ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



"ชีวิต เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก จริงหรือ?"

โลกยุคมืดยุคหินก็ว่าเข้าใจยาก การศึกษาเก็บข้อมูลยังพอนิยามได้ ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง มาถึงโลกทุกวันนี้ยิ่งเข้าใจยากยิ่งกว่า โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความจริงมันเลยเปลี่ยน การดำรงชีวิตก็เปลี่ยน ไปตามความจำเป็น "ทุกสิ่งมีค่า เมื่อจำเป็น" อาตมาเป็นพระภิกษุ ดังนั้นการได้บอกกล่าวเล่าธรรม เพื่อประโยชน์สุขประเทืองปัญญาก็มีความสุข ดำริอยู่เสมอว่า "เพราะนี่เป็นหน้าที่ที่เราต้องกล่าวนำ พร่ำสอน ให้เกิดข้อคิดข้อธรรม เป็นแนวทางให้เกิดคุณความดีเป็นจริยศาสตร์สุนทรียธรรมเป็นกุศลต้นแบบเท่าที่จะสามารถทำได้

การศึกษาแนวพุทธกล่าวถึงชีวิตไว้อย่างน่าอัศจรรย์ว่า ชีวิตของคนเรานั้น มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเรื่องราว จนบางครั้งก็อดย้อนถาม หรือแสวงหาคำตอบไม่ได้ว่า ชีวิตคืออะไร หลักศาสนาพุทธเราได้แสดงถึงความเป็นไปของชีวิต ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ถึงแม้เวลาที่ล่วงเลยมานับพันปี หลักธรรมคำสอนก็ยังไว้ซึ่งความจริงแท้ หลักธรรม กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ผู้รู้ท่านสรุปหลักธรรม อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงการเรียนรู้เข้าใจชีวิตของตนๆ ไว้อย่างน่าอัศจรรย์ เรียกว่า พุทธธรรม โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นไปอย่าง และชีวิตควรเป็นไปอย่างไร ในแต่ละส่วน หากท่านต้องการศึกษาเพิ่มเติมนั้น มีแหล่งความรู้อยู่รอบตัวมากมาย แต่ความหมายที่ต้องการมุ่งเน้น คือให้ปฏิบัติขัดเกลาศึกษาธรรมด้วยตัวเราๆ ท่านๆ เอง ต้องเจริญสมาธิภาวนาดูลมหายใจของตนๆ เลื่อยไปก็จักเห็นคุณค่าแท้ของชีวิต อาตมาเรียก "แก่นชีวิต"


ส่วนที่ 1 ชีวิตคืออะไร

สิ่งมีชีวิต นั้นประกอบด้วย ปัจจัย 5 อย่าง (ซึ่งรวมเรียกปัจจัยเหล่านี้ว่า ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) คือ

ร่างกาย ศีรษะ ลำตัว แขน ขา พร้อมทั้งอวัยวะต่างๆ (รูป)

สุข ทุกข์ ร้อน หนาว อบอุ่น สบาย เมื่อยล้า ความรู้สึกต่าง ๆ (เวทนา)

การจดจำ ความกำหนดได้หมายรู้สิ่งต่างๆ (สัญญา)

ความคิด ความรู้ การตัดสินใจ และ สัญชาติญาณ การจินตนาการปรุงแต่งๆ (สังขาร) และ

การมองเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน รู้รส ธรรมชาติการรับรู้อารมณ์ ประสาทสัมผัสต่างๆ (วิญญาณ)

ปัจจัยเหล่านี้แหละที่เป็นต้นเรื่องของชีวิต เพราะการยึดติดกับปัจจัยทั้ง 5 เช่น ฉันต้องสวยต้องสาว (หลงรูป) ฉันชอบสนุก ฉันมีความสุข ฉันทุกข์ ฉันเศร้า (หลงเวทนา) ฉันต้องมีเกียรติ ต้องเก่ง ต้องดี (หลงสัญญา) เป็นต้นฯ นั้นเรียก ความไม่รู้แจ้งในความจริงของชีวิต และมักจะมีคำถามมาว่า ฉันเกิดมาทำไม บางทีพาลโทษไปถึงพ่อถึงแม่ว่า ทำให้ฉันเกิดมาทำไม ที่สุดก็คือ......(ทุกข์)


ส่วนที่ 2 ชีวิตเป็นอย่างไร

ชีวิตเรานั้นเป็นอยู่ด้วยเปลี่ยนแปลง จากวัยสู่วัยเป็นไปตามกาลเวลา

"ร่างกายเปลี่ยนจากเด็กก้าวสู่ความเป็นหนุ่มสาว เรียกปฐมวัย"

"เปลี่ยนจากความเป็นหนุ่มสาวก้าวสู่วัยชรา เรียกมัชฌิมวัย"

"เปลี่ยนจากวัยชรานั้นแล้ว ทุกชีวิตต้องก้าวสู่เชิงตระกอน เรียกปัจฉิมวัย หรือวัยกล้วยไม้" (ใกล้ม้วย)

ความสุขความทุกข์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป วันละร้อยครั้งพันหน ความจำที่มีบ้าง เลอะเลือนสับสนบ้าง ตามสภาวะอารมณ์และวัย ความคิดการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลง คือความไม่แน่นอน (อนิจจัง) ความทุกข์ที่สูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปราศจากการควบคุม (ทุกขัง) และการที่ทุกอย่างต้องดับสูญไปตามกาลเกิดอำนาจที่จะรื้อรังยั้งยึดไว้ได้ (อนัตตา) รวมเรียกว่า ไตรลักษณ์ คือความจริงของชีวิต อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน


ส่วนที่ 3 ชีวิตเป็นไปอย่างไร

ชีวิตดำเนินไปตาม โดยอาศัย ร่างกาย ความรู้สึก ความจำ ความคิด และประสาทรับรู้ของชีวิตต่างๆ เดินเรื่องไปตามความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน ในกระบวนการเป็นไปของชีวิต ดังนี้

ความเข้าใจผิดว่าความสุขล้วนได้จากความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความบันเทิง จึงทำให้ขาดสติควบคุม ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ แต่ไม่ว่าจะสมหวัง หรือผิดหวัง ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง และเริ่มใหม่เป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบที่ยังปล่อยชีวิตไปตามความลุ่มหลงในสิ่งต่างๆ ชีวิตก็คงจมอยู่ในกองทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น

โลกธรรมนั้นย่อม มีสุข - มีทุกข์ มียศ - เสื่อมยศ มีลาภ - เสื่อมลาภ มีสรรเสริญ - มีนินทา (สุข - อยู่ที่ พอใจ ทุกข์ - อยู่ที่ ไม่พอใจ)

"ทุกข์สุข อยู่ที่ใจ มิใช่หรือ

ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุกใส

ถ้าไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ

เราอยากได้ ความทุกข์ หรือสุขเอยฯ


ส่วนที่ 4 ชีวิตควรเป็นไปอย่างไร

หันกลับมาดูว่าชีวิตของเราควรเป็นไปอย่างไร ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง อริยมรรคมีองค์ 8 นั้นก็ดีนะ ชี้ทางแห่งการพ้นทุกข์ไว้แล้วอย่างประเสริฐ เป็นบุญของทุกคนที่สามารถกระทำได้ ก็อนุโมทนาท่านเหล่านั้น และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเปลี่ยนมาคิดดีๆ กับผู้อื่นๆ เสมอๆ แล้วกล่าววาจาที่ดีๆ ไพเราะ จริงใจ ให้เกิดประโยชน์ ดำรงทำตน ดำรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดโทษกับผู้ใด รู้จักความอดทนอดกลั้นต่อสู้กับกิเลสตัณหา ความลุ่มหลง ความโกรธแค้นต่างๆ ด้วยสติตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นกุศลสร้างคุณงามความดี หากทำได้อย่างนี้ ความสุขความสงบก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภพทุกชาติตราบจนถึงกาลหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งมวล

หวังว่าจะช่วยให้บางคนมีความสุขความสงบยิ่งขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ข้อคิดวันนี้ มีว่า :-

"คิดเป็น" คิดเป็นประโยชน์แก่ตน แก่คนอื่น ปราศจากความพยาบาทจองเวร (เมตตา มโนกรรม)

"พูดเป็น" พูดเป็นประโยชน์แก่ตน แก่คนอื่น ปราศจากความอาฆาตมาตรร้าย (เมตตา วจีกรรม)

"ทำเป็น" ทำเป็นประโยชน์แก่ตน แก่คนอื่น ปราศจากการประทุษร้ายทำลาย (เมตตา กายกรรม)

"บริหารเป็น" ไม่เห็นแก่ส่วนตัวหรือพวกพ้อง แบ่งปันกันให้มีส่วนได้ใช้ โดยความเสมอภาคทั่วกัน(สาธารณโภคิตา)

"รักษาส่วนรวมเป็น" ประพฤติสุจริตดีงาม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ และไม่ทำลายหมู่คณะ (ศีลสามัญญตา)

"เคารพกันเป็น" ให้เกียรติต่อความคิดของผู้อื่น มีความเห็นชอบร่วมกัน ในเรื่องอันชอบธรรม และหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุด (ทิฏฐิสามัญญตา)


ธรรมะสวัสดี ขอจำเริญพร