ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความกตัญญู คุณธรรมของบัณฑิตชน

ญาติโยมท่านสาธุชนทั้งหลาย ความกตัญญูกตเวที คือคุณธรรมพื้นฐานที่ดีของลูกหลาน ทุกชีวิตต้องคิดกตัญญู เราต้องปลูกฝั่งความกตัญญูให้เป็นคุณธรรมประจำใจให้งดงาม การปลูกสร้างบ้านเรือนหรือเจดีย์นั้น สิ่งสำคัญคือการวางรากฐานให้มั่นคงแข็งแรง สามารถจะอยู่ได้นานหลายชั่วคน การวางรากฐานการก่อสร้างมีความสำคัญเพียงใด การวางรากฐานของวิถีชีวิตคนก็มีอุปมา ฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้ไว้ ดังปรากฏในไตรปิฎก เอกนิบาต ว่า "การรู้คุณและตอบแทนคุณ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของคนดี" คุณธรรมดังกล่าวนี้จำเป็นต้องปลูกฝัง สั่งสอนไว้ตั้งแต่ปฐมวัย จึงจะได้ผลดี

ความกตัญญูต่อบุคคลก็ดี หรือต่อสถานที่ก็ดีเป็นสิ่งควรใส่ใจ เช่น สถานที่รับอาหารบิณฑบาตทุกวันเสาร์ ไทยแลนด์พลาซ่า เราทุกคนต้องช่วยกันสอดส่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นระเบียบของการบิณฑบาต เรื่องความสะอาด ความพร้อมเพียงกัน ความเรียบร้อยดีงามทั้งส่วนญาติโยม และทั้งส่วนพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ต้องทำให้เป็นแบบอย่างที่น่าเคารพ ไม่พาออกเดินโฉบเฉี่ยวเพียงรับอาหารและปัจจัย แล้วก็รีบกลับรีบแจว การสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่ออุดมคตินั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจึงจะสำเร็จดีงาม เป็นมรดกธรรมไปเบื้องหน้า


ความกตัญญูและกตเวที คืออะไร ?

กตัญญู คือ รู้คุณท่าน ได้แก่ การรู้สึกสำนึกในพระคุณของพ่อแม่เป็นบุคคลผู้ทรงคุณอันประเสริฐสูงสุดของลูก ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ย่อมจะรักลูกของตนยิ่งชีวิต บางครั้งถึงกับยอมตายไถ่แทนลูกได้ ความรักกับความชังเป็นคนละเหตุผล ฉันใด บุญคุณกับความแค้น มิใช่จะมาในกระสอบเดียวกัน ฉันนั้น "การล้างถ้วยล้างชาม ยิ่งล้างก็ยิ่งจะสะอาด ส่วนการล้างแค้นนั้น ยิ่งล้างก็ยิ่งจะสกปรก"

กตเวที คือ ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน ได้แก่ เมื่อเราระลึกถึงคุณของท่านแล้ว ก็ควรหาทางตอบแทนพระคุณของท่าน คุณธรรมทั้งสองนี้จะต้องทำไปพร้อมกัน ต้องระลึกถึงคุณ และคิดตอบแทนพระคุณของท่านเสมอ ไม่ว่าพ่อแม่จะชั่วดี ก็ไม่มีข้อยกเว้น การตอบแทนพระคุณของท่านเป็นหน้าที่เราในฐานะลูก พ่อและแม่มีพระคุณต่อลูก 2 ระยะ คือ การให้เกิด และการเลี้ยงดู

การให้เกิด หนึ่งเดียวคือ พ่อและแม่เท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ได้

การเลี้ยงดู พ่อแม่หรือใคร ๆ ก็ทำหน้าที่นี้ได้ เพียงมีจิตเมตตาและความรับผิดชอบ ผู้ให้เกิด และผู้ให้การเลี้ยงดู มีพระคุณมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเลี้ยงลูกที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องเลี้ยง ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้มีความสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กัน

การเลี้ยงดูทางร่างกาย คือ ให้ร่างกายเติบโตสมบูรณ์มีสุขภาพอนามัยดี มีความรู้ มีความสามารถในการเลี้ยงตัวเอง และพึ่งตัวเองได้ในสัมมาชีพ

การเลี้ยงดูทางจิตใจ คือ ต้องให้จิตใจมีคุณธรรม สำนึกในบาป-บุญ-คุณ-โทษ มีคุณธรรม ความดีงามทั้งหลายย่อมเกิดกับลูกได้มั่นคงตลอดไป สรุปคือ การเลี้ยงลูกต้องปลูกให้มีปัญญาธรรม


การสงเคราะห์ญาติ

มารดา-บิดา คือญาติสายโลหิต ความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ทำให้เรารู้จักแบ่งปัน ตลอดถึงการอุทิศส่วนบุญไปถึงญาติทั้งหลายที่ล่วงลับวายชนม์ไปยังปรโลก และเป็นการสงเคราะห์ญาติมิตรทั้งหลายที่อยู่ด้วยกัน ถือว่าเป็นนิมิตหมายของคนดี ดังภาษิตที่ว่า "นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี" การที่เราทั้งหลายสงเคราะห์ญาตินั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


ประเภทที่หนึ่ง สงเคราะห์ด้วยอามิส (มีลักษณะคือ)

1) สงเคราะห์ด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

2) สงเคราะห์ด้วยอาหารของบริโภค ขบเคี้ยว

3) สงเคราะห์ด้วยที่อยู่ที่อาศัย

4) สงเคราะห์ด้วยหยูกยาพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล เป็นต้นฯ


ประเภทที่สอง (สงเคราะห์ด้วยธรรม)

สงเคราะห์ด้วยธรรมะ ช่วยแนะนำพร่ำสอนตักเตือนกัน ให้รู้จักความผิดชอบชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ แนะนำตักเตือนกันให้รู้จักประโยชน์โลกนี้ ให้รู้จักประโยชน์โลกหน้า ให้รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ให้รู้จักการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังเทศน์ ให้รู้จักวิธีเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยธรรมะ

การสงเคราะห์กันนี้ นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า "ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ. การสงเคราะห์ญาติ เป็นมงคลอันประเสริฐสุด" การที่เราทั้งหลายเอาใจใส่สงเคราะห์ญาติของเรา ด้วยการให้อามิสสิ่งของก็ดี ด้วยการให้ธรรมะก็ดี ย่อมจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง วัฒนาสถาพรตลอดไป แล้วก็จะมีความสามัคคีปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อระหว่างหมู่ญาติต่อหมู่ญาติมีความสามัคคีกัน บ้านก็สามัคคีกัน ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ญาติโยมท่านสาธุชนทั้งหลาย คนเรามีทรัพย์สินเงินทองพออยู่พอกิน ก็ให้ทำบุญสุนทรทาน เพื่อประโยชน์ทั้งในโลกนี้โลกหน้า เมื่อเรามีบุญมีวาสนา ก็จะไม่เป็นคนยากจนข้นแค้น การไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวย่อมมีอานิสงส์ คือเวลารับประทานอาหารก็รับประทานแต่ของดี ๆ เวลาจะบริโภคผลไม้ ก็ได้กินแต่ผลไม้ดี ๆ ไม่เน่าเสีย เรียกว่าคนมีบุญ มีอยู่มีกินตลอดปีตลอดไป


ความกตัญญู คุณธรรมของบัณฑิตร

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาคุณสุพจน์ สารีบุตร ได้หอบหิ้วเครื่องสังฆทานเพื่อจะนำเป็นกองบุญอุทิศให้พ่อแม่ และเจ้ากรรมนายเวร ตามประเพณีคนจาวเหนือ ประเพณีจาวเมืองลำพูน - ลำปางขึ้นไปถึงเชียงใหม่ - เชียงฮาย จะมีสำเนียงภาษาเฉพาะ และหากได้อุทิศบุญเป็นภาษาถิ่นก็จะรู้สึกแจบใจ(สนิทใจ) ในผลตานที่ให้ คุณสุพจน์ ได้ปรึกษาอยากทำตามประเพณีจาวเหนือ แถมยังหอบหิ้วเครื่องสังฆทานของแม่ผิง คุณรุจิลาภา พัฑฒนะ มาพร้อมชุดใหญ่ อาตมาจะขอลองอู้กำเมืองอนุโมทนาเจ้าภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนจาวเหนือ ณ บัดนี้


คำอุทิศทานแบบล้านนา
ยะถา วาริวะหา ปูรา   ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง  เปตานัง อุปะกัปปะติ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง  ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา  จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติระโส ยะถา ฯ

เอวัง โหนตุ ดีละ อัชชะในวันนี้ก็เป็นวันดี สะหรี๋สุภะมังคะละอันผาเสริฐ ล้ำเลิศยิ่งกว่าวันและยามตั้งหลาย บัดนี้หมายมีมูลละศรัทธา 1) คือนายสุพจน์ สารีบุตร 2) คือนางรุจิลาภา พัฑฒนะ พร้อมด้วยศรัทธา และครอบครัว ก็ได้ขวยขวายตกแต่งแป๋งพร้อมน้อมนำมายังวัตถุไตยตาน โภชนะอาหารหลากหลาย เพื่อมาถวายเป๋นตาน อุทิศส่วนกุศลไปหายังผู้ที่จุติต๋ายไปสู่ปรโลกปายหน้า

ส่วนเจ้าภาพที่ 1 ญาติของคุณสุพจน์ สารีบุตร อันมีนามกอนว่า.....คุณพ่อหวัน คุณแม่ตุ้ม สารีบุตร กับทั้งเจ้ากรรมนายเวร...

ส่วนเจ้าภาพที่ 2 ญาติของคุณรุจิลาภา พัฑฒนะ, คุณสดุดี เนื่องนิยม, คุณแมทธิว พรหมสมุทร อันมีนามกอนว่า...คุณพ่ออนันต์ คุณแม่ศศิธร พัฑฒนะ, คุณแม่จรวยพร อิศรางกูร ณ อยุธยา, คุณแม่ฉลวย จิยะจันทร์, คุณสุนีย์ ดีสมเลศ, คุณแม่ทัศนีย์ พรหมสุนทร เป็นต้นฯ

บัดนี้ต๋นตัวแห่งอาตมา ก็มีธรรมะเมตตา ฮับเอาไว้แล้ว หากแม้นว่าในขณะต๋าย ..(หมายถึงท่านตังหลายผู้ที่ได้ฮ้องชื่อมาข้างต้น)..ในจิตวางอารมณ์อาลัยหา ภรรยา (สามี) ก๊าลูกเต้า หลานเหลน ทรัพย์สมบัติ ไร่นาก๋ามะเขต ตี้อยู่ตี้กิ๋น หอเฮือนบ้านจ่องก็ดี จิตเจตนาไปบ่จ่าง ได้ไปตกอยู่ระหว่างประตูจะตุระอบายตังสี่ ต๋ายเป็นผีเป็นเปรต ตุ๊กข์เวทนาลำบาก ฮ้อนบ่ได้อาบ หยากบ่ได้กิน ดั่งอั้นก็ดี ก็ขอส่วนบุญตังหลายเหล่านี้ไปจุจอดรอดเถิง เติงยังจิตวิญญาณของตานตังหลาย หื้อได้รับร่วมฮู้อนุโมทนา หื้อได้กิ๋นได้บริโภคได้เสพสร้างเสวยผล ได้เอาตั๋วตนป้นเสียตี่ยาก ได้พรากเสียจากตี่ทุกข์ หื้อได้เถิงสุขในตีฆาก๋าละวันนี้ยามนี้

กั๋นว่าบุญกุศลไปถึงเมื่อยามเจ้า ก็ขอหื้อกลับกล๋าย เป๋นดั่งข้าวงาย กั๋นว่าไปถึงเมื่อยามขวาย ก่ขอหื้อกลับก๋ายเป็นอาภรณ์เสื้อผ้า กั๋นว่าไปถึงเมื่อยามหล้า ก็ขอหื้อกลับก๋ายเป็นขัวแก้วสำเปาคำ ลำประเสริฐต่างนำเอาดวงวิญญาณของไปเกิดตี้ตางดีมีพิมาน แม้นว่าได้อยู่ที่ดีแล้ว ก่ขอหื้อส่วนบุญกุศลเหล่านี้ จุ่งได้กลับก๋ายเป็นข้าวติ๊ปน้ำติ๊ป เป็นเสื่อสาดอาสนะ ปราสาทราชมณเฑียร ขอหื้ออยู่สุขเสถียรค่ำเจ๊านั้น จุ่งจักมีเตี่ยงแต๊ดีหลี บ่เต๊าแต่นั้นมูลละศรัทธา ผู้ได้ถวายตานนี้ ก็ขอฮื้อพ้นเสียยัง 30 เคราะห์ปายหน้า 50 เคราะห์ปายหลัง สัพพะเคราะห์เสนียดจัญไร สัพพะเวรอุบาทว์ พยาธิ์อันตรายทั้งหลายมวล คือว่า เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่น เคราะห์เมื่อจื่นเมื่อฝัน เคราะห์เมื่อวันเมื่อคืน เคราะห์เมื่อลุกเมื่อนั่ง เคราะห์เมื่อย่างเมื่อเตียว เคราะห์เมื่อเกี้ยวเมื่อกิ๋น เคราะห์เมื่อไปเมื่อมา เคราะห์เมื่อปากเมื่อจ๋า เคราะห์เจ็บหัวมัวต๋า เคราะห์นามต๋ามใต่ เคราะห์เจ็บ เคราะห์ไหม้ เคราะห์ไข้ เคราะห์หนาว เคราะห์หนเหนืออย่ามาใกล้ เคราะห์ตังใต้อย่ามาปก เคราะห์ตะวันตกอย่ามาปอก เคราะห์ตะวันออกอย่ามาก๋าย เคราะห์ตกเบี้ยเสียของ ทั้งหลายมวลฝูงนี้จุ่งระงับกับหายจาก กายะสันดานตนตั๋วหัวใจแห่งมูลละศรัทธาผู้ถวายตาน ไปหื้อหมดฮื้อเสี๊ยง เสมือนดั่งได้อาบน้ำบ่อแก้ว อันจื่อว่า อะโนมาตัสสะนที นั้นจุ่งจักมี เตี่ยงแต้ดีหลี แม้นจักไปนานาทิศ สะนุทิศสะคือว่าวันตก วันออก ขอกใต้และหนเหนือ หรดี อีสานอาคเนย์ดังอั้นก็ดี

แม้นจักกระทำก๋านใด เช่นข้าราชก๋าน ทหารตำรวจ ค้าขายพาณิชย์ ทำไฮ่ทำสวนการเกษตร ท่องบ้านแอ่วเตียวเมือง หรือทำอันใดอันหนึ่งก็ดี ก็จงหื้อเป็นที่ฮักมักจำเริญใจ๋แก่หมู่คนและเทวดาทั้งหลาย แม้นว่าอยู่ก็จงหื้อมีโชคมีชัย แม้นจักไปก็จงหื้อมีโชคและมีลาภ ชนะปราบข้าศึกศัตรูอันตรายทั้งหลายทั้งมวล จงจักมีจตุรพิธพรชัยอันประเสริฐทั้ง 4 ประการ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ธนะสารสมบัติ สมดั่งคาถาบาลี พระพุทธเจ้าเตสนาไว้ว่า

สัพพีติโย วิวัชชันตุ  สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย  สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อะภิวาทะ นะสีลิสสะ  นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ  อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ
..........รูปขอจำเริญพร.........