ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความรู้สึกดี ๆ กับเรื่องผาติกรรม ชำระหนี้สงฆ์

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความรู้สึกดี ๆ จะเกิดขึ้นแก่ผู้มีต้นทุนทางจิตที่ใฝ่ดี เมื่อจิตใฝ่ในสิ่งดี แล้วสิ่งดี ๆ จะหลั่งไหลเข้ามาหาบุคคล ตามเหตุผลต้นกรรมนั้น ๆ การเกิดขึ้นของสิ่งที่แวดล้อมตัวเราก็ดี หรือเกิดกับบุคคลต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวเราก็ดี เมื่อพิจารณาแล้ว เราคือศูนย์กลางของการเกิดความรู้สึกดี หรือรู้สึกไม่ดี ตัวเราคือผู้รู้...... รู้วัตถุแวดล้อมหรือบุคคลแวดล้อม สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้...... ถูกใครรู้......ถูกเรารู้ หากความรู้สึกดี ๆ เป็นสุข หรือทำให้เกิดสุข สุขนั้นก็ทำให้เรารู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นทันใด

และเมื่อใดที่เราเกิดความรู้สึกไม่ดี เราก็เป็นทุกข์ หรือทำให้เราเกิดความทุกข์ และหากว่าทุกข์เหล่านั้น เป็นของผู้อื่น เป็นปัญหาของผู้อื่น เป็นอุปสรรคของผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่ย่ำแย่ของผู้อื่น เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร....เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา และธรรมชาติของบุคคลทั้งหลายเป็นเช่นนั้น เราเองก็ต้องพยายามทำความรู้สึกที่ดี ๆ เกิดขึ้นกับเราให้มาก ๆ ชีวิตจะได้สดใส ใจเราจะได้เบิกบานอิ่มเอิบด้วยกุศลคือความฉลาดที่จะไม่ยึดมั่นถือครองกับทุกข์ ปล่อยว่างว่างเย็น นะจ๊ะ


คิดเห็นอะไร ให้ใส่ใจต้นทุนโดยธรรม

ความเห็นถูกต้องดีงาม ต้องเห็นให้ปราศจาก "อคติ 4" หรือจะเรียกว่าทัศนคติ หรือมโนทัศน์หรืออะไร ๆ ก็เรียกกันไป แต่ให้อยู่กับบริบทในสิ่งสำคัญในการเห็นนั้นคือ สัมมาทิฏฐิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่า.... "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางใจ 3 อย่าง ที่มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก คือ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นประการ 1 เป็นผู้ไม่มีจิตคิดปองร้ายต่อคนอื่นประการ 1 เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริต


สัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ได้แก่

1. ทานที่ให้แล้วมีผลจริง (ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก การให้สิ่งของ ให้ความรัก)

2. ยัญที่ทำแล้วมีผลจริง (พิธีกรรม วิธีการ การให้โอกาส การช่วยเหลือสงเคราะห์)

3. การเซ่นสรวงหรือการบูชามีผลจริง (ความกตัญญู ความอ่อนน้อม การเชิดชูเกียรติ การให้ รางวัล ให้กำลังใจ ให้คำปลอบโยน )

4. วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีผลจริง (ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง ความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ความมีเหตุผล การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น)

5. โลกนี้มีจริง (อยู่กับปัจจุบัน การยอมรับความจริง ความรับผิดชอบ ความไม่เกียจคร้านการทำกิจของตน ๆ ยินดีพอใจกับโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างฉลาดรู้ฉลาดเลือก)

6. โลกหน้ามีจริง (มีสัมมาทิฏฐิ เช่น เชื่อว่าอะไรคือบาป อะไรคือบุญ อะไรให้คุณ อะไรให้โทษ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ มีทิฏฐิสามัญตา ศีลสามัญตา กล่าวคือ มีมาตรฐานต่าง ๆ เหมือนกันอย่างเป็นธรรม)

7. มารดามีคุณจริง (ท่านมีหน้าที่ต่อเรา มีบุญคุณกับเรา เช่น ท่านให้ชีวิต ให้จิตวิญญาณ ให้ความรักความเมตตาต่อเรา ให้ความปกป้องคุ้มครองเราให้ปลอดภัย เสียสละกายใจหยาดเหงื่อแรงงานและทรัพย์สินเพื่อเรา ให้ความรู้ให้การศึกษา ให้ที่พึ่งพาอาศัย ให้กำลังกายใจ )

8. บิดามีคุณจริง (ท่านมีหน้าที่ต่อเรา มีบุญคุณกับเรา ท่านเต็มใจทำทุกอย่างเพื่อเรา ท่าน เอาใจใส่กับชีวิตและอนาคตของเรา เป็นต้นฯ )

9. สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้นมีจริง (พระอรหันต์เกิดขึ้นได้จริง โอปปาติกะ มีอยู่จริง ความดีความชั่วผุดเกิดขึ้นได้จริงตามแรงกรรม เหตุปัจจัยเป็นเครื่องชี้วัดเหตุและผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งจึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ)

10. พระอรหันต์ผู้ สามารถรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง (ความเห็นที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ความก้าวหน้า การฝึกหัดขัดเกลาตนย่อมหลุดพ้นจากกิเลสได้ ผู้ประกอบกุศลเมื่อละโลกแล้ว ย่อมจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป)

ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลกประการ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางใจ 3 อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล"


สัมมาทิฏฐิ เกิดจากความรู้สึกดี ๆ

(บุญ) เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นกุศลเชิงบวก เป็นท่าทีที่เรารู้สึกและแสดงออกจากน้ำใสใจจริง เป็นเจตนาที่ดีต่อตนและบุคคลอื่น เดิมทีเรามักใช้คำว่าทัศนคติ แต่ปัจจุบันเราใช้คำว่าเจตคติแทน

(บุญ) จึงเป็นการสั่งสมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายบวก เราควรใส่ใจถือว่าเป็นการสั่งสมอบรมบุญกุศล ให้เกิดขึ้นแก่ตน พลังงานด้านดีจะถูกเก็บไว้ภายในดวงจิต สมอง อารมณ์ความรู้สึกด้านดี มีแสงเป็นสีเขียว เกิดสารสดชื่น สารแห่งความสุข เกิดความเบิกบานแจ่มใส จิตใจดีงดงามปภัสสร ผู้ที่มีต้นทุนทางจิตที่ดี อยู่ที่ไหน ๆ ก็มีแต่เจริญรุ่งเรือง ทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสังคม

ส่วนการสั่งสมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายลบ (หรือบาป) นั้น ควรใส่ใจให้ละให้เว้น เพราะเป็นการสั่งสมอบรมโมหะอวิชชาให้เกิดขึ้นในตน พลังงานด้านชั่วร้ายใจหยาบจะถูกเก็บไว้ภายในดวงจิต สมอง อารมณ์ความรู้สึกด้านเลว ด้านทำลายใฝ่ต่ำนั้น จะมีแสงเป็นสีแดง สารแห่งความทุกข์ความเครียด คือ ภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือถูกบีบคั้น กดดันจนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ สับสน โกรธหรือเสียใจ ผู้ที่มีต้นทุนทางจิตที่ไม่ดี อยู่ที่ไหน ๆ ก็มีแต่จะทำตนและสังคมเสื่อมทราม


เรื่องผาติกรรม ชำระหนี้สงฆ์

ผาติกรรม คำที่อิงอยู่กับวินัยสงฆ์ อ่านว่า ผา-ติ-กำ บาลีเป็น "ผาติกมฺม" อ่านว่า ผา-ติ-กำ-มะ ประกอบด้วย ผาติ + กมฺม "ผาติ" รากศัพท์มาจาก ผา (ธาตุ = เจริญ) + ติ ปัจจัย : ผา + ติ = ผาติ แปลตามศัพท์ว่า "ภาวะที่เจริญ" หมายถึง การเพิ่มขึ้น, การทวีขึ้น

"กรรม" บาลีเป็น "กมฺม" (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น "กรฺม" (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น "กรรม"

"กรรม" รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย -: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม "กมฺม" แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน นิยมพูดทับศัพท์ว่า "กรรม"

ผาติ + กมฺม = ผาติกมฺม > ผาติกรรม แปลตามศัพท์ว่า "การทำเป็นเหตุให้ทวีขึ้น" หมายถึง การเพิ่มพูน, กำไร, การได้เปรียบ

"ผาติกมฺม" ถ้าเป็นคำกริยา รูปคำจะเป็น "ผาติกโรติ" (ผา-ติ-กะ-โร-ติ) มีความหมายว่า เพิ่มขึ้น, ใช้ให้เป็นประโยชน์, ทำให้อ้วน

ความเห็นเพิ่มตามหลักพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 กล่าวไว้ว่า -

(1) ผาติ : (คำวิเศษณ์) เจริญขึ้น. (ป., ส.)

(2) ผาติกรรม : (คำนาม) การทําให้เจริญ, ใช้ในวินัยว่า การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อ

ประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของ ตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทําของสงฆ์ชํารุดไปบ้าง, รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทําให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทําประโยชน์อย่างอื่น เช่นทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้ ให้ใหญ่ขึ้น ดีขึ้น สะดวกขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องชอบด้วยวินัยสงฆ์ เป็นต้นฯ


ตัวอย่างผาติกรรม :

มีผู้ถวายข้าวสารให้วัดเป็นจำนวนมาก วัดเก็บข้าวสารไว้จำนวนหนึ่ง แต่ยังมีข้าวสารที่ไม่ได้ใช้อีกหลายมากมายหลายกระสอบ และวัดก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้มากมายขนาดนั้น สามารถนำไปถวายให้เป็นประโยชน์แก่วัดอื่น หรือมอบให้เป็นการสาธารณะสงเคราะห์แก่ผู้ประสบภัย น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือให้แก่ผู้ขาดแคลนยากไร้ได้ทั้งนั้น หรือชาวบ้านมาขอซื้อข้าวสารของวัด ซึ่งสมมุติว่าราคาปกติถุงละ $19.99 แต่ชาวบ้านจ่ายให้ถุงละ $29.99 ซึ่งมากกว่าราคาปกติ นี่คือ "ผาติกรรม"

และหรือจะเป็นเครื่องใช้ของสอยอื่น ๆ ก็ใช้ในเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เช่น เครื่องสังฆทาน, ชุดผ้าไตร, และอื่น ๆ โดยหลักของผาติกรรมจึงอยู่ที่ "ต้องชดใช้ให้แก่สงฆ์มากกว่ามูลค่าของสิ่งนั้น" คนรุ่นปู่รุ่นย่า ท่านเป็นต้นแบบช่วยให้เกิดการบริหารจัดการ ของสงฆ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับวินัยสงฆ์ เป็นวัฒนธรรมให้เกิดการเสียสละเพื่อบำรุงวัดวาอาราม ให้งอกงามเจริญไพบูลย์เสมอมา แม้การเข้ามาใช้สอยพื้นที่ของวัด จะเป็นบริเวณไหนก็ตาม แม้ย่ำทรายสักเม็ดออกนอกวัดไปก็ชื่อว่าเป็นหนี้สงฆ์ จึงได้มีประเพณีขนทรายเข้าวัด หรือบริจาคบำรุงสงฆสถานสืบมา ถือได้ว่าพระพุทธศาสนาได้รับความคุ้มครองโดยศาสนทาญาติอย่างมั่นคง เช่นนี้แหละชื่อว่า "ชำระหนี้สงฆ์ ไม่เป็นหนี้สงฆ์"

ขอบอกบุญผ่านสื่อนี้นะ เจริญพรวันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ ศกนี้ วัดทุ่งเศรษฐี จะมีงานพิธีมาฆบูชา วันแห่งความรักที่เราจะได้พร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนอย่างเต็มกำลัง ขอเชิญท่านผู้มีศรัทธามีโอกาส ไปฟังเทศนา 2 ธรรมาสน์กันนะ กำหนดการเรียบ ๆ ง่าย ๆ สาธุ

10.00 น. เข้าวัดปฏิบัติธรรม สมาทานรักษาศีล

10.30 น. บวชเนกขัมมจารินี สวดมนต์เจริญภาวนา

11.00 น. ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ฟังพระธรรมเทศนา

1.30 น. ถวายภัตตาหารเพล สาธุชนรวมรับประทานอาหาร

13.00 น. เวียนเทียนถวายพุทธบูชา บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

วัดทุ่งเศรษฐี 11911 207Th Street, Lakewood, CA 90715-1461

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (562) 382-3767 (562) 865-1716