ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ปัญญา อริยทรัพย์ที่กำลังหายไป

พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นัตถิปุตตสมสูตรที่ 3 [28] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลาย มีทะเลเป็นอย่างยิ่ง ฯ [29] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม ฯ

นฺตถิ ปญฺญา สมาอาภา แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี

ปัญญา เป็นแสงสว่างทางชีวิต เพื่อก้าวเดินจากมุมมืด จากอวิชชา คือความไม่รู้ ไปสู่เส้นทางที่มั่นคง ปลอดภัย ราบรื่น ไม่ขรุขระ ไม่สะดุดชะงัก สงบสันติ และมีความสุข สำหรับพุทธศาสนิกชนแล้ว ความสุขที่แท้ คือ ความพ้นทุกข์ อาจมีบางท่านที่มีความเชื่อว่าเงินเป็นปัจจัยให้ได้ทุกสิ่ง มีเงินแล้วจะทำอะไรๆ ก็สะดวกสบายทุกสิ่งอย่าง อาตมาว่านะ นั้นเป็นความสุขคนละความหมายกัน ดูสิ ทั้งๆ ที่คุยกันเรื่องเดียวกัน แน่นอนเงินทองเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีพ

การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีบริบทมากมายตามช่วงของชีวิตเข้ามากระทบ ยิ่งเติบใหญ่ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก ความคาดหวัง สังคมและครอบครัว สภาพแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บ ความยากแค้นลำเค็ญ ฯลฯ โดยบริบทเหล่านี้ จะมากระทบอารมณ์ทั้งกาย และจิตใจ

สุขภาวะทางปัญญา จึงขึ้นอยู่กับฐานของการพัฒนามนุษย์ 3 ฐาน คือ ฐานทางวัฒนธรรม ฐานทางปัญญาธรรม และฐานทางคุณธรรม และตัวคุณธรรมนี้เองที่เป็นเครื่องชี้วัดให้ทราบถึงปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่จะเป็นที่พึงพาอาศัยไปสู่เป้าหมายสูงสุกได้

สุขภาวะทางปัญญาที่มีฐานทางวัฒนธรรม หมายถึงวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ คตินิยม ประเพณี ที่คนแต่ละรุ่นได้ถ่ายทอด อบรมเลี้ยงดู สั่งสอนกันมา และมีอิทธิพลจนเป็นหลักคิดที่จดจำ นำมาปฏิบัติ และเกิดความสบายใจ เช่น ความคิดเรื่องขวัญ ซึ่งเป็นแกนของจิตวิญญาณในแต่ละหมู่ชน คนที่มีความทุกข์ย่อมเสียขวัญ ขวัญหาย จึงต้องเรียกขวัญ บำรุงขวัญ สร้างขวัญ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ความปลอดภัย และมีกำลังใจ เกิดเป็นประเพณี พิธีกรรม และกระบวนการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันในสังคม การสร้างสุขภาวะทางปัญญาตามฐานทางวัฒนธรรม จึงต้องมีการฝึกคิดด้วยเหตุผล แสวงหาคุณค่าแท้ มีความพอควรพอดีกับสถานภาพของตนและครอบครัว มิฉะนั้นบุคคลจะหลงทาง ถูกกระตุ้นด้วยความโลภและหลงผิดได้ง่าย

สุขภาวะทางปัญญาที่มีฐานทางปัญญาธรรม คือ สุขภาวะที่เกิดจากความรู้คิด รู้ความจริง และรู้ถูกทาง เป็นฐานของการเรียนรู้ อย่างเช่น ประสบการณ์ชีวิตที่ถูกแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบ ปัญญาทางธรรมจะประมวลประสบการณ์ให้เกิดคุณธรรม "หรือหากอริยทรัพย์ (คือ ปัญญา) ที่กำลังหายไปนั้น ถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำชักจูงให้ต่ำต้อย ก็จะกลายเป็นว่า ประสบประการณ์อย่างเลว เพราะไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของเขาอย่างไร"

นักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ รู้สึกหมดหวังในชีวิต มีความทุกข์แสนสาหัส เพราะไม่รู้ว่ายังมีเส้นทางอื่นอีกมากมายที่เขาจะก้าวเดินต่อไปได้ ประตูชีวิตจึงปิดสนิท และตัดสินใจฆ่าตัวตาย คนเป็นอันมากไม่รู้ว่าต้องทำอะไรอย่างไรจึงจะหายจน แม้แต่คนรวยก็ไม่มีความสุข เพราะอยากได้อยากมีมากขึ้นไปอีก

ฐานของความไม่รู้จึงเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ ในขณะที่ฐานของความรู้เป็นบ่อเกิดของความสำเร็จ ฐานความรู้ จึงมิใช่ฐานวิชา ที่ร่ำเรียนจากในตำรา แต่เป็นฐานวิชชาหรือปัญญา ที่ความรู้สามารถแสวงหาได้จากทุกหนแห่ง

สำหรับสุขภาวะทางปัญญาที่มีฐานทางคุณธรรมนั้น จะนำไปสู่ความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุขของชีวิต การปฏิบัติธรรม รักษาศีลให้ครบอย่างน้อยเบญจศีล การฝึกสติให้มีสมาธิตั้งมั่น การคิดดี คิดถูกต้องแยบคาย จึงนำไปสู่การทำดี คบคนดี อยู่ในสถานที่ดี สรุปได้ว่า คือการเว้นชั่ว ทำดี จิตจึงจะบริสุทธิ์ และลดความขุ่นข้องหมองเศร้าลงไป

สุขภาวะตามฐานทางวัฒนธรรม ปัญญาธรรม และคุณธรรมนี้ มิได้แยกตัดขาดออกจากกัน หากแต่เชื่อมโยงผสมผสานกลมกลืนกันโดยตลอดดังสายน้ำ จึงเป็นสุขภาวะทางปัญญา (หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ) อย่างแท้จริง

สายธารของสุขภาวะทางปัญญา เริ่มต้นจากความรู้ (ธาตุรู้ หมายถึง การรู้จักตัวเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และบริบททั้งหมด) ของบุคคลซึ่งเป็นองค์รวมของข้อมูล ข่าวสาร ความเข้าใจ และเข้าถึงตามความเป็นจริง เมื่อรู้จริงในสิ่งใด ย่อมเกิดความตระหนักในสิ่งนั้น เช่น ตระหนักในคุณค่าของตนเองและคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งมวล ตระหนักในหน้าที่และบทบาทของตนในสถานะต่างๆ เช่น เป็นบุตร เป็นภรรยา เป็นครูอาจารย์ เป็นศิษย์ ฯลฯ ตระหนักในหน้าที่ ในสภาวะที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ และตระหนักในความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อพ้นทุกข์และพบสุข

เมื่อบุคคลใดมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมเกิดจิตสำนึก ความรับผิดชอบ ที่จะต้องแสวงหาแนวทางหลากหลายเพื่อนำไปสู่สุขภาวะ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ต้องเป็นกุศล และใช้ธรรมะเป็นเหตุผลและเป็นส่วนประกอบ จิตสำนึกจึงทำให้บุคคลรู้ตัว รู้เขา รู้จักชีวิตตามความเป็นจริง ทำให้บุคคลถือเป็นหน้าที่ที่ตนเองจะต้องมีส่วนร่วม ทั้งร่วมทุกข์และร่วมสุข ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สำคัญต้องร่วมจิตร่วมใจกับผู้คนในสังคม ทำให้วิธีการคิดและวิธีการสร้างสุขภาวะ ก้าวพ้นจากความสุขส่วนตนไปรวมกับความสุขของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและเกิดสังคมแห่งสันติ

จิตสำนึกยังช่วยเหนี่ยวรั้งอารมณ์มิให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแค่เพียงชั่วแล่น บุคคลที่ฝึกจิตสำนึกอยู่เสมอ จึงมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม มีเหตุผลทางกุศลธรรมที่จะทำดี ทำชอบ เป็นสัมมาปฏิบัติ จึงทำให้เกิดความเข้าใจและเข้าถึงความจริงได้มากขึ้น มีการมองโลก มองชีวิตตามความเป็นจริง อันเป็นต้นทางของการคิดอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง แยบคาย นำไปสู่สุขภาวะทางปัญญาที่คงทนยาวนาน

ปัญญาจึงไม่ใช่การทำงานของสมองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานของจิตควบคู่กันไปด้วย ดังที่เราอาจเรียกว่า จิตตปัญญา หรือ จิตปัญญา ดังนั้น การพัฒนาความรู้และความคิดตามนัยของพระพุทธศาสนา จึงต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติภาวนาเพื่อพัฒนาจิตเสมอ

นอกจากนี้ สุขภาวะทางปัญญายังมีจุดเริ่มต้นได้อีกเส้นทางหนึ่งคือ ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ความชื่นชม ความเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ คนที่มีศรัทธาย่อมมีสิ่งยึดเหนี่ยว แรงบันดาลใจ และความคาดหวัง บุคคลที่โดดเดี่ยวที่สุด คือผู้ที่ไม่มีศรัทธาต่อใครและสิ่งใดเลย ยกเว้นศรัทธาต่อตนเองเท่านั้นว่าดีเลิศ เมื่อหมกมุ่นกับตนเอง จึงคิดเห็น ทำในกรอบของตนเอง เห็นแก่ตัวเอง ขาดแรงจูงใจที่จะแสวงหาและค้นคว้าให้รู้จักสิ่งแวดล้อม และสังคมรอบตัว จิตจึงคับแคบ ไม่เปิดกว้างให้กับความดีงามใดๆ เข้ามา ปัญญาจึงเกิดน้อย และอกุศลมูลเข้ามาเหยียบย่ำได้ง่าย

คนที่มีศรัทธาย่อมมีวิธีคิดทางบวก ใช้เหตุผล มองโลกอย่างสร้างสรรค์ ชีวิตจึงปลอดภัยโปร่งโล่งเบา แม้เมื่อเผชิญปัญหาและความยากแค้น จะมองปัญหาเป็นบทเรียน พร้อมที่ต้องเผชิญ ผจญ ต่อสู้ โดยผสมผสานวิธีการต่างๆ เพื่อเผด็จปัญหานั้นๆ ซึ่งเป็นดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ว่า เป็นการใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา

สุขภาวะทางปัญญา จึงเป็นองค์รวมของความรู้ ความคิด และความดีที่มีสติกำกับ คำไทยจึงใช้ว่า “สติปัญญา”

สติปัญญา จึงแตกต่างจากเชาว์ปัญญา หากแต่เป็นความรู้จริง รู้แท้ ผสมผสานกับคุณธรรมที่กลมกลืนกัน ทำให้ชีวิตดำเนินไปพ้นจากความมืดและความเขลา

สุขภาวะทางปัญญา จึงหาซื้อไม่ได้ ต้องคิดเอง ปฏิบัติฝึกฝนตนเองในทางที่ถูกต้องจึงจะเกิดขึ้นได้

ชื่อว่าแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ถึงแม้จะเป็นดวงอาทิตย์เป็นต้น ก็ย่อมส่องแสงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือย่อมกำจัดความมืดอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น.

ส่วนปัญญาย่อมสามารถเพื่อทำโลกธาตุตั้งหมื่นให้เป็นแสงสว่างอันประเสริฐ หาสิ่งอื่นเสมอมิได้ ทั้งย่อมกำจัดความมืดอันปกปิดในกาลอันเป็นส่วนแห่งอดีตเป็นต้นได้ด้วย.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสตอบถ้อยคำของเทวดา จึงตรัสพระคาถาว่า

ความรักเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ฝนเท่านั้นเป็นสระอันยอดเยี่ยม ดังนี้แลฯ

ปัญญาเป็นทรัพย์ที่ผู้มีบุญเท่านั้นที่จะรักษาเอาไว้ได้ อย่าให้อริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐที่มีในตัวของเรานั้นหายไปจากกรอบคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเลย จำเริญพรฯ