ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ก้าวสู่ปีระกามหามงคล เตรียมต้นทุนอะไรไว้ใช้ตลอดปี

วันนี้ก็ยังนับอยู่ในห้วงแห่งวันขึ้นปีใหม่ ก่อนหน้าผ่านมาราว ๆ 10 ปี 20 ปี ทั่วโลกยังส่งการ์ดอวยพรกันดาษดื่น มาทุกวันนี้มีน้อยเต็มที เนื่องจากโลกโซเชียลออนไลน์ มีบทบาทต่อสังคมเอามาก ๆ โลกก้าวหน้าไปอย่างกว้างไกล ทำให้ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลง ศีลธรรมของมนุษย์ควรจะให้แซกซ้อนในวิถีชนในบทบาทสำคัญ ๆ ส่วนไหน เวลาใดดีหนอ

วิธีการดำรงชีพให้รอดปลอดภัย ตามแนวคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นธรรมะสมสมัยมาตลอดทุกเมื่อ ขอเชิญญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่นับถือทุกท่าน มาร่วมศึกษาสืบสาน ตำหรับวิธีการนั้นไว้เป็นต้นแบบสู่ลูกสู่หลาน ให้เป็นแนวทางให้เกิดสัมมาปฏิบัติกันเถิด และสามารถติดตามอ่าน ธรรมะสมสมัยและข่าวอื่น ๆ ย้อนหลังได้ที่ www.thailanewspaper.com


เตรียมกำลังไว้ 5 อย่าง

พละ 5 หรือ กำลัง 5 ประการ ได้แก่

1. ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังการควบคุมความสงสัย (เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ เชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ที่สุดคือเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่ามีอยู่จริง)

2. วิริยะพละ ความเพียร กำลังการควบคุมความเกียจคร้าน สัมมัปปธาน คือ การมุ่งมั่นทำความชอบ มี 4 ประการ เพียรระวัง เพียรละ เพียรรักษา เพียรเจริญ

(1) เพียรระงับการกระทำอกุศล ไม่ให้เกิดขึ้น เรียก สังวรปทาน

(2) เพียรละเลิกอกุศลที่กำลังกระทำอยู่ เรียก ปหานปทาน

(3) เพียรรักษา กุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เรียก อนุรักขนาปทาน

(4) เพียรฝึกฝนบำรุงกุศลธรรม ให้เจริญยิ่งขึ้น เรียก ภาวนาปทาน

3. สติพละ ความระลึกได้ กำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ

4. สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังการควบคุมการวอกแวกเขว่ไขว่ ฟุ้งซ่าน

5. ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ ไม่มุ่งสู่ความหลงงมงาย

พละเป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือน ความแตกต่าง และความเกี่ยวเนื่องคือ พละ 5 เป็นธรรมที่กำจัดแก้อกุศลนิวรณ์ อินทรีย์เป็นธรรมเสริมสร้างกุศลอิทธิบาท


พละ 5 กับ นิวรณ์ 5

พละทั้ง 5 ประการนี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้ ศรัทธาต้องปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าพละ 5 ไม่สมดุล จะเกิดนิวรณ์ทั้ง 5 เข้าโจมตีทุกด้าน ซึ่งอันตรายมาก เพราะนิวรณ์

เป็นข้าศึกหรืออุปสรรค หรือที่เรียกกันว่าพญามารเข้าสิงสู่ ยังให้เป็นตามบัญชาของกิเลสฝ่ายต่ำ ดังนั้นปีระกาจะเป็นปีที่เข้มแข็ง เป็นปีมหามงคลได้ต้องเตรียมต้นทุ้นทางธรรมไว้


ข้อสังเกต :-

ศรัทธาพละมากกว่าปัญญาพละ จะทำให้มีโมหะได้ง่าย จนเกิดราคะ โทสะได้ง่าย ทำให้อาจเกิดกามฉันทะนิวรณ์หรือพยาบาทนิวรณ์

วิริยะพละมากกว่าสมาธิพละ จะเกิดอุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ

สมาธิพละมากกว่าวิริยะพละ จะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์ ควางง่วงและท้อแท้ เกียจคร้าน

ปัญญาพละมากกว่าศรัทธาพละ จะเกิดวิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัย


พละ 5 กับสติปัฏฐาน 4

ตามหลักปฏิบัติสติปัฏฐานท่านว่าเป็นเหตุให้เกิด พละ 5 ตามอารมณ์ของสติปัฏฐานที่ได้เจริญ

ศรัทธาพละ เกิดจากการกำหนดสัมปชัญญะหรืออิริยาบถย่อย เช่น กิน ดื่ม ชำระ การเคลื่อนไหวระหว่างเปลี่ยนอิริยาบถ

ปัญญาพละ เกิดจากการกำหนดขณิกสมาธิหรืออารมณ์แทรก คืออารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้ง 6 เช่น อาการ สุข ทุกข์ เฉย นึก คิด เห็น ยิน กลิ่น รส คัน ปวด เมื่อย ร้อน เย็น เป็นต้นฯ

วิริยะพละ เกิดจากการกำหนดการเดินจงกรม

สมาธิพละ เกิดจากการกำหนดในอานาปานสติ


อินทรีย์ 5 คือ ความสามารถหลักทางจิต 5 ประการ ได้แก่

1. สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยธรรม 7

2. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปธาน 4

3. สตินทรีย์ คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน 4

4. สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในฌานทั้ง 4

5. ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยสัจ 4


อินทรีย์ 5 เป็นหลักธรรมที่คู่กับ พละ 5

1. สัทธินทรีย์ เปรียบเสมือน การหาภาชนะดี ๆ มาใส่น้ำ เช่นการตั้งโสตประสาทการเงียหูฟัง การตั้งรับในสิ่งที่สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

2. วิริยินทรีย์ เปรียบเสมือน การเติมน้ำสะอาดแทนน้ำสกปรกเสมอ การปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตน การอบรมบมเพาะ

3. สตินทรีย์ เปรียบเสมือน การระวังไม่ให้สิ่งใดหล่นใส่ในน้ำ ความระวังป้องกันอย่างเข้มงวดกวดขัน

4. สมาธินทรีย์ เปรียบเสมือน การถือภาชนะใส่น้ำไว้นิ่ง ๆ และไม่ให้สิ่งใดมากระทบ กระเทือน ให้หวั่นไหว ความมั่นคงของสมาธิจิต อำนาจทางจิต

5. ปัญญินทรีย์ เปรียบเสมือน การเห็นนำสิ่งสกปรกออกจากน้ำ การคัดกรอง กลั่นกรอง อย่างแยบคาย ปัญญาอย่างลึกซึ้งละเอียดอ่อน


อินทรีย์ 5 กับ อิทธิบาท 4

อินทรีย์ 5 เป็นธรรมที่ส่งเสริมธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งกุศลคืออิทธิบาท 4

1. สัทธินทรีย์ (ความเชื่อ) ส่งเสริม ฉันทะอิทธิบาท ความยินดีพอใจ

2. วิริยินทรีย์ (ความเพียร) ส่งเสริม วิริยะอิทธิบาท ความเพียร แข็งใจปฏิบัติ

3. สมาธินทรีย์ (ความมีจิตมั่นคง) ส่งเสริม จิตตะอิทธิบาท ความตั้งใจ

4. ปัญญินทรีย์ (ความรู้พร้อม) ส่งเสริม วิมังสาอิทธิบาท ความเอาใจฝักใฝ่สิ่งนั้น พิจารณาใคร่ครวญ อิทธิบาททั้ง 4 ก็จะมาส่งเสริมกำลังที่ 5 คือ สตินทรีย์ (ความระลึกได้) เป็นธรรมที่โอบอุ้มธรรมทุกอย่างให้ตั้งมั่น จึงเรียกสตินี้ว่า ธรรมมีอุปการมาก

ท่านทั้งหลาย เรื่องการเรียบเรียงอธิบายธรรมะเป็นขั้นตอน ครูบาอาจารย์ทุก ๆ ท่านก็เข้าใจละเอียดละอออยู่นะ ดังนั้นการที่มีศิษยานุศิษย์ฝากข่าวมาทางคอลัมน์นั้นก็พยายามอยู่นะ และตั้งใจเอามาก ๆ ที่จะกล่าวถึง แต่บางครั้งมันต่างมุมมองกันบ้าง

คือธรรมชาติผู้ครองเรือนก็ย่อมมีเหตุผลเสมอว่าหลวงพ่อมีคนนี้ชอบ คนนั้นช่าง คนโน้นไม่ใช่คนสำคัญ บางทีนะลูกเอ้ย..กับเรื่องให้กล่าวถึงคนนั้นคนนี้ ลูกหลาน เอ้ย...! มันไม่ยากเลย ตั้งสติกันนะลูก ธรรมะนี่แหละเป็นคำอวยพรแด่ทุก ๆ คน ทุก ๆ ร้าน เป็นกลาง ๆ เป็นความจริงทุกสมัย มิฉะนั้นจะตั้งว่าธรรมะสมสมัยเหรอลูก สามารถติดตามหลวงพ่อได้ที่ Facebook ID : Wat Thongsethi CA สาธุ

ในรอบสัปดาห์นี้นี่ก็หมดพื้นที่แล้ว คงต้องพบกันใหม่ฉบับหน้า ปีระกามหามงคลหลายท่านส่งความสุขส่งความปรารถนาดีให้กันละกัน สวัสดีปีใหม่ พุทธศักราช 2560

ในนามวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ขออนุโมทนากับทุกคนทุกท่าน ที่รวมสายบุญเลี้ยงอาหารโรงทานไปวัดลาวรัตนะมงคลก็ดี ที่อื่น ๆ นอกเหนือที่กล่าวมาก็ดี โดยเฉพาะที่วัดทุ่งเศรษฐี มีทุกวันอาทิตย์ ด้วยคติว่า ทานคือบารมีอัน ยิ่งใหญ่ที่แฝงไว้ด้วยบารมีทั้งหมดทั้งมวล ให้ทานอย่างเดียว เกิดบุญกิริยาวัตถุครบถ้วน 10 ประการ

ขอผลาอานิสงส์ในทุกคราวครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งนี้ ปีระกามหามงคล ขอให้ทุกคนทุกท่าน จงงอกงาม เจริญ ไพบูลย์ สิริสวัสพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ