ข่าว
"ทวีปอเมริกา" จ่อขึ้นแท่นศูนย์กลางโควิด-19 ระบาด ต่อจากยุโรป

24 เมษายน 2563 - 07:37 น. องค์การอนามัยโลกเตือนศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังเคลื่อนตัวจากทวีปยุโรปไปสู่ทวีปอเมริกา

คริสเตียน มอเรลส์ เฟอริมานน์ (Cristian Morales Fuhrimann) ผู้แทนองค์การอนามัยแห่งภูมิภาคอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (PAHO/WHO) ในเม็กซิโก ประกาศเตือนว่าศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) “กำลังเคลื่อนตัวจากทวีปยุโรปไปสู่ทวีปอเมริกา”

มอเรลส์ เผยว่า ทวีปอเมริกามี “เวลาเพิ่มอีกเล็กน้อยในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง” โดยทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมกันอยู่ที่ 925,291 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 44,000 ราย

เขา เสริมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระบบ (CSSE) ของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) รายงานว่า เม็กซิโก มียอดผู้ป่วย 10,544 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 970 ราย เมื่อนับถึงวันพุธ (22 เมษายน 2563) โดยประชาชนจะต้องร่วมมือกันเว้นระยะห่างทางสังคมและปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อช่วยลดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

ส่วนในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศชิลีรายงานการตรวจพบผู้ป่วย 11,296 ราย และพบผู้ป่วยเสียชีวิต 160 ราย หลังจากตรวจพบผู้ป่วยเพิ่ม 464 ราย ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย โดยทางการชิลีได้ประกาศในเบื้องต้นว่าจะเปิดเศรษฐกิจและโรงเรียนในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ยอดผู้ป่วยและผู้ป่วยเสียชีวิตในเปรู รวมอยู่ที่ 19,250 และ 530 ราย ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 1,413 ราย

“ไวรัสตัวนี้แพร่กระจายได้ง่ายมากและสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนเมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นจำเป็นต้องระมัดระวังให้ดีสำหรับกิจกรรมใดๆ ที่จะกลับมาสู่ภาวะปกติ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการติดต่อสัมผัสระหว่างกันเกิดขึ้น” วิกเตอร์ ซาโมรา (Victor Zamora) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปรู กล่าวพร้อมเสริมว่า รัฐบาลระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการปิดเมือง

ทั้งนี้ เปรูมีกำหนดปิดเมืองจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 แต่วิทยาลัยการแพทย์แห่งเปรู (Medical College of Peru) แนะนำให้ขยายเวลาปิดเมืองออกไปอีก 2 สัปดาห์

ขณะที่บราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคลาตินอเมริกา รายงานการตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 43,079 ราย มาอยู่ที่ 45,757 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 2,741 ราย เป็น 2,906 ราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 6.4

สื่อท้องถิ่นบราซิลรายงานว่า ริโอ เดอ จาเนโร เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในแผนกผู้ป่วยหนัก

ด้าน มาเรีย พอลลา โรโม (Maria Paula Romo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในเอกวาดอร์ เผยในการแถลงข่าวประจำวันว่าเอกวาดอร์ตรวจพบประชาชนที่มีผลทดสอบโรคโควิด-19 เป็นบวก 10,850 ราย และผู้เสียชีวิต 537 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตอีก 952 รายที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

สหรัฐฯสะพรึง ติดโควิดเพิ่มสัปดาห์เดียวกว่า 2 แสน ยอดสะสมแตะหลักล้าน

สหรัฐฯ ยังหนัก พบคนติดโควิดเพิ่มขึ้นสัปดาห์เดียวกว่า 2 แสน ทำยอดสะสมผู้ติดเชื้อเกิน 8.5 แสนรายแล้ว ตายกว่า 4.5 หมื่นศพ ขณะที่มหา'ลัยวอชิงตันคาดการณ์ถึง 4 ส.ค.เหยื่อโควิดจะถึง 6.7 หมื่น

เมื่อ 23 เมษายน 63 เว็บไซต์เดลี่เมลรายงานสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในประเทศสหรัฐฯยังน่าวิตก จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่กว่า 45,000 ศพแล้ว ขณะที่ยอดสะสมผู้ติดเชื้อใกล้ถึงหลักล้านเข้าไปทุกที

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ทางการสหรัฐฯ ยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในช่วง 24 ชั่วโมง พุ่งขึ้นสูงถึง 29,304 ราย จนทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 856,584 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นภายในสัปดาห์เดียวกว่า 210,000 ราย ขณะเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มภายในวันเดียวถึง 2,229 ศพ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดอยู่ที่ 48,035 ศพ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่เมื่อวันพุธ ถือว่าลดลงกว่าหนึ่งวันก่อนหน้า ที่มีผู้เสียชีวิต 2,400 ศพ

จากรายงานใหม่ระบุว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐฯ ดูกำลังลดลงในสัปดาห์นี้ โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มน้อยกว่าวันละ 30,000 รายจนถึงวันพุธที่ผ่านมา หลังจากมีสถิติพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 35,397 ต่อวัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะที่ สถาบันชี้วัดและประเมินสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐฯ ยังคาดการณ์แล้วว่า จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด ในสหรัฐฯ ถึง 67,641 รายเมื่อถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2563


คะแนนนิยม “ไบเดน” แซง “ทรัมป์”

24 เม.ย. 2563 : ผลสำรวจความนิยมชาวอเมริกันที่มีต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ วัย 73 ปี กับนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดี วัย 77 ปี ตัวเต็งผู้แทนพรรคเดโมแครตท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากนายทรัมป์ในวันที่ 3 พ.ย.ปีนี้ สำรวจระหว่างวันที่ 15-20 เม.ย. ในพื้นที่รัฐมิชิแกน วิสคอนซิลและเพนซิลเวเนีย พบว่านายไบเดนมีคะแนนนิยมเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนายทรัมป์ คะแนนนิยม 39 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนนิยมนายทรัมป์ด้อยลงไป เพราะสถานการณ์รับมือภัยระบาดของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” ในประเทศ ซึ่งนายทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความไม่แน่นอนชัดเจนในการแก้ปัญหา ขณะที่สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมีผู้เสียชีวิตรวมมากอันดับ 1 ของโลก

ขณะเดียวกัน ผลเลือกตั้งเบื้องต้นชิงเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต อดีตรองประธานาธิบดีไบเดนครองคะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้ว 1,305 คะแนน เข้าใกล้เส้นชัยผู้แทนพรรคเดโมแครตขึ้นชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยนายไบเดนต้องได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 1,991 คะแนน แต่เขาไม่มีคู่แข่งชิงเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตแล้ว ภายหลังจากนายเบอร์นี แซนเดอร์ส วัย 78 ปี ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ ถอนตัวจากการชิงชัยหลังคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งได้ราว 939 คะแนน.

ทรัมป์อาจมีกลยุทธ์พิเศษ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 มีตัวเลขคนอเมริกันติดเชื้อ 7.92 แสน มีคนตายมากถึง 4.25 หมื่น มีคนอเมริกันประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ของผู้ว่าการรัฐหลายแห่ง ในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์ควรที่จะต้องร่วมหนุนมาตรการนี้ด้วยเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ทว่าไม่น่าเชื่อ ในห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ ทรัมป์ยังมีหน้าเอาการเมืองมาเล่น

ผู้ว่าการรัฐ (ที่สังกัดพรรคเด็มโมแครต) สั่งมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทว่าทรัมป์ (ที่สังกัดพรรครีพับลิกัน) ดันทวีตข้อความ Liberate Minnesota! Liberate Michigan! Liberate Virginia! ต่อต้านมาตรการกักตัวเองอยู่ในบ้านของรัฐบาลท้องถิ่น

คุณไม่กลัวคนอเมริกันติดเชื้อกันมากกว่านี้หรือ? ถ้าคนอเมริกันติดเชื้อถึงจำนวนล้าน ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ คุณจะวางหน้าวางตายังไง คุณจะมีความเศร้าสลดหดหู่หนูกระจาดขนาดไหน หรือคุณสนใจเพียงแค่ผลทางการเมืองมากกว่าชีวิตของผู้คน

ทรัมป์เป็นลูกเศรษฐีที่ไม่เคยเจอความลำบาก แถมไม่แคร์สายตาสาธุคนทรงธรรม ขนาดเป็นถึงนักธุรกิจใหญ่ แกยังกล้าไปขึ้นปกนิตยสารนวลนาง เอ๊ย เพลย์บอยฉบับเดือนมีนาคม 1990 ทรัมป์เคยทำรายการเรียลลิตี้โชว์ ทำธุรกิจตั้งแต่สายการบิน รีสอร์ต สนามกอล์ฟ นิตยสาร เสื้อผ้า วอดก้า กาสิโน น้ำหอม เครื่องดื่ม ธุรกิจดอทคอม มหาวิทยาลัย ฯลฯ

การทวีตสวนผู้ว่าการรัฐจากพรรคเด็มโมแครตครั้งนี้ ทำให้เรารู้เช่นเห็นชาติว่า ทรัมป์เน้นเศรษฐกิจและการหาเสียงมากกว่าชีวิตประชาชน คนอเมริกันที่ได้รับแรงกระตุ้นจากทวีตของทรัมป์ออกมาประท้วงล้วงตับขยับเหงือกกันแล้วบางคนชูป้ายว่า “ความจนฆ่าคนได้เหมือนกัน”

มีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยชมทรัมป์ โดยเฉพาะพวกที่ได้รับการโอนเงิน 1,200 ดอลลาร์ ครอบครัวที่มีรายได้ทั้งปีน้อยกว่า 1.5 แสนดอลล์ได้รับเงิน 2,400 ดอลล์ เด็กและเยาวชนได้รับ 500 ดอลล์ คนตกงาน 15 ล้านได้รับแจก 600 ดอลล์ต่อสัปดาห์เป็นเวลา 16 สัปดาห์ รัฐบาลของทรัมป์รับผิดชอบธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบด้วยการออกค่าจ้างให้พนักงานรายละ 1,000 ดอลล์ ยังมีการแจกเงินคนที่โดนผลกระทบอีกมากมายหลายอย่างนางนวลชวนหัวรัวกระสุนหมุนติ้ว ทำให้แม้จะมีคนด่าพ่อล่อแม่ทรัมป์กันเยอะ แต่คนที่ได้รับเงินแจกก็แหกปากชมทรัมป์กันแยะ

ลูกเล่นในการหาเสียงของทรัมป์ธรรมดาซะที่ไหน การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทรัมป์จ้าง Cambridge Analytica + ทีมงานจากซิลิคอนวัลเลย์ ให้มาชุมนุมสุมหัวร่วมกันร่างวางกลยุทธ์เพื่อหาเสียงจากทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์และกลุ่มผู้สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน

ใครจะเชื่อครับว่า อ้า ทรัมป์จะกล้าใช้กลยุทธ์ทำลายภาพลักษณ์ผู้หญิง โดยการให้คนจากกลุ่มผู้หนุนฮิลลารีเห็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับนาง เช่น ทำการ์ตูนเสียดสีคนอเมริกันผิวสีเพื่อแสดงให้เห็นว่าฮิลลารีรังเกียจคนผิวสี หรือทำให้ผู้หญิงอเมริกันผิวขาวเห็นข้อมูลชู้สาวของบิล คลินตัน โดยเอาเรื่องที่ฮิลลารีไปข่มขู่ผู้หญิงที่เคยนอนกอดถอดเข็มขัดสามี แทนที่จะโทษสามีของตัวเอง ออกมาเผยแพร่

ทีมงานทรัมป์ใช้จ่ายในการวิเคราะห์ + ดิจิทัลมาร์เกตติ้ง 70 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน แม้ว่าจะแพง แต่ก็ช่วยให้ทรัมป์สร้างฐานข้อมูลได้มากถึง 14 ล้านชื่อ หลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทรัมป์ชนะแล้ว ฮิลลารีแพ้แล้ว ทรัมป์ก็ขายข้อมูลได้เงินมามากมายหลายร้อยล้านดอลลาร์

ท่านปื๊ดทรัมป์นี่ไม่ธรรมดาเลยนะครับ ส่วนไอ้เปี๊ยกอย่างผมที่เคยวิเคราะห์ว่าทรัมป์มีสิทธิ์แพ้เลือกตั้งครั้งใหม่ได้เพราะฤทธิ์โควิด-19 ที่ทำให้คนอเมริกันตายไปเป็นหมื่นแล้ว

แต่พอเห็นการทวีตโจมตีพวกเด็มโมแครต + การแจกเงินอย่างต่อเนื่อง ผมชักไม่แน่ใจแล้วว่า อ้า ทรัมป์จะแพ้ ทรัมป์มีกลยุทธ์ใหม่ๆในการหาเสียงท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่เราเข็มขัดสั้น (คาดไม่ถึง) ออกมาเรื่อยๆ.


หนักกว่าเดิม! กรมอุตุฯ เตือนพายุฤดูร้อนถล่ม 59จว. ลมแรง ซัดกทม.อ่วม

กรมอุตุฯ เตือนพายุฤดูร้อนถล่ม 59 จังหวัด ภาคตะวันออก หนักสุด ขอให้ประชาชนระวังอันตราย ลมกระโชกแรง-ลูกเห็บตกบางพื้นที่ กรุงเทพฯตกหนักร้อยละ 60

วันที่ 24 เม.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 04.00 น. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทะเลจีนใต้ คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคกลางในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย. 63) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน

ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝุ่นละอองในระยะนี้ ภาคเหนือตอนบนอากาศมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันลดลง ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันยังคงน้อย

กรมอุตุฯ เผยพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันนี้ ถึงเวลา 06.00 น.ของวันที่ 25 เม.ย.นี้

ภาคเหนือ อากาศร้อนจัดโดยทั่วไป โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-43 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคิรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

‘โควิด’อยู่อีกนาน WHO เตือนทั่วโลกพร้อมรับมือ กำชับทุกฝ่ายทำผิดพลาดไม่ได้

วันศุกร์ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563 : ‘โควิด’อยู่อีกนาน WHOเตือนทั่วโลกพร้อมรับมือ กำชับทุกฝ่ายทำผิดพลาดไม่ได้ ห่วงการแพร่ระบาดในแอฟริกา

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกชี้ว่า โลกยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกนาน ด้านผู้นำสหรัฐลงนามคำสั่งระงับการออกกรีนการ์ดให้ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักถาวรเป็นการชั่วคราว แต่ยังไม่เห็นด้วยเรื่องการเร่งเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในเวลานี้ ขณะที่ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องชาวเยอรมันทั้งประเทศ ร่วมใจกันสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนสิงคโปร์พบยอดผู้ติดเชื้อเกิน 1 พันคน ติดต่อกัน 4 วันแล้ว

เมื่อวันที่ 23 เมษายน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายทีโดรส กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า หนทางยังอีกไกล และไวรัสนี้จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน โดยจะยังอยู่ร่วมกับมนุษย์ “อีกนาน” หมายความว่าหนทางสู่การมีชัยชนะเหนือโรคนี้ “ยังอีกยาวไกล” ดังนั้นการดำเนินงานของทุกฝ่าย “จะผิดพลาดไม่ได้” โดยในขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ใน “ระยะแรก” ของการแพร่ระบาด ขณะที่บางประเทศซึ่งเผชิญกับการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มแรกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาด “ระลอกสอง”

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังแสดงความกังวลด้วยว่า แม้การระบาดในยุโรปตะวันตกจะเริ่มชะลอตัว และลดลง แต่แนวโน้มในแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ กำลังเพิ่มขึ้น แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยขณะนี้หลายยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของโรคระบาด ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดในประเทศที่มีระบบการแพทย์ล้าหลัง โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกาบางประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 250-300% ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังได้แสดงความหวังว่า สหรัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์การอนามัยโลกจะทบทวนเรื่องการระงับการให้ทุน และกลับมาสนับสนุนงานขององค์การอนามัยโลกในการช่วยชีวิตผู้คนอีกครั้ง โดยหวังว่าสหรัฐจะเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นการลงทุนที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่เพื่อให้สหรัฐปลอดภัยด้วยเช่นกัน

ผู้นำสหรัฐลงนามระงับกรีนการ์ด

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ลงนามคำสั่งระงับการออกกรีนการ์ดให้ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักถาวรเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลให้ชาวต่างชาติที่ยื่นขอกรีนการ์ด หรือการขอพำนักในสหรัฐ แบบถาวรต้องถูกระงับเป็นเวลา 60 วัน อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวต่างชาติที่ยื่นเรื่องขอเข้ามาทำงานชั่วคราวในสหรัฐ โดยแรงงานอพยพตามฤดูกาลที่เข้ามาทำงานในภาคการเกษตรยังคงได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานได้

ผู้นำสหรัฐ ให้เหตุผลในการลงนามคำสั่งดังกล่าวว่าเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และเป็นการปกป้องการจ้างงานให้แก่ชาวอเมริกันในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง ขณะที่มีคนว่างงานในประเทศถึง 22 ล้านคน ส่วนเรื่องการเปิดเศรษฐกิจในเวลานี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังไม่เห็นด้วยกับบางรัฐที่มีแผนจะเร่งเปิดเศรษฐกิจเต็มรูปแบบในเวลานี้ เพราะยังเร็วเกินไป แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศได้ผ่านพ้นจุดวิกฤติหนักสุด ไปแล้วก็ตาม แต่เวลานี้ยังคงมีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเป็นจำนวนที่สูงอยู่ ล่าสุดเมื่อวานนี้มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 1,700 คน ทำให้ยอดรวมเพิ่มเป็นเกือบ 48,000 คนแล้ว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ราว 850,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก

แมว2ตัวแรกในสหรัฐติดเชื้อ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าแมว 2 ตัวในนครนิวยอร์กกลายเป็นสัตว์เลี้ยง 2 ตัวแรกในสหรัฐที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 แมว 2 ตัวดังกล่าวเป็นแมวจากคนละที่ของรัฐนิวยอร์ก และมีอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจแบบไม่รุนแรง แต่คาดว่า จะสามารถหายได้เป็นปกติ ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐหรือซีดีซี เชื่อว่าแมวทั้งสองติดไวรัสจากคนในบ้านหรือในละแวกใกล้เคียง

สมาคมสัตวแพทย์อเมริกันเปิดเผยว่า ทั่วโลกมีสัตว์ติดเชื้อโควิด19 เพียงไม่กี่ตัว โดยมีแมวตัวหนึ่งในฮ่องกงติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ และมีแมวอีกตัวในเบลเยียมที่หายจากอาการป่วย หลังจากป่วยอยู่ 9 วัน ด้านสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและดำเนินธุรกิจสวนสัตว์ เปิดเผยว่า มีเสือโคร่ง 5 ตัว และสิงโต 3 ตัว ที่สวนสัตว์บรองซ์ในนิวยอร์กติดเชื้อโควิด-19 โดยมีเสือโคร่งตัวหนึ่งที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการไอ

เยอรมนีประกาศมาตรการศก.

สถานการณ์ในยุโรป นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ระบุว่าการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงไม่สิ้นสุด เพราะเชื่อว่าจะเกิดการระบาดระลอกต่อไปอีก ขอให้ชาวเยอรมันอย่าวางใจและอดทนต่อไปเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่จะยังอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง เธอเข้าใจดีถึงความยากลำบากที่ประชาชนต้องเผชิญจากมาตรการปิดเมืองและจำกัดสิทธิ์ต่างๆ เพราะถือเป็นความท้าทายต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจครั้งใหม่มูลค่า 10,000 ล้านยูโร (ราว 345,000 ล้านบาท) เป็นสวัสดิการว่างงานเพิ่มเติมและลดภาษี เพื่อช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมนีออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจรวมแล้วราว 1,100 ล้านยูโร (ราว 384,900 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการที่รัฐค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ

เยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติก้าวแรกด้วยการให้ธุรกิจขนาดเล็กเปิดทำการครั้งแรกในรอบหนึ่งเดือนตั้งแต่วันจันทร์ และประกาศว่าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว แต่บังคับให้ประชาชนในทุกรัฐต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และจับจ่ายซื้อสินค้าตามศูนย์การค้าต่างๆ จนถึงขณะนี้ เยอรมนีพบผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว 150,648 คน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีผู้เสียชีวิต 5,315 คน

ฝรั่งเศสยังวิกฤติ-ยอดตายจี้สเปน

ส่วนการระบาดในฝรั่งเศส สถานการณ์ยังเลวร้าย ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสเพิ่มขึ้นอีก 544 คนในวันพุธ รวมทั่วประเทศเป็น 21,340 คน สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ก็ไล่จี้สเปนมาแล้ว ซึ่งสเปนมีผู้เสียชีวิต 21,717 คน ตัวเลขผู้เสียชีวิตในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นในอัตรา 2.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันพุธ เช่นเดียวกับวันอังคาร แต่ก็ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน ส่วนในสเปนนั้น ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 4 วันแล้ว

ญี่ปุ่นติดเชื้อทะลุ1.2หมื่นคน

ด้านสถานการณ์ในเอเชีย ญี่ปุ่นยืนยันผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งทะลุ 12,000 คนแล้ว ในจำนวนนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่บนเรือสำราญปริ้นเซส รวมอยู่ด้วย 712 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมขยับขึ้นไปอยู่ที่ 312 คน กรุงโตเกียวยังคงเป็นจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดหนักสุด มีผู้ติดเชื้อเกือบ 3,500 คน ตามมาด้วยนครโอซากา เกือบ 1,400 คน และคานางาวะ 836 คน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาว่าจะขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินที่จะหมดอายุลงในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ออกไปอีกหรือไม่

ส่วนเวียดนามเริ่มผ่อนคลายมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้วหลังจากประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 6 วันติดต่อกัน โดยให้ร้านค้าและบริการบางอย่างเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เวียดนามตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยการกักดูอาการขนานใหญ่และติดตามหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างเข้มข้น ทำให้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดแม้มีพรมแดนติดกับจีนยาวเหยียด ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อตัวเลขทางการที่ระบุว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 268 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว

สิงคโปร์ติดเชื้อเกินพัน4วันติด

กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด ว่ามีการยืนยันผู้ติดเชื้ออีก 1,037 คน เพิ่มสถิติสะสมเป็นอย่างน้อย 11,178 คน นับเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ซึ่งผู้ป่วยรายวันจากโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 1,000 คน

ขณะที่ผู้ได้รับการรักษาหายเพิ่มเป็น 896 คน ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 12 คน จาก จำนวนดังกล่าวรวมพลเมืองต่างชาติ 2 คน เป็นชาวอินโดนีเซียและชาวอินเดีย โดยผู้เสียชีวิตคนล่าสุดคือ “ผู้ป่วยคนที่ 1,071” เป็นหญิงชาวสิงคโปร์ อายุ 84 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค เสียชีวิตเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ทั้งนี้ การที่พบว่า ผู้ติดเชื้อสะสมส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติซึ่งอาศัยรวมกันอย่างแออัดตามหอพักที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตนอกเมือง กระทรวงสาธารณสุขจึงยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในประชาชนกลุ่มนี้ และขยายขอบเขตการกำหนดให้หอพักคนงานต่างด้าวเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคติดต่อเพิ่มเป็นอย่างน้อย 21 แห่ง

ติดเชื้อทั่วโลก2.6ล้านดับ1.8แสน

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก นับจนถึงช่วงเย็นวันที่ 23 เมษายน 2563 ตามเวลาในประเทศไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,646,990 ราย เสียชีวิต 184,374 ราย รักษาหายแล้ว 723,806 ราย โดยสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อ 849,092 ราย เสียชีวิต 47,681 ราย สเปน มีผู้ติดเชื้อ 213,024 ราย เสียชีวิต 22,157 ราย อิตาลี มีผู้ติดเชื้อ 187,327 ราย เสียชีวิต 25,085 ราย ฝรั่งเศส มีผู้ติดเชื้อ 159,887 ราย เสียชีวิต 21,340 ราย เยอรมนี มีผู้ติดเชื้อ 150,666 ราย เสียชีวิต 5,315 ราย