ข่าว
กมธ.ป.ป.ช.ฮึ่ม! 18 ธ.ค.เรียก‘อธิบดีป่าไม้’แจง ขู่พบไม่ทำตามกม.คดี‘ปารีณา’สอบแน่

12 ธันวาคม 2562 ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 กมธ.ฯจะมีการเชิญอธิบดีกรมป่าไม้ มาชี้แจงกรณีที่ กมธ.ฯตั้งเรื่องตรวจสอบการถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ในพื้นที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีต่างๆ ว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ หากดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย กมธ.ฯ ก็พร้อมให้กำลังใจ แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายก็ต้องมีการตรวจสอบ

นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมป่าไม้และ ส.ป.ก.กำลังรอกฤษฎีกาชี้ขาดเรื่องอำนาจในการดำเนินคดีในพื้นที่อีก 682 ไร่ ซึ่งก็ต้องรอดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้สังคมกำลังจับตาและมีการร่วมตรวจสอบทุกภาคส่วนเพราะกระแสในโซเชียลไปไวมาก หากดำเนินการไม่ถูกต้องก็ต้องหันมาพิจารณาตัวเองและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะวันนี้มีประชาชนและคนจนถูกดำเนินคดีในเรื่องบุกรุกป่าเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กมธ.ฯได้มีการรวบรวมคำติดสินของศาลฎีกาในคดีลักษณะนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาได้จำนวนมาก รวมทั้งมีประสานขอข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ปารีณา มาตรวจสอบด้วย โดยในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 น.ส.ปารีณา สามารถอยู่ร่วมประชุมในฐานะ กมธ.ฯได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของ กมธ.ฯคนอื่นๆด้วย

หิ้ว'เปรมชัย'นอนคุก! หลังประกันตัวไม่ทันตามขั้นตอน

วันที่ 12 ธันวาคม 2562 หลังจากศาลอุทธรณ์สั่งเพิ่มโทษนาย เปรมชัย กรรณสูต จำคุก 2 ปี 14 เดือน ,นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 2 ปี 17 เดือน ,นางนที เรียมแสน จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับเงิน 40,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนนายธานี ทุมมาศ จำคุก 2 ปี 21 เดือน และชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นในเรื่องเงินค่าปรับจำเลยทั้ง 4 คนให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวนเงินรวม 2 ล้านบาท ต่อมาทนายความของนายเปรมชัย กรรณสูต ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายเปรมชัย เป็นเงินสด 2 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.51 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเปรมชัย กรรณสูต พร้อมด้วยนายยง โดดเครือ และนายธานี ทุมมาศ ผู้ต้องหาคดีฆ่าเสือดำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ นำตัวขึ้นรถเรือนไปยังเรือนจำเรือนจำทองผาภูมิ สาเหตุเนื่องจากศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอประกันตัวไม่ทัน ส่วนนางนที เรือนแสน รอลงอาญา 2 ปี และภายในพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความของจำเลยทั้ง 3 จะยื่นเรื่องประกันตัวอีกครั้งหนึ่งในวงเงินคนละ 600,000 บาท


เพิ่มโทษเปรมชัย คุก2ปี14ด.-ไม่รอลงอาญา คดีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา“เปรมชัยกรรณสูต” คดีลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีและให้จำเลยในคดีนี้ทั้ง 4คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ2ล้านบาท ขณะที่“วิเชียร ชิณวงษ์”ระบุพอใจกับคำตัดสิน

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 12 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ได้เดินทางโดยรถยนต์แลนด์โรเวอร์สีดำ ทะเบียน วข 3858 โดย นายเปรมชัย ก้าวลงจากรถเดินด้วยท่าทางเรียบเฉย ใช้ไม้เท้าพยุงเดิน สีหน้าแววตาดูเครียด

ขณะเดียวกัน นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 นางนที เรียมแสน จำเลย ที่ 3 และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 พร้อมด้วย นายวิทูล แย้มพราย นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ นายปิยพัชร์ สายพิณ นายปราโมช เล้าเกตุกรรณ์ และนายวิภาช อัมพรกลิ่นแก้ว ทีมทนายความของจำเลยทั้ง 4 ได้เดินทางมาถึงศาลจังหวัดทองผาภูมิ ก่อนนายเปรมชัย โดยทั้งหมดได้ยืนรอรับนายเปรมชัย จากนั้นทนายความทั้ง 4 คน รวมทั้งจำเลยทั้ง 4 ก็เดินขึ้นไปห้องพิจารณาคดีที่ 1 ชั้น 2 ศาลจังหวัดทองผาภูมิทันที

โดยในวันนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีที่อัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเปรมชัย พร้อมพวกรวม 4 คน ที่เข้าไปลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในความผิดฐาน 1.ร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, 2.ร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, 4.ร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต, 5.ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย และ 6.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวน โดยมีของกลางเป็นซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก เหตุเกิดวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2561

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นายเปรมชัย 16 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ส่วน จำเลยที่ 2 จำคุก 13 เดือน จำเลยที่ 3 จำคุกจำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอรอลงอาญา มีกำหนด 2 ปี และจำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี 17 เดือน ต่อมาฝ่ายโจทย์และจำเลยอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว พิพากษาแก้โทษจำเลยทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 นายเปรมชัยจำคุก 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 2 ปี 17 เดือน, จำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน (แม่ครัว) จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับเงิน 40,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี และ จำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ ซึ่งรับสารภาพว่าเป็นคนยิง เสือดำ จำคุก 2 ปี 21 เดือน ส่วนในเรื่องเงินค่าปรับจำเลยทั้ง 4 คนให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวนเงินรวม 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวสู้คดีต่อไปในชั้นฎีกา

ทางด้าน นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำกำลังเข้าจับกุมนายเปรมชัยและคณะ ได้เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินเพิ่มโทษขึ้นมา ถือว่าเป็นการทำงานเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่เสือดำ ซึ่งตนรู้สึกพอใจ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการพูดคุยกับ นายเปรมชัยแต่อย่างใด และไม่คิดจะพูดคุยด้วยอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่อีกฝ่ายจะฎีกาต่อสู้คดีต่อไปนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้


‘เฉลิมชัย’ปิ๊งไอเดียจับมือลาซาด้า ดันสินค้าเกษตรขายออนไลน์

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าการผลักดันสินค้าเกษตรออนไลน์ เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ สู่ไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 ในการเพิ่มช่องทางตลาดที่สำคัญตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตรมาต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำลังขยายความร่วมมือไปอีกขั้น สู่แพลตฟอร์มลาซาด้า ผู้นำอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหารือเบื้องต้นกับทีมบริหารงานผู้ขายลาซาด้า สร้างโอกาสให้สินค้าเกษตรและเกษตรกรไทย กระทรวงเกษตรฯกับ บริษัทลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เห็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง สามารถเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากช่วยเพิ่มช่องทางตลาดให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตช่วงผลผลิตออกตลาดมากแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรขยายฐานกลุ่มลูกค้าไม่จำกัด ซื้อขายกับผู้ซื้อ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ตรงความต้องการของตลาด ลดความเหลื่อมล้ำ และนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ดี จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง

รมว.เกษตรฯกล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มเปิดตัวโครงการต้นปี 2563 เป็นของขวัญปีใหม่ ให้เกษตรกร โดยจัดกิจกรรมอบรมทักษะให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าผ่านลาซาด้า โดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรฯ และทีมงานมหาวิทยาลัยลาซาด้าจะมาให้ความรู้เริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ การสมัครเป็นผู้ขาย การใช้ระบบถึงเทคนิคการโปรโมทสินค้า การใช้เครื่องมือถ่ายภาพสินค้า ทำคลิปวีดีโอ บรรจุผลิตภัณฑ์ และขนส่งไปจนถึงร่วมแคมเปญ กิจกรรมการตลาดของลาซาด้า เพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะที่

กระทรวงเกษตรฯจะพัฒนาให้เกษตรกรพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ การแปรรูป และบรรจุสินค้าให้ได้มาตรฐานไปพร้อมกัน

ขั้นตอนแรกจะเน้นจัดกิจกรรมอบรมให้กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มYoung SmartFarmer ซึ่งปัจจุบัน มีแปลงใหญ่กว่า 6,000 แปลง เกษตรกรมากกว่า 350,000 ราย ในขณะที่สหกรณ์การเกษตรกว่า 3,000 แห่ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 86,000 แห่งทั่วประเทศ และ Young Smart Farmer มากกว่า 11,000 ราย ซึ่งมีสินค้าเกษตรคุณภาพจำนวนหลากหลาย พร้อมพัฒนา และแปรรูปจำหน่ายสู่มือผู้บริโภคกับลาซาด้า โดยตรง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อตกลงกับลาซาด้า เชื่อมั่นว่าจะเปิดโอกาส และเป็นมิติใหม่ให้เกษตรกรที่สนใจและยังไม่เคยมีประสบการณ์ขายของออนไลน์ ได้เรียนรู้การขายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการเป็นผู้จำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 โดยกระทรวงเกษตรฯ ยังเล็งช่องทางการตลาดออนไลน์โดยขยายไปสู่แหล่งช็อปปิ้งออนไลน์รายอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งในประเทศไปจนถึงสู่ลูกค้าต่างประเทศในอนาคตต่อไป

กรมชลฯเตือน 9 เขื่อนน้ำวิกฤต 'เขื่อนภูมิพล'เหลือ 14% ประคองใช้ถึงฤดูฝนปีหน้า

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ว่า ปัจจุบัน (12 ธ.ค.62) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,468 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,772 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูได้วางแผนจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.62 ถึงวันที่ 30 เม.ย.63 ไว้ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.เป็นน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก 3,500 ล้าน ลบ.ม.และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 500 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบัน (12 ธ.ค.62) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,046 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งกรมชลประทานจะทำการควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปีนี้ ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่ - พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค.62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนฯ และพืชไร่ - พืชผัก อีก 0.07 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กรมชลประทานจะดำเนินการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เป็นไปตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากเกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบัน (11 ธ.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 45,469 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,988 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (11 ธ.ค.62) มีจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 73 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 59 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 47 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 10 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกัก 520 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 20 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 286 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 283 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะสงวนไว้ใช้สนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น กรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ ลำคลอง และระบบนิเวศต่างๆ อีกด้วย

ทางด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) แจ้งเตือนเขื่อนที่มีน้ำใช้การน้อยวิกฤต เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ -3% , เขื่อนจุฬาภรณ์ 6% , เขื่อนกระเสียว 7% , เขื่อนทับเสลา 12% , เขื่อนภูมิพล 14% , เขื่อนลำพระเพลิง 15% และ เขื่อนลำนางรอง 17%