ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ช้างเท้าหลัง ความหมายของสตรีที่ควรเปลี่ยน

ฤๅ คุณค่าความสำคัญของสตรีจะเป็นได้แค่เพียง "ช้างเท้าหลัง" วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ได้รับการตอบรับกลับมาอย่างปลื้มปริ่ม เรื่องการส่งเสริมให้สตรีได้มีโอกาสได้บวชพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี กลุ่มสตรีที่พร้อมเดินทางเข้ามาสมาทานศีล 8 ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญสมาธิภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมะคำอบรมบ่มเพาะจากพระสงฆ์ ไม่ไหลหลงกงกรรมอวิชชา ถอนจิตพ้นจาก พันธการอุปสรรคและปัญหา ละทิ้งกรรมดำกระทำกรรมขาว อาตมาก็นับเล่นๆ มิได้เชิงประจักษ์ข้อมูลกระทำการวิจัยอย่างใดหรอก แต่คาดว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้ยินยลคำชื่นรื่นหู หากความหมายว่าสตรีเป็นช้างเท้าหลัง ก็คงเป็นเท้าหลังที่ทรงพลังอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งมองความสำเร็จหลายๆ ด้าน ที่วัดและพระสงฆ์วัดทุ่งเศรษฐีได้รับ ล้วนมาจากสตรีเป็นผู้เกื้อกูลอุปถัมภ์ ไม่ว่าความเริ่มต้นก่อนที่ที่จะสำเร็จมาเป็นวัดทุ่งเศรษฐี ทุกวันนี้ศรัทธาที่มั่นคงอยู่เบื้องหลัง ก็สตรีเป็นส่วนมากหรือที่ติดตามเป็นเจ้าภาพผู้อุปถัมภ์ ใส่บาตร ส่งภัตตาหารเช้า - เพล ทำความสะอาดวัด ดูดฝุ่นล้างตู้เย็น จัดชุดเครื่องสังฆทาน จัดแต่งดอกไม้หน้าหิ้งโต๊ะหมู่บูชา ล้างห้องน้ำห้องสุขา เข้าครัวทำความสะอาด จัดเก็บข้าวของเข้าอย่างเป็นระเบียบก็เป็นสตรี บุรุษนั้นน้อยนับได้รายบุคคล หากแต่ที่ต้องขอแรงบุรุษนั้นก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีทุกคราวครั้ง อันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

ความหมายช้างเท้าหลัง บางแง่มุมที่ค่อนข้างไม่ดีก็คือ ถ้าผู้หญิงเป็นคนตามตลอด ไม่ออกความคิดเห็น หรือไม่ช่วยกันเดิน ไม่มีแรงส่งได้แต่ตามอย่างเดียว เมื่อผู้นำหมดเรี่ยวแรง ชีวิตมันก็ขาดสีสัน มันก็ย่อมไม่ดี ครอบครัวก็อาจจะมีปัญหาได้ การเป็นช้างเท้าหลังที่ดีก็ควรจะรู้จังหวะที่จะก้าวเดิน และเดินไปพร้อมๆ กับเท้าหน้า ถึงจะเรียกว่าคู่ทุกข์คู่ยาก คู่คิดคู่ทำ คู่สร้างคู่สม คู่ควรมั่นคง คู่ประสงค์ในรักแท้

แล้วญาติโยมคิดว่าคำตอบที่ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร? คำพังเพยของไทยที่ว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นคำสุภาษิต เอามาอ้างอิงสอนกัน เรียนกัน โดยตีความกันทั่วไปว่า ในสังคมไทยนั้น ผู้ชายต้องเป็นผู้นำและผู้หญิงต้องเป็นผู้ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวส่วนมากผู้ชายไทยมักจะเกรงใจ หรือบางครั้งก็เรียกว่า..... กลัวภรรยากันทีเดียว ความหมายหากจะมองว่าดี ก็ดีได้ เพราะภรรยาควรให้เกียรติผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า แต่ก็ต้องคอยดูด้วยว่า เขานำเราได้ดีหรือไม่ดี หากเขาก้าวพลาด เราเป็นช้างเท้าหลังก็ต้องช่วยกันยันเท้าลุกขึ้นให้สง่างามได้ และต้องคอยดูว่าเดินไปถูกทางหรือยัง (ฮืม....!) ส่วนใหญ่ผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงที่ก้าวล้ำหน้าตนจนเกินไป เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกไม่เป็นผู้นำครอบครัว เหตุผลนี้นี้อาตมาว่าเป็นการที่ผู้ชายได้รับเกียรติอย่างอ่อนโยนจากสตรีนะ เพราะลึกๆ ในฐานบุญหรือกุศลจิตของอาตมาที่ทำงานพัฒนา กิจการงานพระศาสนา ที่ลุอำนาจความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ดี เพราะระลึกถึงคำสั่งสอนสตรีท่านหนึ่ง "ท่านนั้นคือ แม่ผู้กำเนิด" รู้สึก อบอุ่นอย่างทรงพลัง พร้อมกับมีกำลังใจที่จะสร้างคุณความดีให้ท่านภูมิใจ ดังนั้นจึงขอสนับสนุน ว่าช้างเท้าหลัง ความหมายของสตรีที่ควรเปลี่ยน (เปลี่ยนเถอะเปลี่ยนความคิดว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เพราะแท้จริงคือคู่บารมี)

จุดนี้เองที่อาตมาพยายามจะชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจหน้าที่ ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในสังคมไทย ที่แฝงอยู่ในสำนวน "ช้างเท้าหน้า - ช้างเท้าหลัง" ว่ามิน่าที่จะหมายถึง การเป็น "ผู้นำ" หรือ "ผู้ตาม" อย่างเด็ดขาดและเอาเป็นเอาตาย หากแต่ตั้งข้อสังเกตว่า วัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในสำนวนไทยหลายๆ สำนวน มีลักษณะของการประนีประนอม และที่สำคัญคือการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในครอบครัวด้วย ดังความว่า


ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร โบราณว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อัชฌาศัย
เราก็จิต คิดดูเล่า เขาก็ใจ คิดปลูกไมตรีถูกกว่าปลูกพาล

"ชายข้าวเปลือก" และ "หญิงข้าวสาร" นั้น อาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้อธิบายไว้ว่าหมายถึง ผู้ชายเป็นคนออกไปทำนาปลูกข้าว และเมื่อได้ข้าวเปลือกมาแล้ว ผู้หญิงก็มีหน้าที่ตำเป็นข้าวสาร ต่างฝ่ายต่างช่วยกัน ผู้ชายรับงานหนักคืองานปลูกข้าว ส่วนผู้หญิงก็ช่วยดูแลงานบ้าน หาข้าวหาปลา ไว้ให้ผู้ชายเมื่อเลิกงานกลับมา ซึ่งสำนวนที่ว่านี้ยังมีนัยที่สำคัญเกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มิใช่การพึ่งพาอาศัยของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ดังปรากฎให้เห็นได้จาก สำนวน "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" โดยที่การพึ่งป่าของเสือนี้ก็มิใช่การเอาประโยชน์จากป่าของเสือแต่ถ่ายเดียว หากแต่ยังมีสำนวนที่ว่า "เสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง" ซึ่งยืนยันถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดแจ้ง

ที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวล ก็คิดจะชวนเชิญเจริญพร สตรีทุกฐานะทุกวัยที่สามารถจะเดินทางไปร่วม บวชพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี ถวายเป็นพุทธบูชาในวาระโอกาสวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช 2559 เดือนพฤษภาคม วันศุกร์ที่ 20 ถึง วันอาทิตย์ที่ 22 นี้ รวม 3 วัน พลังของสตรีผู้มีศรัทธาในการที่จะก้าวย่าง เข้าสู่ร่มกาสาวพัตรอย่างโบราณนั้น ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีโอกาสจะเหลือให้เห็นแล้ว ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้หญิง ฉะนั้นแล้วจึงขอใช้คำว่า "ก้าวย่างสู่ร่มอาราม รวมพลังสตรีบวชศีล 8ถือพรหมจรรย์ เป็นพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี ถวายเป็นพุทธบูชา"

ความตั้งใจคือเจตนาอันบริสุทธิ์ของผู้มาถือบวช ต่างยอมรับกันใจหมู่คณะว่าการบวชเนกขัมมะจาริณี "เหมือนการได้เกิดใหม่ ได้ชีวิตมงคล เกิดลาภผลเป็นความสุขความสำเร็จ มีอริยะมหาโภคทรัพย์ บังเกิดขึ้นในการประพฤติธรรมสัมมาปฏิบัติ" บวชที่จิตใจมิได้ให้โกนผมหรอกนะเจริญพร

จึงขอเชิญพลังแห่งสตรีทุกท่าน ครั้งหนึ่ง....ในชีวิตลูกผู้หญิง......พร้อมใจร่วมบุญร่วมบวช พุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี ถวายเป็นพุทธบูชา เสริมศาสน์ เติมบุญ เพิ่มพูนบารมี อุทิศพลี ตอบแทนพระคุณมารดาบิดา ก้าวเดินไปพร้อมกันบนเส้นทาง (มรรคา) ที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้บอก ในอริยะมรรค สู่เป้าหมายสูงสุด (คือพระนิพพาน) แม้จะได้เพียงเกาะกระแสก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี อย่าลืมให้โอกาสกับตนเอง เพื่อเสริมบุญญาเสริมวาสนาบารมี กับการปฏิบัติในวันสำคัญ วิสาขบูชา ศกนี้

การสร้างกรุงโรม หรือการสร้างพระเจดีย์มีได้สำเร็จเพียงวันเดียว เช่นกันการสร้างบุญบารมี ไม่เริ่มวันนี้แล้วจะเริ่มวันไหน การกตัญญูกตเวทีรอพรุ่งนี้ก็อาจสายเกินไป การเป็นสตรีต้นแบบส่งเสริมให้เกิดสัมมาปฏิบัติ ด้วยชุดสีขาวธรรมดาๆ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะว่าให้ไม่สวย เพราะสิ่งที่จะปรากฏนั้นจะเป็นความงามด้วยศีลด้วยธรรมต่างหาก อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ, ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย (ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์) อิเธว นินฺทํ ลภติ เปจฺจาปาเย จ ทุมฺมโน สพฺพตฺถ ทุมฺมโน พาโล สีเลสุ อสมาหิโต (คนเขลา ไม่มั่นคงในศีล ถูกติเตียนในโลกนี้ และละไปแล้ว ย่อมเสียใจในอบาย ชื่อว่าย่อมเสียใจในที่ทั้งปวง) แน่นอนศีลจะขจัดปัดเป่าอุปัทวะภยันตราย ระงับความวุ่นวายคลายเร่าร้อนถอนอวิชชาได้แน่นอน อย่าลืมสร้างโอกาสให้กับชีวิต สร้างบารมีให้กับตนเองอย่างตั้งจิต สิ่งหนึ่งที่อาตมาจะพากระทำมงคลพิธีคือ จะพาพลังพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา น้อมรำลึกถึงสตรีนางหนึ่งที่ชื่อ พระนางสุชาดา สตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางได้ถวายข้าวมธุปายาส ในวันวิสาขบูชา ดังนั้นมหาอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ จะเกิดแก่สตรีผู้เข้าบวชในโครงการครั้งนี้ ให้ประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนา จักเป็นกลุ่มพลังสตรีที่น่าเชิดชูเกียรติอย่างยิ่งยวด การกวนข้าวมธุปายาสมิใช่จะกวนสร็จที่ในห้องครัว หากแต่จะเป็นโรงพิธีมหามงคลกลางแจ้ง และผู้ที่มีสิทธิ์กวนได้ต้องถือเพศพรหมจรรย์ ถือตามโบราณประเพณี อาหารที่กวนเสร็จออกมามานั้นจึงเรียกว่า "ข้าวทิพย์" อย่าลืม 20, 21, 22 พฤษภาคม พบกันที่ วัดทุ่งเศรษฐี เมือง เลควูด แคลิฟอร์เนีย ขอจำเริญพร