ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



เขียนธรรมให้กลับมา

สถานการณ์สร้างประวัติศาสตร์ ท่ามกลางผู้รู้นักปราชญ์ พฤติกรรมหรือปลายปากกาของใครท่านใดขยับไปทางใด เราทุกคนทุกท่านต่างก็พลอยรู้ ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองบ้าง ได้อ่านจากผู้อื่นเขียนเอาไว้บ้าง ความคิดคำสนทนากันในหมู่ในคณะบ้าง บ้างครั้งเราเห็นความจริงทางวิชชาการ กับความจริงที่เห็นปฏิบัติกันเป็นที่นิยมเกลื่อนกลนก็อยู่กันคนละขั้วเหตุผล ความจริงที่ต้องมาทำความเข้าใจให้ได้วิสัยทัศน์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ร่ำไป

การเขียนธรรมให้กลับมา แท้จริงธรรมก็มิได้หายไปไหนหรอก ธรรมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนื่องนิจ สถานการณ์ที่ร้ายๆ ผ่านมาก็มีจารึกไว้เป็นอันมาก และเรื่องราวที่ดีๆ ก็ใช่ว่ามิได้ถูกนำมาให้เรียนรู้ อย่างการปฏิบัติของชาวพุทธ เราปฏิบัติต่อพระศาสดาก็ด้วยความภักดี ซึ่งความภักดีก็จัดเป็นหนึ่งในองค์ ประกอบใหญ่ของพระศาสนา จากเหตุการร้ายๆ เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์เนืองๆ ที่สุดมักจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาสนาเสื่อมๆ อาตมาว่าคำพูดดังที่ว่านี้เป็นสำนึกของคนไร้ธรรม เพราะศาสนามิได้เสื่อมไปไหน คนต่างหากที่เข้าไม่ถึงหลักพระศาสนา ธรรมะก็เป็นอยู่อย่างนั้น ความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น ศาสนาก็เป็นอยู่อย่างนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับปุถุชน กับการศึกษาระดับปัญญาวิมุตนั้น เอามาเปรียบกันไม่ได้เลย

ในฐานะที่อาตมาได้รับความไว้วางใจ จากกองงานบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ และในฐานะพระธรรมทูต พระสงฆ์ไทยผู้ประกาศพุทธธรรมฐานะเล็กๆ รูปหนึ่ง ก็จะเขียนธรรมให้กลับมา ในเรื่องราวความหมายของคำว่าพระพุทธศาสนาตามสติกำลังของตนให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

องค์ประกอบสำคัญที่ถือว่าเป็นศาสนานั้น ทางพุทธศาสนาพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. มีผู้ก่อตั้ง องค์ประกอบหลักเราเรียกพระศาสดา ผู้ก่อตั้งศาสนา ผู้เป็นคนริเริ่มในการนำคำสอนไปเผยแพร่ เช่นพระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นต้น (เหมือนการจดทะเบียนบริษัท "เนาะ")

2. มีหลักคำสอน ที่ทรงสภาพความศักดิ์สิทธิ์ คือความจริงที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย เช่น ธรรมะ ความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติข้อที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และวินัย ระเบียบแบบแผนอันดีของผู้มีอารยธรรม (เหมือนนโยบายหลักการและเหตุผล จรรยาบรรณ และกฎข้อบังคับที่ใช้ในบริษัท "เนาะ")

3. มีสาวก คือ เป็นผู้เชื่อฟังเลื่อมใสในคำสอน และยึดถือปฏิบัติตาม อันหมายรวมเป็นคณะ ในพระพุทธศาสนาเรียกบริษัท 4 พระภิกษุ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสาวกคณะทำงาน (เหมือนคณะกรรมการผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงานขับรถ และเหมือนยามผู้รักษาความปลอดภัย "เนาะ" )

4. มีพิธีกรรม เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง กล่าวคืกการกระทำบูชา เพื่อการแสดงภาวะแห่งความเคารพนับถือ จงรักภักดีต่อศาสดาของตนๆ มีลักษณะเป็น 2 ประการ คือ การปฏิบัติบูชา 1 การถวายจตุปัจจัย 4 สนับสนุนจรรโลงส่งสริม เรียกถวายการอามิสบูชา ถวายด้วยสิ่งของเครื่องใช้ เป็นต้น ส่วนพิธีกรรม เช่น พิธีบวช พิธีรับกฐิน ก็เป็นบริบทของพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา (เหมือนการประชุมคณะผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท "เนาะ")

5. มีศาสนสถาน คือ วัดหรือโบสถ์ วิหาร เป็นเป็นศูนย์ใจ เป็นมรดกที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ ให้เป็นอนุสสติเตือนใจให้เรา เข้าถึงพุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบ่เกิดสายธารศรัทธา และบุญทาน การกุศล เป็นแหล่งรวมน้ำใจร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระศาสดา (เหมือนอาคารสถานที่ตั้งบริษัท หรือเรียกว่าที่ทำงาน ที่ร้านหรือที่ว่าการอำเภอ "เนาะ")

ถ้าคำสอนของศาสดาใดมีองค์ประกอบครบห้าประการนี้ ถือว่าเป็นศาสนาสมบูรณ์ได้ ถ้ามีองค์ ประกอบไม่ครบตามนี้เป็นได้ก็คงเพียงแค่ลัทธิ ส่วนอื่นๆ ไม่มีเจตจำนงค์ที่จะกล่าวถึงโดยเชิงลึก แต่จะเขียนธรรมให้กลับมา เดินหน้าไปพร้อมกับสื่ออื่นๆ ที่หลากหลายบนโลกเสรีของสังคมยุคใหม่

"Globalization is a process of interaction and integration among the people, companies, and governments of different nations, a process driven by international trade and investment and aided by information technology."

เพราะมิฉะนั้นธรรมอาจเลือนหายไปใน ไม่ช้านี้เป็นแน่แท้ เพราะโลกเสรีในทุกๆ ด้านไม่เคยหยุดนิ่ง การพระศาสนาหากสื่อไม่ช่วยให้มีช่องทางขยายจริยธรรมอันบรรพชนรักษามา ศาสนาอาจขาดสาย สิ้นอัตตลักษณ์ไปจนกู่ไม่กลับอย่างน่าเสียดาย การได้พื้นที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน ได้รับการสนับสนุนให้เผยแผ่พระธรรมตามหลักคำสอน หลักศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของเชื้อชาติไทย นับเป็นวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่ที่ออกมาปกป้องส่งเสริมคุณธรรมให้คงความเป็นอัตตลักษณ์สังคมไทย สังคมพุทธ นาทีนี้ต้องบอกกันเลยว่าหนังสือพมพ์ไทยแอลเอ ได้เป็นผู้สนับสนุนการพระศาสนาอย่างน่าชื่นชม

ช่วงระหว่างนี้เป็นฤดูกาลงานออกพรรษา วินัยทางพระสงฆ์ถือเป็นมหาปวารนา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันวันที่พระสงฆ์ทำมหาปวารณา รู้จักดีในชื่อ วันออกพรรษา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2558 ศรัทธาท่านใดเตรียมตัวจะไปทำบุญวัดใดก็ขออนุโมทนาทุกคนทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ก็แล้วกัน

ความเป็นมาของวันมหาปวารณา เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุจำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาไม่พูดกัน ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถาม ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือ การอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ภิกษุจำพรรรษาแล้วปวารณาด้วยเหตุ 3 ประการคือ โดยได้เห็น 1 โดยได้ยิน ได้ฟัง 1 โดยสงสัย 1

วิธีปวารณา ภิกษุเถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณา 3 ครั้งเพื่อให้ภิกษุนวกะกล่าวปรวารณาตอบ ภิกษุนวกะก็ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณา 3 ครั้ง ต่อมา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้นั่งกระโหย่งในระหว่างที่ยังปวารณา และทรงอนุญาตให้ภิกษุที่ปวารณาแล้วนั่งบนอาสนะ เพราะเคยมีภิกษุชราภาพนั่งกระโหย่งคอยนานจนเป็นลมล้มลง

ในปวารณาสูตร พระพุทธเจ้าทรงปวารณาแก่หมู่สงฆ์ คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำเพื่อจะทรงทำปวารณา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่ พระสารีบุตรตอบปฏิเสธเพราะพระองค์ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น จากนั้นพระสารีบุตร ก็กล่าวปวารณาให้พระพุทธเจ้าติเตียนท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวปฏิเสธ เพราะพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก พระสารีบุตรทูลถามอีกว่า พระองค์จะไม่กล่าวติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจา ของเหล่าภิกษุบ้างหรือ พระองค์กล่าวปฏิเสธ เพราะเหล่าภิกษุได้บรรลุวิชชา 3 อภิญญา 6 ได้อุภโตภาควิมุตติ และได้ปัญญาวิมุติเป็นพระอรหันต์

เหตุดังนั้นแล้วประชาชนชาวพุทธผู้ฉลาดในธรรม มักนิยมพร้อมใจกันเดินทางไปทำบุญ ในวันออกพรรษา หลายท่านอนุวัตตามวินัยพระสงฆ์ ก็ขอให้ท่านตั้งกัลยาณจิตปวารนากำหนดงดโทษให้อภัยทาน ต่อศรัตรูหมู่อมิตรอาได้คิดพยาบาทอาฆาตรแค้นขุ่นเคืองซึ่งกันและกันเลย ด้วยจิตที่เจริญเมตตาจงให้อภัยกัน เริ่มต้นในวันมหาปวารนาและทุกๆ วัน ตลอดไปเทอญ


ขอจำเริญพร
หลวงพ่อเจ้าอาวาส วัดทุ่งเศรษฐี
ธรรมะสมสมัย 10 ตุลาคม 2558