ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การเอาตัวรอดบนสื่อดิจิทัล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้นำสรรพสัตว์ข้ามพ้นอาสวะ เข้าสู่แดนเกษมคือพระนิพพาน อันเป็นแดนบรมสุขด้วยเศียรเกล้า ท่านพุทธบริษัทสาธุชนทุกท่าน โลกทุกวันนี้เกิบจะทุกหย่อมหญ้า หรือแทบจะกล่าวว่าสื่อดิจิทัลได้แพร่เข้าไปมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันในทุกครัวเรือน ดังนั้นจะทำอย่างไรในการเอาตัวรอดบนสื่อดิจิทัล ที่จะก้าวควบคู่กันไปกับการพัฒนาครั้งใหญ่ของสังคมโลก การมีสติหรือตลอดถึงการใช้สติในการเสพสื่อก็ดี การที่ตนเป็นผู้ส่งสื่อสารไปสู่ผู้รับก็ดี ต่างล้วนต้องระวังตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลง

ภาษาที่พระมักนำมาใช้ หรือทางพระพุทธศาสนา มักใช้คำว่า "โยนิโส มนสิการ" ที่นี้คำนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้แค่ไหน เพียงไร กับคำๆ นี้ ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เข้าไปอ่าน ธรรมนิพนธ์ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา นับว่าได้ข้อคิดมากๆ ในการตั้งรับในสังคมโลกยุคใหม่ โลกยุคดิจิทัล ขอนำเอาหลัก วิภัชชวาทมานิดหนึ่ง เพราะดูว่าเหมาะสมดี


วิภัชชวาท

หลักการมองความจริง อย่างวิเคราะห์และแยกแยะ จำแนก แจกแจง เพื่อให้เห็นความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ในการเสพข่าว การรับฟัง การติดตาม การตัดสินใจ ยอมรับในเหตุผลตามความเป็นจริงของข่าว หรือสื่ออื่นๆ ในแต่ละกระดาน (Different window) และบางที่ผู้ปกครองจำต้องแนะนำอย่างมีเมตตาและใกล้ชิด เพราะบางเนื้อหาที่มากับสื่อต่างๆ นั้นก็ไม่เหมาะสม

“วิภัชชวาท” หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่จำแนกแยกแยะมองความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มีหลักการแสดงความจริงด้วยวิธีอย่างนั้น ก็เรียกว่า วิภัชชวาท หรือ วิภัชชวาที ทางรอดของการเสพสื่อทางดิจิทัล ถ้าไม่จำแนกแยกแยะ ก็คือทางไม่รอด แน่นอน เพราะอ่อนแอ อ่อนไหว และอ่อนด้อยปัญญา

วิภัชชวาท แบบที่พระพุทธเจ้าตรัส ทรงชี้แจงว่า ต้องเที่ยงธรรม พระองค์ไม่ตรัสเอียงไปข้างเดียวอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้ามีสัมมาปฏิบัติแล้ว ก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นมิจฉาปฏิบัติ ปฏิบัติผิดแล้วก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท

ตัวอย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าว

1) วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส

2) วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

3) วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส

4) วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

5) วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

6) วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส

เขาถามเพียงคำถามเดียว พระองค์ตรัสแยก ๖ อย่าง ขอให้พิจารณาดู อย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะท่าทีของการสนองตอบ หรือปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายแบบชาวพุทธ ซึ่งมีการมองอย่างวิเคราะห์และแยกแยะ จำแนกแจกแจง เพื่อให้เห็นความจริง ครบทุกแง่ทุกด้าน

พระพุทธเจ้าเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า ภควา ภควานั้นแปลได้ ๒ อย่าง แปลว่า ผู้มีโชค ก็ได้ แปลว่า ผู้จำแนกแจกธรรม ก็ได้ นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า วิภัชชวาท คือ เป็นนักวิเคราะห์ จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบทุกแง่ทุกด้านของความจริง” ข้อความบางส่วนจาก ธรรมนิพนธ์ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา (ป. อ. ปยุตฺโต)


การเอาตัวรอดบนสื่อดิจิตอล

รู้ รักษา ตัวรอด เป็นยอดดี
อยู่ ให้มี ความสุข ทุกสถาน
แก่ ให้แก่ ความรู้ ใช่อยู่นาน
ใจ เบิกบาน ในธรรม พระสัมมา ฯ

ใน ร่มเงา แห่งยุค ดิจิตอล
โลก สั่นคลอน ด้วยสื่อ วิ่งเข้าหา
ส่วน การเลือก อยู่ที่ มีปัญญา
ตัว รักษา ตัวรอด คือยอดคน ฯ

สิทธิ์ การเลือก ในสิ่ง บริโภค
เสรี โลก เปิดกว้าง อย่างมากล้น
มีไว้ เพื่อ สิทธิ - มนุษย์ชน
เท่าเทียม จน เสรี ชี้อ่อนไหวฯ

รับ สิ่งใหม่ ก้าวไป ให้ทันโลก
ฟัง ทุกข์โศก แบ่งปัน นั้นยิ่งใหญ่
ความ เป็นธรรม นำหน้า ประชาธิปไตย
เห็น ต่างได้ เท่าเทียม เปี่ยมศีลธรรม ฯ


คุณพระคุ้มครองท่าน ขอบุญปกป้องรักษาท่าน ขอความปรารถนาของท่าน จงสัมฤทธิ์ผล และขอให้ทุกท่านทุกคนเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสาร ธรรมะสารสมบัติทุกประการด้วย เทอญ ธรรมะเมตตา : โดยหลวงพ่อไสว ชมไกร เจ้าวาสวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี รูปขอจำเริญพร