ข่าว
ญี่ปุ่นเลิกพรก.ฉุกเฉินเกือบทั่วประเทศ ยกเว้น‘โตเกียว-อีก7จังหวัด’ เหตุผู้ติดเชื้อ‘โควิด’ยังสูง

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Japan Times ของญี่ปุ่น เสนอข่าว “Hope for return to normal as Japan partly lifts virus emergency” ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 39 จังหวัด ทำให้ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นคาดหวังว่าชีวิตจะกลับมาเป็นปกติ อาทิ ยูตะ อาราอิ (Yuta Arai) อายุ 34 ปี ทำงานในร้านขายผักและผลไม้ที่ตลาดโอมิโช อิชิบะ (Omicho Ichiba) พื้นที่ที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ ในเมืองคานาซาวา (Kanazawa) จังหวัดอิชิคาวะ (Ishikawa) กล่าวว่า หลังจากนี้ลูกค้าอาจจะกลับมาเข้าร้านของตนมากขึ้น

ขณะที่ อากาเนะ ซาคาโมโต (Akane Sakamoto) หญิงวัย 25 ปี ปัจจุบันเป็นพนักงานออฟฟิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเบื่อหน่ายกับการปฏิบัติตามการขอความร่วมมือจาก ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เรียกร้องให้ประชาชนไม่ออกจากบ้านหากไม่จำเป็นระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตนหวังว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งใน จ.อิชิคาวะ และที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นจะลดลงเหลือศูนย์โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม กรุงโตเกียว รวมถึงอีก 7 จังหวัด จะยังคงอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป เนื่องจากเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด โดยบรรยากาศในเช้าวันที่ 14 พ.ค. 2563 บริเวณสถานีรถไฟ JR Shimbashi Station บริเวณใจกลางเมือง ผู้คนดูบางตาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเดือน เม.ย. 2563 ที่นายกฯ อาเบะ ยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่ง อายาโกะ โอกาวะ (Ayako Ogawa) หญิงชราวัย 73 ปี กล่าวว่า เป็นเรื่องยากสำหรับตนในการจดจำภาพของผู้คนพลุกพล่าน และตนคงแปลกใจหากไม่มีโอกาสได้เห็นภาพแบบนั้นที่นี่อีก

ทากายูกิ ทันโน (Takayuki Tanno) ชายวัย 55 ปี ทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้หากสถานการณ์ในโตเกียวจะไม่กลับมาเป็นปกติ แต่ตนก็กังวลว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังดำรงอยู่และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนเพื่อนๆ ที่ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ก็รู้สึกหงุดหงิดเพราะแยกลำบากระหว่างเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัว ที่ จ.กุนมะ (Gunma) มาซายูกิ โอเอะ (Masayuki Oe) อายุ 71 ปี ผู้บริหารร้านขายของโบราณในเมืองมาเอะบาชิ (Maebashi) แสดงความระมัดระวังหลังรัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการระบาดระลอก 2 และเชื่อว่าผู้คนจะระวังตัวกันมากขึ้น ผู้คนต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 และบรรดาผู้จัดการต้องทดลองใช้มาตรการต่างๆ

ด่วน!!! กองทัพเต้นผางสั่งสอบวินัยแล้ว ทหารนั่งไขว่ห้างบนบัลลังก์ปธ.รัฐสภา

14 พฤษภาคม 2563 ความคืบหน้ากรณีนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สั่งให้มีการตรวจสอบทหารนายหนึ่งที่โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะนั่งบนบัลลังก์ประธานรัฐสภา ณ ห้องประชุมพระสุริยัน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีการยกเท้าพาดที่นั่งด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม

ล่าสุดมีรายงานข่าวภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ว่า เจ้ากรมข่าวทหารบก ได้สั่งตั้งกรรมการสอบวินัยนายทหารรายนี้ ซึ่งสังกัดกรมข่าวทหารบก แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม


‘แพทย์’ แนะรัฐเร่ง 'สร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์' ครบวงจร หลังจบโควิด-19

สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แม้จะทำให้ประเทศไทยบอบช้ำ ระบบเศรษฐกิจเสียหายถึงขั้นรุนแรงที่สุดเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก จนเปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่3 แต่...ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติที่ท้าทายครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า “ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุข การแพทย์ การพยาบาลและการดูแลรักษาที่ดีที่สุด” เป็นอันดับสองรองจากจีน จนกลายเป็นประเทศเป้าหมายของบรรดามหาเศรษฐี และนักธุรกิจจากทั่วโลกที่ต้องการย้ายเข้ามาพำนักหลังจบสถานการณ์โควิด-19

อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย แนะรัฐควรเร่ง “สร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์” มุ่งส่งเสริม “กลุ่มธุรกิจบริการด้านการแพทย์” จุดแข็งใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาจาก “Medical standard” สู่ “ Medical Business” อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ( Medical technology industrial ) อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อาหารเสริม รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจและยกระดับประเทศให้ก้าวสู่การเป็น “อุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร”

นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน และอดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยมีระบบการแพทย์ที่ดี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมานาน แต่ขาดการส่งเสริมด้านการตลาด การทำให้เป็นธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น Medica hub , Surgery hub, Medical tourism หรือ Heath & wellness ฯลฯ โดยพัฒนาควบคุ่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ ( Medical technology industrial ) อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ อาหารเสริม รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแล้ว ในอนาคตยังสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางด้วย

ทั้งนี้ อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ได้แนะแนวทางการสร้างเศรษฐกิจด้วยการแพทย์ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าหลังยุคโควิด-19 ไว้ดังนี้

“พัฒนาจาก Medical standard ให้เป็น Medical Business” พร้อมส่งเสริมแนวทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับธุรกิจบริการทางการแพทย์ เพื่อประกาศจุดแข็งของวงการแพทย์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้าน การรักษาโรค การดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ รวมถึง ด้านศัลยกรรมตกแต่งความงาม หนึ่งในธุรกิจบริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงของไทย จากข้อมูลการสำรวจความนิยมการทำศัลยกรรมทั่วโลก ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS ปี 2018 พบว่าประเทศไทยติดอันดับ Top 10 และครองแชมป์ประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำศัลยกรรมมากที่สุดในโลก โดยตลาดศัลยกรรมความงามของไทยมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมของตลาดศัลยกรรมทั่วโลก 21 ล้านล้านบาท และปี 2019 ที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าตลาดศัลยกรรมความงามในประเทศไทยเติบโตสูงขึ้น และมีมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่มีช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

“พัฒนาต่อยอดด้านอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์” เพื่อให้สามารถผลิตได้ตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำ ส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นและมีราคาแพง เพื่อลดการนำเข้าจากประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศในกรณีที่เกิดวิกฤติการแพร่เชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ ในอนาคต

“ส่งเสริม และพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Cosmetic Products)” และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อาหารบำรุงสุขภาพ ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของประเทศ เพื่อรองรับทั้งตลาดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว

“พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ( medical technology industrial)” ทุกๆปีประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ด้ว มูลค่าสูถึง 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรมและผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น กล้อง เครื่อง MRI เครื่อง CT Scan และหุ่นยนต์ผ่าตัด ฯลฯ ขณะที่อุตสาหกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ของไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีความสามารถในการผลิตและส่งออกได้เฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐานและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา สายยาง ถุงมือยาง น้ำยาทดสอบกรุ๊ปเลือด การตั้งครรภ์ ชุดน้ำยาล้างไต ชุดตรวจการติดเชื้อ HIV และครุภัณฑ์การแพทย์ เช่น หีบและชุดปฐมพยาบาล รถเข็นผู้ป่วย เตียงคนไข้ อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรม เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น

ดังนั้นการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นการสร้างรากฐานความแข็งแกร่งให้กับการแพทย์ของไทย รวมทั้งลดการนำเข้าสินค้าราคาแพงจากต่างประเทศได้อีกด้วย ส่งเสริมให้ไทยเป็น Medical Hub และ Surgery Hub อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม พร้อมทำการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น Medical Tourism , Heath & wellness Tourism หรือ Surgery Tourism ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและกระจายไปสู่ธุรกิจต่างๆ มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่มีศักยภาพทางการเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้นการดึงชาวต่างชาติกลุ่มนี้เข้าในประเทศ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ


ตามสั่งไม่ต้องจ่าย! ดูลีลา'ผกก.เมืองพัทยา'วางปืนควงตะหลิว

"ผกก.สภ.เมืองพัทยา"เจ้าของฉายาตำรวจฮีโร่ ไอเดียสุดเก๋วางปืนควงตะหลิวผัดข้าวแจกชาวบ้าน ตามโครงการ "ตำรวจไทยใจดี ตามสั่งฟรี ไม่ต้องจ่ายตังค์"ช่วยเหลือปชช.ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19

ที่บริเวณหน้า สภ.เมืองพัทยา พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล รอง ผบช.ภาค 2 เดินทางมาร่วมกิจกรรมโครงการ"รับอาหารฟรี" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ได้สั่งการให้ทุกตำรวจภูธรจังหวัดในสังกัดทุกแห่งดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันเริ่มเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

แต่ที่ตกต่างไปจาก สภ.อื่นๆ ก็คือทาง สภ.เมืองพัทยา นำโดย พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย ผกก.สภ.เมืองพัทยา เจ้าของฉายา "ตำรวจฮีโร่่" ได้ผุดไอเดียแนวทางการแจกอาหารแบบสุดเก๋ให้กับชาวบ้านแบบไม่เหมือนใคร โดยชื่อโครงการ"ตำรวจไทยใจดี ตามสั่งฟรี ไม่ต้องจ่ายตังค์” โดย พ.ต.อ.เขมรินทร์ สวมบทเชฟลงมือปรุงอาหารตามที่ประชาชนสั่ง คล้าย ๆ ร้านอาหารตามสั่ง โดยมีข้าราชการตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่สวมบทพนักงานร้านอาหารตามสั่ง คอยรับหน้าที่จดรายการอาหารที่ประชาชนเข้ามาสั่งอาหารรับประทาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากประชาชนเข้ามารับบริการสั่งอาหารไปรับประทานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดี ทั้งจากภาคเอกชนและข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองพัทยา นำวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ได้แก่ ไข่ไก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ฯลฯ มามอบให้ อีกทั้งบางส่วนก็ได้ร่วมกันบริจาคสนับสนุนเป็นเงินสดเพื่อเป็นเงินทุนในการดำเนินการ ตามโครงการดังกล่าวอีกด้วย

และเพื่อเป็นการลดความแออัดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมารอคิวรับประ ทานอาหารของประชาชน สภ.เมืองพัทยา จึงได้จัดให้มีการลงทะเบียนตามคิวเพื่อรับประทานอาหารในแต่ละวันๆ ละ 50-100 คน โดยเมื่อถึงเวลาจะจัดให้นั่งรับประทานอาหารเป็นรอบๆ ละ 10 คน และมีการเว้นระยะห่างในการนั่งรับประทานอย่างเหมาะสม ซึ่งก่อนรับประทานอาหารนั้น ทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนในการทำ ความสะอาดทั่วร่างกายเบื้องต้น ล้างมือให้สะอาดและมีการตรวจวัดไข้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังทำการจัดระยะห่างที่เหมาะสมให้กับประชาชนที่นั่งรอคิวโดยหลังจากการรับประทานอาหารเสร็จแล้วให้นำจานช้อนส้อมไปวางรวมกัน รวมถึงนำเศษอาหารที่เหลือไปทิ้งไว้ ณ จุดที่จัดเตรียมให้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการล้างทำความสะอาดให้ถูกสุขลักษณะและเก็บขยะไปทิ้งต่อไป

น่าห่วง! ผู้ติดเชื้อโควิดใน'เท็กซัส'พุ่งกว่าพันคน 5 วันต่อเนื่อง

14 พ.ค.63 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยงานสาธารณสุขเท็กซัส รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,179 คนในวันอังคาร (12 พ.ค.) ทำให้ตอนนี้เท็กซัสพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมากกว่า 1 พันคน ติดต่อกันมา 5 วัน นับตั้งแต่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา และในตอนนี้ผู้ติดเชื้อในรัฐเท็กซัสอยู่ที่ 41,048 คน และเสียชีวิต 1,133 คน

/

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้ว่าการรัฐเกร็ก แอบบอตต์ จากเท็กซัส เพิ่งให้กลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งยึดตามข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนการเปิดเศรษฐกิจรัฐเท็กซัส ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 1 พันรายต่อวันก่อนหน้านั้น ตามรายงานของ Statesman สื่อท้องถิ่นในเท็กซัส

โดยตอนนี้ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก โรงภาพยนตร์ และห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดรองรับลูกค้าได้ไม่เกิน 25% ของจำนวนลูกค้าปกติที่เคยให้บริการ และร้านตัดผมและซาลอน เพิ่งจะกลับมาเปิดให้บริการได้เมื่อสัปดาห์ก่อน