ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การพิจารณา ความสุขความทุกข์

ขอความเจริญในธรรมแด่สาธุชน ท่านผู้สนใจใคร่ศึกษา ธรรมะสมสมัยมาพบกับท่านผู้อ่านเช่นที่ผ่านมา สำหรับวันนี้ เรามาทดลองศึกษาพิจารณาอารมณ์ฟุ้งซ่านกันดูว่า มันเกิดขึ้นมาด้วยสาเหตุอันใด เกิดขึ้นแล้วเป็นประการใด ทำไมทำเอาเราถึงต้องฟุ้งซ่าน และถ้าเราฟุ้งซ่านแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรกับเราบ้าง แล้วจะมีวิธีใดแก้หรือดับอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ลงได้


สาเหตุเกิดทำให้ความฟุ้งซ่านที่มีปัญหาฟุ้งซ่านตามมาแน่นอนอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ คือ

1. "การที่สติไม่ตั้งมั่น" หรือขาดสติ อารมณ์ฟุ้งซ่านเพราะสติไม่ตั้งมั่น

การปรุงแต่งอารมณ์ภายใน เรียกว่า ธรรมารมณ์ สังคมตอนนี้เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า มโน ๆ ทั้งๆ ที่เรื่องราวต่าง ๆ ยังมิทันเกิดขึ้น ความปรุงแต่งทางความคิด เกิดจินตนาการจนฟุ้ง จิตดิ้นรนด้วยเรื่องราวมโนนั้นมากเกิดเหตุ มิใช่ฟุ้งซ่านธรรมดานะ ประมาณว่า "สติแตก" โน้นแหละ กลุ่มธรรมที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านก็มาจากอายตนะภายใน ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ฝ่ายภายใน บาลีเรียก อัชฌัตติกายตนะ ได้แก่ จักษุ-ตา, โสตะ-หู, ฆานะ-จมูก, ชิวหา-ลิ้น, กายะ-กาย, มโน-ใจ ทั้ง 6 นี้ เรียกอีกอย่างว่า อินทรีย์ 6 เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น จักษุเป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น

การปรุงแต่อารมณ์ภายนอก เรียกว่า จิตวิ่งไปรับอารมณ์ที่มากระทบ อายตนะภายนอกที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ฝ่ายภายนอก บาลีเรียก พาหิรายตนะ ได้แก่ รูปะ-รูป สิ่งที่เห็น, สัททะ-เสียง, คันธะ-กลิ่น, รสะ-รส, โผฏฐัพพะ-สัมผัสทางกาย, ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดกับใจ สิ่งที่ใจนึกคิด, ทั้ง 6 นี้ เรียกว่า อารมณ์ 6 คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง ภาษาชาวบ้านว่า "กรรมวิ่งเข้าหา"

ผู้ปฏิบัติจะมีลักษณะชอบคิดถึงคนนั้นคนนี้ อยากเที่ยวที่นั่นที่นี่ อยากรู้อยากเห็น สร้างวิมานในอากาศ บางครั้งคิดถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา อารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านี้เป็นเพราะผู้ปฏิบัติเพลิดเพลินกับอารมณ์ที่เห็นที่ได้ยิน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อรู้ว่า กำลังคิดสิ่งต่าง ๆ อยู่ จัดว่ากำลังฟุ้งเพราะขาดสติ กำหนดให้ทัน ดึงสติกลับให้ทัน เจริญสติให้มาก


วิธีแก้ไขความฟุ้งซ่านข้อแรก

ความฟุ้งซ่านในทางธรรมจัดเป็นวิตกจริต ผู้ปฏิบัติจะต้องหยุดความคิดไว้ด้วยการเรียกสติเข้าหาตัวก่อน คือ ให้หายใจเข้าให้เต็มทรวงอก แล้วพักไว้สักครู่หนึ่ง จนรู้สึก ว่าอิ่มอก อุ่นใจ แล้วให้ ผ่อนลมหายใจออกเบา ๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกตัวและมีสติดีขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติหายใจเข้าออกสัก 2-3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนรู้สึกว่าในอกนั้นปลอดโปร่งโล่งใจ กระทั้งจิตนิ่ง แล้วดูลมหายใจเข้าออกต่อไป อารมณ์ฟุ้งซ่านก็จะหายไปเอง

2. "ภาวะความเครียด" การบังคับจิต ตั้งกฎเกณฑ์หรือคุมระเบียบมากเกินไป ทำให้ใจเร่าร้อนไม่สงบ ทำงานเร่งให้ออกตามที่ใจอยาก การบังคับจิต ตั้งกฎเกณฑ์หรือคุมระเบียบมากเกินไป

ความฟุ้งเพราะบังคับจิตมากเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านทางจิต ทำให้จิตไม่ยอมสงบนิ่ง ผู้ที่เป็นเช่นนี้จะมีลักษณะหงุดหงิดง่าย เพราะจิตนั้นไม่เคยถูกบังคับ เมื่อผู้ปฏิบัติมาบังคับจิต จึงทำให้เกิดการต่อต้านกันทำให้ผู้ปฏิบัติอารมณ์รุนแรง ขุ่นเคือง อึดอัดใจ


วิธีแก้ไขความฟุ้งซ่านข้อที่สอง

ผู้ปฏิบัติจะต้องปล่อยใจให้สบาย ๆ อย่าบังคับเพ่งจิตกับสิ่ง ๆ เดียวหากิจกรรมอื่น ๆ เช่น ปลูกไม้ดอกไม้ประดับก็เป็นทางออกที่ดี เป็นการผ่อนคลายจิตให้โล่งโปร่งเบา เพราะถ้าบริกรรมแล้วฟุ้งซ่านหรือเครียด จิตไม่สงบ ก็ควรเลิกบริกรรมเสีย อย่าบังคับจิตมากจนเกินพอดี จิตจะคิดอะไรก็ปล่อยมัน "ชั่งหัวมัน หรือ ชั่งมันเถอะ ชั่งเขาเถอะ" เดี๋ยวมันเหนื่อยก็จะหยุดคิดเอง ข้อสำคัญให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ ๆ


3. "การฝืนใจ การข่มเห่งจิตใจ" การควบคุมจิต ความพยายามข่มใจตน ความฝืนใจอดกลั้นในสิ่งที่ต้องปรับตัวเข้าหา กับสิ่งของหรือกับบุคคลที่ตนนั้นไม่ชอบ

ฟุ้งซ่านเพราะผู้ปฏิบัติหันมาดูจิตและเริ่มรู้จักจิตของตนเอง การควบคุมจิต ความพยายามข่มใจตนเอง ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกว่า เป็นทุกข์มากเพราะจิตปรุงแต่งไม่ยอมหยุด ผู้ปฏิบัติที่ตกอยู่ในอารมณ์ฟุ้งประเภทนี้ มักจะชอบคิดแต่เรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว บางคนเคยโกรธกับผู้อื่น มาถึง 10 ปี และลืมไปแล้ว เมื่อมาทำความเพียรดูจิต ก็จะกลับเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาอีกได้ บางคราวรู้สึกเสียใจ บางคราวรู้สึกดีใจ อารมณ์ฟุ้งประเภทนี้บางท่านรู้ไม่เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นทางใจ


วิธีแก้ไขความฟุ้งซ่านข้อที่สาม

ถ้านั่งภาวนาอยู่ ต้องให้เลิกนั่งภาวนา ให้มาทำงานมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้หลากหลาย หันมาดูความเคลื่อนไหวทางกายแทน หรือให้เดินจงกรมสมาธิ เพราะปล่อยไปแล้วฟุ้งซ่าน สติขาดการภาวนาต่อเนื่อง ต้องให้หันมาปฏิบัติด้วยการทำความรู้สึกไว้กับปัจจุบัน อารมณ์ฟุ้งแบบนี้เมื่อหมั่นทำกิจกรรมอยู่เสมอ ๆ ไม่นานก็จะหายเอง


4. "การไม่ปล่อยวาง ไม่ปลดปล่อยจิตให้ว่าง" การที่จิตมีความยินดี ติดอยู่ในอารมณ์ที่รู้ที่เห็นที่ชอบและเพลิดเพลินใจ เรียกว่ายึดติดอารมณ์ ฟุ้งเพราะเกิดปิติยินดีอยู่ในสิ่งที่ชอบ หากผู้ปฏิบัติไม่รู้เท่าทันอารมณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในตน ก็อาจทำให้จิตใจไม่เข้มแข็งต่อสถานะการณ์ ต่ออารมณ์บางอย่าง ดังนั้นผู้ปฏิบัติที่รู้ว่า ตนเองฟุ้งซ่าน ก็ควรสังเกตว่า ตนเองนั้นฟุ้งเพราะเหตุใด ฟุ้งลักษณะใด เพราะความฟุ้งก็มีอยู่ในคนทั้งหลาย ทั้งที่ทุกข์เอง เกิดปัญหาเอง ฟุ้งซ่านเอง, หรือ ผู้อื่นทำให้ทุกข์ ผู้อื่นทำให้มีปัญหา แต่ก็มาฟุ้งซ่านเสียเอง เป็นต้น


วิธีแก้ไขความฟุ้งซ่านข้อที่สี่

เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความว่าง ความสงบ หรือความสุขกายสุขใจก็ตาม ไม่ควรยินดีติดใจในอารมณ์เหล่านี้ เมื่อเกิดความยินดีขึ้นเมื่อใด ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจว่า สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น วันอาทิตย์ก่อนมีคนมาเล่าให้ฟังว่า "เป็นเพราะเหตุไร ตนเองได้ยินเสียงมากระซิบที่หูอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน"

ส่วนการได้ยินเสียงมากระซิบที่หูนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องเลิกฟังเลิกสนใจ เพราะถ้าสนใจฟัง เมื่อนานเข้าก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบละอารมณ์นี้ให้ได้ ถ้าหากเลิกสนใจแล้ว แต่ยังเห็นรูปละเอียดและได้ยินเสียงอยู่ ผู้ปฏิบัติจะต้องเลิกทำสมาธิ หันมากำหนดจิตแผ่เมตตา การช่วยเหลือผู้อื่นโดยการเสียสละแรงงาน การให้ทาน การอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อผู้อื่น เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับงาน อยู่กับเพื่อน อยู่กับภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบนั้น ๆ เมื่อจิตเกาะอยู่กับภารธุระเหล่านั้น ที่สุดจะลดละเสียงและรูปละเอียดที่ได้ยินได้เห็นได้เอง

ดังนั้นการกำหนดทุกข์ด้วยการกำหนดที่ผัสสะ จึงมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างแดนต่อแดน (อายตนะภายใน - ภายนอก) เมื่อละเสียงกระซิบที่หูได้แล้ว ก็ควรพากเพียรกำหนดรู้ประโยชน์ของการเสียสละ การปล่อยวาง การให้อภัย แผ่เมตตาให้มากขึ้นด้วย เพราะความไม่สงบอาจจะทำให้กลับมาเครียดอีกได้ (ขอย้ำว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น)

การพิจารณา อารมณ์ฟุ้งซ่าน ที่กล่าวมาแล้ว ท่านผู้อ่าน ๆ แล้วรู้สึกอย่างไร? ยิ่งฟุ้งใช่ไหม? หากเป็นเช่นนั้น แสดงว่าท่านสอบผ่าน เพราะอาตมาเขียนตามสภาวะที่เกิดขึ้น ผิด-ถูก บัณฑิต ทราบได้ ความจริงของชีวิตคือ "ต้องมีวัน เวลา และโอกาส ให้ชีวิตได้พักผ่อนอยู่กับตนเอง อยู่กับครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักบ้างนะ ขอเจริญพร"