ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สิ่งที่เราควรได้ ในภาวะของการสูญเสีย

อาทิตย์ที่ผ่านมามีญาติโยมมา จัดพิธีสวดบังสุกุลบำเพ็ญกุศลให้กับผู้วายชนม์ งานพิธีแบบนี้นั้นเป็นงานที่เกิดขึ้นแบบฉุกละหุก เกิดขึ้นทันที่ทันใด เกิดกับครอบครัวใดก็ได้ วิถีของชาวพุทธเรานั้น วัดยังคงเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณโดยความหมาย เพราะเป็นทั้งที่พึ่งแรก และตลอดถึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชีวิต "หลวงพ่อ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัว "จันทรนิมะ" ที่ต้องสูญเสียคุณแม่นวลศรี จันทรนิมะ ท่านชาตะ 22 ธันวาคม 1938 มตะ 7 ตุลาคม 2016 สิริอายุได้ 78 ปี"

สิ่งที่เราควรได้ ในภาวะของการสูญเสีย เราทั้งหลายจงมองให้ผ่านสมมุติให้ได้ เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจเป็นทุกข์ สวดพระอภิธรรมมาถึงวันที่ 13 ตุลาคม ครบ 3 วันที่บำเพ็ญให้กับคุณแม่นวลศรี ทุกคนต่างอยู่ในภาวะการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวอยู่แล้ว กลับทวีความโศกาอาดูรเมื่อทุกคนในงานบำเพ็ญบุญทราบถึง ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่ฯ ภูมิพล พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงประชาราษฏร์ พวกเราได้ทราบข่าวเศร้า คืนนั้นจึงได้ปฏิบัติสมาธิภาวนา เป็นเวลา 9 นาที น้อมเกล้าส่งเสด็จดวงพระวิญญาณ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" สู่สวรรคาลัย ธ.สถิตในดวงใจนิรันดร์

อนิจจา วต สังขารา สิ่งที่เหตุปรุงขึ้นมา ไม่เที่ยงหนอ

อุปปาทวยธัมมิโน เกิดแล้วก็แปรไป เป็นธรรมดา

อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

เตสัง วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบความปรุงแต่งนั้น เป็นความสุข


....แม้ซ่อนกาย ในกลีบเมฆ กลางเวหา.... ....ซ่อนกายา กลางสมุทร สุดวิสัย....

....จะซ่อนตัว ในหุบเขา ลำเนาไพร... ....ณ ถิ่นใด พ้นตาย นั้นไม่มี....


เราต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต คำตอบก็คือ "ต้องการความสุขและความสำเร็จในชีวิต" ปัญญา และศรัทธา ในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึง ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ บุคคลที่ตระหนักถึงความรู้ ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และแรงกระตุ้นภายใน ตลอดจนสามารถ รอคอยการตอบสนอง ความต้องการของตนเองได้อย่างเหมาะสม ถูกกาลเทศะ สามารถให้กำลังใจตนเอง ในการที่จะเผชิญ ข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้อย่างไม่คับข้องใจ แม้สิ่งนั้นเราจะรู้แน่ชัดว่า เป็นการสูญเสีย เป็นความพลัดพราก เป็นการจากกันไปอย่างไม่มีวันหวนคืน แต่รู้จักขจัดความเครียด เข้าถึงสัจจภาวะ รู้ปลดปลงปล่อยวางได้อย่างชาญฉลาด

เพราะบางสิ่งที่สูญเสียไป กลับกลายได้สิ่งใหม่ที่สูงส่งมากคุณค่ามาแทนที่ ไม่ยอมให้อุปสรรคคือความพลัดพรากมาขัดขวางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันมีค่าของตนเองได้ สามารถทำงานกับผู้อื่น ทั้งในฐานะผู้นำหรือผู้ตามได้อย่างมีความสุข จนประสบความสำเร็จในการเรียน ความสำเร็จในอาชีพ ตลอดจนประสบความสำเร็จในชีวิต นี่แหละคือผู้มีปัญญาสามารถรู้ทันรู้เท่าต่อความจริง เข้า ใจธรรม เข้าใจโลก เข้าใจสมมุติ การสูญเสียสิ่งหนึ่งไป อย่าให้เราสูญเสียสิ่งทั้งหมดในชีวิต


องค์ประกอบของการต้อนรับความเปลี่ยนแปลง

1. เจริญสติกำหนดรู้อารมณ์ตนเอง สามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ของตนอย่างเท่าทันตามความเป็นจริง และสามารถควบคุมความรู้สึกของตนได้ เหนือกว่ารู้อารมณ์ตน คือพิจารณาความทยานอยากของตน ใช้ปัญญาไตร่ตรองทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ รู้ให้เท่าทันความเป็นจริง รู้หลักการ รู้เหตุผล รู้รอบด้านอย่างผู้รู้จริง

2. เจริญสติกำหนดรู้การควบคุมอารมณ์ของตน หมายถึง ความสามารถในการจัดการ กับอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด สามารถคลายเครียด สลัดความวิตกจริตรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ฉุนเฉียวง่าย ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวหายไปโดยเร็ว การควบคุมอารมณ์ การวางอุเบกขา เจริญอนุสสติ 10 การละโลภ โกรธ หลง (กิเลส เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง)

3. เจริญสติกำหนดรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หมายถึง การรับรู้อารมณ์และความต้องการของผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม เรารักของ ๆ เรา เช่นเดียวกัน เขาก็ย่อมรักของ ๆ เขา เราไม่ชอบที่มีใครสักคนหยิบฉวยของ ๆ เราไปโดยเรามิได้อนุญาต เช่นเดียวกันเราต้องคิดกับเขาอย่างเป็นธรรม การฝึกสมาธิช่วยได้ เจริญพรหมวิหาร 4 มีใจรักสงบชอบสันโดษ

4. เจริญสมาธิความตั้งใจมั่น ให้ความสำคัญกับตนเอง ให้กำลังใจตนเอง หมายถึง สามารถจูงใจตนเอง ควบคุมความต้องการจากแรงกระตุ้น ได้อย่างเหมาะสม สามารถรอคอยการสนองตอบความต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีกว่า มองโลกในแง่ดี สามารถจูงใจและให้กำลังใจตนเองได้ การเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ยังใช้ด้วยกันได้ ไปด้วยกันได้

5. ความลุ่มลึกมองโลกให้กว้าง มองอย่างผู้มีปัญญา มีมนุษย์สัมพันธ์ดีกับทุกคน ไม่ว่าจะกับผู้น้อย หรือกับผู้อาวุโสกว่า หมายถึง สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี การมีมนุษย์สัมพันธ์ดี ต้องรู้จักหลักสังคหวัตถุ 4 รู้หลักสัปปุริสธรรม 7 และรู้จักหลักที่จะปฏิบัติต่อบุคคลรอบด้าน ตามหลักทิศ 6 ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ จึงจะถือว่าเยี่ยมยุทธโดยแท้

6. ความลุ่มลึกกับวิธีใช้เมตตานุสสติ ใช้พระคุณมากกว่าพระเดช หมายถึง การใช้คุณธรรมชั้นสูงให้ทรงพลัง มากกว่าการที่จะใช้พลังเดชอำนาจ การมีโยนิโสมนสิการ อ่านว่า โย-นิ-โส-มะ-นะ-สิ-กาน) หมายถึง การทำในใจให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาท ให้เป็นพลังแห่งการหยั่งรู้ เป็นแนวคิดใหม่ ที่อิงความรู้สึก และจิตวิญญาณ อันเป็นต้นตอแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะด้วยสำนึกดีนั่นเอง

ศีล สมาธิ ปัญญา คือองค์รวมเครื่องมือการบริหารจิต การรู้เท่าทันจิต การพัฒนาจิต คือการพัฒนาผู้นำ และสังคมยุคใหม่ แห่งโลกข้อมูลข่าวสารจำเป็นมาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวแปรจำนวนมาก ซึ่ง "เกิดขึ้น - ดับไป อย่างรวดเร็ว" อิทธิพลส่วนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนความนิยม อดีตที่เราเคยเห็นกันมาว่า "ทุกงานบำเพ็ญกุศลศพต้องแฝงด้วยความโศกเศร้า แต่เดี๋ยวนี้ต้องเร้าใจด้วยดนตรี บางท้องทีนั้นว่าจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงแสงเสียง เล่นเป็นอึกทึก เป็นต้น" ศัพท์ทางปรัชญาว่า "เมื่อปรัชญาเปลี่ยน ความจริงก็เปลี่ยน" ซึ่งเป็นเนื้อแก่นของสังคมข้อมูลข่าวสาร เป็นอุปาทานทางสังคมตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหม่เช่นนี้ จะใช้การตัดสินใจ แบบเดิม ๆ ที่อาศัยตรรกะและการวิเคราะห์เชิงตัวเลข ที่เป็นสูตรตายตัว ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันการณ์ได้ แนวคิดหรือเครื่องมือใหม่ที่จะต่อสู้ ก็คือ :-

"อดีตเราพยายามเรียนรู้และสร้างเครื่องมือ จักร ยนต์ กลไกล หรือกระทั้งดิจิดอล ปัจจุบันกลับไม่ใช่แล้ว ปัจจุบันเราต้องมาเรียนรู้วิธีการควบคุมเครื่องมือ จักร ยนต์ กลไกล และดิจิดอล เพื่อมิให้ใช้โดยการลุแก่อำนาจและแสวงหาประโยชน์ด้วยอำนาจของโมหะอวิชชา นั่นหมายถึงการเรียนรู้วิธีการควบคุมจิตใจ สมาธิ และคุณธรรม"


คุณธรรมที่ควรใส่ใจ

สติ ความรู้เท่าทัน

ปัญญา ความรู้กันรู้แก้

ศรัทธา ความเชื่อมั่นแท้ในเหตุผล

สมาธิ ความหนักแน่นไม่กังวน

การปล่อยวาง ความเข้าใจแยบยลเรื่องอนัตตา

อริยสัจสี่ ความรู้จริงว่าสิ่งใช้ดับทุกข์

สังคหวัตถุ ความพันผูกมีน้ำใจให้ผู้อื่น

อิทธิบาทสี่ ความรู้ตื่นฝึกตนสัมฤทธิ์ผลในสิ่งหวัง

คุณธรรมเหล่านี้ที่กล่าวมา เป็นขุมพลังแห่งการหยั่งรู้ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการบริหารจิตและอารมณ์ การปฏิบัติสมาธิภาวนา สมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เชาวน์ปัญญา คือ สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นต้นทุนในการนำออกมาใช้ เป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ

นั่นแหละ....คือ สิ่งที่เราควรได้ ในภาวะของการสูญเสีย เราได้รู้อะไรเยอะแยะมากตามกฎแห่งไตรลักษณ์ ขอบคุณคุณแหม่มที่พาครอบครัวมาจัดงานบำเพ็ญกุศล อุทิศให้คุณแม่นวลศรี จันทรนิมะ ทำให้อาตมาได้ถ่ายทอดพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างข้างขึ้น บุญกุศลใดที่ คุณแม่นวลศรี จันทรนิมะ ได้สั่งสมสร้างทำมาแล้วก็ดี ที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้บำเพ็ญอุทิศให้แล้วนั้นก็ดี ขอให้เป็นสำเภาแก้ว สำเภาเงิน สำเภาทอง น้อมส่งดวงจิตดวงวิญญาณของคุณแม่นวลศรีสู่สุคติวิสัย มีโลกสวรรค์เป็นสมบัติ มีปราสาทเรือนแก้วมียอดเจ็ดชั้น ดารดาษ เกลื่อนกล่นระคนด้วยของหอมมากด้วย ทรัพย์สมบัติ และทิพยสมบัติ ในสัมปรายภพ เบื้องหน้าโน้นเทอญ

สุดท้ายแห่งธรรมบรรยาย ขอให้พสกนิกรทุกท่าน น้อมเกล้าส่งเสด็จดวงพระวิญญาณ ของพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระบรมโกศ สู่สวรรคาลัย ธ.สถิตในดวงใจนิรันดร์ อีกประการหนึ่งคือ ขอให้เราทุกคนทุกท่าน ได้เจริญตามรอยแห่งความดีที่พระองค์ท่านมุ่งมั่น คือการได้เห็นพสกนิกร ของพระองค์ "รู้รักสามัคคี" จากนี้และตลอดไป รูปขอจำเริญพร