ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



เมื่อชาวพุทธไม่รู้ศีล จะเข้าใจศีลได้อย่างไร?

ท่านสาธุชนพุทธษัททั้งหลาย ท่ามกลางการหมุนไปของโลก ทิวาและราตรีกาลก็เกิดขึ้นหมุนวนอยู่อย่างนี้ สวดมนต์ตอนเช้าๆ สวดไปพิจารณาไปบทว่า "สิ่งเหล่านี้นี่ เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ" ญาติโยมทุกท่าน สรรพสิ่งในจักรวาลนี้เปลี่ยนแปลงตลอดมาและตลอดไป ปัจจยาการ ปัจจยธรรม สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อยู่อย่างนี้ไม่มีสิ้นสุดจบสิ้น ดังนั้นคนเราต้องมี มโนปณิธาน ซึ่งแปลว่า ความตั้งใจอันแน่วแน่, ความปรารถนาอันสูงส่ง คิดการใหญ่ให้ผลใหญ่ เท่านี้ยังไม่พอ ต้องหนักแน่นในอุดมการณ์ หรือมีอุดมคติ คือมีจุดหมายที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดีงามและความจริงทางใดทางหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน ในความหมายของคำว่าอุดมคตินั้น ย่อมมีจินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตนด้วย แยกศัพท์ให้พอเข้าใจในนิยามความหมายของคำว่า

อุดม - หมายถึง สูงสุด, ยิ่ง, เลิศ, มากมาย, บริบูรณ์ คติ - หมายถึง การไป การเคลื่อน, กิริยาไป, ท่าทางการดำเนิน วิธี, แบบอย่าง ภพที่จิตจะเข้ากำเนิดหลังจากตายแล้ว, อนาคตแห่งชีวิตในชาติปัจจุบัน เช่น พราหมณ์ทำนายว่า "พระสิทธัตถะจะมีคติเป็น 2 คือจะได้เป็นศาสดาเอกแห่งโลก หรือ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์

ก่อนจะมาตั้งปณิธานให้กับตนเอง เรามาทบทวนความเป็นมาของพุทธปณิธานกัน พอเป็นแนวทางก่อนดีไหม? พุทธปณิธาน คือ ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของพระพุทธเจ้า ในอันที่จะเผยแผ่ศาสนธรรม ก่อตั้งประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นคงก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีหลักฐานปรากฏในมหาปริพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10) ความว่า "มาร เราจักยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ภิกษุสาวก ภิกษุณีสาวก อุบาสกสาวก อุบาสิกาสาวิการของเราจักยังไม่ฉลาด ยังไม่ได้รับแนะนำอย่างดี ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรับปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้"

พุทธดำรัสตรัสตอบมารเมื่อแรกตรัสรู้ในครั้งนั้น พุทธเมธีบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาทั้งหลายต่างลงความเห็นว่า เป็นพุทธปณิธาน คือความตั้งใจที่จะดำรงพระชนม์ชีพเพื่อประดิษฐานเผยแผ่หลักธรรมวินัย คือพระพุทธศาสนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงเสียก่อน โดยรับคำอาราธนาของพญามารที่ต้องการให้รีบปรินิพพานเสียหลังจากตรัสรู้แล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่า จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่เพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สำเร็จเสียก่อนแล้วจึงจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพุทธปณิธานดังกล่าวนี้ สรุปความหมายเชิงปฏิบัติได้ 4 ประการ คือ

1) พุทธบริษัทควรได้ศึกษาพระสัทธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง

2) พุทธบริษัทควรได้ประพฤติปฏิบัติตามพระสัทธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้น ได้อย่างประจักษ์ในผลของการประพฤติปฏิบัติ

3) พุทธบริษัทควรช่วยกันเผยแผ่พระสัทธธรรมที่ได้ศึกษาปฏิบัติมาแล้วได้อย่างลุ่มลึกและกว้างขวาง

4) พุทธบริษัทควรสามารถแก้ไขตอบโต้การกล่าววิจารณ์จ้วงจาบบิดเบือนหลักพระสัทธรรมให้ยุติลงด้วยความเรียบร้อย

สรุปสั้นๆ ก็คือ พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำให้พุทธบริษัท 4 ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรม และแก้ข้อกล่าวหาจาบจ้วงธรรมได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พุทธปณิธานนี้ก็คือข้อกำหนดกฎบัตรบังคับเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนา 4 ประการ คือ ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ และปกป้อง อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอะไรมากมาย ยกตัวอย่างบทบัญญัติทางกฏหมาย ในเชิงอรรถท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 209 / 129 มีคำอธิบายเกี่ยวกับข้อนี้เป็นหลักว่า "ในเรื่องเข้าใจผิดนั้นมีว่า จะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้ ด้วยเหตุว่า ถ้ายอมให้แก้ตัวได้ด้วยข้อนี้ ผู้กระทำความผิดทุกคนคงร้องว่า ตนเข้าใจกฎหมายผิดไป หลุดโทษได้ทุกคนกฎหมายเลยไม่เป็นต้องมีกัน ต่างคนต่างทำอะไรก็ได้ตามใจชอบตามใจฉัน ดังนั้นจะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้ เป็นสุภาษิตกฎหมายโรมันมาแล้ว"

เราในฐานเป็นชาวพุทธนะโยม ต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ อย่างศีล 5 นี้ต้องศึกษาให้แตกฉาน โยม 95 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวพุทธ หากแต่ 5 เปอร์เซ็นต์ รู้ศีลได้ใช้ศีลเป็น เราต้องทบทวนกันนะโยม คืออย่างน้อยต้องรับศีลได้ใช้ศีลเป็น ถือศีลไม่รู้ "คุณ" ทำบุญไม่รู้ "ค่า" การเข้าถึงศาสนาให้ถึงแก่นคงอีกยาวไกล วันนี้จะนำศีล 5 มาให้ทบทวน แต่แค่กล่าวเกรินก็ไปซะเยอะเลย

ศีล 5 ข้อที่ 1 ปาณาติบาต "ปาณาติปาตา เวรมณี" งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป

ปาณาติบาต แยกบทได้ 2 บท คือ ปาณ - อติปาต (ปาณ) โดยโวหารแล้ว หมายถึง สัตว์ทั้งหลาย (อติปาต) แปลว่า เร็ว หรือก้าวล่วงความเบียดเบียน เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า ให้สัตว์ หรือให้ชีวิตตกไปโดยเร็ว หมายความว่า ทำให้สัตว์นั้นตายก่อนจะถึงกำหนดอายุของตน

องค์ประกอบของปาณาติบาต

การทำอกุศลต่างๆนั้นที่เข้าถึงกรรมบทก็มี ที่ไม่ล่วงกรรมบทก็มี แต่ถ้าล่วงกรรมบทแล้ว การกระทำนั้นสำเร็จเป็นชนกกรรม สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ล่วงกรรมบท การให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็ไม่เป็นการแน่นอน เพียงให้ผลในปวัตติกาล คือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้น ต้องประสบความลำบากต่างๆ การกระทำจะก้าวล่วงกรรมบทหรือไม่นั้นต้องแล้วแต่องค์ประกอบ คือ ปโยคะ ในการกระทำนั้น อกุศลปาณาติบาต ที่จะก้าวล่วงปาณาติบาตนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ

1. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

2. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต

3. วธกจตฺตํ มีจิตคิดจะฆ่า

4. ปโยโค ทำความเพียร เพื่อให้ตาย

5. เตน มรณํ สัตว์ตายลง เพราะความเพียรนั้น

เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันก้าวล่วงกรรมบท แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง 5 ก็ยังไม่ชื่อว่า สำเร็จกรรมบท การฆ่าสัตว์ จะมีโทษมาก หรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับสัตว์ที่ถูกฆ่า และความพยายามของผู้ฆ่า ซึ่งต้องอาศัยหลักเกณฑ์ ในการพิจารณา 3 ประการด้วยกัน คือ

1. ร่างกายของสัตว์ที่ถูกฆ่า ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น ก็มีโทษมาก แต่ถ้าสัตว์ที่ถูกฆ่าเป็นสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ก็มีโทษน้อย

2. คุณธรรมของสัตว์ที่ถูกฆ่า ในระหว่างสัตว์ดิรัจฉาน กับมนุษย์ ฆ่ามนุษย์มีโทษมากกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ดิรัจฉาน สำหรับการฆ่ามนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฆ่าผู้ทั้งมีศีลธรรม เช่า ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น มีโทษมากกว่าผู้ไม่มีศีลธรรม เช่นโจรผู้ร้าย เป็นต้น ย่อมมีโทษน้อยกว่า ถ้าผู้ถูกฆ่าเป็น บิดา มารดา พระอรหันต์ เป็นอนันตริยกรรม ยิ่งมีโทษมากเป็นพิเศษ

3. ความเพียรของผู้ฆ่า อาศัยตัดสินโดย ปโยคะ คือในขณะที่ฆ่านั้น ได้ใช้ความเพียรพยายาม มากหรือน้อย ถ้าใช้ความพยายามมาก ก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย


ปโยคะ คือ ความเพียรพยายามในการกระทำปาณาติบาต อันเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ให้เข้าถึงอกุศลกรรมบทนั้น มีความเพียรพยายามอยู่ 6 อย่าง ดังพระบาลีที่แสดงว่า

สาเหตฺถิโก อาณตฺติโก   นิสฺสคฺคีโย จ ถาวโร
วิชฺชามโย อิทฺธิมโย   ปโยคา ฉยิเม มตา ฯ

แปลความว่า ปโยคะ คือความเพียรเหล่านี้ มี ๖ อย่าง คือ

1. สาหัตถิกะ ได้แก่ พยายามกระทำด้วยตนเอง

2. อาณัตติกะ ได้แก่ ใช้ให้ผู้อื่นกระทำ

3. นิสสัคคิยะ ได้แก่ ด้วยการปล่อยอาวุธ มีการ ขว้าง ปา เป็นต้น

4. ถาวระ ได้แก่ พยายามสร้างเครื่องประหารไว้อย่างถาวร มีการทำหรือซื้ออาวุธปืน มีด หรือ ขุดหลุมพรางดักไว้ เป็นต้น

5. วิชชามยะ ได้แก่ พยายามใช้วิชชาอาคม ไสยศาสตร์ต่างๆ

6. อิทธิมยะ ได้แก่ พยายามใช้อิทธิฤทธิ์ ที่เป็นกรรมชอิทธิของตนประหาร เช่นท้าวเวสสุวรรณ ระหว่างที่ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอริยะบุคคล เคยฆ่าพวกยักษ์ที่เป็นบริวาร ด้วยการถลึงตา เป็นต้น


ฉบับหน้า เราจะมาศึกษาต่อนะโยมนะ ศีล 5 ที่โยมรับสมาทานกัน นี้เพียงข้อเดียวก็ หมดพื้นที่บรรยายเสียแล้ว พระอาจารย์ของอาตมาชื่อ ดร.พระมหาทวี ฐานวโร ท่านเขียนศีล ข้อ 1 ปาณาติบาตนี้ ข้อเดียวจบ Master degree in philosophy แหม....เสียดายจัง พบกันใหม่นะ เจริญพร