ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ผิดศีล 5 ข้อแรกข้อเดียว

ธรรมดาความปรารถนาของแต่ละท่านนั้น ย่อมแตกต่างกันไปบ้างเหมือนกันบ้าง ท่านที่ได้ติดตามอ่านบทความฉบับที่ผ่านๆ มาก็พอจะกำหนดนับได้ว่า การมีเจตนาทำลายผู้อื่นหรือสัตว์อื่นให้ตายนั้นเป็นบาปเป็นกรรม ซึ่งได้แสดงองค์ประกอบของการทำปาณาติบาตไว้ให้ทราบแล้ว วันนี้มาติดตามผลการกระทำบาปนั้นดูสิว่า ทางพระพุทธศาสนาจะมีผลเป็นอย่างไร

วิบากกรรมของผู้กระทำปาณาติบาต ศีลข้อ ที่ 1 ปาณาติปาตาเวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ถ้าไม่เว้นย่อมยังสัตว์ให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานในเปรตวิสัย และเมื่อวิบากกรรมเริ่มเบาบางลงมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะได้รับผลจากวิบากกรรมที่ผิดศีลข้อ1 มี 9 ประการ คือ

1. เป็นคนทุพพลภาพพิกลพิการ ไม่ทางร่างกาย ก็ทางสมองหรือทางสติปัญญา

2. เป็นคนรูปไม่งาม หน้าตาอัปลักษณ์ อัปโชค ด้อยวาสนาบารมี

3. มีกำลังกายอ่อนแอ หดหู่ไม่มีสง่าราศี น่าเวทนา

4. เป็นคนเฉื่อยชา ไม่ตื่นตัว ไม่ว่องไว ไม่ก้าวหน้า

5. เป็นคนขี้ขลาดหวาดหวั่น ไม่องอาจ ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ไม่สามารถทำตนให้เข้มแข็ง

6. เป็นคนที่ถูกผู้อื่นฆ่า หรือมิฉะนั้นก็จักทำอัตตวินิบาต (ฆ่าตัวเองให้ตาย)

7. มักมีโรคภัยเบียดเบียน มีร่างกายเป็นรังแห่งโรค

8. ความพินาศเกิดกับบริวาร แม้ตนก็รักษาไว้มิได้ กรรมทั้งหลายจึงเป็นเรื่องทำลายมิตร

9. อายุสั้น และให้ผลติดต่อกันหลายภพหลายชาติ จนกว่าจะสิ้นกรรม

วิบากกรรมของศีล เมื่อว่าโดยผล บาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด ย่อมให้เกิดผลคือทุคติ และให้เกิดวิบากที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจในสุคติ ทั้งให้เกิดผลมีความไม่แกล้วกล้าเป็นต้น ในภายภาคหน้าและปัจจุบัน อนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยผลตามนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า วิบากของปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ทำให้เป็นผู้มีอายุสั้น

อ้าวไม่ได้เขียนให้ทุกคนกลัวนะ เพราะสิ่งที่กระทำที่เป็นการเว้นจากการฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่นให้ตายนั้น ก็เป็นประโยชน์มากมายมหาศาลเช่นกัน อย่างการรักษาศีลข้อที่ 1 แล้วได้อะไร ?

1. ได้รับผลปฏิสนธิกาล คือ ได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา เรียก ว่า กามสุคติภูมิ

2. ได้รับผลในปวัตติกาล คือ หลังจากเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับผลอีก 23 ประการ

อานิสงส์แห่งการรักษาศีลข้อที่ 1 มี 23 ประการ มีอะไรบ้าง?

1. สมบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ (มีอวัยวะครบ 32 ประการ)

2. มีร่างกายสมทรง สันฐานสันทัด

3. สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำยำล่ำสัน

4. มือเท้างาม ประดิษฐานลงด้วยดี

5. เป็นผู้มีผิวพรรณสดใสผ่องพรรณ

6. มีรูปโฉมงามสะอาดเกลี้ยงเกลามีเสน่ห์

7. เป็นผู้อ่อนโยนน่าชื่นชมน่ายินดี

8. เป็นผู้มีความสุขเกษมในที่ทุกสถาน

9. เป็นผู้แกล้วกล้าองอาจน่าเคารพยำเกรง

10. เป็นผู้มีกำลังมากทั้งกายทั้งใจ

11. มีถ้อยคำสละสลวยเพราะพริ้ง

12. มีบริษัท (บริวาร) รักใคร่ไม่แตกแยกจากตน

13. เป็นคนไม่สะดุ้งตกใจกลัวต่อเวรภัย

14. ข้าศึกศัตรูทำร้ายไม่ได้ประดุจว่ามีเทพพรหมคอยพิทักษ์รักษา

15. ไม่ตายด้วยความเพียรฆ่าของผู้อื่น ศัตรูย่อมพ่ายไปเอง

16. มีบริวารหาที่สุดมิได้ คือเป็นที่รักของมหาชน

17. มีรูปร่างสวยงามพริ้งเพรา เป็นเสน่หานิยมของผู้คนที่ได้พบเห็น

18. มีทรวดทรงสมส่วนสมทรง ไม่ต้องพะวงเรื่องอ้วนเรื่องผอม

19. มีความเจ็บไข้น้อย ปลอดภัยห่างไกลโรค เหมือนได้ลาภอันประเสริฐ

20. ไม่มีเรื่องเศร้าโศก เสียใจให้วุ่นวาย ไม่ฟุ้งซ่านในการใดๆ

21. เป็นที่รักของชาวโลก อันนับด้วยเทวดาและมนุษย์

22.ไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รักและชอบใจ แม้ทิพยสมบัติก็บังเกิดขึ้น

23. มีอายุยืนยาวนาน ทั้งทางกายภาพ และเกียรติยศ


สองสัปดาห์ที่เล่าเรื่องนี้มา ก็พอเป็นแนวทางศึกษาศีลข้อที่ว่า ปาณาติปาตา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความมีอวัยวะใหญ่น้อยสมบูรณ์ ความมีสมบัติคือความสูงใหญ่ ความมีสมบัติคือเชาว์ว่องไว ความมีเท้าตั้งอยู่เรียบดี ความงาม ความนุ่มนวล ความสะอาด ความกล้า ความมีกำลังมาก ความมีวาจาสละสลวย ความเป็นที่รักของชาวโลก ความมีวาจาไม่มีโทษ ความมีบริษัทไม่แตกกัน ความมีความองอาจ ความมีรูปไม่บกพร่อง ความเป็นผู้ไม่ตายเพราะศัตรู ความเป็นผู้มีบริวารมาก ความเป็นผู้มีรูปงาม ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความมีโรคน้อย ความไม่เศร้าโศก ความไม่พลัดพรากกับสัตว์สังขารที่รักที่พอใจ ความมีอายุยืน

ถึงตรงนี้อาจอามกันว่า "แล้วพระพุทธเจ้าฉันเนื้อหรือฉันเจ / มังสวิรัติ" จากหลักฐานที่มีในพระไตรปิฎก ทำให้เชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเจ ดังมีบันทึกว่า ครั้งหนึ่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาว่ามีคนฆ่าสัตว์แล้วนำมาทำอาหารถวายพระองค์ พระองค์ทรงทราบแล้วยังฉันอาหารนั้นอยู่ เป็นการกล่าวอ้างผิดๆ ใช่หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เรื่องนี้ไม่จริงเลย เนื้อสัตว์ที่พระองค์ไม่ฉันมีสามอย่างคือ สัตว์ที่ได้เห็นเขาฆ่า สัตว์ที่ได้ยินมาว่าเขาฆ่า และสัตว์ที่ทรงสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อทำอาหารถวายพระองค์

อีกตอนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเทวทัตต์ ซึ่งต้องการเป็นใหญ่แทนพระพุทธองค์ จึงเสนอเงื่อนไข 5 ประการให้แก่พระพุทธองค์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดของตน ขณะเดียวกันก็เพื่อทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาในพระองค์เพราะเชื่อแน่ว่าพระองค์จะไม่ทรงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เงื่อนไขทั้ง 5 นั้นได้แก่

1. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุที่อาศัยบ้านอยู่ต้องมีโทษ

2. ภิกษุทั้งหลายควรบิณฑบาตตลอดชีวิต ใครรับนิมนต์ต้องมีโทษ

3. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ห้ามรับผ้าคหบดี ใครยินดีผ้าคหบดีต้องมีโทษ

4. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยที่มุงบังมีโทษ

5. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อ ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อต้องมีโทษ

ข้อที่ 5 นั้นบ่งบอกเป็นนัยว่าในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ฉันปลาและเนื้อ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองว่าการฉันเจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันเนื้อได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรงมุ่งหวังให้พระภิกษุเป็นผู้เลี้ยงง่าย ญาติโยมถวายอะไร ก็ฉันอย่างนั้น (ยกเว้นเนื้อ ที่ทรงห้ามสำหรับพระภิกษุมี 10 ชนิด คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง ซึ่งมีเหตุผลในการทรงบัญญัติไว้ด้วย) อีกประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะอาหารสมัยก่อนนั้นค่อนข้างอัตคัด ไม่สามารถเลือกได้มากนัก แต่สมัยนี้อาหารมีอย่างอุดมสมบูรณ์ เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายมาก จนผู้คนกินอย่างล้นเกิน เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และนำไปสู่การเบียดเบียนสัตว์มากขึ้น การที่พระหันมาฉันมังสวิรัติบ้าง น่าจะดีหากไม่เป็นการรบกวนญาติโยม นอกจากดีต่อสุขภาพแล้วยังช่วยลดการเบียดเบียนสัตว์ด้วย แต่ก็ควรฉันด้วยความไม่ยึดติดถือมั่นหรือด้วยมานะว่าตนวิเศษกว่าผู้ที่กินเนื้อ

อาตมาได้เสนอบทความธรรมะเรื่องดังกล่าวมา ทั้งในด้านที่เป็นองค์คุณและที่เป็นโทษเป็นบาป โดยพิจารณาแล้วว่าจะเกิดกระบวนการทางความคิด หวังว่าทุกท่านจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับการดำเนินชีวิตของตนๆ อย่างมีเหตุผล ธรรมะสวัสดี