ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การุณยฆาตที่ไม่ต้องด้วยครุกรรม !

การุณยฆาต เป็นปัญหาถกเถียงกันทางด้านกฏหมายและจริยธรรมเอามากๆ เรื่องนั้นก็ว่ากันไป ทัศนะทางพระพุทธศาสนา ดูว่าพอจะมีวิธีหลบเลี่ยงกรรมหนัก ซึ่งเราต้องตระหนักอย่างสมควรแก่ธรรม ให้สมสมัยได้ทางออกกันอย่างเป็นกลางควรแก่เหตุผลทางกฏหมายและจริยธรรมตามสิทธิมนุษยชน เรื่องนั้นละไว้ก่อนไปดูหัวข้อธรรมอื่นๆ ที่จะยกมาให้เหตุผลและทัศนะที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจ การทำการุณยฆาตที่ไม่ต้องด้วยครุกรรม !

ครุกรรม หมายถึงกรรมหนัก กรรมที่มีกำลังแรงมาก สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้เป็นเจ้าของกรรมเป็นลำดับแรก แม้บุคคลนั้นจะมีวาสนาบารมีเพียงใด ก็ไม่มีอำนาจที่จะสามารถขวางกั้นการให้ผลแห่งครุกรรมได้ กรรมหนักดังที่กล่าวนั้นเรียก อนันตริยกรรม คือ กรรมที่มีอำนาจให้ผลในภพชาติต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มี 5 ประการ คือ

1 มาตุฆาต การฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิด

2 ปิตุฆาต การฆ่าบิดาผู้ให้กำเนิด

3 อรหันตฆาต การฆ่าพระอรหันต์

4 โลหิตุปบาท การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต

5 สังฆเภท การทำให้สงฆ์แตกแยกกัน

ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยว่า ผู้กระทำล่วงอนัตริยกรรม แล้วนั้น ห้ามทางสวรรค์ ห้ามทางนิพพาน ตกไปสู่อบายภูมิมีอเวจีมหานรกเป็นที่ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส นัยหนึ่งอาตมาเห็นว่านี้เป็นการป้องกันมิให้บุคคลล่วงกรรมหนักต่อบุพการีอย่างลึกซึ้งเลย

ลักษณะของครุกรรม ครุกรรมนี้เป็นกรรมหนักที่สุด เป็นกรรมที่มีกำลังแรงที่สุดและจะให้ผลเป็นลำดับแรก ซึ่งไม่มีกรรมใดที่จะสามารถให้ผลได้ก่อน เพราะมีกำลังในการให้ผลน้อยกว่าครุกรรม โดยอาจจะเปรียบครุกรรมเหมือนก้อนกรวดหรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้นเหนือน้ำได้ แต่จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียว ครุกรรมก็เช่นกันต้องให้ผลก่อนกรรมอื่น

ครุกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

1. ครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรม จะชักนำให้ผู้ที่ทำครุกรรมไว้ไปบังเกิดในทุคติภูมิ

2. ครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม จะชักนำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ โดยที่ไม่มีกรรมใดจะมาขัดขวางได้


การุณยฆาต ตามทัศนะของพุทธศาสนา

มีการเสนอแนวคิดนี้ใน ตติยปาราชิกสิกขาบท วินัยปิฏก มหาวิภังค์ ถึงการฆ่าว่า พุทธศาสนา เสนอหลักว่าต้องครบองค์ประกอบดังนี้

1. สัตว์มีชีวิต

2. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต

3. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น

4. ทำความพยายามเพื่อให้สัตว์นั้นให้ตาย

5. สัตว์นั้นตายลงด้วยความพยายามนั้นด้วยเจตนา

หากผิดโดยครบองค์ 5 ย่อมถือว่าผิดในทัศนะพุทธศาสนา ในการเสนอหลักการนี้พระพุทธศาสนา ได้ยังชี้ให้เห็นความเข้มของศีลข้อนี้ว่า การฆ่านั้นยังแบ่งเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ ตามระดับของ คุณค่า ขนาดกาย ความพยายาม และ เจตนา เช่นการฆ่าสัตว์ช่วยงานมีโทษมากว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย ฆ่าพระอรหันต์มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ยิ่งใช้ความพยายามในการฆ่ามาก ก็ยิ่งมีโทษมาก การฆ่าโดยป้องกันตัวมีโทษมากกว่าฆ่าโดยโกรธแค้น ซึ่งโดยหลักการนี้ไม่ว่าจะเป็นการชักชวน การวาน การลงมือฆ่าเอง ไม่มีทางเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปได้เลย

ปัญหาเรื่องกรรมกับเรื่องการุณยฆาตในผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ต้องการทำการุณยฆาต คือช่วยให้ดับจิตดับขันธ์ไปด้วยอาการสงบไม่ทรมาน ด้วยความทุกขเวทนาแล้วนั้น จำต้องแยกคนละส่วนกัน พุทธศาสนาถือว่า มีเจตนาเป็นหลัก (เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ) นี้คือกรรมที่ส่งผลให้เกิดวิบากในภพต่อๆ ไป พุทธศาสนาหาได้ยกปรากฏการณ์ต่างๆ ไว้ที่กรรมอย่างเดียวไม่ แต่ปรากฏการณ์ทุกอย่างขึ้นตรงต่อ กฎของธรรมชาติ อย่างเรื่อง

อุตุนิยาม กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับอุณหภูมิ สภาวะต่างๆ ของธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอก็จะเป็นไปโดยไม่มีใครเป็นผู้กำหนดหรือห้ามได้ เฉกเช่น การให้อากาศช่วยหายใจ การตัดอากาศช่วยหายใจ ทั้งช่วยเหลือทั้งป้องกันเครื่องไม้เครื่องมือไม่ตอบสนองการทำงานต่อร่างกาย ทั้งปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ต่างๆ อย่างสุดที่จะเหนี่ยวรั้งชีวิตไว้ได้

พีชนิยาม กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ รวมทั้งความเจริญทางพันธุกรรม การที่ ร่างกายสูญเสียศักยภาพเป็นที่สุดแล้ว พัฒนาการทางร่างกายใดๆ ไม่สามารถอยู่ต่อได้ สูญเสียปฏิกิริยาตอบการรักษาเยียวยาได้ (ปลงใจ ปล่อยวาง ยอมรับยอมจำนน หมดอายุไข หรือหมดอายุการใช้งาน ชำรุดไปตามกฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

(อุตุนิยามและพีชนิยามที่เป็นจุดเน้นของวิทยาศาสตร์ เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธศาสนาจึง ไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์)

หากแพทย์ให้คำปรึกษาวินิจฉัยการรักษาแล้วว่า ไม่สามารถที่จะช่วยผู้ป่วยไว้ได้แล้วนั้น และให้ลูกหลานญาติพี่น้องยอมรับการที่จะงดให้อ๊อกซิเจน งดการให้ยา เพื่อไม่เป็นการรื้อรั้งให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน โดยการเข้าไปกระทำการุณยฆาตนั้น และถ้าผู้ป่วยท่านนั้นเป็น บุพการี และลูกหลานเป็นผู้อนุญาตให้แพทย์ถอดอ๊อกซิเจน เป็นต้นฯ ลูกๆ นั้นจะจัดว่า เข้าข่ายกระทำอนันตริยกรรม เป็นปิตุฆาตมาตุฆาตหรือไม่

ความเจ็บปวดเวทนาหรือทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระบวนการรักษาหรือการเยียวยาของหมอเอง เช่น การเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งหากผู้ป่วยมีโอกาสหายหรือรอด ก็น่าทำ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีโอกาสหาย และอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว การทำเช่นนั้นก็เป็นการเพิ่มความทุกข์ การทำให้เขามีชีวิตหรือลมหายใจยืนยาวขึ้น กลับกลายเป็นการยืดความทรมานให้ยาวกว่าเดิม

การปฏิเสธการรักษาหรือการแทรกแซงทางการแพทย์เมื่ออยู่ในภาวะดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่เป็นการยอมรับความตายที่กำลังจะมาถึง และเมื่อรู้ว่าใกล้จะตายแล้วก็เลือกที่จะตายอย่างสงบโดยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังขาร แต่ถ้าไม่แสดงเจตจำนงล่วงหน้าหรือไม่ได้มีการพูดคุยกับญาติจนเห็นพ้องต้องกัน หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ญาติและหมอก็อาจจะเจาะคอ ใส่ท่อ หรือใช้วิธีการทางการแพทย์อื่นๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งมักสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย และต่อมาก็อาจก่อความทุกข์และความเดือดร้อนแก่ญาติได้ ถึงตอนนั้น หากจะถอดท่อ ก็จะกลายเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะถ้าถอดแล้วผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตทันที ก็อาจจะกลายเป็นปาณาติบาตได้ (แต่ก็มีบางกรณีที่ถอดท่อแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถหายใจเองได้และมีชีวิตอยู่พักใหญ่ก่อนจะหมดลม ในกรณีนี้ย่อมไม่ถือว่าเป็นปาณาติบาต)

อนึ่ง ในกรณีลูกๆ ยินยอมแทนผู้เป็นพ่อเป็นแม่ที่ป่วยไม่ได้สติ ไม่ตอบสนองการรักษาเยียวยา มีเพียงเครื่องช่วยพยุงยื้อลมหายใจนั้นไว้ การถอดสายอ๊อกซิเจน ถอดท่อต่างๆ ออกโดยวินิจฉัยของแพทย์ ก่อนถอนออกลูกๆ และญาติๆ ต้องยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน และต้องตั้งกัลยาณจิตให้ตั้งอยู่ในภาวะเป็นกุศลกรรม ขณะจิตนั้นต้องปราศจากอคติ ปราศจากความโลภ (คือไม่หวังเพื่อเป็นผู้รับทรัพย์มรดก) ปราศจากความโกรธ (ไม่กระทำด้วยความเคียดแค้นชิงชัง) และความหลง (ไม่กระทำด้วยเหตุจูงใจใฝ่อกุศล) เป็นต้นว่า จิตมีพรหมวิหารธรรม ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, คือ

1. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข

2. กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยาก

3. มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู

ประเด็นนี้อาตมามองว่า เป็นการปลงสังขารยอมรับความตายโดยดุษฏีภาพนี้ว่า ไม่เป็น การุณยฆาต บุตร - ธิดา ไม่ได้อนันตริยกรรม ไม่จัดเป็นปิตุฆาตมาตุฆาต เออ...ถ้าลูกอกตัญญูนั้นก็ว่า ไปอีกอย่าง เช่นจิตให้ตั้งอยู่ในภาวะเป็นอกุศลกรรม ขณะจิตนั้นเต็มไปด้วยอคติ ปรารถนาความโลภ (คือหวังเพื่อเป็นผู้รับทรัพย์มรดก) มีความโกรธ (เคียดแค้นชิงชังบุพการี) มีความลุ่มหลง (ด้วยเหตุจูงใจใฝ่อกุศลอยากให้พ่อแม่ตายเพื่อให้ประโยชน์ต่างๆ ตกแก่ตน) ย่อมหลีกไม่พ้นบาป ลองไปใคร่ควรดูกันเองนะ ธรรมรักษา ขอเจริญพร