ข่าว
สลด!'ปินส์'ขโมยข้าวเหยียบกันตาย 8

เกิดเหตุเหยียบกันตาย 8 คน ขณะบุกขโมยข้าวในโกดังพื้นที่ประสบภัยพายุไห่เยี่ยน ขณะที่ทีมแพทย์-กู้ภัยญี่ปุ่น ประกาศตอบแทนบุญคุณฟิลิปปินส์ที่เคยช่วยเหลือ

13 พ.ย. 56 ผู้รอดชีวิตจากซูเปอร์ไต้ฝุ่น ไห่เยี่ยน ที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า โยลันดา กำลังทำให้สถานการณ์เข้าสู่ความเป็นอนาธิปไตย หรือสภาพไร้ขื่อแป ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน จากการที่เหยื่อพายุหลายพันคน บุกเข้าไปยังโกดังข้าวของรัฐบาล ในเขตอะลังกาลัง บนเกาะเลย์เต

โฆษกสำนักงานอาหารแห่งชาติ แถลงวันนี้่ว่า ตำรวจและทหารไม่สามารถช่วยอะไรได้ เมื่อเกิดการปล้นสะดมในอะลังกาลัง เมื่อวันอังคาร และมีคนเสียชีวิต 8 คน ตอนที่ผนังโกดังพังถล่มลงมา ส่วนประชาชนที่บุกเข้าไปได้เอาข้าวออกไปกว่า 1 แสนกระสอบ และการบุกโกดังข้าวที่เกิดขึ้น ได้ตอกย้ำถึงความต้องการเร่งด่วนทั้งน้ำสะอาด อาหาร และเวชภัณฑ์

นับเป็นเวลา 5 วันแล้ว หลังจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ที่ถูกจัดให้เป็นพายุรุนแรงที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์ กวาดเอาบ้านเรือนหลายหมื่นหลังทางภาคกลางของประเทศจนพังราบ แต่การบรรเทาทุกข์เพิ่งจะเริ่มขึ้น โดยมีการเปิดสนามบินเพิ่มอีก 2 แห่ง เพื่อให้เที่ยวบินบรรเทาทุกข์ลงจอด แต่อาหารและน้ำก็ส่งถึงมือผู้ประสบภัยในเมืองตาโคลบัน ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด เพียงเล็กน้อย เนื่องจากขาดแคลนรถบรรทุก และถนนถูกตัดขาด

เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม ระบุว่า มีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย ที่รวมทั้งเรื่องระบบโลจิสติก ที่หมายถึงการขาดแคลนรถบรรทุกและถนนทุกสายถูกตัดขาด

นับตั้งแต่เกิดพายุ ประชาชนที่รอดชีวิตได้บุกเข้าไปตามบ้านเรือน ศูนย์การค้า และอู่รถยนต์ ก่อนจะกวาดเอาอาหาร น้ำดื่ม และสินค้าอื่นๆ จนเกลี้ยง ทางการได้พยายามยับยั้งการปล้นสะดม ซึ่งมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า มีแก๊งติดอาวุธที่เข้าไปผสมโรงด้วย

ตำรวจได้เข้ารักษาความสงบเรียบร้อย และรัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึง 05.00 น. และขณะนี้สถานการณ์เริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ส่วนทหารได้เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ที่สนามบินตาโคลบัน เพื่อให้เครื่องบินลงจอดได้ในเวลากลางคืน หลังจากเมืองทั้งเมืองที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 220,000 คน ได้รับความเสียหายแทบจะทุกตารางนิ้ว และกลายเป็นศูนย์กลางการบรรเทาทุกข์

ด้านสหรัฐ บอกว่า ต่อไปจะไม่เพียงเห็นแค่นาวิกโยธิน หรือเครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ไม่กี่ลำ แต่จะเห็นศูนย์บัญชาการแปซิฟิกทั้งหมดที่รับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ส่วนที่สนามบินตาโคลบัน ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม ขณะที่ประชาชนหลายพันคน ไปรอขึ้นเครื่องบินลำเลียง

ประชาชนอย่างน้อย 580,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย และบางพื้นที่ต้องเผชิญกับสตอร์มเซิร์จที่รุนแรงเท่ากับสึนามิ ทำให้มีศพจำนวนมากอยู่ที่เกาะซามาร์และเลย์เต ประธานาธิบดีเบนิกโญ่ อากิโน่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ว่า ยอดผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 2,000 - 2,500 คน และไม่น่าจะถึงหมื่นคน ตามที่มีการคาดไว้แต่แรก


เหยื่อโดรน..วันฟ้าใสไม่สวยงามอีกต่อไป

กระแสกดดันให้สหรัฐอเมริกาเพิ่มความโปร่งใสและสำนึกรับผิดชอบกับการบาดเจ็บล้มตายของชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จากการส่งอากาศยานบังคับระยะไกลไร้พลขับ (โดรน) ไปสังหารผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายข้ามโลก เพิ่มขึ้นทุกขณะ แม้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา สัญญาไว้เมื่อพฤษภาคมว่า จะเพิ่มความโปร่งใสของการใช้ปฏิบัติการนี้ให้มากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันยังเป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า

โดรน เป็นอาวุธหลักที่สหรัฐใช้ในสงครามต่อต้านก่อการร้าย ในยุคของประธานาธิบดีโอบามา โดยอ้างว่า เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำในการสกัดกั้นภัยคุกคาม ขณะที่กระแสต่อต้านในประเทศมีไม่มากนัก หากเชื่อตามโพลล์พบว่า ชาวอเมริกันเห็นด้วยหรือไม่ก็อาจเชื่อตามที่รัฐบอก เพราะไม่ต้องเปิดสงครามใหญ่ที่พวกเขาเอือมระอา และไม่ต้องส่งทหารไปตาย

แต่ชาวอเมริกันส่วนที่ไม่ได้สนใจข่าวโลกอาจพลาดไปว่า ปฏิบัติการนี้คร่าชีวิตชาวบ้านผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ทั้งยังทำให้ชีวิตของเพื่อนร่วมโลกอีกมากต้องเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง ตราบใดที่ยังมีเพชฌฆาตนามว่าโดรนบินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้า ดังคำบอกเล่าสุดสะเทือนใจจากครอบครัวของครูปากีสถานคนหนึ่ง จนทำให้ล่ามสะอื้นไห้ระหว่างแปลภาษาอูรดูร์ ให้นักการเมืองสหรัฐจำนวนหนึ่งได้รับฟัง ที่แคปปิตอล ฮิลล์ หรือรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของการได้รับฟังจากปากพลเรือนที่เป็นเหยื่อโดรน

นายอลัน เกรย์สัน ส.ส.เดโมแครต จากรัฐฟลอริดา ที่ต่อต้านสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ได้เชิญ ราฟิค อูร์ เรห์มาน ครูโรงเรียนประถมในหมู่บ้านห่างไกล ในจ.วาซีริสถานเหนือ ใกล้ชายแดนอัฟกานิสถาน ที่สูญเสียมารดา นางมัมมานา บีบี วัย 67 ปี จากการโจมตีของโดรนในสวนใกล้บ้าน ในเช้าวันฟ้าใส 24 ตุลาคม 2555 พร้อมด้วยลูกชาย ซูบาอีร์ ขณะนี้อายุ 13 ปี กับลูกสาว นาบิลา วัย 9 ขวบ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์วันนั้น มาบอกเล่าเรื่องราวที่สภา โดยการประสานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน รีพรีพ (Reprieve) ในอังกฤษ และนายโรเบิร์ต กรีนวอล์ด จากมูลนิธินิว เบรฟ ซึ่งเป็นผู้กำกับเรื่อง Unmanned: Americas Drone Wars สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวนายเรห์มาน

เรห์มาน กล่าวผ่านล่ามว่า หลังจากสูญเสียมารดา ได้พยายามหาคำตอบว่า ทำไมมารดาของเขาจึงเป็นเป้าโจมตี สื่อบางแห่งรายงานว่า เป็นการโจมตีรถยนต์ แต่แถวบ้านผมไม่มีถนน บางสื่อรายงานว่า เป็นการโจมตีบ้านหลังหนึ่ง แต่ขีปนาวุธตกลงในทุ่งหญ้าใกล้ๆ ไม่ใช่บ้าน และสื่อทุกแห่งรายงานว่า มีสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรง 3-5 รายถูกสังหาร

แต่ความจริงคือ คนเดียวที่ถูกสังหารวันนั้น คือมารดาของเขา

เรห์มาน กล่าวว่า มารดาคือสายใยที่ยึดโยงครอบครัว (เขาใช้สำนวนภาษาอูร์ดู ที่เปรียบมารดาคือ เชือกร้อยไข่มุกไว้) นับจากขาดสายใยเส้นนั้น ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกคนรู้สึกโหวงเหวง หลงทางและหวาดกลัว การมีอยู่ของโดรนยังทำให้ญาติพี่น้องเหมือนตัดขาดครอบครัวไปโดยปริยาย ลูกของเขาไม่ได้พบกับลูกพี่ลูกน้อง ไม่มีใครกล้าไปมาหาสู่อีกต่อไป เพราะกลัวว่าจะถูกโดรนสังหารไปด้วย

ในรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่ออกมาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ระบุว่า นางบิบี เป็น 1 ในพลเรือน 900 คนที่เสียชีวิตจากการโจมตีของโดรนในปากีสถาน และการใช้โดรนของสหรัฐอาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงครามในบางกรณี (แต่กระทรวงกลาโหมปากีสถานให้ตัวเลขในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นับจากปี 2551 โดรนสหรัฐโจมตี 317 ครั้ง สังหารกลุ่มหัวรุนแรงกว่า 2,160 ราย กับพลเรือน 67 คน และบอกด้วยว่าปีที่แล้วกับปีนี้ไม่มีพลเรือนเสียชีวิต)

คำบอกเล่าที่สะเทือนใจสุดมาจาก ซูบาอีร์ ลูกชายของเรห์มาน ซึ่งขณะนั้นอายุ 12 ปี

เด็กชายเห็นย่าเสียชีวิตในวันที่ควรเป็นวันฉลองเทศกาลอีดิลฟิตรี วันที่น่าจะมีแต่ความสุขสนุกสนาน หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน

ซูบาอีร์ เล่าว่า "วันนั้นเป็นวันฟ้าสดใส ย่าและพวกเราชอบสีท้องฟ้าแบบนี้มาก ขณะช่วยย่าในสวนผักอยู่นั้น เห็นและได้ยินเสียงโดรนบินเหนือศีรษะ แต่ก็ไม่ได้กังวล เพราะพวกเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ทันใดนั้น โดรนยิงขีปนาวุธลงมา พื้นดินสะเทือน ควันสีดำลอยฟุ้ง กลิ่นฉุนมาก พวกเราวิ่งหนี หลายนาทีจากนั้น โดรนยิงลงมาอีก จากนั้นคนในหมู่บ้านวิ่งออกมาช่วยเหลือและพาพวกเราไปโรงพยาบาล พวกเราทรมานทั้งคืนที่โรงพยาบาล และเข้ารับการผ่าตัดในเช้ารุ่งขึ้น นั่นคือการฉลองเทศกาลอีดิลฟิตรีของเรา"

หลานชายกล่าวอย่างเศร้าสร้อยว่า "ย่าของผม ไม่เคยเป็นศัตรูของใคร ย่าใจดีและช่วยเหลือคน ช่วยทำคลอดให้แม่หลายคนในหมู่บ้าน ทุกเย็นจะบอกให้เด็กๆ ไปรวมตัวกันและเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ ชีวิตของย่า เรื่องเก่าๆ ของครอบครัว เรื่องในหมู่บ้าน ย่ามีเรื่องเล่ามากมายจนผมเลือกเรื่องโปรดไม่ถูกเลย ผมคิดถึงเรื่องเล่าเหล่านั้น"

"เวลานี้ ผมอยากให้ฟ้าครึ้มมัวมากกว่า เพราะโดรนจะไม่บิน เมื่อใดที่ฟ้าใสเป็นสีฟ้า โดรนจะกลับมาพร้อมกับความหวาดผวา เด็กๆ ไม่เล่นกันบ่อยเหมือนก่อนแล้ว และไม่ไปโรงเรียน พวกเราเรียนหนังสือไม่ได้ตราบใดที่โดรนยังบินมาอยู่แบบนี้"

การผ่าตัดเอาสะเก็ดระเบิดออกจากขาของซูบาอีร์ใช้เงินสูงมาก เขาจึงถูกส่งตัวกลับไปบ้านก่อน รอจนพ่อรวบรวมเงินได้มากพอ ซึ่งผ่านไปเป็นเดือน

เรห์มาน ผู้เป็นพ่อ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลปากีสถานยอมรับและยืนยันต่อมาว่า มีการโจมตีจริง แต่รัฐบาลบอกว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบและเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลลูก สรุปง่ายๆ ไม่มีใครสนใจ ก่อนปิดท้ายด้วยการวิงวอนสหรัฐและชาวอเมริกันปฏิบัติต่อพวกเขาแบบเท่าเทียม "ขอให้รัฐบาลของพวกท่านปฏิบัติต่อพวกเราชาวปากีสถานเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิพื้นฐานคนหนึ่งดังที่ท่านปฏิบัติต่อพลเมืองของตนเอง การสังหารอย่างไม่เลือกหน้าจะต้องยุติ และจะต้องคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ"

เมื่อถูกถามว่า อยากบอกอะไรกับประธานาธิบดีโอบามา พ่อลูกสองกล่าวว่า หากมีโอกาสได้พบก็อยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาและครอบครัว เป็นเรื่องผิด อยากขอให้ท่านได้หาหนทางยุติอย่างสันติ เชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันและปากีสถานน่าจะทำงานร่วมกันเพื่อสันติภาพได้

มารดาของเขาไม่ใช่เหยื่อผู้บริสุทธิ์รายแรกที่ถูกโดรนสังหาร เท่าที่ทราบมีอีกหลายสิบคนที่เป็นชนเผ่าธรรมดาเหมือนกับเขา ที่ถูกฆ่าตาย และหลายครอบครัวในชุมชนของเขาและพื้นที่โดยรอบ ล้วนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มีทั้งเด็กและผู้หญิงในรอบหลายปีมานี้ "พวกเขาทุกข์ทรมานเช่นกัน ผมอยากให้พวกเขาได้มีโอกาสมาบอกเล่าเรื่องราวให้พวกท่านฟังเหมือนกับผม จนกว่าจะถึงวันนั้น ผมถือโอกาสนี้พูดในนามของคนเหล่านั้นว่า โดรนไม่ใช่คำตอบ"