ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



บุญเดือนเก้าผ่านไป เตรียมไว้ไปบุญเดือนสิบ

ญาติโยมท่านผู้เจริญในธรรมทุกท่าน วันเวลามันชั่งหมุนไปรวดเร็วแท้ ฤดูกาล "สารท" เดือน 10 ก็จะย่างก้าวเข้ามาใกล้แล้ววันสารท ถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณและเป็นการทำบุญกลางปีของไทย ซึ่งตรงกับวันสิ้นเดือนสิบ หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ใกล้วัดไหนไปสร้างบารมีร่วมกันในชุมชนนั้น ๆ บางวัดจัดทำบุญ วันที่ 3 บ้าง วันที่ 10 บ้าง วันที่ 17 บ้าง สังเกตุได้ง่ายส่วนมากขอจัดให้ตรงกับวันอาทิตย์ ส่วนวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเล็ควูด กำหนดจัดทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร สังฆทาน อุทิศส่วนกุศลแด่บุรพชน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2560


บุญวันสารทของประเทศไทย

เกิดขึ้นตามความเชื่อของคนโบราณ เมื่อเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารในคราวแรกแล้ว พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวได้ในครั้งแรก จะนำไปบวงสรวง เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือจะช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิตและสวนไร่นาของตน เป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนเริ่มย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

วันสารทไทย พ.ศ.2560 ตรงกับ วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ.2560 / วันพุธ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 (ปีระกา)

ส่วนวันสารทไทย พ.ศ.2561 ตรงกับ วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2561 / วันอังคาร แรม 15 ค่ำ เดือน 10 (ปีจอ)


ประวัติวันสารทไทย

วันสารทไทยเป็นการทำบุญ เพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อให้พืชพันธุ์มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไป การทำบุญวันสารทมิได้สำคัญว่ามาจากศาสนาใด เพราะพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนิยมทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ มิได้ถือวันใดเป็นพิเศษ แต่การทำบุญสารท เป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว จึงถือโอกาสทำบุญทำทานให้เป็นของขวัญแก่ไร่นาของตน

บางแห่งเชื่อว่าวันสารทเป็นการทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งก็เป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างจากภารกิจไร่นา จึงถือโอกาสทำบุญครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ประเพณีสารทได้เปลี่ยนความเชื่อถือไปตามกาลเวลาและความเชื่อตามท้องถิ่นของตน วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถูกกำหนดไว้เป็นวันสารทไทย ซึ่งเป็นพิธีของประชาชนในประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญ มีประเพณีทำบุญทำนองเดียวกันในภาคอื่น ๆ ด้วย และมีการกำหนดวันและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน

วันสารทเดือนสิบภาคใต้ คือประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่ตกนรกหรือเรียกว่าเปรต จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติ ของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรก ดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จึงมีการทำบุญวันสารทสองวาระ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นความสำคัญ

บางท้องที่เรียกประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย คือญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เมื่อวิญญาณท่านมา ก็จะทำบุญรับ เมื่อท่าน กลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า "ทำบุญตายาย"


ทำบุญตักบาตร การได้ดูแลค้ำชูพระพุทธศาสนา

ในวันงาน วันสารทไทย ชาวบ้านจะทำการจัดแจงนำข้าวปลา อาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน หรือวัดที่ใกล้ๆ รวมถึงการถือศีล 5 เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่นไปฝากซึ่งกันและกันยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกลหรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน ซึ่งการไปวัดฟังธรรมในอดีต มักเป็นเรื่องของคนเฒ่าคนแก่เป็นส่วนใหญ่ในวันเช่นนี้ควรส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและคนหนุ่มสาว ไปวัดทำบุญและรักษาศีลให้มากขึ้น เพราะเป็นวัยที่ยังมีพลังที่จะเป็นหลักต่อไปในอนาคต


วันสารท วันผีปู่ย่าตายายมารับส่วนบุญ

บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาแม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้ โดยเฉพาะ วันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้วญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข พระสงฆ์ควรเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ประเพณีวันสารท ให้ประชาชนเข้าใจและรู้ซึ้งถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพื่อส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ควรอนุรักษ์และส่งเสริมฟื้นฟูประเพณีวันสารทไทย ให้มีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยทุกกลุ่ม เพื่อเป็นที่รู้จักและแพร่หลายต่อไป


การส่งเสริมกิจกรรมวันสารทไทย

เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที เชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไป แล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข ที่ต้องมีการส่งเสริมแนวทางการจัดกิจกรรมวันสารทไทย เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ ร่วมมือร่วมใจช่วยกันรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และทานบารมีของพุทธบริษัทตลอดกาลนาน


"ด้วยอำนาจแห่งกุศลทั้งหลายที่ท่านได้ทำตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และที่อาตมาภาพได้บำเพ็ญไปแล้วแต่ต้นจนถึงปัจจุบันก็ดี ขอน้อมกุศลแห่งความดีที่ได้กระทำมาแล้วอำนวยพรให้เป็นสติและกำลังของท่านทั้งหลาย และจงประสบแต่ความสุขกายสบายใจ ที่ท่านทั้งหลายประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรม ขอสิ่งนั้นจงเป็นผลสัมฤทธิ์ตามประสงค์ ทุกประการ" บุญรักษาพระคุ้มครอง ขอความเจริญงอกงามไพบูลย์ จงมีแด่ทุกท่านทุกคน เทอญ สาธุ


กลิ่นศีลหอมทวนลม
หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ
หอมแต่ตามลมลือ กลับย้อน
หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ ศีลสัตย์ นี้นา
หอมสุดหอมสะท้อน ทั่วใกล้ไกลถึง
(โคลงโลกนิติ)