ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



คุณธรรมอันสูงส่ง สู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่หวั่นไหว สติในการครองธรรม ยังความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะๆ ว่า อารมณ์ใดเกิด อารมณ์ใดดับ ถามว่าอารมณ์กับกิเลสเป็นสิ่งเดียวกันใช่ไหม? หากรับรู้สักว่าเกิดขึ้น โดยที่ไม่มีจิตเข้าไปปรุงก็เป็นเพียงอารมณ์ หากเอาจิตเข้าไปปรุงและถือครองยึดมั่น เป็นเราเป็นเขา เป็นตัวกูของกู ก่อให้เกิดกุศล / อกุศล นั้นก็ยังเป็นกิเลสอยู่ เหตุปัจจัยอื่นก็ย่อมเกิดขึ้นตามมา นี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดาเพราะมันเกิดไฟกองใหญ่ เช่น โมหะ โทสะ อวิชชามันเขามเป็นตัวชงให้เต้นไปตามอำนาจของมัน จนทำให้เราหวั่นไหวเกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ กระทั่งเป็นกรรมใหญ่ มีอำนาจผูกอาฆาตร พยาบาท ปองร้าย ทำร้าย แบบแกะไม่หลุด ดังนั้นโบราณจึงพยายามสื่อใช้ให้รู้เบื้องลึกของจิต หรือก้นบึ้งของใจว่า "การทำบุญทั้งหลายทั้งมวล ต้องทำให้เกิดกุศล เพื่อให้ไปทำลายเครื่องหมักดองในสันดาน" ดังนั้น คำว่ากุศลนั้นคงมิใด้หมายเป็นอย่างอื่น แน่นอนคง หมายถึงปัญญารู้จ้งในเหตุในผลทั้งปวงนี่เอง

การให้ที่สะอาดที่สุด คือการให้อภัย เมตตา และอโหสิกรรม ความหมายของอโหสิกรรม อโหสิกรรม คือ อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือเป็นกรรมที่รอให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสให้ผล หากว่าล่วงเลยเวลาในการให้ผลก็จะเป็นอโหสิกรรมไป คือ เลิกให้ผล เพราะไม่มีโอกาสให้ผลได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผลก็เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไป หรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟแล้ว เมล็ดพืชนั้นเมื่อนำไปปลูกก็ไม่สามารถเจริญงอกงามขึ้นได้ แม้ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใดก็ตาม อโหสิกรรมก็เช่นกันไม่สามารถจะให้ผลได้ หรือหยุดการให้ผล ซึ่งในหนังสืออภิธรรมปริจเฉทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องวิถีมุตตสังคหวิภาค ได้อ้างถึงอโหสิกรรมในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคบาลี16) ที่แสดงไว้ว่า

1. อโหสิกมฺมํ นาโหสิกมฺมวิปาโก กรรมที่ได้ให้ผลแล้ว คือผลกรรมในอดีตชาติที่ให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมนั้นให้ได้รับทุกข์สุขแล้ว เช่น ได้ตกนรกไปแล้ว หรือไปเกิดบนสวรรค์แล้ว กรรมนั้นย่อมเป็นอโหสิกรรม หรือเมื่อกรรมที่มีกำลังมากกว่าให้ผลแล้ว กรรมที่มีกำลังน้อยรองลงมาก็เลิกให้ผล เช่น ได้ตติยฌานกุศลกรรม ปฐมฌานกุศลกรรม และทุติยฌานกุศลกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่มีกำลังน้อยกว่าก็ไม่สามารถให้ผลได้ จึงเป็นอโหสิกรรมไป

2. อโหสิกมฺมํ นตฺถิกมฺมวิปาโก กรรมที่ไม่ให้ผล คือผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้แล้วในชาติปัจจุบัน แต่ไม่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรมให้ได้รับทุกข์สุข เช่น กิริยาจิต แม้จะกระทำสักเท่าใดก็ตาม ก็เป็นกิริยาทั้งหมด ไม่ทำให้เกิดวิบาก และไม่สามารถให้ผลได้ จึงเป็นอโหสิกรรม หรือถ้าขณะที่อกุศลกรรมกำลังให้ผลอยู่ก็จะหยุดให้ผลชั่วคราว เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำกุศลกรรมที่มีกำลังแรง จึงเปิดโอกาสให้กุศลกรรมที่มีกำลังแรงให้ผลก่อน อกุศลกรรมที่กำลังให้ผลอยู่จึงกลายเป็นอโหสิกรรม

3. อโหสิกมฺมํ นภวิสฺสติกมฺมวิปาโก หมายถึง ผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมในชาติอนาคตไม่มีแล้ว เช่น องคุลิมาลฆ่าคน ผลของกรรมที่ฆ่ามนุษย์นั้น ไม่สามารถให้ผลได้ เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว ทำให้สิ้นภพสิ้นชาติ กรรมที่ทำเอาไว้นั้นตามให้ผลไม่ได้อีก คือไม่ต้องเกิดอีก กรรมนั้นไม่มีผู้รับสนอง จึงเป็นอโหสิกรรมไป เปรียบเหมือนบุคคลวิ่งหนีสุนัข สามารถข้ามไปอีกฝั่งได้แล้ว ซึ่งเหลือวิสัยที่สุนัขจะไล่ตามได้ เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่กลับมาฝั่งนี้อีก สุนัขซึ่งเฝ้าคอยอยู่ก็จะตายไปเอง

ดังนั้น กรรมทั้งหลายที่บุคคลกระทำไว้ ถ้าล่วงเลยเวลาในการให้ผลของกรรมแต่ละกรรมดังที่กล่าวมาแล้ว กรรมเหล่านั้นย่อมไม่มีโอกาสที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมได้ กรรมทั้งหลายนั้นก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป จากการศึกษาในบทเรียนนี้ พอจะสรุปได้ว่า กรรมแต่ละชนิดนั้นให้ผลในลักษณะใด ดังนี้

ปากกาลจตุกกะ คือ กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ซึ่งเป็นกรรมในหมวดที่ 3 โดยมีเนื้อหาที่ต่อจากกิจจจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ และปากทานปริยายจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมที่ให้ผลตามลำดับ ซึ่งกรรมให้ผลตามกาลเวลานี้มีอยู่ 4 ประเภท คือ

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ ซึ่งเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีอายุน้อย ยืนต้นอยู่ได้ไม่นานประเภทที่ 1 เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน ไม่สามารถที่จะให้ผลข้ามชาติได้ มีกำลังให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น เมื่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม ย่อมได้รับผลทั้งที่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขในปัจจุบันชาตินี้ โดยไม่ต้องรอจนถึงชาติหน้า

อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า ซึ่งเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีอายุน้อย ยืนต้นอยู่ได้ไม่นานประเภทที่ 2 เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน แต่ก็มีกำลังที่มากกว่าประเภทแรก เนื่องจากกรรมประเภทนี้ ให้ผลเฉพาะในชาติหน้าเท่านั้น เมื่อให้ผลแล้วก็หมดกำลังในการให้ผลเพียงแค่นั้น ถ้าบุคคลใดก็ตามที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมประเภทนี้แล้ว ย่อมทำให้บุคคลที่กระทำกรรมไปเกิดในทุคติภูมิหรือสุคติภูมิในชาติหน้า ซึ่งจะต้องไปเกิดต่อจากปัจจุบันชาตินี้อย่างแน่นอน

อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป คือ ตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไป ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ได้นานกว่าต้นไม้ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังมากกว่ากรรม 2 ประเภทข้างต้น จึงสามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมได้ตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไป และเมื่อถึงกำหนดเวลาการให้ผลก็จะยังให้ผลไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าได้โอกาสเมื่อไรก็จะให้ผลเมื่อนั้น ต่อเมื่อหมดกิเลสบรรลุพระอรหันต์เข้าพระนิพพาน กรรมประเภทนี้จึงเป็นอันสิ้นสุดการให้ผลเมื่อนั้น ซึ่งถ้าบุคคลใดกระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมประเภทนี้แล้ว ย่อมทำให้บุคคลที่กระทำกรรมได้รับความทุกข์หรือความสุขได้ในชาติที่ 3 เป็นต้นไป

อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล เพราะไม่มีโอกาสให้ผลได้ทั้งอดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล ซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไป หรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟแล้ว เมล็ดพืชนั้นเมื่อนำไปปลูกก็ไม่สามารถเจริญงอกงามขึ้นได้แม้ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใดก็ตาม เพราะอโหสิกรรมนี้ถึงแม้จะสำเร็จเป็นตัวกรรมก็ตาม แต่ไม่มีโอกาสให้ผล เนื่องจากมีกรรมอื่นที่มีกำลังแรงมากกว่ามาให้ผลก่อน จึงกลายเป็นกรรมที่หมดประสิทธิภาพที่จะให้ผลทันที

ดังนั้น เมื่อศึกษาการให้ผลของกรรมแล้ว จะเห็นว่าการให้ผลของกรรมมีความซับซ้อนมาก ซึ่งเป็นการยากมากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย และด้วยเหตุที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการให้ผลของกรรม จึงทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบแล้ว ก็น้อยใจในโชคชะตาชีวิตของตน ซึ่งการคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด และเป็นอันตรายกับชีวิต เพราะในความเป็นจริงนั้นกรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่กำลังรอการให้ผลอยู่กับทุกการกระทำที่บุคคลกระทำขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะหนีกรรมที่ตนกระทำไว้ได้ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส ยตฺรฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา." "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ)เขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่"

เพราะฉะนั้น เมื่อได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นอัตภาพที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างความดี จึงไม่ควรน้อยใจในโชคชะตาที่ตนเองได้รับในปัจจุบัน แต่ควรที่จะหมั่นสั่งสมบุญทุกๆ บุญอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตละบาปอกุศลทุกชนิด และทำใจของตนให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดบุญกุศลที่กระทำเอาไว้ได้ช่องสบโอกาสในการให้ผล ก็จะทำให้ชีวิตของเราได้รับแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงแม้จะได้ทำบาปอกุศลมาในอดีตก็ตาม บาปอกุศลนี้ก็จะไม่มีโอกาสในการให้ผลอีกต่อไป จงพร้อมใจแผ่เมตตาให้พวกเขา ด้วยการให้อภัยจะเป็นบุญใหญ่อันประเสริฐ เพราะเป็นการให้ที่สะอาดที่สุด ธรรมสวัสดี ขอจำเริญพร