิยมพูดกันในภาษาไทยนั้น มาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและฎีกา ได้แก่

1. ชาติวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยชาติ คือเกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง

2. วัยวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยวัย คือเกิดก่อน

3. คุณวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยคุณความดีหรือโดยคุณพิเศษที่ได้บรรลุ (ผลสำเร็จที่ดีงาม)

(อนึ่งในคัมภีร์ท่านมิได้กล่าวถึงภาวะแต่กล่าวถึงบุคคล คือไม่กล่าวถึงวุฒิ แต่กล่าวถึง วุฑฒะ หรือวุฒ เป็นชาติวุฒ วัยวุฒ คุณวุฒ; นอกจากนั้น ในอรรถกถาแห่งสุตตนิบาต ท่านแบ่งเป็น 4, โดยเพิ่มปัญญาวุฒิ ผู้ใหญ่โดยปัญญาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง และเรียงลำดับตามความสำคัญในทางธรรม เมื่อเปลี่ยนวุฒ เป็น วุฒิ จะได้ดังนี้ 1. วัยวุฒิ 2. คุณวุฒิ 3. ชาติวุฒิ 4. ปัญญาวุฒิ)

วัยวุฒิ แท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงวัย แต่เป็นผู้ที่เข้าใจชีวิต สร้างสมดุลย์ของชีวิตได้ รู้จักแบ่งปัน เห็นถึงความต้องการของผู้อื่น มีหนทางที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคของตนโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร สามารถทำให้คนรอบข้างมีความสุข มีความถ่อมตนและให้เกียรติผู้อื่น ทำความดีอย่างไม่ต้องการคำชม มีหลักของศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต มีครอบครัวที่เป็นแบบอย่างกับผู้อื่นได้ ไม่เสแสร้ง อวดเก่ง ตัดสินผู้อื่นตามมาตรฐานของตน

วัยวุฒิ ซึ่งได้แก่อายุและความอาวุโส เช่น ดำรงตำแหน่งงานมาเป็นเวลานานกว่าบุคคลอื่น โดยเฉพาะในหน้าที่การงานนั้น ต้องเป็นตัวอย่างของผู้มีความรู้สมวัยด้วย วัยวุฒิและความอาวุโส เช่น มีความสามารถ มีความรู้ มีความชำนาญ เป็นต้นแบบทางพฤติการณ์ต่างของผู้ใหม่ ๆ เป็นที่สักการะ ยอมรับนับถือได้ ส่งผลไปถึงความเชื่อมั่น ไว้เนื้อเชื่อใจในแง่ความอาวุโสที่ซื่อสัตว์สุจริต ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการยอมรับของคนในสังคม

คุณวุฒิ หมายถึงความรู้ซึ่งเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษา ผนวกกับประสบการณ์จากการทำงานโดยเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เรียกว่าผ่านงานมามาก ดังนั้น ถ้าหากมีระดับการศึกษาสูง มีประสบการณ์มาก และมีระยะเวลาของการทำงานนาน ที่เรียกว่าอาวุโส ก็จะกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคลนั้น คือมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ และยิ่งสูงก็ต้องยิ่งมองให้รอบด้วย ไม่ด่วนไวใจเร็ว เป็นต้นฯ"

ชาติวุฒิ ซึ่งได้แก่สถานภาพโดยกำเนิด เป็นต้นว่า สืบเชื้อสายตระกูลเก่าแก่ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม เคยทำคุณงามความดีให้แก่ชาติบ้านเมือง บางครั้งได้รับการยอมรับเพราะเป็นที่รู้จักมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตามการเกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูงยิ่งต้องมีคุณธรรมอย่างสูง มีจริยาวัตรงดงาม

ปัญญาวุฒิ อาวุธคือปัญญา ในบาลีเรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา วุฒิ ความเจริญ, ความงอกงาม, ความเป็นผู้ใหญ่; ต้องรู้มองเห็น รู้มองเป็น รู้มองรอบนั้นเอง เพราะแท้จริงโลกนี้เป็นที่อาศัยของตัณหาอย่างนั้นหรือ ชีวิตและวัยเหมือนสายน้ำ ไหลไปแล้วไม่หวนกลับ หมายความว่า ไม่กลับไปเป็นเด็ก หรือไม่หนุ่มไม่สาวคือเก่าคือหลังแล้ว มีแต่สิเฒ่าไปหน้า ชาติ ชรา มรณะ เป็นสมบัติวางไว้ไห้ทุก ๆ คนได้พานพบ "เส้นชัยของเรา คือ ความแก่และความตาย" ตัวอย่างมีให้เห็นมากมี ...."เกิดในที่ ที่ดี นั้นดีแน่ เกิดในที่ ที่แย่ ก็ดีได้ เกิดที่ดี แล้วแย่ มีถมไป เกิดที่ไหน ก็ดีได้ ถ้าใฝ่ดี"..... ด้วยความสุจริตและปรารถนาดี ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ขอจำเริญพร