ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การรักษาดูแลพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ "ใคร"

วันนี้เกือบจะไม่มีบทความฝากท่านผู้อ่าน ปัญหาเรื่องคอมพิวเตอร์ เปิดๆ ไว้ ไหนเลยเกิดการ อัฟเดทอัตโนมัติขึ้นมา และเปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ยากขึ้น แหมๆ ชั่งไม่รู้กาละเลยจริงๆ แต่นั่นเป็นเหตุปัจจัยธรรมชาติ คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนกับสิ่งภายนอกไปทุกสิ่งอัน พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของพุทธบริษัท 4 เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ดังนั้น ศึกษาหาความรู้ทางธรรมและทางโลก เผยแผ่พระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

1. ด้วยการพูดและการเขียน พุทธศาสนิกชนสามารถใช้วาทศิลป์ หรือความสามารถในการเขียนบทความ เอกสาร ตำราต่างๆ ชี้แจง ขยายความรู้ความเข้าใจถึงหลักการที่สำคัญและเป็นสากลของพระพุทธศาสนา โดยไม่ก้าวก่ายพาดพิงไปในเชิงดูหมิ่นศาสนาอื่น การแสดงข้อเท็จจริงทางศาสนาจะต้องใช้ความรอบคอบ หลีกเลี่ยงต่อการไปกระทบกระเทือนศาสนาอื่น

2. ใช้หลักการประชาสัมพันธ์ ในสมัยปัจจุบันนี้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสามารถกระทำได้กว้างขวางขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และหลักการทางด้านนิเทศศาสตร์เข้าช่วย โดยผลิตออกมาในลักษณะตลับเทปบันทึกเสียง การแสดงธรรมเทศนา การบรรยายธรรม บันทึกภาพเป็นวิดีทัศน์ เอกสารพิมพ์สี่สี ภาพทางพระพุทธศาสนา เผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่างๆ หรือจัดเป็นกิจกรรมทางประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ เป็นต้น

3. ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี พุทธศาสนิกชนควรทำตัวเป็นอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ บุคคลผู้ประสบความสำเร็จระดับสูง ผู้บริหารประเทศ และผู้มีชื่อเสียงต่างๆ สามารถใช้ตัวเองเป็นสื่อสะท้อนความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในพระพุทธศาสนาได้อย่างดียิ่ง เพราะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

4. แสดงผลการปฏิบัติ ผลการปฏิบัติตนของผู้ประสบความสำเร็จทางด้านศาสนา ควรได้รับการเผยแพร่เกียรติคุณให้ผู้อื่นได้ศึกษาและเลื่อมใสยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตาม


พุทธศาสนิกชนที่ดีมีหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้ คือ

1. การปกป้องพระพุทธ พระพุทธนั้นหมายรวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระองค์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน พุทธศาสนิกชนควรปกป้องพระพุทธจากการกระทำให้เกิดความมัวหมอง เช่น บิดเบือนพุทธประวัติ นำเอาพระรูปและพระนามของพระพุทธองค์มากล่าวล้อลบหลู่ดูหมิ่น การตัดเศียรพระพุทธรูป การขโมย การนำพระพุทธรูปไปวางในที่ไม่ควร การนำพระพุทธรูปเพื่อไปกระทำการอย่างอื่นที่มิใช่เพื่อการบูชา การกระทำกริยาลบหลู่ต่างๆ ต่อพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่ได้พบเห็นการกระทำดังกล่าว จะต้องอธิบายให้เข้าใจความจริง แนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้อง ห้ามปรามการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร

ถ้าเป็นการกระทำที่ลบหลู่อย่างร้ายแรง หรือการกระทำผิดอย่างร้ายแรง สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีตามกฎหมายได้ นอกจากนี้การป้องกันในด้านอื่น เช่น การช่วยกันเฝ้าระวังดูแลพระพุทธรูปในวัดของท้องถิ่นของตน การบำรุงรักษาซ่อมแซมบูรณะพระพุทธรูปและโบสถ์วิหารให้คงสภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

2. การปกป้องพระธรรม พระธรรมเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา อาจมีบุคคลบางคนหรือบางพวกนำพระธรรมไปบิดเบือน เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือทำให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจผิดเกิดแตกแยกกันทางด้านความคิด หรือหลงผิดหลงเชื่อ ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อันจะทำให้พระพุทธศาสนามัวหมองหรือเสื่อมลงไปได้ ชาวพุทธที่ดีควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อจะไม่หลงผิด และถ้าพบผู้บิดเบือนพระธรรมด้วยความจงใจ หรือเข้าใจผิดอย่างใดก็ตาม ควรแนะนำให้ความรู้ และชักจูงให้ทำความเข้าใจในพระธรรมในทางที่ถูกต้อง และถ้าพบว่าการบิดเบือนนั้นเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวทำให้พระพุทธศาสนามีวหมองอย่างร้ายแรง ก็สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดนั้นได้

3. การปกป้องพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมแก่ประชาชน ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป อาจมีผู้บ่อนทำลายพระสงฆ์ทั้งโดยเจตนาและโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งที่เป็นรายบุคคล เช่น การขู่ฆ่าหรือทำร้ายเพื่อหวังผลประโยชน์ การให้ร้ายป้ายสีเป็นต้น และทั้งเป็นสถาบันสงฆ์ เช่น มีผู้ปลอมบวชเป็นพระออกบิณฑบาตหรือเรี่ยไร การประพฤตินอกรีตของพระนักบวชโดยอ้างว่าเป็นสงฆ์ในพระพุทธศาสนา การใช้ดิรัจฉานวิชา เครื่องรางของขลังต่าง ๆ เป็นต้น ชาวพุทธที่ดีควรช่วยกันป้องกัน เมื่อรู้เห็นเรื่องราวที่จะเป็นการบ่อนทำลาย ควรแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบเพื่อจะได้จัดการแก้ไขในทางที่ถูกต้อง ไม่ควรสนับสนุนพวกนอกรีต และไม่สนับสนุนการใช้ดิรัจฉานวิชาต่างๆ และควรเลือกสนับสนุนทำบุญกับพระสงฆ์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เพราะการตรวจสอบ การรักษาดูแลพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนจริงๆ

4. การปกป้องศาสนสถานและศาสนสมบัติ ศาสนสถานได้แก่ โบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป บริเวณวัด ศาสนสมบัติ ได้แก่ พระพุทธรูป ต้นไม้ในวัด เครื่องประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีผู้บ่อนทำลายโดยเจตนา และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เสมอ เช่น การขุดเจาะโบราณสถานต่างๆ เพื่อหาสมบัติหรือพระเครื่อง การปีนป่ายขีดเขียนกำแพงวัด การลักขโมยเอาศาสนสมบัติไปเป็นของตน เป็นต้น ชาวพุทธมีหน้าที่ในการดูแลและป้องกันศาสนสถานและศาสนสมบัติเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธโดยส่วนรวม โดยการไม่กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายเสียเอง แนะนำตักเตือนเมื่อพบผู้ที่จะทำลาย แจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องถ้ารู้เบาะแสการกระทำอันเป็นมิจฉาชีพที่จะทำลายศาสนสถานและศาสนสมบัติ นอกจากนี้ยังต้องช่วยบำรุงรักษาบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพที่ดีอยู่เสมอๆ


กิจวัตรที่จำเป็นของพุทธศาสนิกชน จำเป็นต้องมีกิจวัตรเป็นหลักปฏิบัติ เรียกว่า อุบาสกธรรม ซึ่งมีอยู่ 7 ประการคือ

1. หมั่นไปวัดตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะวัดเป็นสถานที่สงบ มีบรรยากาศโน้มนำให้เกิดความใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม การพบปะกับพระภิกษุผู้ทรงศีลทรงคุณธรรมย่อมได้ชื่อว่าเป็นการคบหากัลยาณมิตร หรือเรียกว่ามิตรที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น

2. หมั่นฟังธรรม เมื่อมีโอกาสควรใส่ใจในการฟังธรรมอยู่เสมอ เช่น การไปวัดเพื่อรักษาศีลฟังเทศน์ ฟังการแสดงธรรมเทศนาทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะการฟังธรรมเป็นเหตุให้ได้รู้สิ่งไม่รู้ ส่วนสิ่งที่รู้แล้วก็จะช่วยให้เข้าใจแจ่มชัดยิ่งขึ้น

3. พยายามสนใจศึกษาและรักษาศีลให้ดียิ่งขึ้น โดยพยายามนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศานามาใช้ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงและสมบูรณ์

4. มีความเลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลายเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะพระภิกษุแต่ละรูปได้เสียสละความสุขทางโลกเพื่อมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์และพระภิกษุยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป

5. ตั้งจิตให้เป็นกุศลในขณะฟังธรรม มิใช่ฟังธรรมโดยคิดในแง่ติเตียนขัดแย้ง พยายามฟังธรรมเพื่อก่อให้เกิดบุญมิใช่ก่อให้เกิดบาป

6. ทำบุญกุศลตามหลักและวิธีการของพระพุทธศาสนา ไม่แสวงบุญนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

7. ขวนขวายทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุกๆ ทาง คือ ถ้าสามารถช่วยเหลือพระพุทธศาสนาได้ด้วยวิธีการใดก็ควรเร่งรีบกระทำ เช่น จัดให้มีการอบรมเยาวชน หรือคนต่างชาติให้เข้าใจในพระพุทธศาสนา การใช้หลักอปริหานิยธรรม 7 ประการ หรือ ลิจฉวีอปริหานิยธรรม เป็นต้น


โปรดติดตามอ่านต่อฉบับหน้า ขอความเจริญในพระสัทธรรมของพระสัมมาฯ โดยทั่วกัน เทอญ