ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



วิเวกกาย วิเวกธรรม

กายวิเวก ปลีกกาย สำรวมครบ

จิตตเวิก เสกสงบ นิวรณ์ไว้
หักสังโยชน์ ละบ่วง ห่วงทางใจ
อนุสัย ขัดเกลา เข้าเพ่งฌาน ฯ

อุปธิวิเวก สภาพธรรม อันทรงไว้
พันผูกใจ กำหนดเน้น เห็นสังขาร
มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ มิได้นาน
ยกจิตสู่ พระนิพพาน นั้นยอดใจ


สาธุชนพุทธบริษัท ท่านผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย มีคำถามว่า วิเวกกาย วิเวกธรรม ควรนับธรรม 2 อย่างนี้เป็น "ปรมัตถธรรม" ได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องเข้าใจปรมัตถธรรมให้ได้โดยประการทั้งปวงก่อน ฉบับที่แล้วกล่าวไว้ว่า ปรมัตถธรรม หมายถึง จิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน อยู่นะ แล้วไหนเลยเราจะนับธรรม 2 อย่างนี้เป็นปรมัตถ์ไม่ได้เล่า จริงไหม?

เอาเป็นว่านับได้ เป็นได้ ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม คือบางครั้งต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า ธรรมะสมสมัยเป็นคอลัมส์ธรรมะที่เกิดโดยสภาวะนั้นๆ มิได้จัดเป็นการเรียบเรียงเนื้อเรื่องให้สัมพันธ์ทางวิชาการจนกระทั่งครบถ้วน อาจบอกว่าเห็นอย่างไรเขียนไปตามที่เห็น ตามสถานการณ์นั้นๆ เป็นปัจจุบันบ้าง อดีตและปัจจุบันบ้าง อยากเรื่องวิเวก 3 นี้เห็นว่าเป็นประโยชน์เป็นปัจจุบันก็นำมาสาธิต เล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามที่เข้าใจ


การมีวิเวกเป็นประโยชน์อย่างไร

1. ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ร่างกายที่สงบสำรวมเป็นการเกิดจากอำนาจทางจิตเข้าควบคุมไว้ได้ เช่น กินน้อย นอนน้อย เคลื่อนไหวน้อย การทำงานของร่างกายย่อมสร้างเซลเข้าซ่อมแซมส่วนที่สึกหลอได้ดี อย่างการคลายกร้ามเนื้อก็ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวน้อย แต่ว่าต้องให้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ลดแรงกระแทกเสียดทานรับน้ำหนักมากๆ อาจพอเทียบได้กับการรำมวยไท้เก๊กเป็นต้น

2. ทำให้จิตใจได้ผ่อนคลาย การปฏิบัติธรรม การเพ่งดูการเคลื่อนไหวของจิต การเจริญสมาธิภาวาน ทั้งหมดคือ การลงมือปฏิบัติจริง การบรรลุมรรค ผล นิพพานก็เกิดขึ้นได้จริง

3. การมีวิเวกเป็นผลเชิงบวกทางจิตใจ ปัจจุบันนวัตกรรมทางวัตถุเจริญมาก ขณะเดียวกันความแกร่งแย่งแข่งขันกันก็มาก ความต้องการมาก ความโลภก็มากด้วย โลภเกิดได้ หลงก็ตามมา โทสะก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา การมีวิเวกจึงจัดว่าเป็นพลังเชิงบวกสามารถช่วยสังคมได้

4. การมีวิเวกเป็นการจัดระเบียบทางพฤติกรรมทางกาย - ทางจิต ได้ที่ดีที่สุด การศึกษารู้เรื่องจิต ปล่อยวางจิต ต่อสิ่งที่ครอบงำ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกเป็นลบ ยกจิตขึ้นให้เหนือจากสุข และทุกข์ได้ นับว่าเข้าใจความหมายของการปลีกวิเวกได้อย่างลึกซึ้ง

5. วิเวกโดยปรมัตถ์แล้วเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ด้วยวิเวกคำนี้เป็นหนึ่ง ของกระบวนการ พัฒนาจิตก้าวสู่พระนิพพาน อันเป็นความสงบระงับดับเย็นนั่นเอง


พุทธอุทาน 4

1. สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส ความสงัดเป็นสุขของผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏเห็นอยู่

2. อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก ความไม่พยาบาท คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายเป็น สุขในโลก

3. สุขา วิราคตา โลเก ความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามเสียได้เป็นสุข ในโลก

4. อสฺสมิมานสฺส โย วินโย การกำจัดอัสมิมานะเสียได้นั่นแลเป็นสุขอย่างยิ่ง


สรุปวิเวก 3

วิเวก 3 ความสงัด, ความปลีกออก

1. กายวิเวก ความสงัดกาย ได้แก่ อยู่ในที่สงัดก็ดี ดำรงอิริยาบถและเที่ยวไปผู้เดียวก็ดี

2. จิตตวิเวก ความสงัดใจ ได้แก่ทำจิตให้สงบผ่องใส สงัดจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตแห่งท่านผู้บรรลุฌาน และอริยมรรค อริยผล

3. อุปธิวิเวก ความสงัดอุปธิ ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง ปราศจากกิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ที่เรียกว่าอุปธิ หมายเอาพระนิพพาน นั่นเทียวฯ

ธรรมะฉบับนี้ ขอเชิญชวนมวลชนศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าฉลอง 12 นักษัตร ประจำราศี เกิด ถวายบำรุงค่าน้ำ - ค่าไฟ เสริมศิริมงคล ตลอดปีนักนักษัตร 2566 กองละ $10 เหรียญ หรือถวายตามกำลังอันจะพึงกระทำได้ บุญทอดผ้าป่าโบราณกล่าวไว้ถวายได้ทุกวัน ส่วนบุญทอดกฐินต้องเป็นฤดูกาลตามพระบรมพุทธานุญาต และผู้มีจิตศรัทธาสามารถส่งเช็คร่วมทำบุญได้ที่ 6763 E AVENUE H., LANCASTER, CA 93535-7849 Donation check payable to "Buddhist Meditation Society" ส่วนท่านที่ต้องการทำบุญ Sand money with zelle To: 562 249 3789 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 562 249 3789 รูปขอจำเริญพร