ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



คุณธรรมอันสูงส่ง สู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

พระพุทธองค์ได้ผู้ทรงอิทธิบาทธรรมให้เป็นแบบอย่างสู่ความสำเร็จได้อย่างลึกซึ้ง พระองค์ทรงกระทำอย่างที่พระองค์ทรงสอน และทรงสอนอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ พระองค์รักที่จะเป็นผู้ให้ และทรงกระทำทุกอย่างเพื่อที่จะเป็นผู้ให้ ทุกอย่างที่เราทั้งหลายได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทุกๆ อย่างที่เรากระทำด้วยตัวเราเอง หรือแม้ที่ผู้อื่นได้หยิบยื่นให้ก็ตาม ท่านทั้งหลายลองสดับเรื่องอิทธิบาทธรรมให้เข้าใจสักนิด และลองนำมาพิจารณาอย่างแยบคลายดูกันนะ แล้วจะทราบถึงความลึกซึ้งในธรรมนั้น ธรรมอันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ 4 ประการ ซึ่งใครๆ ก็สามารถรู้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติได้ผลอย่างครบถ้วนในธรรมนั้น ธรรมสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ดังนี้

อิทธิบาทธรรม บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรมเครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 สถาน คือ

1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม 4 ประการนี้ ให้เนื่องกันอย่างแน่นแฟ้น เช่นมีฉันทะแล้ววิริยะย่อมจะสนับสนุนให้กระทำในสิ่งที่พอใจรักใคร่ ความเอาใจใส่และการศึกษาฝึกฝนย่อมเป็นธรรมเกื้อกูล และในแต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เหมือนดังจะพูดได้ว่า เมื่อเกิดธรรมสิ่งนี้ข้อนี้ ย่อมให้เกิดธรรมสิ่งนี้ข้อนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เหมือนกายกับใจ เหมือนรูปกับนาม เหมือนจิตกับเจตสิก เหมือนหน้าที่ของบิดามารดาที่เฝ้าระวัง รักษาดูแลบุตรน้องของตนไม่ให้มีอันตราย เหมือนคุณธรรมของครูอาจารย์ผู้เฝ้าส่งเสริมสนับสนุนศิษย์ให้มีการศึกษาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ทำนองนั้น เป็นต้นฯ

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึงการการะทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว จนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้น ไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่

บุคคลเมื่อประกอบด้วย คุณธรรม 4 อย่างนี้แล้ว ย่อมประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ ซึ่งโดยตรงทางหมายถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ที่เรียกว่า นิพพาน ส่วนเรื่องอื่นนอกนั้นไป ถือว่าเป็นเรื่องพิเศษ และไม่มีขอบขีดจำกัดเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนอกเหนือวิสัยธรรมดา อยู่มาก เช่นเรื่องที่ว่า คนเราอาจมีอายุยืนถึงกัลป์ ด้วยอำนาจแห่งอิทธิบาททั้ง 4 นี้ ซึ่งข้อนี้มิได้มีความหมายขัดกัน ในข้อที่ว่า อิทธิบาท 4 นี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้อายุยืนถึงปานนั้นได้หรือไม่ แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า คนเราจะสามารถ เจริญอิทธบาทให้มากถึงเท่านั้นได้หรือไม่ต่างหาก เพราะฉะนั้นท่านจึงถือว่า หลักเกี่ยวกับอิทธิบาทนี้คงมีความหมายไปตามตัวหนังสือ โดยไม่ต้องมีขอบขีดจำกัดว่าอะไรบ้าง สรุปความสั้นๆ ว่าวิสัยของใคร ทำให้เขาเจริญอิทธิบาทได้มากเท่าใด เขาย่อมได้รับผลเต็มกำลังของอิทธิบาทนั้น แม้ในสิ่งที่บางคนถือว่าเป็นของเหลือวิสัย โดยเฉพาะเช่น การบรรลุนิพพาน

ในที่บางแห่ง ท่านเติมคำว่าอธิปเตยยะ เข้าข้างท้ายคำเหล่านี้ เช่นที่มาในพระไตรปิฎก เล่มที่ 40 พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ 7 มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค 1 ปัจจยวิภังควาร [บางส่วน]

[๔] อธิปติปัจจัย คือ ฉันทาธิปติ เป็นปัจจัยแก่ธรรมอันสัมปยุตด้วยฉันทะ และรูปซึ่งมีธรรมอันสัมปยุตด้วยฉันทะนั้น เป็นสมุฏฐาน โดยอธิปติปัจจัย

วิริยาธิปติ เป็นปัจจัยแก่ธรรมอันสัมปยุตด้วยวิริยะ และรูปซึ่งมีธรรมอันสัมปยุตด้วยวิริยะนั้น เป็นสมุฏฐาน โดยอธิปติปัจจัย

จิตตาธิปติ เป็นปัจจัยแก่ธรรมอันสัมปยุตด้วยจิต และรูปซึ่งมีธรรมอันสัมปยุตด้วยจิตนั้น เป็นสมุฏฐาน โดยอธิปติปัจจัย

วิมังสาธิปติ เป็นปัจจัยแก่ธรรมอันสัมปยุตด้วยวิมังสา และรูปซึ่งมีธรรมอันสัมปยุตด้วยวิมังสานั้น เป็นสมุฏฐาน โดยอธิปติปัจจัย

ธรรม คือ จิตและเจตสิกใดๆ กระทำธรรมใดๆ ให้เป็นอารมณ์อย่างหนักแน่นเกิดขึ้น ธรรมนั้นๆ เป็นปัจจัยแก่ธรรม (คือ จิตและเจตสิก) นั้นๆ โดยอธิปติปัจจัย

อีกตัวอย่างที่มาในบทสวด "พระสหัสสนัย" ก็กล่าวไว้ชัด เช่น

กะตะเม ธัมมา กุสะลา ยัส๎มิง สะมะเย โลกุตตะรัง ฌานัง ภาเวติ ........ ปะฐะมัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ ทุกขาปะฏิปะทัง ทันธาภิญญัง "ฉันทาธิปัตเตยยัง วิริยาธิปัตเตยยัง จิตตาธิปัตเตยยัง วิมังสาธิปัตเตยยัง" ............... โหติ อิเม ธัมมา กุสะลา......

ซึ่งที่แท้ก็ได้แก่ อิทธิบาท อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ใช้คำว่าที่มีความหมายที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า

ในการทำกิจใดๆ ก็ดี ย่อมมีฉันทะ เป็นต้น เหล่านี้เป็นใหญ่ หรือเป็นประธานในความสำเร็จ เป็นการชวนให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาทนี้ยิ่งขึ้น มีพระพุทธภาษิต ยืนยันอยู่ในที่หลายแห่งว่าการตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระองค์เอง สำเร็จได้โดยมี อิทธิบาท 4 ประการนี้ เป็นประธาน แห่งการกระทำในลำดับนั้นๆ ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นอุปกรณ์อันขาดเสียไม่ได้ในความสำเร็จทุกชนิด ผู้ปฏิบัติ เพื่อความความดับทุกข์ จึงต้องสนใจเป็นพิเศษ แม้การประกอบประโยชน์ในทางโลกก็ใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกันนี้ได้เป็นอย่างดีโดยเท่าเทียมกัน แม้ที่สุดแต่ในกรณีที่เป็นการทำชั่ว ทำบาป ก็ยังอาจนำไปใช้ ให้บรรลุผลได้ตามที่ตนประสงค์

ฉะนั้น ท่านจึงจัดเป็นหลักธรรมที่สำคัญหมวดหนึ่งในบรรดา โพธิปักขิยธรรม ทั้งหลายนี้นับว่าเป็นอุปกรณ์ในฐานะ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดการปฏิบัติดำเนินไปได้ โดยปราศจากอุปสรรค ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง จึงเป็นที่มาของหัวข้อธรรมในที่นี้ว่า คุณธรรมอันสูงส่ง สู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และจะไม่มีคำว่าสาย ถ้าว่าเราตื่นขึ้นมาทัน ทุกๆ วันที่ประกอบหน้าที่การงานและกิจการทั้งปวง

วันนี้เก็บเอาอารมณ์ยิ้มๆ ในที่มาแห่งความปลื้มปริ่มยิ้มสุขมาเล่าให้ท่านผู้สนใจใฝ่ใจธรรม เรื่องธรรมดาๆ กับความน่ารักๆ ของญาติโยมชาววัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด กับการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีพุทธ เรื่องมีอยู่ว่า การอุทิศบุญตามปรัชญาทางพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นไปเพื่อบุคคลผู้ละสังขารกายวายชนม์แล้วในสัปรายภพนั้นอย่างแน่แท้ อีกทั้งบุญทานที่บุคคลผู้กระทำแล้วย่อมโภคะสมบัติของตนผู้ได้กระทำ

อาตมานั้นยิ้มปริ่มสุขอยู่ตรงคำที่ว่า "ท่านพระอาจารย์ฉันเยอะๆ นะคะ ปลาดุกผัดพริก คุณจิมมี่ชอบมาก อาตมาตอบเบาๆ ว่า ต้องขอขอบคุณคุณจิมมี่มากๆ ที่ชอบปลาดุกผัดพริก อาตมาเลยได้ฉันอาหารอร่อยๆ เต็มที่เลย" และอีกเจ้าภาพในวันเดียวกันได้ยินดังนั้นจึงได้ บอกบ้างว่า "ท่านค้าฉันกล้วยน้ำหว้าให้โยมด้วยนะคะ ปีนี้ปีวอก โยมเกิดปีวอกค่ะปีชงโยมพอดีเลย ถวายกล้วยแล้วจะโชคดีคะท่าน อาตมายิ้มๆ แล้วก็ตอบไปว่า ฉันแล้วต้องร้องเจี๊ยกๆ ไหม หุๆ หุๆ ยิ้มๆ"

ความตอนหนึ่งในกาละทานะสุตตะคาถากล่าวว่า ปุญญานิ ปะระโลกัสมิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินันติ ฯ บุญย่อมเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ฉะนี้ สาธุๆ จำเริญพร