ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การพิจารณา ความสุขความทุกข์

อันที่จริง ความสุข ความทุกข์ เราทุกทุกคนทุกท่านก็สัมผัสกันได้เอง บางครั้งบางที่เอาความรู้สึกของตน ๆ เป็นเกณฑ์ พอใจก็เป็นสุข ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ มโนกรรมเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนที่รวดเร็วที่สุด แล้วธรรมชาติของเราทุกคนก็แสดงผลออกมาทางกายกรรม วจีกรรม ดังนั้นวิธีการที่เราจะทำให้สุขให้ทุกข์นั้น ๆ จางคลายและดับลงอย่างสงบ ต้องอาศัยภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ต้องฝึกฝน ขัดเกลา ปลูกสร้าง สั่งสม อบรมให้กิดขึ้นมีในตนของตนเสมอ ๆ

สุข - ทุกข์ อยู่ที่ "ใจคิด" ขอทุกท่านดูแลรักษาร่างกาย - จิตใจให้อยู่ในธรรม เพื่อสันติ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตเราเองและคนรอบข้าง และเพื่อรักษาพระสัจธรรม ของพระพุทธเจ้า หลายๆ คนต่างล้วนมีปัญหาที่ไม่น่ายินดีประดังเข้ามาหาตัวอย่างไม่มีเวลาให้ตั้งเนื้อตั้งตัว บางครั้งหนักหน่วงจนแทบจะเอาตัวไม่รอด บางครั้งก็เป็นเพียงสิ่งรบกวนพอให้เกิดความรำคาญใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นผู้ก่อปัญหาขึ้นเอง แต่ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปกับปัญหาต่าง ๆ ที่วิ่งเข้ารุมเร้าโดยที่ไม่รู้สาเหตุเลยก็มี อย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า "กรรมวิ่งเข้าหา" กรรมดี ๆ มีสุขมีโชคก็ยังพอไหว หากแต่เป็นกรรมร้าย ๆ ก็พลอยให้เกิดแต่ปัญหาความทุกข์รุมเร้า

ปัจจุบันวลีที่เราทราบจากกระแสสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) "กราบรถกู" วลีนี้ยอดวิวสูงเป็นล้าน ๆ เหตุการณ์เหล่านี้ขอท่านทั้งหลายตั้งจิตไว้เสมอว่า "เราบริสุทธิ์ใจ อธรรมใด ๆ ย่อมไม่สามารถมาทำลายขันติธรรมของเราได้" โดยธรรมชาติแล้วปัญหาทุกปัญหาย่อมมีวิธีแก้ ปัญหา (อุปสรรค) ทุกอย่างล้วนเกิดจากกรรม ทุกปัญหาทุกภาระหน้าที่กรรมลิขิตทั้งสิ้น ถ้าเราอยู่ในอารมณ์วิปัสสนาก็จะรู้วิธีว่าจะระงับ จะหยุด จะดับ จะกำหนดพิจารณาอย่างไรให้ปัญหามันผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยมิให้มันขยายผลเป็นกรรมพัวพันจนกลายเป็นห่วงโซ่สังโยชน์ผูกตรึงร้อยรัดกันไป ทุกเปลาะทุกข้อทุกขั้นตอน การพูดการคิดเป็นกระบวนการในการนำไปสู่การแก้ปัญหาให้เป็นไปในระบอบของอารยะประเพณีอันดี "ใครที่คิดดีพูดดีก็บุญของเขา ใครที่คิดไม่ดีพูดไม่ดีก็บาปของเขา" จะเห็นได้ว่า สุข - ทุกข์ อยู่ที่ใจคิดจริง ๆ


ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

มีคนสองคนประสบภาวะแตกต่างกัน คนหนึ่งสุข อีกคนหนึ่งทุกข์ คนมีความสุขหน้าใสใจดีมีเมตตาจิต คิดดี พูดดี ทำดี มีคนเอาใจใส่อยากเข้าใกล้เป็นมิตร ด้วยอยู่ร่วมแล้วรู้สึกสุข รู้สึกเย็น รู้สึกผ่อนคลายจนกลายเป็นความอบอุ่น ได้รับรัสมีแห่งเมตตาบารมี ทำให้สิ่งร้าย ๆ กลายเป็นสิ่งดี ๆ ขึ้นมาในบัดดลทันใด คนดี ๆ จึงกลายเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นแบบอย่างทางจริยธรรม เป็นที่น่านั่งสั่งสนทนาทางความคิดความอ่าน และที่สุดเป็นที่พึ่งทางสังคมได้อย่างเชื่อมั่น

ส่วนอีกคนมีความทุกข์ หน้าดำคร่ำเครียดราศีหมองคล้ำ การพูด การกระทำ การคิด มีจิตใจใฝ่อกุศล พูดจาตะแบงแผงฤทธิ์ไม่รื่นโสตประสาท ผลที่สำแดงออกมาย่อมสื่อให้ผู้อื่นทราบภาวะความเป็นทุกข์ที่ตนเสวยเวทนาอารมณ์นั้น ๆ ผู้ฉลาดอาจรับรู้ได้ในเวทนาที่บังเกิดขึ้นแล้วเป็นมูล ความเด่นความด้อยทางจิตทางปัญญา ความรู้สึกนึกคิด ดูว่าสิ่งเร้าและแรงโน้มน้าว แรงจูงใจ ไหนเลยจะเท่าแรงขับที่ออกมาจากกระบวนการทางจิต ที่สามารถบันดาลให้คิด ให้พูด ให้กระทำให้ต่ำลงเลวลง บางครั้งบางทีอาจทำให้ล้มเหลวทั้งชีวิต หากจิตดวงที่คิดไม่ดีนั้นสนองผลย่อมกลายเป็นดาบสองคม หรือ การสนองกรรม และอาจทำให้เราทุกข์ทรมารไปจนเกินที่จะเยียวยา เราต้องปลูกปัญญาธรรมให้เกิดขึ้นในใจของเราให้มาก ๆ เริ่มจากความจริงใจเป็นต้นฯ


ขอยกศาสนสุภาษิตเรื่องคุณธรรม 4 ประการ หรือฆราวาสธรรม 4 ประกอบด้วย

1. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์
2. ทมะ คือ การฝึกตน การข่มตน
3. ขันติ คือ ความอดทน
4. จาคะ คือ ความเสียสละ

สัจจะ ซื่อสัตย์แท้ ต่อกัน
ทมะ ข่มจิตผัน ผ่อนได้
จาคะ สละปัน ด้วยมิตร จิตตนา
ขันติ อดกลั้นไว้ สุขนั้นพลันสองฯ

ธรรรมสี่ประการนี้ ประเสริฐ เลิศนักหนา ในโลกหล้ามิมี เสมอเหมือน งามสำหรับประดับผู้ อยู่ครองเรือน จงเตือนจิตใจไว้ ใฝ่ดำรง ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ไม่ใช้ธรรมของฆราวาสเพียงอย่างเดียว บรรพชิตผู้ออกบวชก็ควรถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพราะใครที่มี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วฆราวาสธรรม 4 รายละเอียดของฆราวาสธรรมแต่ละข้อมีดังนี้คือ

1. สัจจะ คือการเป็นคนจริง ซื่อสัตย์ซื่อตรง เมื่อตั้งใจอะไรไว้แล้ว ก็จริงต่อเป้าหมายนั้นไม่ท้อถ่อยต่อเป้าหมายนั้น เพราะงานทุกอย่างในโลกนี้ทั้งงานใหญ่ งานเล็ก ล้วนต้องเจออุปสรรคด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งอุปสรรคภายในคือใจของเราเอง หรืออุปสรรคภายนอก เงื่อนไข สิ่งแวดล้อม ผู้คนรอบตัวก็ตาม ดังนั้นจะประสบความสำเร็จได้ "เราต้องจริงใจ" เมื่อเจออุปสรรคก็ไม่หยุด แต่ต้องเดินหน้าต่อไปจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ต้องเป็นคนที่รักษาคำพูด พูดคำไหนคำนั้น เชื่อถือได้ เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคต พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น" ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้ชีวิตเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

2. ทมะ คือการฝึกตัวเอง ข่มจิตข่มใจตัวเอง เพื่อจะได้สามารถทำไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ สมความตั้งใจ ตอนเริ่มต้นอาจจะไม่ได้เก่ง แต่มุ่งตรงต่อเป้าหมายนั้น แล้วฝึกตัวเองพัฒนาศักยภาพ ขอเพียงอย่าหยุดการฝึกตัวเอง ฝึกไปจนตลอดชีวิตของเราเลย สุดท้ายความสำเร็จจะเป็นของเรา

3. ขันติ คือความอดทน ความอดทนในที่นี้มี 4 ระดับ

1) อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ทางกาย-ทางใจ

2) อดทนต่อทุกขเวทนา ทางกาย-ทางใจ

3) อดทนต่อการกระทบกระทั่ง ทางกาย-ทางใจ

4) อดทนต่อสิ่งที่เย้ายวนใจ หรือกิเลสซึ่งทนได้ยาก ทางกาย-ทางใจ

4. จาคะ คือความเสียสละ ทั้งสละวัตถุสิ่งของ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น และสละอารมณ์ ไม่เก็บอารมณ์ขุ่นมัวไว้ในใจ ทำให้ใจเราผ่องแผ่วอยู่เรื่อย ๆ คนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักจาคะ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นด้วย คนไหนที่เริ่มเติบโตในหน้าที่การงานแล้ว ทุกภาวะต้องมีน้ำใจต่อผู้ร่วมงาน "รู้รักสามัคคี" ดึงคนอื่นขึ้นมาด้วยเป็นกลุ่ม ก็จะสามารถรับมือกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง ครอบครัวมั่นคง ประเทศชาติมั่นคง

ผู้นำฆราวาสธรรม 4 ไปใช้ แม้อยู่ครองเรือนก็จะเป็นฆราวาส คฤหัสถ์ที่มีความสุขความสำเร็จในชีวิต หากเป็นนักบวชก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมด้วยสิ่งที่ตั้งใจปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม ทั้ง 4 ประการนี้ ดังนั้น ขอท่านทั้งหลายจงรักษาใจให้อยู่ในสันติธรรม เพื่อเป็นมงคลชีวิต เป็นบุญ - เป็นกุศล ตลอดไปตราบนานเท่านาน มีสติครองธรรม ครองตน ครองงาน จะได้สมบัติอันไพบูลย์ สำเร็จทุกสิ่งทุกอย่าง เด้อ ๆๆ

เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกหัดฝึกฝนอมรมตน ดูที่จิตที่ใจของตนให้รู้จัก ว่าแม้ความสุขที่เข้าใจกันนี้ก็เป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ได้ไม่นาน ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และแม้สิ่งที่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลายอย่างอื่น เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับอยู่อย่างนั้น ๆ ที่สุดก็ต้องดับ ต้องหายไป พิจารณาให้รู้จักความสุข ความทุกข์ ตามเป็นจริง เช่น การที่จิตเสวยอยู่กับความยินดีพอใจ "เรียกสุขเวทนา อารมณ์นี้ ตั้งอยู่มินานก็หายไป" และการ ที่จิตเสวยความทุกข์ก็เช่นกัน "เรียกทุกขเวทนา อารมณ์นี้ ตั้งอยู่มินานก็หายไปเช่นกัน"

แต่ว่าบุคคลนั้น เมื่อยังไม่กำหนดให้รู้จักทุกข์อย่างละเอียดลงไปจริง ๆ จึงทำให้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ มีความเกาะติดอยู่ในทุกข์ ยึดทุกข์เอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ปล่อยไม่หลุด หยุดไม่ได้ คนชั่วก็จึงชั่วหนักหน้าไปเลื่อย (แบบนรกไม่รับ) พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง และก็ตรัสสอนไว้เป็นอันมากในเรื่องนี้ เพื่อให้หมั่นพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง และเมื่อมองเห็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ผ่อนคลายความเพลิดเพลิน ความติดใจยินดี ความดิ้นรนไปในทุกข์ต่างๆ ก็จะทำให้ปล่อยทุกข์ได้

พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก และในสติปัฏฐานก็ได้ตรัสสอนให้พิจารณาให้รู้จัก ตลอดจนถึงตัวสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ว่าก็เกิดขึ้นที่ทุกข์นี่แหละ แล้วก็ดับไปที่ทุกข์นี่แหละ และโดยที่ตรัสขยายทุกข์ออกไปเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญเจตนา เป็นตัณหา เป็นวิตก เป็นวิจาร ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าทุกข์ทั้งนั้น คือตัวทุกข์นี้เอง อันสรุปเข้าได้ว่าตัณหาก็บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ตัวทุกข์ ดับไปก็ดับไปที่ตัวทุกข์นี้เอง ไม่ใช่ที่อื่น "ทุกข์เกิดที่จิต ก็ดับมันที่จิต" ไฟไหม้ที่เรือนของตน จะไปดับที่เรือนคนอื่นมันก็บ้าแล้วนะ"

เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาให้เห็นทุกข์นั้น จึงต้องพิจารณาให้ผ่านตัวทุกข์ที่เข้าใจว่าเวทนาต่างๆ ที่ทนง่ายทนยากดังกล่าวนั้น เข้าไปจนถึงตัวสังขารอันเป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งปวง ที่ตรัสเรียกว่าขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ธาตุบ้าง หรือที่ตรัสจำแนกไว้ในหมวดที่ทรงแสดงถึงสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และความดับทุกข์ดังกล่าวนี้ รวมเข้าในคำว่าทุกข์คำเดียวทุก ๆ ข้อ ตัณหาก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ทุกข์ แต่เพราะยังไม่เห็นทุกข์ จึงได้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ และมีความติดใจอยู่ในทุกข์ แต่ว่าเมื่อเห็นทุกข์แล้วก็จะทำให้ปล่อยวาง ไม่ต้องการ ก็เป็นความดับทุกข์ ก็ดับที่ทุกข์นั้นเอง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงสมควรที่จะหมั่นฝึกหัดพิจารณา ให้รู้จักสัจจะคือตัวความจริงนี้ และจะพบกับสุญญตาคือความว่าง พบกับสันติคือความสงบ จะพบกับวิมุติคือความหลุดพ้น ตามสมควรแก่ความธรรม เทอญ