ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร
บุคคล 4 ประเภท

วันนี้ขอหยิบยกเนื้อหาแห่งพระธรรมเกี่ยวกับเรื่องกรรม ที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบเทียบไว้เป็นบุคคล 4 ประเภทในโลกนี้ ซึ่งในพระบาลีมีแสดงไว้ว่า

“ตโม ตมปรายโน” ผู้มืดมามืดไป
“ตโม โชติปรายโน” ผู้มืดมาสว่างไป
“โชติ ตมปรายโน” ผู้สว่างมามืดไป
“โชติ โชติปรายโน” ผู้สว่างมาสว่างไป

ทั้ง 4 ประเภท เปรียบเทียบคนเราทั้งหมด จะเป็นหญิงก็ตาม ชายก็ตาม เกิดมาแล้วในโลกมีลักษณะเป็น 4 ประการ

ประการที่ 1 “ตโม ตมปรายโน”

ผู้มืดมามืดไป คนทั้งหลายเหล่าใด ไม่มีศีลธรรมประจำใจ เป็นชายก็ตามหญิงก็ตาม อยู่ในสกุลใดก็ตาม จะเป็นผู้สูงศักดิ์หรือต่ำต้อยก็ตาม เกิดมาแล้วส่วนตนไม่ได้กระทำคุณงามความดี ไม่ประกอบกรรมอันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่คิดดี ไม่พูดดี ไม่ทำดี ไม่คบหาคนดี ไม่ส่งเสริมคนอื่นให้กระทำคุณความดี มีแต่ความคิดอ่านสิ่งที่เป็นบาป คิดร้ายต่อคนอื่น พูดจากล่าวหาว่าร้ายผู้อื่น ใจบาปหยาบช้า ทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่นอยู่เนื่องนิตย์ ในที่สุดแม้มีอายุมากแล้ว ก็ยังไม่กลับเนื้อกลับตัว ประพฤติตนอยู่อย่างนั้นไม่จบไม่สิ้น ครั้นสิ้นชีพไปแล้วจะไปสู่อบายภูมิ อันนี้ท่านเรียกว่า “ผู้มืดมามืดไป” ท่านเปรียบไว้กับบุคคลอย่างนี้ว่า “ต้นก็คด ปลายก็คด” ตลอดชีวิตหาความดีไม่ได้ และหาความสุขไม่เจอ (คนใจบาปหยาบช้าต่ำต้อยน้อยวาสนา)

ประการที่ 2 “ตโม โชติปรายโน”

ผู้มืดมาสว่างไป บุคคลชายก็ตามหญิงก็ตาม บางคนในโลกนี้เกิดมาแล้ว ในตระกูลที่ต่ำต้อยประกอบกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าลามก ไม่มีศรัทธาในสิ่งที่เป็นความดีงาม ไม่เคารพในบุญทานการกุศลใด ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมด้วยความไม่ผ่องใส โดยประการทั้งปวง ในเบื้องต้นฯ แต่เมื่อมีชีวิตเติบโตขึ้นได้รับการศึกษาพอสมควร หรือได้รับคำแนะนำอบรมพร่ำสอนถอนตนออกให้ไกลจากบาป พิจารณากลับตนเสียใหม่จากร้ายให้กลายเป็นดี จากมืดให้เป็นสว่าง หมั่นประกอบคุณงามความดีที่ยังไม่มี ให้มีขึ้น กุศลเจตนาใดๆ ที่มีอยู่แล้ว เพราะเพิ่มเสริมสร้างให้มากยิ่งขึ้น บริบูรณ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนเกิดความร่มเย็นเป็นสุขในบั้นปลายในชีวิต ได้รับความผาสุกด้วยประการต่างๆ ครั้นเมื่อสิ้นชีพไปแล้วก็ไปสู่สุคติ ซึ่งท่านเปรียบเทียบบุคคลเช่นนี้ไว้ว่า “ต้นคดแต่ปลายตรง” เรียกว่าในชีวิตนี้เกิดมาใช้ได้ไม่เสียที ไม่เสียชาติเกิด

ประการที่ 3 “โชติ ตมปรายโน”

ผู้สว่างมามืดไป บุคคลบางคนที่เกิดมาแล้ว ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากสิ่งแวดล้อมดี เบื้องต้นมีความประพฤติดี มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ประพฤติตนตามคลองธรรม มีจิตใจเป็นกุศล มีความคิดความตั้งใจดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพต่อความดีของบรรพชน

แต่บั้นปลายแห่งชีวิต ละทิ้งบุญกุศลและวาสนาบารมีของตน ไปประพฤติในอกุศลเกลือกกลั้วตนอยู่ในสังคมบาป ประพฤติตัวชั่วช้า คือละบุญไปบำเพ็ญบาป ครั้นสิ้นชีพแล้ว จิตใจก็เศร้าหมองสู่อบายภูมิ นี้เรียกว่า “สว่างมามืดไป” แม้มีชีวิตอยู่ก็ลำบาก จึงเรียกผู้นี้ว่า “ผู้สว่างมามืดไป” หรือ “ต้นตรงปลายคด”

ส่วนประการที่ 4 “โชติ โชติปรายโน”

ผู้ที่สว่างมาสว่างไป บุคคลนี้กล่าวโดยสั้นๆ ก็คือ ผู้มีบุญญาธิการถึงแม้เกิดมาแล้วจะมีภาวะอย่างไร ครอบครัวจะตกอยู่ในสภาวะยากจนอย่างไร แต่ก็ไม่ท้อถอย มีสติปัญญา มีมานะอุตสาหะรู้จักประมาณในสิ่งต่างๆ ได้ดี ทำให้ชีวิตของตนได้รับความราบรื่นร่มเย็นเป็นสุข มีแก่นสารในชีวิตบั้นปลาย ทั้งในฐานะและในคุณธรรม สร้างสมคุณงามความดี ให้เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเป็นต้น บุคคลเช่นนี้ ชื่อว่าหายากที่สุด ได้นามว่า “โชติ โชติปรายโน” หรือ “ต้นก็ตรงปลายก็ตรง”

พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเทียบบุคคลทั้ง 4 ประการนี้ก็เพื่อแสดงเครื่องหมายปรากฏแห่งกรรมที่กระทำไว้ในปัจจุบันบ้างในกาลก่อนบ้าง คนเราเกิดมาสิ่งที่จะเห็นไปต่างๆ ก็ด้วยอำนาจแห่งกรรม คนเราเกิดมาหวังปรารถนาความดีความสุข และตายแล้วอยากขึ้นสวรรค์ อยากไปสวรรค์ อยากไปเกิดบนสวรรค์

แม้ผู้นั้นจะเป็นโจรผู้ร้ายก็ดี ก็หวังความปรารถนาเป็นสุข แม้ผู้นั้นจะเป็นสมณะพราหมณ์ ออกบวชในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีความปรารถนาเหมือนกัน แต่ย่อมเป็นไปได้หรือไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปได้ตามความประสงค์ ก็ต้องกระทำให้เกิดมีขึ้นให้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นควรทำความดีให้เกิดมีขึ้น มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า "ยสยาโลกวตฺถโน" เกิดมาแล้วควรทำแต่ความดี แปลอย่างนี้ก็ได้ เกิดมาแล้วอย่าเป็นคนรกโลก เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว จึงควรทำความดีให้เกิดมีขึ้น คือบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ตาม สภาวธรรมที่เป็นจริง จึงควรไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบ การทำความดี ย่อมยังความสุขให้แก่ตนและผู้อื่น และแก่โลก แม้ล่วงลับดับชีพดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม แต่ความดีไม่ดับ ความดีไม่เสื่อมสลาย ความดีตั้งอยู่ในฐานะแห่งความมั่นคง ไม่สูญสลายไปจากโลกดังมีพุทธภาษิตว่า “รูปํ ชีวติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ นชีวติ” รูปร่างสรีระร่างกายแตกสลายไปได้ แต่ความดียังคงไว้ เพราะเหตุแห่งความดีด้วยประการฉะนี้

สอง – สาม อาทิตย์นี้ ยังอยู่เมืองไทยได้มาร่วมบุญผูกพัทธสีมา ร่วมสมทบทุนสร้างพระอุโบสถ วัดวังหิน อ. เมือง จ.พิษณุโลก ทำตามสัญญากับพระอาจารย์บุญพิทักษ์ สุนฺทโร (วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า) กรรมการกองอำนวยการแจ้งว่า เป็นแบงค์ USD จาก แคลิฟอร์เนีย $100.00 แบงค์แรก ในงาน ขอร่วมภาคภูมิใจกับผลงานที่สมบูรณ์ธรรมเป็นที่สุด ขอบพระคุณท่านบุญพิทักษ์มากๆ ที่นำบุญมาให้ได้ร่วมอนุโมทนา แต่ก็สัญญาว่าจะมาสวดมนต์ข้ามปีที่วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ในวันที่ 31 ธันวาคม ศกนี้ แน่นอน ก็ขอตั้งกัลยาณจิตให้ทุกคนทุกท่านได้เห็นผู้มีส่วนแห่งบุญนี้ด้วย สาธุๆ