ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



บุญเข้าพรรษา พัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความสำเร็จ !

เหตุผลเดียวที่จะผลักดันเราให้ก้าวสู่ความสำเร็จ คือ : เราต้องก้าวข้ามความจนให้ได้ แล้วธรรมชาติจะสร้างภาวะให้เรา

- ขยันขึ้น

- อดทนขึ้น

- ประหยัด และอดออมขึ้น

- สำรวมระวังขึ้น

- ที่สำคัญ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เพราะมิฉะนั้นพรุ่งนี้ เราอาจต้องพลาดโอกาสดีๆ อย่างน่าเสียดาย จงทำความเข้าใจในอิทธิบาทธรรม 4 ประการนั้นแลเป็นบาทฐานให้ก้าวไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จฯ อิทธิบาท 4 คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ ประกอบด้วย

1. ฉันทะ ความพอใจ ความรักใคร่ ความยินดีในสิ่งนั้น เป็นความหมายในทางกุศล ที่หมายถึง ความรักงาน ความรักในกิจที่ทำ

2. วิริยะ ความพากเพียร ความพยายามในสิ่งนั้น

3. จิตตะ ความเอาใจใส่ ความฝักใฝ่ ความสนใจในสิ่งนั้น

4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องการพิจารณาหาเหตุหาผลในสิ่งนั้น


สำหรับบุญเข้าพรรษา ของทางวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ปีนี้ยังคงจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา เพื่อรักษาวัฒนธรรมของอาริยชน หากแต่มีความเห็นว่ากิจกรรม หรือประเพณีบางสิ่งบางอย่างควรให้อยู่ในขอบข่ายความจำเป็นที่พอเหมาะ เช่น

- กิจกรรมถวายต้นเทียนจำนำพรรษา ซึ่งความเป็นจริงแล้วใช้น้อยมาก จากการที่จะถวายกันคนละต้น 2 ต้น ก็ควรร่วมทุนร่วมใจกัน ถวายพร้อมกันให้เป็นหมู่เป็นคณะ ปีละ คู่ 2 คู่ แล้วก็ตั้งกองทุนเงินที่เราเรียกว่า "ปัจจัย" ถวายไว้บำรุงวัดเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ฯลฯ คงจะเป็นประโยชน์มิใช่น้อย หรือบางที่บางท่านก็เปลี่ยนมาเป็นถวายหลอดไฟฟ้าแทน แต่ก็ยังมากอยู่ดี คือบางทีพระเจ้าพระสงฆ์ก็ไม่กล้าพูด หรือไม่อยากทำให้ญาติโยมขัดเคืองใจ ไม่ขัดศรัทธาซะอย่างนั้น

- กิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร ข้อนี้ดี คำว่าจตุปัจจัย

แปลว่า ปัจจัย 4 มีไตรจีวรเป็นต้น หรือสิ่งอื่นๆ ที่พระสงฆ์ท่านอัตคัดขัดสน ฝืดเคือง ยากจน มีน้อย ขาดแคลน ที่ว่าข้อนี้ดีนั้นเพราะว่าจะเกิดปฏิคมสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุกับญาติโยมว่าท่านต้องการปัจจัย 4 สิ่งใด เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค หรือบางทีสิ่งที่จำเป็นที่ท่านประสงค์คือ ปัจจัยเป็นทุนการศึกษา

- กิจกรรมทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล เป็นหน้าที่ชาวพุทธควรใส่ใจ ร่วมใจ พร้อมใจ กระทำให้เป็นแบบอย่าง แบบแผนที่จะสืบสร้างสานต่อวัฒนธรรมของอาริยชนไปชั่วลูกชั่วหลานตลอดกาลนาน เป็นวิธีที่จะรักษาสืบต่บพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน

- อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่างๆ ทุกคนต่างก็รู้ว่าอบายมุขเป็นทางเสื่อม แต่ก็ต้องตกหลุม พลางของสิ่งที่รู้มาตลอดว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เหมือนว่า "ยิ่งว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ" งั้นต้องเปลี่ยนหลัก การสอนใหม่ให้ซื้อขาย Lottery ได้ ซื้อขายเหล้าเบียร์ได้ ให้เที่ยวกลางคืนได้ ให้ดูการละเล่นได้เช่นละครโขนหนังได้ ....แต่...ต้องไม่มาก.... มีสติการใช้ชีวิต และสิ่งสำคัญต้องไม่เกียจคร้านในการทำงาน รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่เอาเปรียบคดโกง ให้มีความสุจริตยุติธรรม เพราะเรื่องนี้ห้ามกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ให้พระสอนให้ตายก็ถอนใจไม่ขึ้น มันขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลจริงๆ แต่ให้รู้ไว้ว่า "หากลุ่มหลงมัวเมาในห้วงแห่งอบาย สักวันภัยร้ายต้องเข้ามาเยี่ยมเยือน" อย่าได้ประมาทเพลี่ยงพล้ำ


วันเข้าพรรษาในปีพุทธศักราช 2559 ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม

20 กรกฎาคม 2559 คือวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นก็คือ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง


ประวัติวันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "จำเพาะในฤดูฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา"

ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย

2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้

3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด

4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


นอกจากนี้หากระหว่าง เดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลายๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใสก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์ อย่างสูง


วันเข้าพรรษา

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญๆ หลากหลาย เช่น "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีฟังเทศน์มหาชาติตลอดฤดูเข้าพรรษา ประเพณีการเข้าวัดปฏิบัติอุโบสถศีลตลอดเข้าพรรษา มีอยู่เป็นประจำทุกปีเป็นการที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันปฏิบัติวัตรของตนๆ เพราะในระยะเข้าพรรษา นั้น ทุกๆ วัดเน้นการศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นสิริมงคล เพิ่มเติมเสริมส่งวาสนาบารมี โดยเฉพาะพระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า-เย็น ถือเป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่า จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสวด้วยประการฉะนี้


ในวันที่ 17 - 18 - 19 - 20 กรกฎาคม ศกนี้ วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ขอเชิญร่วมสวดมนต์ปฏิบัติธรรม เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติกัมมัฏฐาน วิปัสสนา เดินจงกรม ฟังพระธรรมเทศนา และร่วมทอดถวายผ้าป่าสามัคคี ถวายต้นเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ไตรจีวร ตามเขตที่กำหนด ท่านผู้มีจิตศรัทธาว่างวันใดให้ไปวันนั้น อีกประการหนึ่งทางวัดจัดให้มีการแสดงพระธรรม เทศนา "มหาชาติชาดก" ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี โดย "ทศพร กัณฑ์ที่แรก คุณป้าพะเยาว์ ชอบชม และคณะเป็นเจ้าภาพ จะเริ่มเทศนาในวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ตามลำดับเป็นไปทุกวันอาทิตย์ๆ กัณฑ์ จนกว่าจะออกพรรษา ก็ได้ครบ 13 กัณฑ์พอดี ท่านสาธุชนพุทธบริษัท ว่างวันอาทิตย์ไหนไปกันได้ตลอดพรรษา ขอทุกๆ ท่านจงเจริญก้าวหน้า พัฒนาก้าวไกล เกิดกุศลยิ่งใหญ่พัฒนากาย-ใจให้พ้นจากทุกข์ภัยและอุปสรรค (ขอย้ำว่า) "เหตุผลเดียวที่จะผลักดันเราให้ก้าวสู่ความสำเร็จ คือ : เราต้องก้าวข้ามความจนให้ได้" คนไม่เกียจคร้านจะไม่จน ขอจำเริญพร