ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความสำเร็จใหญ่น้อย สำคัญที่ตั้งใจ

การปฏิบัติหน้าที่อันดีของตน ๆ นับเป็นคุณธรรมอย่างสูงส่ง ด้วยคุณลักษณะของผู้มีความรับผิดชอบในหน้าที่นั้น ย่อมนำพาความรุ่งเรือง ความมั่นคง ความทนงองอาจ ในตระกูลแลชาติเชื้อ หน้าที่อันดีย่อมเป็นที่เคารพยำเกรงต่อผู้ร่วมชีพร่วมงานร่วมอุดมการณ์ ตลอดผู้ที่ได้ร่วมอยู่อาศัย ดังนั้นสิ่งที่ตนรักตนชอบ ทุกสิ่งจะสำเร็จได้ก็ด้วยความตั้งใจที่จะทำ ที่นี้หละความสามารถส่วนลึกภายในตน จะถูกนำออกมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นที่สุด


สัมผัสพลังในการปฏิบัติหน้าที่

บางครั้งอาตมารู้สึกได้สัมผัสพลังที่ต่างออกไปจากการทำหน้าที่โดยปกติ จึงเฝ้าพยายามตั้งข้อสังเกตใจตนก็พบว่า ความตั้งใจมุ่งมั่นอย่างละเอียดอ่อนนั้นได้มีธรรมะซ่อนแฝงอยู่ภายใน เช่นการทำสมาธิภาวนาก็ดี การเจริญสติอย่างลึกซึ้งในคราใดก็ดี ใจให้นึกน้อมพร้อมไตรทวาร อาตมาจะตั้งสัจจะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนานั้น ๆ นี่มิใช่การอ้อนวอน แต่เป็นการตั้งจิตอธิษฐานธรรม ทำอย่างนี้เสมอ ๆ ไม่เผลอจิตคิดมั่วหมอง จริงอยู่ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่การได้เจริญสมาธิภาวนา ได้อธิษฐานธรรมแล้วเหมือนดั่งว่า "ความปรารถนานั้นจะอยู่ไม่ไกล" ลองทำดูนะ เส้นชัยความสำเร็จสมปรารถนานั้นอยู่ไม่ไกลแน่นอน


อธิษฐานธรรม หัวข้อธรรมในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

อธิษฐานธรรม 4 ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ

1. ปัญญา ความรู้ชัด คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง

2. สัจจะ ความจริง คือ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ

3. จาคะ ความสละ คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส

4. อุปสมะ ความสงบ คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้


ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ

ธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ พึงปฏิบัติตามเพื่อให้ชีวิตประสบผลสำเร็จอย่างสูงส่ง ดังนี้

1. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ละเลยการใช้ปัญญา รู้ตามจริงว่า ความจริงทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ชั่ว ดี มี จน สุข ทุกข์ ปัญญาอย่างสูงต้องไม่ข้องอยู่ในสิ่งสมมุติทั้งสิ้น

2. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย พึงอนุรักษ์สัจจะ เมื่อมีปัญญาเห็นจริงดังนั้นแล้ว จึงตั้งสัจจะอธิษฐาน หรือตั้งใจว่า จะไม่โกรธตลอดชีวิตได้ จะพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตไพเราะและเป็นประโยชน์ ตั้งใจอยู่ในศีล ทาน ภาวนา หรือตั้งใจรักษาสัญญา รักษาเวลา ย่อมเป็นจริยาที่น่าเคารพ เป็นต้นฯ

3. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย พึงเพิ่มพูนจาคะ หากเรายังเผลอหงุดหงิด ให้เราสละอารมณ์หงุดหงิดนั้นทิ้งทันที หากเรามีความแค้น ความขุ่นเคืองใครในใจ ก็เช่นเดียวกันให้เราสละอารมณ์นั้นทิ้งทันที

4. สนฺตึ สิกฺเขยฺย พึงศึกษาสันติ การมีสติรักษาจิตที่ปกติอยู่ก่อน จิตจึงจะสงบจากกิเลสทั้งหลายได้ สันติหรือความสงบสุข มีลักษณะเป็นเครื่องชี้วัดให้บุคคลทั้งหลายในสังคมโลกอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก


แรงอธิษฐาน อำนาจความสำเร็จโดยธรรม

ชาวพุทธโดยทั่วไปมักได้ยินคำว่า "อธิษฐาน" โดยเมื่อจะทำการสิ่งใดมักอธิษฐานขอสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ การอธิษฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการยืนหยัดให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นเป้าหมายได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด ไม่เปิดช่องแก่ความผิดพลาดเสียหาย และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน ด้วยการปฏิบัติตามหลัก อธิษฐานธรรม 4 ประการ ดังกล่าวมา คือ

1.ปัญญา การดำเนินชีวิตจะเป็นไปตามกรอบของศีลธรรม โดยเฉพาะศีลนั้นเป็นอาภรณ์ เป็นเครื่องประดับให้คนเป็นคนดี มีศีลมีธรรม มีพรหมวิหาร

2. สัจจะ รักษาสัจจะ คือสงวนรักษาดำรงตนมั่นในความจริงที่รู้ชัดเห็นด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจา จริงในหลักการ จริงใจ มีสัจจะแล้ว ทุกอย่างมั่นคง เช่น ธุระกิจการค้า การเงินการทอง เพื่อนพ้องบริวาร เป็นต้นฯ

3. จาคะ คอยเสริมและทวีความเสียสละให้เข้มแข็งมีกำลังแรงยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันหรือทัดทานตนไว้มิให้ตกไปเป็นทาสของลาภสักการะ อีกทั้งกระทำการทุกอย่างโดยไม่เห็นแก่ตน นึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

4. อุปสมะ ความสงบใจ เป็นอย่างเดียวกับทมะใน ฆราวาสธรรม ผู้ฝึกตนให้สามารถระงับดับความขัดข้องวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสได้ ทำจิตใจให้สงบผ่องใสรู้จักรสแห่งสันติ คนที่รู้จักรสแห่งความสุขอันเกิดจากความสงบใจแล้ว ย่อมจะไม่หลงใหลมัวเมาในวัตถุ หรือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โดยง่าย ตัวอย่าง "อุปสมานุสสติ" เป็นหน่วยหนึ่งของอนุสสติ 10 การเจริญสมถะกัมมัฏฐาน และวิปัสสนารมณ์ เป็นไปเพื่อสงบกิเลส เป็นไปเพื่อปรินิพพาน เป็นที่สุด

การอธิษฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อให้การอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลนั้นต้องลงมือทำทันที ไม่ใช่อธิษฐานแล้วนั่งคอยให้เทวดาฟ้าดินที่ไม่มีตัวตนมาดลบันดาลให้ ฉะนั้นก่อนอธิษฐานต้องใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนว่าสิ่งที่อธิษฐานนั้นตนสามารถปฏิบัติได้เองหรือไม่ เพียงใด?

เมื่ออธิษฐานแล้วก็ต้องปฏิบัติ สัจจะ จาคะ และ อุปสมะ การอธิษฐานจึงจะสัมฤทธิ์ผล ดังนั้นจึงกล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้นว่าความสำเร็จใหญ่น้อย สำคัญที่ตั้งใจ

ท้ายสุดแห่งธรรมะสมสมัยสัปดาห์นี้ นับเป็นวันทำบุญออกพรรษาของญาติโยมชาวพุทธเรา วันออกพรรษาธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์ในธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกวันนี้ว่า "วันมหาปวารณา" เป็นวันที่ยอมให้สงฆ์ตักเตือนกันได้โดยชอบทุกประการ เป็นผลให้เกิด ศีลสามัญญตา ทิฏฐิ สามัญญตา ด้วยความที่จิตไม่ถูกข้าศึกรบกวน เป็นจิตใจที่สงบเยือกเย็นเป็นสุขผ่องใส ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆหมอก กิเลสไม่ครอบงำกรรมก็เป็อโหสิ.....

"พุทโธ อโหสิ ธัมโม อโหสิ สังโฆ อโหสิ สัจจะ สัจจัง อธิษฐามิ" ในโอกาสวันออกพรรษาปีนี้ หลวงพ่ออวยพรให้เป็นการพิเศษนะ ขอให้ทุกคนปลอดภัย บุญรักษา พระคุ้มครอง และขอให้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ขอให้สมปรารถนาทุกท่าน เทอญ รูปขอจำเริญพร