ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ทิพยภัณฑ์ อุทิศพลีแด่ผู้วายชนม์

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ปรารภเหตุสืบเนื่องจากครอบครัว "บรรณปัญญา" ทำบุญ 50 วัน เมื่อวันพุธที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา บรรดาญาติสายโลหิตและญาติธรรม ประกอบด้วยคุณป้าแต๋ว, คุณแอ๊ด, คุณโด่ง, คุณเล็ก, คุณตู่, คุณหนิง, คุณสุรินทร์, พร้อมด้วยเพื่อน ๆ ที่เคารพนับถือ จัดตักบาตรที่ร้านกระเพา Kapow Thai Cuisine 4758 Lincoln Ave., Cypress, CA 90630 เพื่ออุทิศบุญให้ "คุณวินัย บรรณปัญญา" ครบรอบการเสียชีวิตได้ 50 วัน และอุทิศให้บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว มีคุณพ่อไชยนาม บรรณปัญญา เป็นต้นฯ พระสงฆ์วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด สวดมนต์/ฉันเพลฉลองศรัทธาด้วยความเพ่งเพียรพร้อมพรั่ง


ทิพยภัณฑ์ แด่ผู้วายชนม์

กาลดังกล่าวนั้น เจ้าภาพได้น้อมถวายสังฆทานสังภัณฑ์หลายสิ่งหลายประการ ท่านทั้งหลาย

"ทิพย์" เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า เป็นของเทวดา ในภาษาไทยใช้คำว่าทิพย์ หมายถึง ที่มีลักษณะพิเศษต่างกับลักษณะปรกติ เช่น

หูทิพย์ คือ หูที่สามารถได้ยินเสียงได้เป็นพิเศษ คือได้ยินไปไกล อยู่บนสวรรค์แต่สามารถได้ยินเสียงพูดของคนที่อยู่บนโลกได้ หรือได้ยินคำที่คนพูดอยู่ในใจ เป็นต้น

ตาทิพย์ คือ ตาที่สามารถได้เห็นสิ่งพิเศษเหนือกว่าปกติ หมายถึงดวงตาที่สามารถแลเห็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่อาจเห็นได้

อาหารทิพย์ คือ เป็นอาหารพิเศษที่มีรสอร่อยที่สุด และเพียงแต่นึกอยากกินก็จะได้รสอาหารนั้น เทวดาทั้งหลายมักจะอิ่มทิพย์ หมายความว่า ไม่ต้องกินอาหารอะไรก็จะรู้สึกเสมือนได้กินสิ่งที่ต้องการและอิ่มเอมอยู่ได้ตลอดเวลา

อาหารทิพย์ และทิพยภัณฑ์ แด่ผู้วายชนม์ คือ เป็นอาหารอุทิศให้ไปยังโลกของวิญญาณ ก็เหมือนกับอาหารของเทวดา ที่เรารู้สึกได้จากตัวเราว่า อิ่มและอบอุ่นด้วยบุญปลื้มด้วยธรรมนั่นเทียว


ความมุ่งหมายของคำว่าทิพยกัลปนาผล

กัลปนา เป็นคำกริยาหมายถึง เจาะจงให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น พระสงฆ์ หรือใครก็ได้ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ควรแก่การรับ อย่างเช่นเรื่องทานของคหบดี กับ ปฏิคาหก ถ้าเป็นคำนามหมายถึง ที่ดินหรือสิ่งอื่นเช่นอาคารซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัดหรือศาสนา

อีกความหมายหนึ่ง คือ ส่วนบุญที่ผู้ทําอุทิศให้แก่ผู้ตายวายชนม์ และในสารานุกรมประวัติ ศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ได้อธิบายคำว่า กัลปนา ไว้อย่างละเอียดดังนี้

คำว่า "กัลปนา" มาจากคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตว่า กปฺปนา แปลว่า อุทิศให้ เจาะจงให้ หรือยกให้ เดิมหมายถึง ส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตายโดยเชื่อว่าจะช่วยผู้ตายให้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาของผู้อุทิศให้ เรียกว่า กัลปนาบุญ หรือกัลปนาผล ต่อมาความหมายขยายกว้างออกไปกว่าเดิมคือหมายถึง ที่ดิน เรือกสวน ไร่นา สิ่งของ และคนที่ผู้เป็นเจ้าของหรือเจ้านายอุทิศให้แก่ศาสนาด้วย

เช่น กัลปนาที่ หรือ ที่กัลปนา คือ ที่ดินที่ผู้เป็นเจ้าของอุทิศเฉพาะผลประโยชน์ให้แก่ศาสนาหรือเพื่อบำรุงศาสนสถาน แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดินนั้นอยู่

กัลปนาสัตว์ หรือกัลปนาสิ่งของ คือ สัตว์หรือสิ่งของที่มีผู้ถวายแก่ศาสนา

กัลปนาคน คือ คนที่ผู้เป็นเจ้านายยกให้แก่ศาสนาเพื่อปรนนิบัติพระสงฆ์ หรือดูแลรักษา ศาสนสถาน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า ข้าพระโยมสงฆ์ (ข้าพระพุทธเจ้า) และถ้ายกให้แก่ศาสนาพราหมณ์ก็จะเรียกว่า ข้าพระนารายณ์ หรือข้าพระอิศวร คนที่กัลปนาเป็นข้าพระแล้ว จะได้รับยกเว้นการเกณฑ์ไปรบและเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำงานให้หลวง การเสียภาษีอากร เป็นต้น


คำอ่านกัลปนาที่ถูกต้อง

(อ่านว่า กัน-ละ-ปะ-นา) แปลว่า เจาะจงให้ เป็นคำศัพท์ภาษาบาลี นำมาใช้ในภาษาไทย ในปริบททางพุทธศาสนา ทิพยกัลปนาผล จึงใช้ในความหมาย 2 อย่าง

1. คือ หมายถึงส่วนบุญที่ผู้ทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตาย เรียกว่าอุทิศกัลปนาไปให้

2. คือ การมอบทรัพย์สิน หรือที่ดิน หรือข้าวของเครื่องใช้อันจำเป็น หรือการมอบคน ให้ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหรือทะนุบำรุงวัดด้วยนัยยะของการทำบุญ ดังปรากฏคำอธิษฐาน ว่า

"ข้าพเจ้าขออุทิศกัลปนานี้ไปให้บิดา เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย" ความหมายแรก

"ปีนี้ที่กัลปนาของวัดเราได้ผลตอบแทนไม่มากเพราะฝนแล้ง" ความหมายหลัง

ดังนั้น ชีวิตจึงไม่ได้จบสิ้นสุดที่ลมหายใจเฮือกสุดท้าย แต่ทุกสรรพชีวิตตราบใดยังไม่ได้หมดสิ้นอาสวะกิเลสบรรลุมรรคผลนิพพาน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จิตดวงเดิมนี้ยังคงต้อง เดินทางไปสู่ภพภูมิในสองภพภูมิคือสุคติภูมิ และหรือทุคติภูมิ

สุคติภูมิ 3 หมายถึง

1) มนุษยภูมิ มีเพียบพร้อมในมนุษยสมบัติ

2) สวรรค์ภูมิ มีเพียบพร้อมในสวรรค์สมบัติ

3) โลกุตตรภูมิ มีเพียบพร้อมในอริยะสมบัติ

ทุคติภูมิ 4 หมายถึง นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน

1) ติรัจฉานภูมิ ภูมิของสัตว์ดิรัจฉาน จำแนกได้ 4 อย่าง

1. อปทติรัจฉาน เดรัจฉานที่ไม่มีขาเลย เช่น งู ปลา ไส้เดือน เป็นต้น

2. ทวิปทติรัจฉาน เดรัจฉานที่มี 2 ขา เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น

3. จตุปทติรัจฉาน เดรัจฉานที่มี 4 ขา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น

4. พหุปทติรัจฉาน เดรัจฉานที่มีขามากกว่า 4 ขาขึ้นไป เช่น ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น

สำหรับการเกิดเป็นสัตว์ใน ทุคติภูมิ 4 นั้น เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ให้ผล ซึ่งอกุศลกรรมที่ทำนั้น ก็มีระดับกำลังของอกุศลกรรมที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน

นรกภูมิ เป็นภพภูมิที่เกิดจากอกุศลกรรมที่มีกำลังบาปมากกว่า สัตว์เดรัจฉาน เรียงต่อมา ก็คือ เปรต และต่อด้วยอสุรกาย ดังนั้นเมื่อเรียงตามความหนักเบาของอกุศลกรรม และความหนักเบาของภพภูมินั้น ก็เป็นดังนี้ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน


โลกของจิตวิญญาณหลังความตาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงชีวิตหลังความตายไว้ดังนี้ "จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา" แปลว่า เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป "จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา" แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป


มีบุญเหมือนมีทรัพย์อันล้ำค่า

"ปุญญานิ ปรโลกัสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินัง" บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลกหากในวันมีชีวิตอยู่หมั่นขยันทำมาหากิน รู้จักอดออม รู้จักใช้ทรัพย์ ย่อมไม่ต้องรอคอยให้ผู้คนหยิบยื่นทรัพย์ให้ เพราะตนก็สามารถมีทรัพย์ด้วยน้ำพักน้ำแรงได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าหากเกียจคร้านไม่ทำงาน ผลาญใช้แต่ทรัพย์ คงไม่มีใครกล้าให้ความช่วยเหลือได้ตลอด

ฉันใดก็ฉันนั้น หากในวันมีชีวิตอยู่ หมั่นสร้างบุญกุศลด้วยตนเอง บุญย่อมเป็นที่พึ่งทั้งโลกนี้และโลกหน้าได้ แต่ถ้าหากใช้ชีวิตด้วยประมาทมัวเมาเผาผลาญทรัพย์และวันเวลา ไปกับอบายมุข เพิกเฉยที่จะทำความดี เมื่อละโลกไปย่อมไม่มีบุญกุศลติดตัว จำต้องรอคอยบุญกุศลจากหมู่ญาติด้วยความหวัง การอุทิศบุญจึงเป็นลักษณะการส่งมอบของอันเป็นทิพยภัณฑ์ แด่ผู้วายชนม์ ดังกล่าวแล้ว

"บุญเดิมเสริมส่งให้   ได้ดี
บุญยิ่งทำยิ่งทวี   เพริดพริ้ง
บุญยิ่งทำก็ยิ่งมี   ความสุข
บุญติดตามไม่ทิ้ง   ดุจเค้าเงาตนฯ"


การทำบุญอุทิศกุศลสู่ผู้วายชนม์เนื่องในวาระทำบุญครบ 7 วัน ทำบุญวาระ 50 วัน และทำบุญวาระ 100 วัน จึงมีความสำคัญมากต่อบุคคลที่เรารักและเคารพ เพราะจะเป็นกำลังเสบียงบุญให้ดวงจิตผู้วายชนม์สามารถเดินทางไปยังภพภูมิสุคติที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป บัณฑิตย่อมกล่าวยกย่องเชิดชูและชื่นชมว่า เป็นสิ่งที่ชอบธรรม ถูกต้อง ดีงาม เป็นสิ่งอันควรแล้วแลฯ รูปขอจำเริญพร