ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สันติภาพโลก คือ เจตน์จำนงของพระพุทธเจ้า

เจริญพรญาติโยมท่านทั้งหลาย World Peace หรือ Peace of the world ได้มุ่งหมายถึงสันติภาพ ๆ ที่แท้จริง ตามเจตน์จำนงอาตมาเข้าใจ คือ ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ความรู้สึกปลอดภัย สามารถสร้างพลังกาย - ใจ ให้พร้อมที่จะต่อสู้ชีวิตอย่างทรงพลัง

จิตใจของเรามีธรรมชาติดิ้นรนไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เผลอใจไปในทางอารมณ์ฝ่ายใดได้ง่ายๆ ความดี หรือที่เรียกว่ากุศลธาตุซึ่งแสดงไว้ ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/ 228/228) ความว่า กุศลธาตุสามอย่างคือ

(1) เนกขัมมธาตุ ธาตุคือความออกจากกาม

(2) อัพยาปาทธาตุ ธาตุคือความไม่พยาบาท

(3) อวิหิงสาธาตุ ธาตุคือความไม่เบียดเบียน


ส่วนธาตุแห่งความชั่วหรืออกุศลก็ตรงกันข้าม อกุศลธาตุสามอย่างคือ

(1) กามธาตุ ธาตุคือกาม

(2) พยาปาทธาตุ ธาตุคือความพยาบาท

(3) วิหิงสาธาตุ ธาตุคือความเบียดเบียน


คำว่า “อพฺยาปชฺฌา” หมายถึงความไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียน มีความปรารถนาคิดให้อื่นมีความสุขเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มองสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน สัตว์โลกจึงเป็นเหมือนเพื่อนร่วมโลกที่ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกัน เมื่อจิตที่ประกอบเมตตาก็จะมองผู้อื่นด้วยความรัก ความสงสาร อยากเข้าไปช่วยเหลือ เกื้อหนุน อยากให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ ผู้ที่มีจิตคิดด้วยความไม่เบียดเบียนคนอื่น จึงพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ

สรรพสิ่งในโลกต่างก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น คิดมุ่งร้ายเบียดเบียนคนอื่นก็เหมือนก่อไฟไว้ในใจตน มีแต่จะเผาไหม้ให้จิตใจรุ่มร้อน หากตั้งจิตคิดปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นมี ความสุข จิตใจของผู้คิดก็ย่อมจะมีความสุขไปด้วย เริ่มต้นคิดดี คิดด้วยจิตที่คิดจะออกจากกาม ไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียนใคร บุญหรือบาป หรือหรือชั่ว กุศลหรืออกุศล เราเลือกได้ทำได้เอง แม้โลกจะวุ่นวายแต่ใจเราก็เป็นสุข ความสุขที่แท้เริ่มต้นที่จิตใจของเราเอง "อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก" ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก


ศีลธรรมของมนุษย์ คือสันติภาพโลก

มนุษย์ยังคงแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามวิสัยแห่งชน เมื่อใดที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน การเบียดเบียนก็ย่อมจักเกิดได้ หากมีการพยาบาทฆ่าฟันล้างพลาน ศีลธรรมหดหายไปจากมนุษย์ เมื่อนั้นสันติภาพจะหมดไป การแข่งขันเชิงบวกที่อุดมด้วยศีลธรรมก็มีได้ และมีขึ้นเมื่อใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกิดขึ้นย่อมเชิดชูศีลธรรมไปพร้อมกัน มีความเคารพสิทธิ์กันความสุขก็เกิดขึ้น เมื่อนั้นสันติภาพจะเกิดขึ้น

สรุปทั้งหมดว่า เมื่อใดที่มนุษย์อยู่ด้วยกันด้วยการไม่เบียดเบียนกัน และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน นั่นคือเป็นทางมาแห่งสันติภาพของโลก พระพุทธเจ้าวางหลักศีล 5 ว่าเป็นกฎแห่งสันติภาพ คือ

1. ข้อที่ 1 ไม่ฆ่า ทำร้าย ทรมาน ชีวิตอื่น อันนี้เป็นพื้นฐานที่ทุกศาสนาค่อนข้างจะเห็นด้วย เป็นความดีสากล

2. ไม่ปล้น ขโมย เบียดเบียน ยักยอกของคนอื่นเขา แบบนี้ทุกคนก็รับได้

3. ไม่ไปเบียดเบียนในเรื่องตัวบุคคล ไม่เจ้าชู้ ลูกเขาเมียใครอยากได้ก็ลุยเข้าไปเลย แบบนี้คนเขาก็ไม่ยอมรับ ต้องรู้จักเคารพในสิทธิ์ของบุคคลอื่น

4. ไม่โกหก เพราะไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาหลอกลวงเราได้

5. เรื่องสุรา ยาเสพติดทั้งหลายก็ต้องงดเว้น


ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพของโลก

"ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพของโลก" เป็นประเด็นที่พุทธทาสภิกขุได้ฝากไว้ให้สังคมได้ตระหนักรู้ว่า "สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากยุวชนมีภูมิคุ้มกันทางศีลธรรมบกพร่อง" ฉะนั้น "ศีลธรรม" ที่ปลูกฝังอบรมไว้ในจิตใจยุวชนนั้นเองที่จะส่งผลให้โลกเกิดสันติภาพยั่งยืนได้

หลักของศีลธรรม คือหลักแห่งสันติภาพแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากจิตใจ "ยังอ่อนแอ" ย่อมหมายถึง "ยุวชนทั้งสิ้น และเมื่อใดก็ตามที่จิตใจของคนเหล่านี้ "อ่อนแอ" ย่อมเป็นเหตุให้ "โลกไร้สันติภาพ" เพราะสภาพจิตที่อ่อนแอ ย่อมชักนำและชักพาให้ยุวชนสร้างความขัดแย้งในเชิงลบ เกิดการผิดศีลธรรม เกิดการแก่งแย่งทำลาย เกิดสงครามก็เพราะอ่อนด้อยเรื่องศีลธรรม อันจะนำไปสู่ความรุนแรงทั้งโลกภายใน และโลกภายนอก จึงขอย้ำว่า ความสุขที่แท้เริ่มต้นที่จิตใจของเราเอง "อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก" ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก รูปขอจำริญพร