ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



"บุญ - บาป อยู่ที่วิธีคิด"

บุญบาป ทราบจากที่ วิธีคิด
ชีวิต เป็นอยู่ที่ มีอาหาร
นิสัย อยู่ร่วมรู้ ดูสันดาน
การงาน บันดาลผล ยลความดี ฯ

ดีชั่ว อยู่ที่ตัว รู้กระทำ (หรือตัวกรรม)
สูงต่ำ ประพฤติตัว ชั่วหลีกลี้
จริงใจ รักษาได้ ด้วยไมตรี
ศักดิ์ศรี มีธรรมล้น คนยำเกรง ฯ

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนทั้งหลาย การศึกษาพุทธธรรมจากบทกลอน หากเราได้อ่านเอง เราเข้าใจเอง ไม่อ่านไม่รู้ ไม่ศึกษาไม่เข้าใจ ธรรมะใครทำ ใครได้ ใครไม่ทำ ใครก็ไม่ได้ ตามเหตุปัจจัย บุญก็เหมือนกัน บุญเป็นอริยะทรัพย์แบ่งปันเหมือนข้าวปลาอาหารไม่ได้ อยากได้ให้ทำเอง

ภาษิตอีสานว่า "อันว่าบาปบุญนี้ บ่มีไผซิปันแจก บ่มีแหกเคิ่งได้ คือดั่งไม้ผ่ากลาง คือจั่งเฮากินข้าว เฮากินเฮากะอิ่ม บ่ห่อนไปอิ่มท้อง เขานั้นผุบ่กิน ซั่นดอกว่า"


บุญบาป ทราบจากที่ วิธีคิด

กรอบและวิธีคิดของคนที่คิดด้วยจิตใจผ่องใสบริสุทธิ์ ทำให้เกิดความสุข ปราศจากความทุกข์ เช่น คิดสร้างคุณความดีเป็นบุญเป็นกุศล ในทสุตตรสูตร พระสารีบุตรกล่าวว่ารากเหง้าของกุศลมี 3 อย่าง คือ ความไม่โลภ ความไม่คิดประทุษร้าย และความไม่หลง "นี้เป็นวิธีคิดจากสมองส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศล คือคิดดี ทำดี ดีแน่นอน"

กรอบและวิธีคิดของคนที่คิดด้วยจิตใจชั่วหยาบ คิดจากสมองส่วนที่เป็น อกุศล คือ คิดมุ่งทำลาย ความสงบสุขของผู้อื่น ประพฤติทุจริต คิดไม่ดีต่อผู้อื่น เขาย่อมอยู่ร้อนนอนเป็นทุกข์ เพราะ อกุศล หมายถึง บาป ความชั่วร้าย, ไม่เป็นมงคล, ตรงกันข้ามกับ กุศล ซึ่งแปลว่า ความดี ในสัมมาทิฏฐิสูตร พระสารีบุตรอธิบายว่า อกุศล คือ

1. ปาณาติบาต การทำชีวิตให้ตกล่วง นับจากที่มีเจตนาเบียดเบียน

2. อทินนาทาน การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์

3. กาเมสุมิจฉาจาร ความประพฤติผิดในกาม

4. มุสาวาท ความไม่ซื่อตรง กล่าวโกหกคำโต ๆ

5. ปิสุณาวาจา คำส่อเสียด ยุยงให้ผู้อื่นเกลียด หรือทะเลาะกัน

6. ผรุสวาจา คำหยาบคาย ต่อกาละ เทศะ บุคคล

7. สัมผัปปลาปะ คำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระเสียเวลานั่งฟัง

8. อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา

9. พยาบาท การคิดร้าย หรือเจตนาดีประสงค์ร้ายต่อผู้อื่น

10. มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม

รากเหง้าแห่งอกุศลข้างต้นเรียกว่า อกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ พระสารีบุตรอธิบายสรุปว่า เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ย่อมละอนุสัยคือราคะ บรรเทาอนุสัยคือปฏิฆะ ถอนอนุสัยคือทิฐิและมานะที่ว่า "เป็นเรา" โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม


ความคิด - จิตใจ

หลายท่านเคยได้ยินแต่ ชีวิต - จิตใจ พอดีกำลังพูดถึงกรอบและวิธีคิดของคน หลวงพ่อก็มองว่า "ความคิด ก็คือความตั้งใจดี ๆ นี่เอง" ผลที่ปรากฏชัดที่เราเห็นนั้นคือ เจตนา ๆ คือ ความตั้งใจ, ความจงใจ อย่างรากเหง้าของ อวิชชา ดังนั้นแล้วความคิดของคนในภาวะนั้น ๆ จะใช้สมองส่วนไหนคิด ?

"ถ้าจิตใจดีก็ใช้ สมองฝ่ายดี ที่เป็นกุศล คิด" "ถ้าจิตใจไม่ดีก็ใช้ สมองฝ่ายไม่ดี ที่เป็นอกุศล คิด"

"โปรด อย่าใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา เพราะบางทีปัญหาก็เกิดขึ้นจากอารมณ์"

อวิชชา แท้จริงคือ ความไม่รู้จริง ความไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ความรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ ความไม่รู้แจ้ง แต่ในที่นี้ จะเน้นที่ เจตนา อันได้แก่ ความตั้งใจ ความจงใจ เพื่อย้ำว่า "ความคิด คือความตั้งใจ นั่นเอง"


เจตนาเป็นมากยิ่งกว่าสิ่งใด

เจตนา มีทั้งที่เป็นฝ่ายดี (กุศล) และ ฝ่ายชั่ว (อกุศล) สืบเนื่องมาจากอวิชชา เพราะอวิชชามิได้มีความหมายว่าไม่รู้ดีไม่รู้ชั่วอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความหมายว่า รู้ดีรู้ชั่วด้วย เสียแต่ว่า ความรู้ดีรู้ชั่วนั้นยังไม่สามารถมีผลถึงขั้น เปลี่ยนแปลงความคิด รวมทั้งพฤติกรรม ให้เป็นไปในทางดีฝ่ายเดียว

กุศลเจตนา ความตั้งใจฝ่ายดี ความจงใจฝ่ายดี เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมทางวาจาที่ดี (พูดดี)

กุศลเจตนา ความตั้งใจฝ่ายดี ความจงใจฝ่ายดี อันเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมทางใจที่ดี (คิดดี) เช่น คิดเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดแผ่เมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข คิดเข้าใจและเชื่อในความถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม จัดเป็นมโนสัญเจตนาฝ่ายดี

อกุศลเจตนา ความตั้งใจฝ่ายชั่ว ความจงใจฝ่ายชั่ว อันเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมทางวาจาที่ไม่ดี (พูดไม่เหมาะสม) เช่น การพูดเท็จ การพูดยุยงส่อเสียดให้คนแตกความสามัคคีกัน การพูดจาหยาบคาย การพูดเสียดแทงให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ จัดเป็นวจีสัญเจตนาฝ่ายชั่ว

อกุศลเจตนา ความตั้งใจหรือความจงใจฝ่ายชั่ว อันเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมทางใจที่ไม่ดี (คิดไม่ดี) เช่น คิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อยากได้ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น จัดเป็นมโนสัญเจตนาฝ่ายชั่ว


ความคิดเป็นมโนกรรม

"มโนกรรมทางความคิด" ย่อมมีความเป็นเสรีโดยสมบูรณ์ หมายถึง การเลือกตัดสินใจในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นความดี และจงใจกระทำเพื่อบรรลุถึงความดีของตัวเองนั้น การเลือกและเจตนาเกิดจากตนเอง ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาบังคับหรือกำหนด เรียก "เจตจำนงเสรี"

บางท่านกล่าวถึงไทยแลนด์ยุค 4.0 ยังต้องมีเครื่องไหว้เครื่องบูชาอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นธูป เทียน และดอกไม้ หรือบายศรีนั้นก็ใช้กันในราชพิธีกันอยู่ ถ้าเป็นเรื่องงงมงายก็คงจะเลิกกันไปเอง "หากแต่เป็นเรื่องความเชื่อมากกว่า" ต้องถามกลับไปว่า เรางมงายอยู่กับข้าวของเครื่องใช้แบรนด์เนม ติดค่านิยมที่ผิด ติดโทรศัพท์ ติดอุปาทานความยึดมั่นน่าจะงมงายมากกว่า นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับมนุษย์โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์นับเป็นเจตจำนงเสรี ใช่ไหม ? รูปขอจำเริญพร