ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อนวัชชกรรม = การงานไม่มีโทษ

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนผู้มีความยินดีในธรรมทุกท่าน การกระทำที่เราท่าน ได้กระทำลงไปทุกสิ่งอย่างนั้น ล้วนเป็น "กรรม" ส่วนจะมีผลให้ดีให้เลว ให้สูงให้ต่ำอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่ว่ากรรมนั้นให้ผลเป็นอย่างไร เช่น

- กรรมดำ มีผลดำ เรียกว่า สาวัชชกรรม

- กรรมขาว มีผลขาว เรียกว่า อนวัชชกรรม

ชนทั้งหลายส่วนมากเกลียดและตำหนิกรรมดำอันเป็นสาวัชชกรรม และชนทั้งหลายต่างนิยมชื่นชมพอใจกับผู้ประพฤติกรรมขาว อันเป็นอนวัชชกรรม ความว่ากรรมดำ มีผลดำ กรรมขาว มีผลขาว สำหรับผู้แสวงความหลุดพ้นย่อมมองกรรม 2 อย่างนี้ไปสู่การ ละเว้น ปลง วาง เพื่อบรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งกรรมดำและกรรมขาว

ส่วนกรรมที่กระทำแล้วไม่มีโทษ เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อสงบสันติทางสังคม มีตัวอย่างของการงานที่ไม่มีโทษไว้ประการ เช่น

- มนุษยธรรม ตั้งตนได้โดยชอบในเบญจศีล - เบญจธรรม เช่น ตั้งจิตเจริญอยู่ในธรรมฝ่ายเมตตา ไม่ฆ่าชีวิตผู้อื่น

- อุโปสถกรรม รักษาศีลอุโบสถ หรือศีล 8 คือเคร่งครัดจากศีล 5 เพิ่มขึ้น คือ ไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล, ไม่ฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีดูการละเล่นต่างๆ ไม่ใช้เครื่องสำอางเครื่องประดับประทินผิวต่างๆ และไม่ใช้ที่นอนสูงใหญ่เกินขนาด

- ไวยาวัจกรรม การช่วยเหลือในกิจการงานของผู้อื่นด้วยความยินดี มีน้ำใจ เช่น ช่วยเพื่อนบ้าน ช่วยสังคม สร้างประโยชน์สาธารณสถานต่างๆ เช่น ซ่อมถนนหนทางที่เดินทางสัญจรส่วนรวม ดูแลไม่เกิดอันตราย เช่นการพบเห็นล้อยางรถตกวางอยู่กลางทาง หรือมีท่อนไม้ มีเศษเหล็กเศษตะปู ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ สะพานหักพักชำรุด ศาลาพักคนเดินทางไม่สะอาด มีโอกาสทำเองได้ให้ทำ ไม่มีโอกาสเองก็ให้ปจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เป็นต้น

- ปลูกต้นไม้ เช่น ปลูกต้นไม้ริมทางให้คนได้พักอาศัยร่มเงา ปลูกสวนพฤกษชาติ ปลูกต้นไม้เป็นวนอุทยาน แต่งตัดกิ่งจัดรมณียะให้เป็นที่น่าทัศนาแก่ศาสนสถาน หรือสวนชุมชน ร่วมมือพร้อมใจกันในโอกาสต่างๆ เช่น วันจิตอาสาแห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ เป็นต้น

การงานเหล่านี้ ถือว่าเป็นการงานที่ไม่มีโทษ การงานที่ไม่มีใครต้องให้ค่าจ้างรางวัล แต่ทำด้วยใจยินดี เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม เรียกว่า อนวัชชกรรม หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ งานสุจริตทุกประเภทชื่อว่าการงานไม่มีโทษ


องค์ประกอบอนวัชชกรรม

วิธีพิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่งานที่ไม่มีโทษนั้นต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ

1. ไม่ผิดกฎหมาย

2. ไม่ผิดประเพณี

3. ไม่ผิดศีล

4. ไม่ผิดธรรม


ประโยชน์หรืออานิสงส์แก่ส่วนรวม

อนวัชชกรรม หรืการงานที่ปราศจากโทษนั้น ก่อนทำต้องใคร่ครวญเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการละเมิด ไม่เป็นอันตรายต่อตนและบุคคลอื่น ปัจจุบันสังคมยิ่งเข้าใจยากอยู่ การทำหน้าที่พลเมืองยิ่งต้องรอบคอบ แต่ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยให้คุณธรรมอันเป็นมงคลนี้หายไปจากมงคลสูตร ด้วยอนวัชชกรรม เป็นมงคลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นนมงคลอันควรยกย่องเชิดชูแก่ผู้กระทำบำเพ็ญประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสคาถาสรรเสริญงานไม่มีโทษไว้อีกว่า

อุฏฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน

สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.

ยศย่อมเจริญมาก แก่บุคคลผู้ขยัน ผู้มีสติ ผู้มีการงานสะอาดผู้ใคร่ครวญจึงทํา ผู้สํารวมระวัง ผู้เป็นอยู่ด้วยธรรม และเป็นผู้ไม่ประมาท ดังนั้นการทำงานที่ไม่มีโทษจึงเป็นอุดมมงคลข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา อีกประการหนึ่ง การสร้างสุขพลานามัยให้เข้มแข็ง ภาวะที่จิตผ่อนคลาย ร่างกายก็ผ่อนคลาย การยกระดับจิตใจ คือการพัฒนามนุษย์


สุขของฉัน นั้นหรือ คือทำงาน
ทำที่นี่ ที่บ้าน หรือที่ไหน
ด้วยทราบดี งานที่ ทำด้วยใจ
ให้ความสุข ยิ่งใหญ่ ได้ปราโมทย์ ฯ

อนวัชชกิจ เรียบง่าย ใช้โอกาส
ช่วยงานวัด พร้อมใจ ได้ประโยชน์
มากปีติ ดื่มด่ำ ธรรมปราโมทย์
จิตผ่องโชติ สว่างใส ใจร่มเย็น ฯ


สนใจปวารณาตนไปช่วยกิจการงานจิตอาสา (อนวัชชกิจ) กับทางวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี หรือต้องการส่งเช็คไปร่วมบุญก็ส่งไปได้ตามที่อยู่นี้ (Payable to Buddhist Meditation Society) 6763 E Ave. H, Lancaster, CA 93535 โทร. (562) 249-3789 รูปขอจำเริญพร